กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook Update) ในเดือนกรกฎาคม 2016 มีการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2016 และ 2017 ลงเป็น 3.1% และ 3.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ระดับ 3.2% และ 3.5% ตามลำดับ โดยเป็นการปรับลดประมาณการจากผลกระทบของ Brexit ที่ทำให้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ได้รายงานกรณี “IMF กังวล Brexit ฉุดเศรษฐกิจโลก” ว่า IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก มอง Brexit เป็นความเสี่ยงที่สำคัญ IMF มองว่าผลกระทบของ Brexit นั้นมีอยู่มากพอควรใน UK โดยเฉพาะปี 2017 ที่ IMF ได้ปรับลดประมาณการ ลงเหลือ 1.3% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 2.2% ส่วนยูโรโซนนั้นได้ปรับลดประมาณการในปี 2017 เป็น 1.4% จากเดิม 1.6% แม้ว่า UK จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว แต่ Brexit จะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มความกังวลและความเสี่ยงให้กับนักลงทุนและผู้บริโภคต่อเนื่องไปในอนาคต ซึ่งตัวเลขการคาดการณ์ของ IMF นี้เป็นเพียงการประมาณการจากสถานการณ์ขั้นพื้นฐาน ที่มองว่าการเจรจาต่างๆ จะเป็นไปได้ด้วยดี นอกเหนือไปจากนี้ IMF ยังมองว่า หากสถานการณ์แย่ลงมากกว่าที่คาดอาจจะทำให้เศรษฐกิจ UK หดตัวอย่างรุนแรงและส่งผลต่อเนื่องไปยัง EU รวมถึงตลาดการเงินทั่วโลก
โดยรวมแล้วปัญหาต่อเนื่องในภาคธนาคารที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและความเสี่ยงจาก Brexit จะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปต่อไป
IMF มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นปลอดภัยจาก Brexit ในสถานการณ์ประมาณการขั้นพื้นฐาน IMF เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบในวงแคบ โดยภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากกว่า แต่ทั้งสองประเทศยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงของ Brexit ที่ยังคงมีอยู่
IMF เชื่อภาพรวมระยะสั้นของอินเดีย อาเซียน และจีนยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่า Brexit จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะยังคงเติบโตได้ดี IMF จึงไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนประมาณการเศรษฐกิจมากนัก โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจอินเดียในปีนี้ลดลงจาก 7.5% เป็น 7.4% จากการชะลอตัวของการฟื้นตัวในภาคการลงทุน ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 4.8% ส่วนเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีการปรับขึ้นเล็กน้อยจาก 6.5% เป็น 6.6% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ และการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ผลกระทบโดยตรงจาก Brexit มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากความเกี่ยวเนื่องทางการค้าและการเงินต่อ UK มีอยู่ในระดับที่ต่ำ รวมถึงความพร้อมของภาครัฐที่จะเข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจให้อยู่ในเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม หากกลุ่ม EU ได้รับผลกระทบจาก Brexit อย่างมีนัยสำคัญก็จะทำให้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน
ทั้งนี้อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจาก Brexit การลงทุนจากภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่ความเกี่ยวเนื่องทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยและ UK ที่มีจำกัด ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ความกังวลที่มาจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจาก Brexit จะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
การเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่ยังสูงและโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ อาทิ อาเซียนและอินเดีย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยส่งเสริมจากการที่ธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) และญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้อีกด้วย
ดังนั้น อีไอซีคาดว่าแนวโน้มการไหลเข้าของเงินทุนมายังเอเชียจะยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้