548 วัน คือระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นับจากมีคำสั่งแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ถึงวันพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560
174 วัน คือช่วงเวลาที่ “21 อรหันต์” ปิดห้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ทั้งในรัฐสภา-นอกสถานที่ ก่อนเผยแพร่เนื้อหารวม 279 มาตรา 15 หมวด ต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559
132 วัน คือห้วงเวลาที่ฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้านต่อสู้ทางความคิดใน “สมรภูมิประชามติ” นับจาก กรธ. ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาล เพื่อนำไปให้ประชาชนตัดสินด้วยการออกเสียงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม 2559
ตลอดเวลาที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ในวัย 79 ปี นั่งคุมทีมเขียน “กติกาฉบับใหม่” ให้ประเทศด้วยความคิดว่า “รัฐธรรมนูญมีไว้เฉลี่ยสุขของทุกคน” ตัวเขาเองกลับไม่มีความสุขนัก
“ไม่ได้มีความสุขหรือทุกข์เป็นกิจจะลักษณะ แต่มีความเหนื่อยยากเป็นสำคัญ เพราะในหลายกรณีเราต้องไปอธิบายว่าทำไมเราเขียนแบบที่อยากได้ทั้งหมดไม่ได้ เขียนได้บางส่วน ก็ต้องเฉลี่ยกันไป อย่าให้ถึงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้เลย มันไม่มีใครได้ทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด อย่าง คสช. เสนอมา ในฐานะเขาเป็นผู้ปฏิวัติย่อมอยากจะเห็นบ้านเมืองไปตามทิศทางที่เขาต้องการ อันไหนทำได้เราก็ทำ อันไหนไปไกลเกินไปจนประชาชนจะรับไม่ได้ เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง”
บทบาท “เฉลี่ยความพอใจ” ให้ทุกขั้วการเมือง จึงเป็น “ภารกิจพ่วง” ของ กรธ.
โจทย์ในการออกแบบรัฐธรรมนูญของ “มีชัยกับพวก” คือ “ประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยที่สุดคืออะไร?” ทว่าไม่อาจหลุดจากกรอบแนวคิดหลัก 10 ข้อที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 สำทับด้วยความเห็นของ “รัฏฐาธิปัตย์” อย่าง คสช. ที่ส่งหนังสือถึง กรธ. 2 ครั้ง ครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อกำหนดกรอบการเขียนรัฐธรรมนูญ และอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2559 เพื่อให้ปรับปรุงบทเฉพาะกาล
แม้ยอมรับตั้งแต่วันตอบรับเทียบเชิญจาก “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้เข้ามาคุมเกมร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่ 2 ยุครัฐบาล คสช. ว่า “ในการร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจร่างได้ตามใจปรารถนา หรือเป็นตัวของตัวเอง เพราะไม่ใช่ร่างเก็บไว้ใช้ในบ้าน แต่ต้องใช้กับคนทั้งประเทศ” แต่ “คำขอร้องแกมบังคับ” จาก “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ก็ทำให้ กรธ. เครียด-กดดัน
“ช่วงที่ได้รับข้อเสนอแนะจากรัฐบาล คสช. ตอนวันแรกไม่มีปัญหา เพราะให้มาแบบกว้างๆ แต่วันที่ ครม. และ คสช. ส่งมา 10 ข้อ ก็ ‘ทุกข์กันทั้ง กรธ.’ เราคิดว่ามันไปไม่ได้ ทั้งหมดก็ขึ้นกับผม จะไปพูดกับท่านให้เข้าใจได้อย่างไร” นายมีชัยกล่าว
