เหลืออีกไม่ถึง 70 วัน ก็จะถึงวันที่คนไทยทั้งประเทศ จะได้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี 1 เดือน 4 วัน หรือรวมกัน 1,861 วัน หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 (หากไม่นับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ)
โดยในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คนไทยผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 50 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน จะได้ลงคะแนนเสียง ในการจัดทำ “ประชามติ” ต่อ 2 คำถามสำคัญ คือ
- เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ยกร่างขึ้นมาหรือไม่
- เห็นชอบกับคำถามพ่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้เสนอ ให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดงาน kick off การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฯ เอกสารสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฯ และเอกสารสรุประเด็นคำถามพ่วง ให้กับประชาชนได้ศึกษาก่อนโหวต
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาครัฐ โดย กรธ. เดินหน้ารณรงค์เรื่องการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ไปแล้ว (ซึ่งแน่นอนว่า กรธ. ต้องชี้แจงถึง “ข้อดี” ของร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่จัดทำมากับมือเป็นหลัก) เริ่มต้นการฝึกอบรมวิทยากรกระดับจังหวัด หรือครู ก. ไปแล้ว และเตรียมที่จะจัดอบรมวิทยากรระดับอำเภอ (ครู ข.) และวิทยากรระดับหมู่บ้าน (ครู ค.) ในเร็วๆ นี้
แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฯ กลับไม่เคลื่อนไหวรณรงค์ได้อย่างสะดวกนัก เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมายที่คลุมเครือ โดยเฉพาะ “ข้อห้าม” ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
จนนักวิชาการจำนวนหนึ่ง นำโดย “นายจอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ต้องเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
แต่ที่สร้างความสับสนที่สุดก็คือ ท่าทีของผู้มีอำนาจ ทั้งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กกต. ที่ขัดแย้งกันเอง
โดยหลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติในวาระที่สาม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ซึ่งจะทำให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้มีอำนาจหลายคนต่างก็ออกมาแสดงความเห็นว่า “อะไรทำได้-อะไรทำไม่ได้” ในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ มากมาย โดยฝ่ายหนึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่อีกฝ่ายกุมอำนาจบังคับบัญชาการหน่วยงานด้านความมั่นคงไว้ทั้งหมด
– (13 เมษายน 2559) “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับ กกต. กรธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า การติดเข็ม เหรียญ หรือธง เพื่อแสดงจุดยืนว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ สามารถทำได้
– (18 เมษายน 2559) นายวิษณุให้สัมภาษณ์ถึงการที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ หลังพบปัญหาใน 5 ประเด็นสำคัญ ว่า หากเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ สามารถทำได้ ไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ โดยระบุว่า “ใน พ.ร.บ.ประชามติ ไม่มีความผิดฐานชี้นำ จะชี้นำหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าชี้นำโดยการสัญญาว่าจะให้ บิดเบือน หลอกล่อ ถึงจะมีความผิด”
– (19 เมษายน 2559) อย่างไรก็ตาม “พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ ด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับบอกว่า การรณรงค์ประชามติห้ามชี้นำ ต้องให้ประชาชนมีอิสระในการคิด การไปชี้นำประชาชนทำไม่ได้ ต้องปล่อยให้ กรธ. ทำหน้าที่ชี้แจง เพราะคนอื่นคงไม่รู้เท่ากับ กรธ.
