ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมเราควรยกเลิกการใช้ผลการเรียนของเด็กในการจัดอันดับห้องเรียนด้วย

ทำไมเราควรยกเลิกการใช้ผลการเรียนของเด็กในการจัดอันดับห้องเรียนด้วย

28 สิงหาคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ผมจำได้ว่าสมัยตอนที่ผมยังอยู่ชั้นประถมเเละมัธยมตอนต้นที่เมืองไทย ทางโรงเรียนได้มีการเเยกเด็กที่เรียนดีให้ไปอยู่ห้องคิง เเละเด็กที่เรียนพอใช้ได้ไปอยู่ห้องรอง เเละต่อๆกันไป

ผมไม่เเน่ใจว่าสมัยนี้ยังมีวิธีการจัดห้องนักเรียนโดยใช้ผลการสอบของเด็กหรือความสามารถของเด็กที่วัดด้วยวิธีอื่นๆมาเป็นตัวกำหนดอย่างนี้อยู่หรือเปล่า (ซึ่งในหลายๆประเทศยังมีวิธีการจัดห้องเเบบ ability streaming อย่างนี้อยู่) เเต่วันนี้ผมอยากจะมาเขียนเล่าให้ฟังถึงเหตุผลต่างๆนาๆว่าถ้ามีทำไมเราควรถึงจะยกเลิกวิธีการจัดห้องเรียนอย่างนี้ (อย่างน้อยก็ควรที่จะยกเลิกตอนประถมเเละมัธยมต้น หรือตอนที่ยังไม่ต้องเลือกสายวิชาเรียนจริงๆ)

1. ผมขอให้คุณผู้อ่านลองจินตนาการตามนะครับ สมมติว่าเราเอาผลการสอบของนักเรียนมาเรียงกันจากน้อยที่สุดจนถึงมากที่สุด

น้อยสุด __________________________ มากสุด

เเล้วเราตัดครึ่งตรงกลางให้ออกมาเป็นสองห้อง

น้อยสุด _____B____ ตัด _____A_____ มากสุด

เป็นห้อง A และห้อง B

การที่เด็กจะอยู่ห้อง A หรือห้อง B นั้นก็ไม่น่าจะมีผลอะไรกับการเรียนของเด็กเลย เพราะถ้าเด็กฉลาด เด็กเขาก็จะเรียนดีไม่ว่าเขาจะอยู่ห้องไหน เเละถ้าเด็กไม่ฉลาด เด็กเขาก็จะเรียนไม่ดีไม่ว่าเขาจะอยู่ห้องไหน

เเต่ในความเป็นจริงเเล้วนั้น คุณลักษณะของนักเรียนสองประเภทที่ผมกล่าวไว้ข้างบนนั้นสามารถใช้อธิบายคุณลักษณะของเด็กที่เรียนอยู่ได้คะเเนนในอันดับต้นๆ เเละอันดับปลายๆของการกระจายเกรดก่อนที่จะเเยกห้องออกมาเป็นสองห้องเท่านั้น

ยังไงน่ะเหรอครับ โอเค งั้นเอาใหม่ สมมติว่าเด็กหญิง ก สอบได้ที่หนึ่งของจำนวนเด็กทุกคน เเละเด็กชาย ข สอบได้ที่โหล่ของจำนวนเด็กทุกคน ไม่ว่าเด็กหญิง ก เเละเด็กชาย ข จะอยู่ห้องไหน เขาก็จะเรียนเเละสอบได้ตามความสามารถของเขาอยู่วันยังค่ำ เพราะฉะนั้นการจัดห้องตามความสามารถก็จะไม่มีผลอะไรต่อการเรียนของเด็กทั้งสองคนนี้เลย

เเล้วเด็กที่สอบได้ตรงกลางๆหลายๆคนล่ะ

สมมติว่าเด็กชาย ค เเละเด็กหญิง ง สอบได้คะเเนนพอๆกัน เเต่เด็กหญิง ง สอบได้คะเเนนมากกว่าเด็กชาย ค นิดนึง ปรากฏว่าทางโรงเรียนจัดให้เด็กหญิง ง ไปอยู่ห้อง A ส่วนเด็กชาย ค ไปอยู่ห้อง B จากเด็กหญิง ง ที่เคยสอบได้คะเเนนเเละตำเเหน่งปานกลางกลายมาเรียนได้ที่โหล่ในปีถัดไปของห้อง A ถึงเเม้ว่าเธอจะได้มีโอกาสได้เรียนกับคนเก่งๆ การสอบได้ที่โหล่ในชั้นนั้นอาจจะมีผลลัพธ์ทางด้านลบกับความมั่นใจในตัวเธอพอสมควร ซึ่งตามการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์นั้นผลลัพธ์สุทธิ (หรือ net effect) จากการได้เพื่อนร่วมชั้นที่ดีเเต่ต้องสอบได้ที่โหล่ของห้องนั้นมักจะเป็นลบมากกว่าบวก

ส่วนเด็กชาย ค จากที่เคยสอบได้คะเเนนเเละตำเเหน่งปานกลาง มาวันนี้เขากลับสอบได้ที่หนึ่งของห้อง B ซึ่งก็จะมีผลบวกกับสภาพจิตใจของเขาพอสมควร เเต่ที่หนึ่งก็ยังเป็นที่หนึ่งของห้อง B เเถมเขาก็จะไม่ได้ผลข้างเคียงจากการได้ร่วมเรียนกับคนที่เรียนเก่งกว่าด้วย ตามงานวิจัยเเล้วผลลัพธ์สุทธิจากการสอบได้ที่หนึ่งของห้องรองเเต่ไม่ได้เพื่อนร่วมเรียนที่ดีนั้นมักมีค่าเท่ากับศูนย์ในระยะยาว

เเต่สมมติว่าการจัดห้องของทั้งสองห้องเป็นการสุ่มเอาล่ะก็ เด็กๆที่เรียนได้คะเเนนปานกลางก็จะมีโอกาสเท่าๆกันที่จะได้เพื่อนร่วมเรียน (พูดง่ายๆก็คือผลกระทบจากเพื่อนๆหรือ peer effect) ที่ดี เเถมการที่เขารู้ว่าวิธีการจัดห้องนั้นมาจากการสุ่ม เพราะฉะนั้นการที่เขาสอบได้ที่ 13 จาก 50 คน หรือที่ 35 จาก 50 คนก็ไม่ค่อยจะมีความหมายมากเท่าไหร่ (เพราะเขาสามารถที่จะอธิบายให้กับตนเองได้ว่า เพราะทุกอย่างเป็นการสุ่ม เขาอาจจะสอบได้ตำเเหน่งที่ดีกว่านี้ถ้าเขาเจอการสุ่มอีกทีก็ได้)

พูดง่ายๆก็คือการสุ่มทำให้เราสามารถอธิบายตำเเหน่งการสอบของเราได้มากกว่าการจัดห้องตามความสามารถ เพื่อเเค่ให้เรารู้สึกดีกับตนเองได้

2. นอกจาก peer effect ที่ดีๆเเล้วนั้น มันก็ยังมี peer effect ที่ไม่ดีจากการจัดห้องตามความสามารถด้วย คุณผู้อ่านลองคิดตามผมนะครับ ถ้าเรารวมเด็กที่ไม่ค่อยชอบเรียนไว้ในห้องเดียวกันเยอะๆมันจะเกิดอะไรขึ้น

ตามหลักของทฤษฎี social norm กล่าวเอาไว้ว่าคนเราชอบประพฤติตามมาตราฐานที่สังคมเซ็ตเอาไว้ เเละการ”ออกนอกคอก”ของสังคมนั้นก็จะส่งผลกระทบทางด้านลบให้กับตัวเอง

การจัดเด็กที่เรียนไม่ค่อยดีมาไว้ในห้องเดียวกันเยอะๆเป็นการสร้างมาตราฐานใหม่ที่จะทำให้เกิด class disruption หรือพฤติกรรมที่เป็นการกวนการเรียนของคนอื่นๆได้ง่ายๆ ซึ่งก็จะทำให้มีผลลัพธ์ทางด้านลบสำหรับนักเรียนในกลุ่มทุกคน

เเต่ถ้าเราจัดห้องโดยการสุ่ม โอกาสที่เราจะได้มาตราฐานสังคมที่ดีกว่าการจัดห้องตามผลการสอบก็จะสูงขึ้น เเละในเวลาเดียวกันก็จะส่งผลให้จำนวนคนที่ไม่เคารพมาตรฐานออกนอกลู่นอกทางนั้นน้อยลงไปด้วย (นั่นก็เป็นเพราะว่าการจัดห้องโดยการสุ่มเอาทำให้มีคนที่เคารพกฏเเละมาตราฐานเยอะกว่าการจัดห้องโดยการตัดที่เกรด)

3. การจัดห้องโดยการสุ่มก็จะช่วยเเบ่งเบาภาระของอาจารย์ที่อาจจะต้องประจำห้องสอนด้วย (อันนี้ค่อนข้างเห็นได้ชัดนะครับ) ทำให้ไม่เกิดการเหลื่อมล้ำทางด้านภาระที่อาจารย์เเต่ละท่านต้องเเบกรับบนบ่า

สรุปก็คือโอกาสที่เราจะสามารถยกระดับความสามารถของเด็กส่วนใหญ่ (ซึ่งควรที่จะเป็นนโยบายหลักมากกว่าการผลักดันคนเก่งเพียงไม่กี่คนให้ดีขึ้นเพื่อที่จะชูธงให้กับโรงเรียน) นั้นมักจะได้มาจากการจัดห้องโดยการสุ่มมากกว่าการจัดห้องโดยใช้เกรดมาตัดนะครับ

อ่านเพิ่มเติม
Akerlof, G.A., 1980. A theory of social custom, of which unemployment may be one consequence. The quarterly journal of economics, pp.749-775.
Murphy, R. and Weinhardt, F., 2013. Top of the class: The importance of rank position. Centre for the Economics of Education Discussion Paper, 1241.
Sacerdote, B., 2001. Peer Effects with Random Assignment: Results for Dartmouth Roommates. The Quarterly journal of economics, 116(2), pp.681-704.