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ไม่อาจสนองตอบทุกความต้องการของ คสช. จึงเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่อง “ชิงคว่ำร่าง” แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือข่าวลวงเรื่อง “เลื่อนประชามติ” จนตอนนั้น “มีชัย” ต้องออกมายืนยันว่า มีแค่ “ระเบิดนิวเคลียร์” หรือ “สงครามโลก” เท่านั้นที่จะหยุดยั้งกระบวนการประชามติได้
ตลอดเวลาของการทำหน้าที่ซึ่ง “มีชัย” ให้นิยามว่าเป็นการ “ทดแทนคุณแผ่นดิน” กรธ. ต้องปะทะกับทั้งพวกตรงข้าม-พวกเดียวกันในองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เรียกว่า “แม่น้ำ 5 สาย”
การปะทะทางความคิดครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เสนอประเด็นเพิ่มเติม หรือคำถามพ่วงประชามติว่า “ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” หรือพูดง่ายๆ ว่าให้ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ด้วยนี่ถือเป็นการขัดบทบัญญัติหลักของร่างรัฐธรรมนูญ จน กรธ. บางคนออกมาระบุว่า “นี่คือระเบิดเวลา” ที่อาจก่อปัญหาในชั้นประชามติ
นอกจากถูกเปิด “ศึกใน” ในยามต้องรับมือกับ “ศึกนอก” ก็เป็นประธาน กรธ. คนเดิมที่ออกมาสวมบท “องครักษ์พิทักษ์ลูกทีม” คอยตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามผ่านสื่อไม่เว้นแต่ละวัน
ทั้งซัด “นักการเมือง” ว่าพยายามทำทุกอย่างเพื่อโทษร่างรัฐธรรมนูญ สวนกลับ “ปัญญาชน” ที่ตั้งโต๊ะวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมปฏิเสธเสียงวิพากษ์ที่ว่าการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง มักนำมาซึ่ง “อุตสาหกรรมยกร่างกฎหมาย” โดยแย้งว่า “มันไม่ใช่อาชีพ ถ้าเป็นอาชีพต้องได้สตางค์ นี่มันเป็นภาระ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเคราะห์ร้ายกว่ากัน พวกเคราะห์ดี ไม่ต้องทำงาน นั่งวิจารณ์คนอื่น ส่วนพวกเคราะห์ร้าย นั่งทำงาน แล้วถูกเขาวิจารณ์ไปด้วย เราเป็นพวกเคราะห์ร้าย”
นอกจากนี้ยังปลุก “พลังเงียบ” ขจัด “อันธพาลป่วนประชามติ” หลังพบจดหมายบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นตัดสิทธิเรียนฟรี 15 ปี, ยกเลิกบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค, ปล่อยข่าวยุบ อบต. ฯลฯ
เกมต่อสู้ในสมรภูมิประชามติดำเนินไปอย่างเข้มข้น จนเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ไม่มีการข่าวใดๆ ยืนยันต่อ “มีชัยกับพวก” ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะ “ผ่าน” หรือ “ตก” แต่ภาพข่าวที่ปรากฏ แล้วทำให้ประธาน กรธ. ยิ้มกว้างคือภาพ “พล.อ. ประยุทธ์” แต่งเครื่องแบบทหารเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ประกาศจุดยืน “รับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติ” ซึ่ง “มีชัย” บอกกลางงานแถลงข่าว ณ วันนั้นว่า “เป็นสัญญาณบวก บวก บวก แบบอินฟินตี้ (ไม่มีที่สิ้นสุด)”
ถือเป็นข่าวจริงที่ออกมาสยบข่าวลือ นายกฯ สั่ง สนช. ไม่รับร่าง!
