ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ขอข้อมูล “กลาโหม-สตง.” ลุยตรวจปม “ราชภักดิ์” เผยตั้งข้อสงสัยหลายประเด็น

ป.ป.ช. ขอข้อมูล “กลาโหม-สตง.” ลุยตรวจปม “ราชภักดิ์” เผยตั้งข้อสงสัยหลายประเด็น

16 กุมภาพันธ์ 2016


 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า หลังจากที่นายวีระได้ยืนยันกลับมาว่าต้องการให้ไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกระทรวงกลาโหม ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าจะได้รับข้อมูลทั้งจากกระทรวงกลาโหมและ สตง. ในเร็วๆ นี้ ก่อนจะมาสรุปว่า ข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานที่มีอยู่มีมูลเพียงพอต่อการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนหรือไม่

เมื่อถามว่า คณะกรรมการฯ ของกระทรวงกลาโหมได้สรุปว่าโครงการนี้โปร่งใส และหาก สตง. ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ สรุปว่าโครงการนี้ไม่มีการทุจริตอีก ป.ป.ช. สามารถเห็นต่างจากทั้ง 2 หน่วยงานและเดินหน้าตรวจสอบต่อไปได้หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า ขอให้ได้รับพยานหลักฐานจากทั้ง 2 หน่วยงานก่อนถึงจะมาพิจารณาได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงยังตอบไม่ได้ว่า ผลการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จะเหมือนกับคณะกรรมการฯ ของกระทรวงกลาโหมและ สตง. หรือไม่ แต่โดยหลักการแล้ว ป.ป.ช. จะมองในภาพรวมซึ่งกว้างกว่าที่ทั้ง 2 หน่วยงานตรวจสอบมา

“เบื้องต้น ป.ป.ช. ได้ตั้งประเด็นสงสัยที่จะตรวจสอบไว้หลายประเด็น นอกจากเรื่องความเป็นมาของโครงการ ยังรวมถึงการเรียกรับหัวคิวในการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ที่ผู้เกี่ยวข้องเคยยอมรับว่ามีจริง แต่ต่อมากลับปฏิเสธว่าไม่ได้พูดเช่นนั้น ซึ่งต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าท้ายที่สุดแล้วมีการเรียกรับหัวคิวจริงหรือไม่” นายสรรเสริญกล่าว

เมื่อถามว่า หลายๆ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่ได้เปิดเผยราคากลางไว้บนเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนช่วยตรวจสอบตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 และมติคณะรัฐมนตรี จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องตรวจสอบเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า “เราคงจะไม่ดูเป็นจุดๆ แต่จะพิจารณาในภาพรวม แล้วสรุปความเห็นเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาว่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้หรือไม่”

อุทยานราชภักดิ์
อุทยานราชภักดิ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 นายวีระได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยขอให้ไต่สวน พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

  • กรณี พล.อ. ศิริชัย เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจลงนามในการจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีพิเศษ” ตามกฎหมาย สำหรับโครงการที่มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนในขณะนี้ โครงการจัดซื้อจัดจ้างในอุทยานราชภักดิ์หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรั้ว ป้ายทางเข้า งานปูหิน รวมถึงงานก่อสร้างพระบรมรูป มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาททั้งสิ้น
  • กรณี พล.อ. อุดมเดช เนื่องจากไม่ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษนายทหาร (ยศ พล.ต. และ พ.อ.) ที่มีส่วนพัวพันกับการเรียกรับเงินของเซียนพระ อ. จากโรงหล่อ 4 โรง (จากทั้งหมด 5 โรง) ในการหล่อพระบรมรูป

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 มกราคม 2559 ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือกลับไปยังนายวีระให้ยืนยันการเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ พร้อมตอบคำถามว่าเคยเป็นผู้โกรธเคืองกับผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ทำให้นายวีระโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Veera Somkwamkid แสดงความไม่พอใจ ก่อนที่จะตอบหนังสือกลับมายัง ป.ป.ช. ในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบัน สตง. จะยังไม่เปิดเผยผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ต่อสาธารณชน เพราะต้องรายงานให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน รับทราบก่อน แต่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รับรายงานว่า ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของ สตง. ไม่พบความผิดปกติในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด ไม่ว่าจะกรณีเงินบริจาค การเรียกรับหัวคิว และการจัดซื้อจัดจ้างบางรายการที่อาจมีราคาแพงเกินจริง โดยเฉพาะการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยาม