ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk
ผมเคยเขียนถึงคำว่าcognitive dissonanceในคอลัมน์เเรกที่ผมเคยเขียนให้กับไทยพับลิก้า เเต่สำหรับคนที่จำความหมายของคำนี้ไม่ได้ คำว่า cognitive dissonance ก็คือการที่คนเรามีสองความคิดต่อต้านกันอยู่ในหัว (สูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ versus สูบบุหรี่ทำให้เรารู้สึกดี คลายเครียด) เเละการมีสองความคิดที่ต่อต้านกันในหัวนั้นทำให้เราไม่สามารถหา internal consistency (แปลเป็นไทยก็คงจะเป็นความสอดคล้องกันในสิ่งที่เราอยากจะเชื่อ) ได้ ซึ่งก็อาจจะทำให้เราเครียดเเละไม่มีความสุข
เเละด้วยเหตุผลที่ว่าคนเราไม่ชอบมี internal inconsistency (ความไม่สอดคล้องกัน) ในหัว เราก็อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรม (เลิกสูบบุหรี่) หรือเปลี่ยนทัศนคติ (ถ้าเราเลิกสูบนะจะต้องน้ำหนักขึ้นเเน่ๆ เลย) เพื่อจะขจัดความไม่สอดคล้องกันในหัวของเราให้หมดสิ้นไป ซึ่งระหว่างทั้งสองอย่างนั้นคนเรามักเลือกที่จะเปลี่ยนทัศนคติเพื่อที่จะหาความสอดคล้องกันในหัวมากกว่าเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะปกติเเล้วพฤติกรรมเป็นอะไรที่เปลี่ยนได้ยากมากๆ ในเรื่องของการสูบบุหรี่ ทัศนคติของเราหลังจากการเปลี่ยนก็อาจจะเป็น ”น้ำหนักต้องขึ้นเเน่ๆ เลยถ้าเลิกบุหรี่” หรือ “ไม่มีคนตายจากการสูบบุหรี่ทุกคนหรอก”
ตรงกันข้ามของ cognitive dissonance ก็คือ doublethink หรือการถือสองความคิดที่ต่อต้านกันอยู่ในหัวเเบบสบายๆ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอย่างนั้นอยู่ (อย่างเช่น การสอนลูกไม่ให้โกงเเต่ตัวเองกลับโกงเสียเองโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าทำผิดอะไร)
พูดง่ายๆ ก็คือ คล้ายๆ กับการคำพูดนิยมที่ว่า “Do as I say, not as I do”
หรือ “ทำอย่างที่ฉันบอก เเต่อย่าทำอย่างที่ฉันทำ” ซึ่งก็คล้ายๆ การมี double standard นั่นเอง
doublethink เป็นคอนเซปต์จากหนังสือของ George Orwell เรื่อง “1984” (ซึ่งคงจะหาอ่านได้ยากในประเทศของเราในขณะนี้) เเละก็นับว่าเป็น cognitive bias อย่างหนึ่งเหมือนกัน doublethink มักจะเกิดขึ้นในสังคมที่คนส่วนใหญ่ไม่มีพลังในการควบคุมชะตากรรมของตนเอง เเต่ภายในจิตใต้สำนึกก็ยังอยากที่จะมีความรู้สึกว่าตัวเองยังมีความสามารถควบคุมอนาคตของตนเองได้ (คล้ายๆ กันกับ illusion of control) doublethink ถือว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สมองของเราใช้ในการหลอกตัวเราเองเพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวอยู่ในโลกที่มีความขัดเเย้งเเละความไม่เป็นธรรมอยู่เต็มไปหมดได้