แต่นั่นยังไม่ใช่นาทีแห่งความ “สุขที่สุด” สำหรับ “มีชัย” เพราะความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นในอีก 2 วันต่อมา เมื่อคนไทย 16.8 ล้านเสียง (ร้อยละ 61.35) พร้อมใจโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ และ 15.1 ล้านเสียง (ร้อยละ 58.07) โหวตรับคำถามพ่วง
“วันที่ประชามติผ่าน ก็รู้สึกว่า เออ เราทำสำเร็จแล้ว” มีชัยเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
แต่วัน-เวลาแห่งความสุขมักอยู่กับมนุษย์ในช่วงสั้นๆ นอกจากปัญหาทางการเมืองที่ กรธ. ต้องเผชิญตลอดช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญ พวกเขายังประสบปัญหาทางเทคนิค ทั้งข้อกฎหมายที่ “เจ้าของคำถามพ่วง” อย่าง สนช. จงใจ “ตีความกว้าง” ถึงขั้นให้ ส.ว. มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ จนต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าให้ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ แต่ไม่มีสิทธิส่งชื่อใครเข้าประกวด
แต่ที่สำคัญคือกรณี “เปลี่ยนแผ่นดิน” ซึ่งทำให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 เป็นภารกิจที่ยากที่สุดในชีวิตของ “กูรูกฎหมายวัย 79 ปี”
“ยากสิ แต่ก็นับว่าเคราะห์ดี ลองคิดดู เรามีเวลาถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ในการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาล เราตัดสินใจว่า เอ้ย! อย่าไปรอให้มันหมดเลย เราส่งร่างไปที่รัฐบาลในวันที่ 11 ตุลาคม พอวันที่ 12 ก็มีข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ประชวรหนัก วันที่ 13 ตุลาคม ก็เสด็จสวรรคต มันก็เป็นอะไรที่…จะเรียกว่า ‘ฟ้าดินช่วย’ ก็ได้ที่ทำให้เราตัดสินใจส่งไปวันนั้น เพราะถ้ารอทำตามเวลา เราจะส่งไปได้อย่างไรก็ไม่รู้ เวลาก็จะหมดแล้ว ร่างก็จะตกไป พอเราส่งไปก็จะอุ่นใจ เพราะนายกฯ จะมีเวลาอีกช่วงหนึ่งก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วเมื่อขึ้นไปแล้ว ก็มีเวลาอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งยังไม่ต้องทำอะไร” มีชัยย้อนนึกถึงนาทีแห่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญของบ้านเมือง
ภารกิจต่อมาของ กรธ. คือการแก้ไข “คำปรารภ” ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป รวมถึงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติตามข้อสังเกตพระราชทาน หลังได้รับพระราชทานร่างคืนมา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกรณีหลังรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษจำนวน 11 คนขึ้นมาดำเนินการ มี “มีชัย” เป็นหัวโต๊ะเช่นเคย
เขากล่าวทิ้งท้าย “ก็เป็นประสบการณ์ รัฐธรรมนูญ 2 แผ่นดิน”!!!
“ปฏิทินการเมืองไทยหลังประกาศใช้ รธน. ฉบับที่ 20”
- 4 ก.ค. 2560 (ภายใน 90 วัน): สนช. และ สปท. ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องลาออกจากตำแหน่ง
- 1 ธ.ค. 2560 (ภายใน 240 วัน): กรธ. ยกร่าง พ.ร.ป. 10 ฉบับแล้วเสร็จ ทั้งนี้ กรธ. วางแผนส่ง 2 ฉบับแรกเข้าสภาก่อนในวันที่ 18 เม.ย. คือ ร่าง พ.ร.ป. กกต. และร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง
- 16 มิ.ย. 2560 (ภายใน 60 วันนับจากได้รับร่างพ.ร.ป.): สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. กกต. และร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมืองแล้วเสร็จ
- ภายใน ม.ค. 2561: สนช. ผ่านร่าง พ.ร.ป. ครบ 10 ฉบับ
- ภายใน ก.พ. 2561: รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.ป.
- ประมาณส.ค.-พ.ย. 2561 (ภายใน 150 วันหลังประกาศใช้พ.ร.ป. 4 ฉบับ) : มีการเลือกตั้งทั่วไป
การสิ้นสุดลงของ “แม่น้ำ 5 สาย”
- ภายใน 120 วันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้มีกฎหมายปฏิรูป และกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ : สปท. สิ้นสุดลง
- สนช. ผ่านร่าง พ.ร.ป.: กรธ. สิ้นสุดลง
- ก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก: สนช. สิ้นสุดลง
- มีครม. ชุดใหม่หลังเลือกตั้ง: ครม. “พล.อ. ประยุทธ์” สิ้นสุดลง
- มี ครม. ชุดใหม่หลังเลือกตั้ง: คสช. สิ้นสุดลง