ThaiPublica > คอลัมน์ > แรงงานข้ามชาติคือทรัพย์สินที่มีค่า

แรงงานข้ามชาติคือทรัพย์สินที่มีค่า

4 พฤษภาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็พบแรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้านของเรา และคาดว่าจะมีลูกหลานที่พักในประเทศเราอีกไม่น้อย คำถามสำคัญก็คือ เราจะทำอย่างไรกับลูกหลานเหล่านี้และแรงงานข้ามชาติที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจของเรา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน

ตัวเลขล่าสุดของปี 2557 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้ว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติประมาณ 1.3 ล้านคน ทั้งถูกกฎหมายและเข้าเมืองผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี องค์กรพัฒนาเอกชนให้ตัวเลขว่าน่าจะมีแรงงานข้ามชาติทั้งหมดประมาณ 1-2 ล้านคน ตัวเลขนี้ดูจะขัดกับความรู้สึกของผู้ที่สนใจตัวเลขนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าตัวเลขน่าจะขึ้นไปถึง 3-4 ล้านคน หรือแม้แต่ 5 ล้านคน เมื่อคำนึงถึงว่าตัวเลขทางการนั้นเก่าไปประมาณเกือบ 2 ปี และจำนวนแรงงานไทยนั้นลดน้อยลงท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องดำรงอยู่เพื่อรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับร้อยละ 3-5 ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติเพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ลดน้อยลงจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้

ในปี 2557 ประชากรไทยมีงานทำประมาณ 38.4 ล้านคน จำนวนแรงงานในวัย 15-64 ปี พุ่งขึ้นเล็กน้อยจนสูงสุดในปี 2558 และลดลงตามโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนการเกิดน้อยลงเป็นลำดับ (ในปี 2557 มีจำนวนการเกิดประมาณ 770,000 คน เทียบกับจำนวนกว่า 1 ล้านคน ในระหว่างปี 2506-2526)

ในขณะที่คนในวัย 15-64 ปี มีจำนวนลดลงเช่นเดียวกับคนในวัย 0-14 ปี ประชากรในวัย 65 ปีขึ้นไปกลับมีจำนวนสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีจำนวน 10 ล้านคน ในปี 2025 และ 20 ล้านคน ในปี 2050

ตัวเลขแรงงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเราต้องพึ่งแรงงานต่างชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนแรงงานไทยที่หายไป ดังนั้น อย่างไรเสียเราก็จะเห็นแรงงานข้ามชาติในบ้านเราไปอีกนานเท่านาน ส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยากที่จะกลับบ้านของตนเองหากเราใช้ประวัติศาสตร์ของการมีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมาในโลกเป็นบทเรียน

ลาว เมียนมา และกัมพูชา ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี จึงจะสามารถให้ค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง (ค่าจ้างที่สามารถซื้ออาหารและข้าวของจริง) ได้เท่ากับไทย หรืออาจต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้น และเมื่อคำนึงถึงการคุ้นเคยกับชีวิตที่อยู่มานับสิบปี มีลูกหลานเรียนหนังสือและทำงานอยู่ในประเทศไทยแล้ว ไม่เป็นการง่ายเลยที่จะยกครอบครัวกลับบ้านเกิด

การที่แรงงานข้ามชาติตลอดจนลูกหลานจะอยู่ในประเทศไทยต่อไปซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกระทำของภาครัฐไทยและสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสำคัญ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มอญจำนวน 300,000 คน อพยพมาอยู่ในบ้านเราโดยตั้งรกรากริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ทิศเหนือไล่ลงมาจนถึงปากเกร็ด (ไทยในขณะนั้นมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน หรือต่ำกว่า) และกลายเป็นบรรพบุรุษของคนไทยจำนวนมากในปัจจุบันโดยอยู่กันอย่างราบรื่นและผาสุก ข้าวแช่ซึ่งเป็นอาหารมอญก็กลายเป็นอาหารของชาววัง (เนื่องจากสาวมอญได้เข้าไปอยู่ในรั้วในวัง) ส่วนแกงขี้เหล็กก็เป็นอาหารมอญที่คนไทยบริโภคกันจนลืมที่มา

แรงงานข้ามชาติ

ชาติมิได้อยู่บนพื้นฐานของชาติพันธุ์ของพลเมือง ทุกประเทศในโลกประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ เพราะพลเมืองของทุกประเทศล้วนเป็นคนอพยพมายังดินแดนนั้นๆ ด้วยกันทุกคนเพียงแต่ว่าบรรพบุรุษของใครอพยพมาถึงก่อนเท่านั้น ดินแดนสยามก็เช่นเดียวกัน เป็นแหล่งอยู่อาศัยของผู้คนหลายชาติพันธุ์ตลอดประวัติศาสตร์กว่า 700 ปี ที่ผ่านมา

การที่เรามีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในบ้านเราและกลายเป็นพลเมืองของเราในที่สุดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ในสมัยก่อนเมื่อรบชนะก็จะเกณฑ์ผู้คนของเมืองนั้นๆ ชาติพันธุ์นั้นๆ ให้มาอยู่อาศัยในดินแดนของผู้ชนะเนื่องจากสิ่งมีค่าที่สุดมากกว่าแผ่นดินซึ่งเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ก็คือแรงงาน ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม วิธีการดำรงชีวิต การประกอบและถนอมอาหาร ฯลฯ ติดตัวมาด้วย

เมื่อแรงงานเหล่านี้ตลอดจนลูกหลานมีโอกาสอาศัยอยู่ในบ้านของเราสูงโดยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคของเศรษฐกิจไทย เราก็ต้องพยายามทำให้เขาเป็นคนไทยและ/หรือมีใจเป็นไทยจนกลายเป็นพลเมืองไทยที่มีคุณภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ การทำเช่นนี้จะทำให้เขาเป็นทรัพย์สินอันมีค่า มิใช่สิ่งที่จะสร้างปัญหาและภาระให้แก่สังคมของเรา

การให้ความจริงใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเขา เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความเป็นพลเมืองไทยที่ดีในตัวเขา ต้องให้โอกาสศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมผ่านการศึกษานอกระบบ ทั้งความรู้ภาษาไทย การพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการให้โอกาสการศึกษาในระบบที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนาตนเอง

สำหรับลูกหลานของแรงงานข้ามชาติทุกคนต้องได้รับโอกาสการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กไทย (พ่อแม่เขาก็จ่ายภาษีเหมือนกันผ่านภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้และบริโภคสินค้าต่างๆ ตลอดจนพลังงาน) ทิศทางที่เราทำอยู่ในขณะนี้ที่ให้ลูกแรงงานข้ามชาติทุกคนได้เข้าโรงเรียน (จำนวนมากอยู่ในแถบชายแดน จังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี) นั้นถูกต้องแล้ว แต่ต้องเพิ่มคุณภาพและให้โอกาสที่จะศึกษาเกินกว่าการศึกษาภาคบังคับ อย่าลืมว่าไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน “ความเป็นไทย” และการมีใจให้เราจะติดตัวเขาไปเสมอ ถ้าเรารักและปรารถนาดีต่อเด็กเหล่านี้อย่างจริงใจ

การให้ความสำคัญแก่เด็กเหล่านี้อย่างจริงจังจะเป็นการลงทุนด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คุ้มค่ายิ่งในระยะยาว นับวันการเป็นประชาคมอาเซียนจะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในทุกด้าน การมีสมาชิกเพื่อนบ้านอยู่ในตำแหน่งสำคัญในอนาคตที่เคยศึกษาในประเทศไทยและมีใจให้เราไม่น่าจะเป็นผลเสียต่อสังคมของเรา

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จริงต้องอาศัยทั้งการดำเนินการของภาครัฐและความรู้สึกนึกคิดของคนไทยทั้งมวล พื้นฐานวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันและความเป็น “นักปฏิบัติ” ของคนไทยมีส่วนช่วยอย่างสำคัญที่จะทำให้กระบวนการปรับแรงงานข้ามชาติเป็น “พลเมืองไทย” ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

คนไทยนั้นโดยธรรมชาติเป็นคนใจกว้างกับคนต่างชาติต่างภาษาอยู่แล้ว ถ้าเราเข้าใจประเด็นความสำคัญของการแปลงแรงงานข้ามชาติเป็น “พลเมืองไทย” ก็จะยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นทรัพย์สินที่มีค่ายิ่งขึ้นของสังคมเรา และระหว่างนี้เราก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 พ.ค. 2559