– (19 เมษายน 2559) “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังกล่าวซ้ำว่า “การใส่เสื้อ Vote Yes หรือ Vote No ทำไม่ได้ จะรณรงค์ให้รับหรือไม่รับ ทำไม่ได้ทั้งนั้น”
– (20 เมษายน 2559) วันถัดมา นายวิษณุต้องออกมาเปลี่ยนคำพูด ที่เคยบอกว่า การใส่เสื้อ ยกป้าย หรือติดเข็ม เพื่อแสดงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ สามารถทำได้ ว่า ตนตอบไม่ได้ว่าทำได้หรือไม่ อะไรจะผิดหรือไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติต้องไปว่ากันที่ศาล นอกจากนี้ นายวิษณุยังบอกว่า ในการรณรงค์ประชามติ นอกจากมี พ.ร.บ.ประชามติ ยังมีประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ที่มีผลเป็นกฎหมายคลุมอยู่ 1 ชั้น ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถห้ามปราบหรือนำตัวบุคคลมาสอบถามได้
– (22 เมษายน 2559) พ.ร.บ.ประชามติมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
– (25 เมษายน 2559) พล.อ. ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่แกนนำมวลชนกลุ่มต่างๆ ทั้ง กปปส. และ นปช. ออกมาแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะมี พ.ร.บ.ประชามติแล้ว และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามรณรงค์โฆษณาชัดเจน “ไม่ได้ห้ามการพูดหรือแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่ออกสู่สาธารณะ”
– (29 เมษายน 2559) กกต. ออกประกาศกำหนดสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็น “6 ข้อทำได้-8 ข้อทำไม่ได้” ที่ไม่ได้สร้างความชัดเจนเพิ่มขึ้นสักเท่าไร เนื่องจากยังใช้ถ้อยคำกำกวม อาทิ ห้ามสัมภาษณ์ด้วยถ้อยคำที่ “หยาบคาย” “ปลุกระดม” “ข่มขู่” อะไรคือนิยามของทั้ง 3 คำ
– (30 เมษายน 2559) “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” กรรมการ กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ต้องนำเอกสารที่ขยายความว่าสิ่งใดทำได้หรือทำไม่ได้ (Do and Don’t) ช่วงการจัดทำประชามติด้วยภาษาง่ายๆ เป็นรูปธรรม มาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Srisutthiyakorn Somchai ปรากฏว่า สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร ยืนยันว่าทำไม่ได้ อย่างการประกาศจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ กลับเป็นสิ่งที่เอกสาร Do and Don’t ซึ่งกรรมการ กกต. รายนี้นำมาเผยแพร่ บอกว่า “ทำได้”
รูปธรรมที่สุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย (ทำได้) จำนวน 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. การสัมภาษณ์ลงสื่อ เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ
2. การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ
3. การแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ ตามข้อ 2.
4. การทำสัญลักษณ์ เครื่องหมาย ที่แสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ
5. การแชร์สัญลักษณ์ เครื่องหมายตามข้อ 4.
6. การจัดเวที สัมมนา อภิปราย ทางวิชาการ โดยหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชนตามกฎหมาย หรือโดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ
7. การติดป้าย เข็มกลัด สติกเกอร์ ธง ริบบิ้น เสื้อ หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์รับหรือไม่รับเป็นการบุคคล (เป็นเรื่องที่ผู้ดำเนินการพึงระวังสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย)
8. การแจกเอกสาร ใบปลิว แผ่นพับ เพื่อแสดงจุดยืน และให้เหตุผลอย่างเป็นวิชาการโดยปราศจากอคติ
9. การรายงานข่าว การจัดรายการของสื่อมวลชนโดยปราศจากอคติ
10. การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการออกเสียงประชามติบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงส่วนรูปธรรมที่ไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมาย (ทำไม่ได้) จำนวน 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. การสัมภาษณ์ลงสื่อด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หยาบคาย รุนแรง มีลักษณะเป็นการปลุกระดม
2. การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ ที่เป็นเท็จ หยาบคาย รุนแรง มีลักษณะเป็นการปลุกระดม
3. การแชร์ข้อความที่เป็นเท็จ หยาบคาย รุนแรง มีลักษณะเป็นการปลุกระดม ตามข้อ 2.
4. การทำสัญลักษณ์ เครื่องหมาย ที่หยาบคายเป็นการปลุกระดม ไม่สุภาพ หรือขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรม
5. การแชร์สัญลักษณ์ เครื่องหมายตามข้อ 4.
6. การจัดเวที สัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ โดยไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชนตามกฎหมายเข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง
7. การชักชวนให้ติดป้าย เข็มกลัด หรือการขาย การแจกจ่ายอุปกรณ์ดังกล่าวในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดม สร้างความวุ่นวายทางการเมือง
8. การแจกเอกสาร ใบปลิว แผ่นพับ ที่มีข้อความเป็นเท็จ ถ้อยคำหยาบคายหรือมุ่งสู่การปลุกระดมการชุมนุม หรือความวุ่นวายทางการเมือง
9. การรายงานข่าว การจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมสร้างความวุ่นวายในสังคม
10. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคมเพื่อให้รับหรือไม่รับ หรือขัดขวางการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเป็นการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
– (3 พฤษภาคม 2559) พล.อ. ประยุทธ์ ยังยืนยันว่า การประกาศจุดยืนผ่านสื่อว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ประชามติ
นี่คือตัวอย่างท่าทีอันสับสนของผู้มีอำนาจรัฐต่อการรณรงค์ก่อนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ แต่ก็ส่งผลให้บรรยากาศการรณรงค์ก่อนการลงคะแนนเพื่อชี้ชะตาประเทศไทย ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร