ThaiPublica > คอลัมน์ > คุณสมบัติของคนโง่ที่อวดฉลาด: The Dunning-Kruger effect revisited

คุณสมบัติของคนโง่ที่อวดฉลาด: The Dunning-Kruger effect revisited

25 กุมภาพันธ์ 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เมื่อประมาณปีที่เเล้ว ผมได้มีโอกาสเขียนบทความลงไทยพับลิก้าในหัวข้อ “The science of คนโง่เเต่อวดฉลาด”ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าทำไมคนที่ไร้ซึ่งความสามารถจึงมักประเมินความสามารถเเละความรู้ของตนเองมากเกินไป เเละคนที่รู้จริงถึงมักประเมินว่าตัวเองไม่เก่งเท่าที่ตัวเองเป็นจริงๆ

หรือที่เราเรียกกันในวงการว่า The Dunning-Kruger effect นั่นเอง

วันนี้ผมขอเขียนเพิ่มเติมข้อความในบทความนิดนึงเกี่ยวกับลักษณะของคนที่ประสบกับ Dunning-Kruger effect โดยเฉพาะคนที่ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “โง่เเต่อวดฉลาด”

ในงานวิจัยของ Dunning เเละ Kruger เขาบอกเพิ่มเติมไว้ว่า

“In order for the incompetent to overestimate themselves, they must satisfy a minimal threshold of knowledge, theory, or experience that suggests to themselves that they can generate correct answers”

หรือเเปลเป็นภาษาไทยก็คือ สำหรับคนเหล่านี้ การเรียนรู้อะไรเพียงนิดๆ หน่อยๆ ก็ถือว่าเพียงพอในการที่จะทำให้เขาคิดเเละมั่นใจว่าตัวเองเก่งในเรื่องนั้นๆ ได้

หรือที่สุภาษิทฝรั่งเขาว่า “A little learning can be dangerous” หรือการเรียนรู้นิดๆ หน่อยๆ อาจจะเป็นภัยได้ นั่นเอง

เเละการวิจัยต่อยอดของ Dunning เเละ Kruger ยังพบลักษณะของคนที่มักจะตกเป็นเหยื่อของ Dunning-Kruger effect ดังนี้

    1. จะชอบออกตัวกับสื่อหรือในโซเชียลมีเดียว่าตัวเองเป็นผู้นำ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ตัวเองคิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งๆ ที่ความจริงเเล้วพวกเขาไม่ได้มีคุณสมบัติ ซึ่งรวมไปถึงการศึกษา เเละประสบการณ์ในเรื่องนั้นจริงๆ

    2. มักมีความเชื่อเเละมั่นใจว่าตัวเองเก่งจริงๆ (illusion of confidence)

    3. เเต่ถึงเเม้ว่าจะมีความมั่นใจว่าตัวเองเก่ง พวกเขาเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนที่มีคุณสมบัติ ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาเเละประสบการณ์ในเรื่องที่ตัวเองออกตัวว่าเก่งจริงๆ

    4. มักจะเลือกเชื่อเเต่ในคำชมของคนที่ไม่มีคุณสมบัติหรือไม่มีความสามารถเหมือนกันเเละใช้คำชมพวกนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าตัวเองเก่งจริงๆ

    5. มักเลือกที่จะไม่ส่งงานของตน หรือสิ่งที่ตนพูด ไปให้คนที่มีความเชี่ยวชาญที่เเท้จริงตรวจสอบ พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขามักคิดว่า “peer review” หรือการตรวจงานโดยคนที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ

    6. ชอบมักคิดว่าตัวเองเป็น “ผู้บุกเบิก” หรือ pioneer ในสิ่งที่ตัวเองออกตัวว่าเชี่ยวชาญ

    7. มักจะสรุปกับตัวเองว่า กระเเสการต่อต้านความคิดหรือผลงานของตนที่มาจากคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงๆ นั้นเป็นแผนการที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยคนที่คิดเห็นตรงกันข้ามกับตนเพื่อใช้ในการกดขี่ความจริงของตนเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ก็คือคนพวกนี้จะมีอีโก้ในตัวเองที่สูงมาก

    8. มักจะอธิบายให้คนอื่นฟังว่า สาเหตุที่คนอื่นคิดไม่เหมือนกับที่ตัวเองคิดนั้นเป็นเพราะว่าคนอื่นมีอคติกับความคิดของตน พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เกิดการมีความคิดต่างระหว่างตัวเองเเละผู้เชี่ยวชาญที่เเท้จริงขึ้นมา คนที่เป็นเหยื่อจาก Dunning-Kruger effect นั้นมักจะโทษคนอื่นมากกว่าโทษตัวเอง เเละมักคิดว่าตนเองมีความคิดที่ไม่มีอคติเเต่เพียงผู้เดียว

อย่างที่โบราณเขาว่านะครับ เชื่อคนที่รู้น้อยเรื่องเเต่รู้ลึกดีกว่าคนที่รู้มากเรื่องเเต่รู้เเค่เพียงผิวเผินนะครับ

คงจะไม่เป็นปัญหาอะไรมากถ้าคนที่เป็นเหยื่อของ Dunning-Kruger effect พวกนี้ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ มากจนเกินไป เเต่ถ้าสมมติว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อของ Dunning-Kruger effect มีตำเเหน่งเป็นหัวหน้า เป็นเจ้าของบริษัท เป็นคนที่ออกนโยบายขององค์กรหรือของรัฐขึ้นมาล่ะก็ ปัญหาใหญ่ก็จะตามมา

นั่นก็เป็นเพราะว่าคนที่เป็นเหยื่อของ Dunning-Kruger effect พวกนี้จะยึดเเต่ความรู้ที่เป็นผิวเผินของตัวเองเป็นหลัก เเละก็จะไม่ยอมฟังเสียงต่างๆ นานาจากคนที่อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ที่อาจจะมีตำเเหน่งที่น้อยกว่าจริงๆ ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้องค์กรต่างๆ นานาล่มลงได้ง่ายๆ

อ่านเพิ่มเติม
Kruger, J., Dunning, D. 1999. Unskilled and unaware of it: How difficulties in recognising one’s own incompetence lead to inflated self-assessments. Journal of Personality and Social Psychology, 77(6), 1121-1134.