ThaiPublica > เกาะกระแส > การจัดการป่ายั่งยืน Right to wood ” คืนสิทธิต้นไม้ ให้ผู้ปลูกและชุมชน ”

การจัดการป่ายั่งยืน Right to wood ” คืนสิทธิต้นไม้ ให้ผู้ปลูกและชุมชน ”

17 พฤษภาคม 2016


เฟล็กที(Forest Law Enforcement Governance and Trade :FLEGT) หรือ “การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า” เป็นแผนปฏิบัติการที่สหภาพยุโรป (EU) พัฒนาขึ้นเพื่อหยุดยั้งการค้าไม้เถื่อนระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายมาตรการ หนึ่งในนั้นคือการจัดทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจกับประเทศคู่ค้า

สำหรับประเทศไทย หลายคนอาจไม่รู้ว่าได้มีการยื่นเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงนี้มาตั้งแต่ปี 2556 เป็นข้อตกลงที่ว่าด้วยการสร้างระบบรับประกันการตรวจสอบไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดร่วมกันว่าอะไรคือไม้ที่ถูกต้อง เพื่อสร้างระบบการค้าไม้ที่ตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม การเจรจาข้อตกลงนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างหรือแม้แต่ในวงการป่าไม้ และยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากนักในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

เวทีสัมมนาเฟล็กทีภาคประชาสังคม  “เฟล็กที-คืนสิทธิต้นไม้ ให้ผู้ปลูกและชุมชน” (Right to wood) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ สวนป่าหอมมีสุข ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง
เวทีสัมมนาเฟล็กทีภาคประชาสังคม “เฟล็กที-คืนสิทธิต้นไม้ ให้ผู้ปลูกและชุมชน” (Right to wood) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ สวนป่าหอมมีสุข ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง

ล่าสุด มีการจัดเวทีสัมมนาเฟล็กทีภาคประชาสังคม “เฟล็กที-คืนสิทธิต้นไม้ ให้ผู้ปลูกและชุมชน” (Right to wood) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ สวนป่าหอมมีสุข ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

โดยเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของผู้ปลูกต้นไม้ เกษตรกรรายย่อย ชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อหาแนวทางการผลักดันให้อาชีพป่าไม้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของการสร้างเศรษฐกิจจากฐานชุมชน ที่ตอบโจทย์ทั้งต่อรายได้และพื้นที่ป่าไม้ให้แก่ประเทศไทย และเห็นว่าข้อตกลงระดับสากลอย่างเฟล็กทีจะช่วยสร้างหลักประกันแก่การจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนได้

นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ  อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้
นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้

“ประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ” อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้มีส่วนเริ่มต้นการเตรียมการข้อตกลงเฟล็กที เล่าย้อนเหตุการณ์ว่า ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเฟล็กทีเนื่องจากสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าไม้ที่ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้

ทั้งนี้ เฟล็กทีของอียูออกกฎหมายระบุว่า ต่อไปนี้ประเทศต่างๆ ที่จะส่งสินค้าไม้หรือสินค้าที่ทำจากไม้เข้าไปในกลุ่มประเทศยุโรปต้องยืนยันแหล่งที่มาให้ได้ว่ามาจากไหน เขาบังคับคนในอียูที่ค้าขายสินค้าเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้มีบังคับประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่หากประเทศไหนไม่ทำ คนของเขาก็ไม่สามารถซื้อไม้หรือสินค้าที่ทำจากไม้แล้วส่งไปในอียูได้ เพราะไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

“นี่คือกฎหมายของเขา ควบคุมคนของเขา แต่มีผลกระทบกับทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยในฐานะที่ค้าขายไม้กับยุโรปมาเป็น 100 ปี จนถึงปัจจุบัน และมีมูลค่าส่งออกปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท จำเป็นและยินดีเจรจาเพื่อหาวิธีจัดทำระบบรับประกันเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่จัดการกับการค้าไม้เถื่อนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา

อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้อธิบายว่า เหตุผลที่อียูกำหนดกฎหมายนี้ขึ้นมาเป็นเพราะเขาตระหนักว่าป่าไม้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของโลก สำหรับหลายประเทศที่เป็นป่าเขตร้อนแบบไทย เช่น พม่า กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ บราซิล มีการตัดไม้ถางป่าไปทำพื้นที่เกษตร จนส่งผลให้เกิดแก๊สเรือนกระจก

ฉะนั้น ทุกวันนี้ทั่วโลกเหมือนอยู่ในตู้อบ เพราะคาร์บอนในบรรยากาศมีจำนวนมาก ซึ่งต้นไม้ช่วยดูดคาร์บอนทำให้อากาศดีขึ้น เขาจึงกำหนดกฎหมายไม่ให้ประเทศต่างๆ ตัดไม้เถื่อนในป่า เพราะปัญหามันเกิดทั่วโลก

ดังนั้น ความสำคัญของเฟล็กทีก็คือ ไม่ให้มีการทำไม้เถื่อนส่งเป็นสินค้าไปขายเพื่อลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก สอดคล้องกับการพัฒนาป่าไม้ไทย ส่งเสริมไม่ให้มีการตัดไม้เถื่อน ซึ่งผมเชื่อว่าประเทศไทยทำได้ แต่ต้องรอดูการเจรจาระหว่างกรมป่าไม้กับอียู

นอกจากนี้ โอกาสของไม้สวนป่าก็จะมีมากขึ้น เพราะไม้สวนป่าที่ขึ้นทะเบียนกับราชการไว้สามารถยืนยันได้ว่าเป็นไม้จากสวน ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไม้จากที่ดินของประชาชน หากโรงงานอุตสาหกรรมต้องการไม้เหล่านี้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่มีที่ดินปลูกไม้ป่าได้มากขึ้น เพิ่มจีดีพีจากภาคป่าไม้

นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่
นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่

“กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าพื้นที่ของแม่ทาตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนกว่า 73,000 ไร่ โดยมีระบบการจัดการการอนุรักษ์และดูแลป่ามาอย่างยาวนานในรูปแบบป่าชุมชน กลายเป็นต้นแบบระดับประเทศ

และเมื่อไม่นานมานี้ แม่ทาเป็นพื้นที่แรกของการมอบสิทธิในใช้ประโยชน์ป่าสงวนจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จำนวน 7,200 ไร่ ซึ่งคนในพื้นที่วางเป้าหมายให้แม่ทาเป็นชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ใช้ระบบวนเกษตรในการพัฒนาอาชีพ

พร้อมกันนี้ยังจัดทำโครงการ “ผันชีวิต ผันตำบล คนแม่ทา” เป็นการวางอนาคตใน 10 ปีข้างหน้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในแม่ทาว่าจะใช้อย่างไร รวมทั้งป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือ กำหนดโดยคนแม่ทา และใช้องค์กรท้องถิ่นกับองค์กรท้องที่ดูแลทรัพยากรตามหน้าที่ ทำระบบข้อมูลอย่างเป็นระบบ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นว่า พลวัตของคนทั้งประเทศและทั้งโลกคือเรื่องความเจริญเติบโตเรื่องการเปลี่ยนแปลงอาชีพ เรื่องการใช้ทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไป และแม่ทาเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ทุกวันนี้ แม่ทายังถูกเรื่องทุนนิยม เรื่องพืชเชิงเดี่ยวที่มีความพยายามจะเข้าไป ผู้นำชุมชนจึงมีความคิดก้าวหน้าว่าจะสร้างเกราะป้องกันสิ่งเหล่านี้อย่างไร ที่สำคัญคือ จากกฎระเบียบที่ชาวบ้านรักษากันมา ก็ยกระดับเป็นข้อบัญญัติชุมชนที่ไม่ขัดกับกฎหมายป่าไม้ เพื่อให้คนมาร่วมกันรักษาป่า

