ThaiPublica > เกาะกระแส > นับถอยหลังประชามติ รธน.: ข้อสังเกตว่าด้วยเรื่อง คสช. “สืบทอดอำนาจ” ?

นับถอยหลังประชามติ รธน.: ข้อสังเกตว่าด้วยเรื่อง คสช. “สืบทอดอำนาจ” ?

1 สิงหาคม 2016


คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : www.youtube.com
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ประกาศยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มาภาพ: www.youtube.com

เหลืออีกเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

นอกจากการถกเถียงกันในเชิงเนื้อหา ที่ฝ่ายรัฐพยายามชูจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ทั้งการวางกลไกปราบการทุจริต การให้สิทธิและเสรีภาพบางอย่างมากขึ้น การกำหนดหน้าที่ของรัฐที่ชัดเจนมากขึ้น ฯลฯ ขณะที่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการ และเอ็นจีโอบางส่วน วิพากษ์วิจารณ์เรื่องจุดอ่อนต่างๆ ทั้งระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ รวมถึงกรณีที่สิทธิเสรีภาพบางอย่างที่อาจจะหายไป ฯลฯ

แต่หนึ่งในประเด็นที่ถูกยกมาถกเถียง ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฯ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็คือเรื่องการ “สืบทอดอำนาจ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

คำถามก็คือ เนื้อหาส่วนไหนของร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่จะเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. อย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ

ทั้งๆ ที่ แกนนำ คสช. อย่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ออกมายืนยันหลายครั้ง ว่าจะไม่กลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

จากการรวบรวมความเห็นจากหลายๆ ฝ่าย เสียงวิพากษ์เรื่องการสืบทอดอำนาจของ คสช. มักจะยึดโยงกับ 5 ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ชาติ

การกำหนดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งจะมีผลเป็นกรอบในการจัดทำนโยบายและการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปหลังเลือกตั้ง (มาตรา 142 และมาตรา 162)

โดยรัฐบาลที่มีหน้าที่จัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเองก็คือรัฐบาลชุดปัจจุบันของ คสช. นั่นเอง (มาตรา 65 และบทเฉพาะกาล มาตรา 275)

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นตัวมัดมือชกให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปต้องเดินตามสิ่งที่รัฐบาล คสช. กำหนด

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ เคยกล่าวชี้แจงไว้ในรายการ “คืนความสุข” ให้กับคนในชาติว่า เรื่องยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงการวางกลไกเพื่อให้รัฐบาลชุดหน้าเข้ามาสานต่อสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ และที่วางไว้ก็เป็นเพียงกรอบการทำงานเฉยๆ ยังสามารถทำคู่กับนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงเอาไว้ได้ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด

2. ประกาศและคำสั่ง คสช. มีผลต่อไป

การรับรองประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือของหัวหน้า คสช. ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฯ บทเฉพาะกาล มาตรา 279 ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ซึ่งการจะยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้ จะต้องออกเป็น พ.ร.บ. หรือคำสั่งสำนักนายกฯ หรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมจำนวนประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ในช่วงที่ครบรอบ 2 ปี ที่ คสช. เข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน (ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 19 มิถุนายน 2559) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 397 ฉบับ แบ่งเป็นประกาศ คสช. 123 ฉบับ คำสั่ง คสช. 198 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 76 ฉบับ

คำสั่งหรือประกาศที่มีสถานะเป็นกฎหมายกว่า 400 ฉบับนี้ นับร้อยฉบับจะต้องยกเลิกโดยออกเป็น พ.ร.บ. ตามกระบวนการของรัฐสภา แปลง่ายๆ ว่าออกง่ายแต่แก้ยาก เห็นได้จาก “ประกาศคณะปฏิวัติ” ซึ่งออกโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลายๆ ฉบับที่ยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เวลาผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ที่มาภาพ : http://www.tnamcot.com/content/tag/%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A4%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C/page/2
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เชื่อว่า คสช. จะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตราใดเข้ามาสืบทอดอำนาจ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าคงจะเข็ด และไม่มีใครอยากมาแล้ว ที่มาภาพ: www.tnamcot.com

3. ส.ว.เฉพาะกาล

ส.ว.ชุดแรก ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ จะมาจากการสรรหาโดย คสช. ทั้งหมด (บทเฉพาะกาล มาตรา 269)

ทั้งๆ ที่เดิม กรธ. เขียนให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ แต่ก็จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะ คสช. เป็นที่มาของบทบัญญัติเรื่อง “ส.ว.เฉพาะกาล” ให้มาจากการสรรหาโดย คสช. ทั้งหมด และเพิ่มจำนวนจาก 200 คน เป็น 250 คน ซึ่งทั้งหมดจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เท่ากับ ส.ว.ปกติ

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ปกติของ ส.ว. ก็มีความสำคัญมากอยู่แล้ว ทั้งพิจารณากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. พ.ร.ก. ฯลฯ, ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐผ่านกลไกของรัฐสภา เช่น ขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตั้งกระทู้ถาม หรือผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ, ให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯ สตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นต้น

แต่ ส.ว.เฉพาะกาล ที่ คสช. สรรหามาทั้งหมด ยังได้รับ “อำนาจพิเศษ” ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ในการติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

และหาก “คำถามพ่วง” ผ่านการออกเสียงประชามติ ส.ว.เฉพาะกาลกลุ่มนี้ (ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้กำหนดให้ คสช., ครม.ชุดปัจจุบัน, สปช. หรือ สปท. ที่อยากเป็น ส.ว. ต้องลาออกจากตำแหน่งเดิมก่อนเหมือน ส.ส.) ก็จะมีสิทธิได้โหวตเลือกนายกฯ คนต่อไป ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. เคยกล่าวปฏิเสธว่า ข้อเสนอของ คสช. ที่ให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหา เป็นเพียงหลักประกันความมั่นคงเพื่อป้องกันการขัดแย้ง ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ

4. เปิดทางให้มี “นายกฯ คนนอก” ได้

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จะกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ล่วงหน้า ไม่เกิน 3 รายชื่อตั้งแต่ช่วงลงสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา 88) แต่ก็ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.” เหมือนรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2540 และรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550

นอกจากนี้ ยังมีการเขียนบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ “ยกเว้น” เกณฑ์การแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ล่วงหน้าดังกล่าวได้อีกด้วย โดยมีขั้นตอนคือ 1. ให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย 251 คน จากทั้งหมด 500 คน เข้าชื่อยกเว้นเกณฑ์ดังกล่าว 2. ให้ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนทั้งหมด หรืออย่างน้อย 251 คน จากทั้งหมด 750 คน อนุมัติการยกเว้นเกณฑ์ดังกล่าว (โดยต้องไม่ลืมว่า ส.ว.ชุดแรกทั้งหมด 250 คนมาจากสรรหาโดย คสช.) และ 3. ให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เห็นชอบรายชื่อนายกฯ ได้

การเปิดทางให้คนนอก ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง มาเป็นนายกฯ ได้ ทำให้คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ซึ่งเป็นเครือญาติกับผู้ที่บาดเจ็บล้มตายจากการออกประท้วง กรณีที่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนนอก ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 ต้องออกมาประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้

อย่างไรก็ตาม นายมีชัยกล่าวปฏิเสธว่า บทบัญญัติที่ให้ “คนนอก” มาเป็นนายกฯ ได้ เป็นเพียงการเปิดช่องไว้เท่านั้น หากไม่มีเหตุก็ไม่จำเป็นต้องใช้

43องค์กร
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เครือข่ายนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และประชาชน 43 องค์กร ประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ก็มาจากการที่กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก จนแทบ “เป็นไปไม่ได้” ที่มาภาพ: www.matichon.co.th/news/222478

5. วางกลไกให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ได้ยาก

หนึ่งในประเด็นรณรงค์ก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 ที่สำคัญ และมีส่วนโน้มน้าวใจให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว ก็คือแคมเปญรณรงค์ว่าให้ “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” (ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 คือ เห็นชอบ 14.72 ล้านเสียง และไม่เห็นชอบ 10.74 ล้านเสียง จากผู้มาใช้สิทธิออกเสียงทั้งหมด 25.97 ล้านคน มีงานวิจัยบางชิ้นยืนยันว่า สาเหตุบางส่วนที่คนโหวตเห็นชอบในการออกเสียงประชามติครั้งนั้นก็มาจากเหตุผลนี้ คือคิดว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ในอนาคต)

แต่ประเด็นรณรงค์ก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ครั้งนี้คีย์เวิร์ดดังกล่าวกลับไม่ถูกหยิบมาพูดถึงเลย กระทั่งในเอกสารที่ภาครัฐแจกจ่ายให้กับประชาชน ก็เพียงพูดถึงอย่างผ่านๆ ว่าใครเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และห้ามแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาอะไรบ้าง

แต่ไม่ได้พูดถึง “กระบวนการ” แก้ไขเพิ่มเติม ที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้กำหนดให้ซับซ้อน จนหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าแทบแก้ไขไม่ได้เลยเพราะการจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องฟันฝ่าด้านต่างๆ ให้ได้ถึง 4 ด่าน (มาตรา 256)

  • ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ มีเฉพาะ ครม., ส.ส. จำนวนหนึ่งในห้าของทั้งหมด, ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่งในห้าของทั้งหมด หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คนขึ้นไป
  • รัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณาญัตติของแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 วาระ โดยวาระแรกนอกจากจะต้องได้เสียงจาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (หรืออย่างน้อย 375 คน จากทั้งหมด 750 คน) ยังมีการกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมว่า ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด (หรืออย่างน้อย 84 คน จากทั้งหมด 250 คน)
  • การพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวาระที่สาม นอกจากต้องได้เสียงจาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ยังมีเกณฑ์ว่าจะต้องได้เสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% รวมถึงต้องการเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
  • และต่อให้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ก็ยังต้องมีการจัดให้ออกเสียงประชามติ

หนึ่งในเหตุผลที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้อธิบายถึงการประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ก็คือ การที่บทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ชุดแรก 250 คน มาจากการสรรหาโดย คสช. ทั้งหมด นอกจากเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้งใหม่ การที่กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ยากมาก ยังจะทำให้ความขัดแย้งในอนาคตไม่ได้รับการแก้ไข

ความยุ่งยากในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังทำให้เครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาและประชาชน 43 องค์กร ประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้

ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ ที่มี 2 คำถามให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกากบาทเลือกคำตอบ ที่มาภาพ : http://www.ect.go.th/th/?page_id=8583
ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ ที่มี 2 คำถามให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกากบาทเลือกคำตอบ โดยคำตอบมีเพียงช่อง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” เท่านั้น ที่มาภาพ: www.ect.go.th/th/?page_id=8583

ทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น ถูกฝ่ายการเมือง เอ็นจีโอ และฝ่ายวิชาการบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเปิดช่องให้ คสช. ได้สืบทอดอำนาจ ทั้งผ่านการสรรหา ส.ว.เฉพาะกาล ชุดแรก 250 คน เข้าไปดำเนินกิจการต่างๆ ในรัฐสภาแทน, ผ่านการยืนยันให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้ได้ต่อไป, ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ ที่ ครม. ชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำ แต่มีผลบังคับไปยัง ครม. ชุดต่อๆ ไป และผ่านการเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกได้

โดยมีบทบัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างยากลำบาก เป็นเกราะป้องกันไม่ให้บทบัญญัติต่างๆ ข้างต้นต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง[ไม่รวมถึงประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้สรุปสาระสำคัญมาว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จะผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้ แต่ คสช. จะยังอยู่ต่อไปทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในรูปแบบต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน]

อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ เคยออกมายืนยันหลายครั้งว่า ไม่มีแนวคิดที่จะสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจผ่านทางร่างรัฐธรรมนูญฯ

ปัจจัยในการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ของแต่ละคน น่าจะมีหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ไม่เพียงแต่เนื้อหาตามลายลักษณ์อักษร แต่ยังรวมถึงการคาดเดาผลที่จะตามมาจากการบังคับใช้เนื้อหานั้นด้วย ผู้มีสิทธิออกเสียงแต่ละคนจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน และพึงใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ เพราะการออกเสียงประชามติวันดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ชะตา “อนาคต” ของประเทศไทยอย่างแน่นอน

เบื้องหลังการ Vote YES และ Vote NO

ในช่วงโค้งสุดท้าย หลายๆ ภาคส่วนได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” มากขึ้น ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการตามแต่จะอธิบายมาสนับสนุนจุดยืนของตัวเอง

ต่างกับช่วงแรกๆ ที่เกิดความสับสนว่าการแสดงท่าทีดังกล่าวจะขัดกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกเป็นเวลา 10 ปี หรือไม่

ขณะที่โพลสำนักต่างๆ ก็เริ่มรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นว่า ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคิดอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้

นักวิเคราะห์ก็คาดเดาไปต่างๆ นานา ว่าผลการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะออกมาในทิศทางไหนได้บ้าง และด้วยเหตุผลใด

อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับเบื้องหลังพฤติกรรมการ Vote YES หรือ Vote NO ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อปี 2550 ของสถาบันพระปกเกล้า มีสาระที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ผลการออกเสียงประชามติครั้งสำคัญที่กำลังจะมาถึง

ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 ที่มาภาพ : http://www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2013/10/stat_ref50.pdf
ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 ที่มาภาพ: http://www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2013/10/stat_ref50.pdf

โดยงานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นนี้ เป็นการสำรวจความคิดเห็นในเชิงลึกจากประชาชนใน 3 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครราชสีมา และสุรินทร์ ก่อนวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ในปี 2550 ไม่นาน และให้ภาพที่น่าสนใจ ทั้งบรรยากาศการรณรงค์ วิธีเสพสื่อเพื่อรับข้อมูล และวิธีตัดสินใจเลือกลงคะแนน ของผู้มีสิทธิออกเสียง

กล่าวโดยสรุปก็คือ

– บรรยากาศการรณรงค์ก่อนวันออกเสียงประชามติครั้งนั้น (ในงานวิจัยที่สำรวจใน กทม.) ถือว่าคึกคักเป็นอย่างยิ่ง มีทั้งกลุ่มสนับสนุน กลุ่มคัดค้าน และกลุ่มที่ประกาศตัวว่าจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฯ นั้นอย่างแน่นอน ออกมารณรงค์ต่อสู้กันทางความคิดอย่างดุเดือด โดยผู้วิจัยสามารถเขียนสรุปบรรยากาศและประเด็นของการรณรงค์ครั้งนั้นได้ถึง 10 หน้ากระดาษเอสี่

– วิธีเสพสื่อเพื่อรับข้อมูล (ในงานวิจัยที่สำรวจใน จ.นครราชสีมา) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าเอกสารที่ภาครัฐแจกอ่านยากและไม่เข้าใจ จึงหันไปติดตามข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ผ่านทางสื่อต่างๆ มากกว่า โดยสื่อที่ได้รับความนิยม 3 ลำดับแรก ได้แก่ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ

– วิธีตัดสินใจเลือกลงคะแนน (ในงานวิจัยที่สำรวจใน จ.สุรินทร์) กลุ่มตัวอย่างตอบผู้วิจัยว่า “เนื้อหา” ของร่างรัฐธรรมนูญฯ มีส่วนเพียงเล็กน้อยต่อการตัดสินใจ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยทางสังคมมากกว่า เช่น อยากเลือกตั้งเร็วๆ, ยังชอบบางพรรคอยู่, อยากให้ทหารออกไป, รับไปก่อนแก้ทีหลัง ฯลฯ

ทั้งนี้ ผู้วิจัย (ในงานวิจัยที่สำรวจใน กทม.) ได้สรุปเหตุผลที่ทำให้คน Vote YES ไว้ว่า น่าจะมีเหตุผลหลักๆ 5 ข้อ คือ

  1. การรณรงค์ของภาครัฐอย่างเต็มที่โดยชูประเด็นเรื่องหลังประชามติจะมีเลือกตั้ง
  2. ภาคประชาชนต้องการให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
  3. คนเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มีบางมาตราที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2540 ส่วนมาตราที่ไม่ดี สามารถไปแก้ไขหลังเลือกตั้ง
  4. ประชาชนได้รับเอกสารเกี่ยวกับประชามติก่อนลงคะแนนเสียง 30 วัน จึงไม่มีเวลาศึกษามากพอ
  5. ประชาชนกลุ่มหนึ่งเห็นข้อผิดพลาดการบริหารงานของรัฐบาลเลือกตั้งชุดก่อน และไม่ต้องการให้กลุ่มอำนาจเก่ากลับมาอีก

สำหรับสาเหตุที่ทำให้คน Vote NO น่าจะมีเหตุผลหลักๆ 4 ข้อ คือ

  1. ต้องการต่อต้านการรัฐประหาร เพราะเห็นว่าทำให้ประชาธิปไตยหยุดชะงัก และถอยหลังลงคลอง
  2. ร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย
  3. ไม่ต้องการให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยกลับมาอีก
  4. ประชาชนบางกลุ่มยังศรัทธาในอดีตนายกฯ ที่ถูกยึดอำนาจไป และต้องการให้กลับมาบริหารประเทศอีก

น่าสนใจว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ในครั้งนี้ จะมีความแตกต่างจากครั้งก่อน มากน้อยเพียงใด