กนกศักดิ์บอกว่า ที่แม่ทารักษาป่าไว้ได้ เพราะแม่ทามีข้อสรุปว่า ถ้าจะรักษาต้องให้ได้ใช้ประโยชน์ เป็นแรงจูงใจ ชาวบ้านที่รักษาป่าแม่ทาเพราะเขามีไม้มาสร้างบ้าน เขาไปดับไฟป่ากลางคืนเพราะเขาหวงป่า แต่วันไหนเขาไม่ได้ใช้ เขาอาจไม่ไปดูแลป่า

และขณะนี้ อบต.แม่ทาได้ทำการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้สัก แม้จะยังมีคำถามจากชาวบ้านว่าปลูกแล้วจะตัดได้ไหม เพราะกฎหมายประเทศไทยยังไม่ให้ตัด แต่เราเชื่อว่าต้องปลูกก่อน ต้องสร้างแรงจูงใจ ทำระบบทะเบียนต้นไม้จับพิกัดให้ชัดเจน เพราะในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง และการปลูกป่าอาจกลายเป็นอาชีพใหม่ของชุมชนก็เป็นได้

เขาสรุปว่า การจัดการเรื่องต้นไม้ คนท้องถิ่นมีความเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ หากกระจายอำนาจลงไปอย่างมีขั้นตอนผมคิดว่าการรักษาทรัพยากรจะสำเร็จ ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ รวมบางเรื่องได้ แต่บางเรื่องก็ต้องกระจาย โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากร

เพราะทุกวันนี้ปัญหาคือ บางเรื่องกฎหมายดี แต่ก็มีบางมาตราเป็นอุปสรรค แต่ถ้าสามารถแยกแยะและจัดการ ชุมชนท้องถิ่นต้องร่วมกันจัดการบริหารทั้งเรื่องของการปลูก การตัด การแปรรูป ที่สำคัญคือวิสาหกิจ ถ้าเป็นระดับชุมชนได้ ก็จะเป็นประชารัฐที่สำคัญที่สุด

“ความฝันของคนแม่ทาไม่ได้แตกต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ นั่นคือการกินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี หนี้หมด เป็นความฝันของทุกชุมชน ดังนั้น ที่สำคัญที่สุดของแม่ทาคือทรัพยากร แต่จะทำตามฝันได้ ต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานของตนเอง วิถีคนแม่ทาจึงพยายามพึ่งพิงป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และรักษาพื้นที่ป่าไปพร้อมๆ กัน”

พิกุล กิตติพล เจ้าของสวนป่าหอมมีสุข
พิกุล กิตติพล เจ้าของสวนป่าหอมมีสุข

“พิกุล กิตติพล” เจ้าของสวนป่าหอมมีสุข เล่าว่า ในชุมชนตำบลกะเฉด องค์การบริหารส่วนตำบลมีแนวคิดให้ประชาชนเป็นผู้คิด ประชาชนเป็นผู้ทำ อบต. เป็นผู้เสริมให้เงินสนับสนุน ไปชวนประชาชนในชุมชนร่วมกันปลูกป่า ให้เขารู้สึกรักในแผ่นดินของตนเอง

แต่เมื่อปลูกแล้วจะนำมาใช้หรือนำมาขาย ยังติดปัญหาเรื่องกฎหมาย ดังนั้น อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลเรื่องกฎหมายว่า เมื่อประชาชนปลูกแล้ว ประชาชนได้ ประชาชนมีสิทธิขายโดยเสรี ให้มีคนมารับรองว่าเราปลูกจริงๆ สามารถมีสิทธิ์โค่นไม้ เลื่อย ขาย มีคนมารับซื้อถึงที่ได้

เธอบอกว่า ปัจจุบันแม้สวนป่าหอมมีสุขจะขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่า แต่ก็ยังเจอปัญหาระเบียบในการทำไม้ยุ่งยากพอสมควร จึงอยากให้เกิดการแก้ไขระเบียบขั้นตอนและต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องการอนุญาตต่างๆ ด้านป่าไม้เพื่อความสะดวกและเอื้อต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

หากเราปลูกทิ้งไว้ให้ลูกหลานสักหมื่นต้น ตัดเดือนละต้นก็ใช้ไม่หมดแล้ว ดังนั้น นี่คือความฝันว่าเราปลูกเองทำเอง และทุกวันนี้ความต้องการไม้มีมาก เช่น มีพ่อค้าจีนต้องการซื้อไม้พะยุงจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าต้นหนึ่งจะทำรายได้ให้ชาวบ้านได้ไม่น้อย แต่ชาวบ้านยังรอการรับรองสิทธิ์ รับรองต้นไม้ที่เขาปลูกเพื่อให้ไปถึงการค้าขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย

นายพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้
นายพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้

“พงศา ชูแนม” ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ เห็นว่า ปัจจุบันมักมีการแสวงหาคนผิดแบบผิดๆ แต่จริงๆ แล้วต้องยอมรับผิดด้วยกันว่าป่าไม้ที่หายไปเป็นความผิดร่วมกันทั้งสังคม นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังผูกขาดความรับผิดชอบและการจัดการไว้เพียงผู้เดียว ดังนั้น ธนาคารต้นไม้จึงเข้ามาเพื่อบอกว่า การปลูกต้นไม้ การสร้างป่า ต้องสร้างโดยภาคประชาชน

ทั้งนี้ หลักของธนาคารต้นไม้จะให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ โดยมีหลักว่า 1. ต้นไม้ที่ประชาชนปลูกต้องเป็นของประชาชน แต่วันนี้ประชาชนปลูกไม้เสร็จแล้วแต่กลับกลายเป็นไม้หวงห้าม ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็เผลอคิดว่าเป็นทรัพย์ของรัฐด้วย

2. ต้นไม้มีชีวิตมูลค่าเป็นทรัพย์ โดยจะต้องมีการทำทะเบียนรับรองโดยประชาชนตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการดูแลต้นไม้ 3. ต้องมีองค์กรบริหารจัดการไม้ที่เป็นของคนปลูกต้นไม้ และ 4. ต้องมีกองทุนเพื่อส่งเสริมให้คนปลูกต้นไม้ต่อไป

พร้อมกันนี้ยังเชื่อว่า ป่าไม้จะเกิดได้จากแรงจูงใจและความจำเป็น ประชาชนต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของต้นไม้ มีความรับผิดชอบ และได้ประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาการจัดการป่าล้มเหลวเพราะใช้อำนาจรัฐมากเกินไป

นายณรงค์  มีนวล ตัวแทนภาคเอกชนจากบริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือของ SCG
นายณรงค์ มีนวล ตัวแทนภาคเอกชนจากบริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือของ SCG

“ณรงค์ มีนวล” ตัวแทนภาคเอกชนจากบริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือของ SCG เล่าว่า SCG ใช้ไม้ปีหนึ่งประมาณ 2.5 ล้านตัน คิดเป็นพื้นที่ตัดและเก็บเกี่ยวไม้ประมาณ 3 แสนไร่ ทั้งนี้ มากกว่า 95% ของไม้มาจากแปลงปลูกของเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันพบว่าลูกค้ามีความต้องการเรื่องการรับรองมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ และตราประทับรับรองกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ แต่การทำระบบมาตรฐานให้กับเกษตรกรรายย่อยว่าไม้ที่ปลูกมีการจัดการที่ดีและเป็นไม้ถูกต้องนั้นยังคงต้องพัฒนา

ดังนั้น ระบบรับประกันความถูกต้องไม้แบบเฟล็กทีน่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งของเกษตรกรรายย่อยได้ และเชื่อว่าปัจจุบัน เมื่อเรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็จะช่วยให้การตรวจสอบและติดตามไม้ทำได้ง่ายขึ้น

บรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาเฟล็กทีกับอียูว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐคือการทำนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ทำเป็นบทสรุปรอบที่สอง ส่งไปให้อียูคอมเมนต์ว่ายังติดขัดปัญหาส่วนใดบ้าง

อีกส่วนที่ทำล่วงหน้าไปแล้วคือเรื่องขอบเขตสินค้าที่พร้อมจะนำไปเจรจา แต่ก็ต้องส่งไปให้อียูคอมเมนต์ก่อนเช่นกันว่าครอบคลุมหรือไม่ รวมทั้งการเริ่มทำเรื่องซัพพลายเชนคอนโทรล ยังมีช่องว่างซึ่งเราต้องเพิ่มเติมเข้าไป

แต่เรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ให้สำเร็จคือ การพัฒนาระบบประกันความถูกต้องของไม้ ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าสินค้าไม้ที่ซื้อจากประเทศไทยมีแหล่งที่มาจากไหน ผลิตถูกต้องหรือไม่ สามารถเช็คได้ว่าไม้แต่ละชิ้นมาจากสวนป่าของใคร

ขณะที่ในอนาคต กรมป่าไม้ยังมีแนวคิดออกแบบระบบฐานข้อมูลที่จะมารองรับการปลูกป่าของเกษตรกรในท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตเกษตรกรปลูกไม้ตรงไหน อยู่ที่พิกัดอะไร สามารถเข้ามาสร้างพาสเวิร์ดของตนเอง เป็นระบบของตัวเอง ลงทะเบียนว่าปลูกต้นอะไรไว้ ตั้งแต่ปีไหน ปลูกตรงไหน

ฉะนั้น การที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมทำข้อตกลงเรื่องเฟล็กที ไม่ใช่เพียงเพื่อทำการค้าขายกับสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่สิ่งที่กรมป่าไม้คาดหวังคือการใช้เครื่องมือนี้เป็นกลไกในการพัฒนาระบบมาตรฐานของประเทศในด้านการจัดการป่าไม้เพื่อให้เกิดระบบการประกันความถูกต้องของไม้ ซึ่งจะช่วยตรวจสอบที่มาและความถูกต้องของไม้ เพื่อการค้าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้
นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้

ทั้งนี้ หลังจากการเสวนาเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางผู้แทนกรมป่าไม้ โดยประเด็นหลักที่ภาคประชาชนต้องการเน้นย้ำ ประกอบด้วย

  • รัฐให้การยอมรับสิทธิชาติพันธุ์ชนเผ่าและสิทธิชุมชนที่ดำรงวิถีชีวิตจารีตประเพณีวัฒนธรรมในการอนุรักษ์และดูแลรักษาระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน
  • ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการประกาศพื้นที่ป่าไม้ที่ทับซ้อนที่ดินของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้มีการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้ช่องทางตามกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าสงวน เช่าที่ดินเพื่อปลูกต้นไม้ได้อย่างครบวงจร
  • ให้แก้ไข มาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยให้ยกเว้นไม้หวงห้ามประเภท ก ในที่ดินตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535
  • ให้ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 (ฉบับแก้ไข) ยกเลิกบัญชีรายชื่อไม้ 58 ชนิดที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ โดยเปลี่ยนให้ไม้ทุกชนิดในพื้นที่สวนป่าสามารถนำมาขึ้นทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. นี้ และให้ผู้ประกอบการสวนป่าที่ขึ้นทะเบียนแล้วสามารถรวมกลุ่มและนำไม้มารวมเพื่อทำการแปรรูปไม้ร่วมกันได้
  • โรงงานแปรรูปไม้ควรได้รับอนุญาตให้แปรรูปไม้ได้ทุกชนิดและเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง และใบอนุญาตโรงงานแปรรูปไม้ควรมีเพียงฉบับเดียวซึ่งสามารถแปรรูปไม้ ทั้งเลื่อยซุง อบ ไสซอย แปรรูปเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือไม้แปรรูปเพื่อการค้าในประเทศและส่งออก
  • ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เรื่องใบเบิกทางและใบกำกับไม้ด้วยการลดขั้นตอนเพื่อให้สะดวก มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • ควรให้เกิดการกระจายอำนาจในการรับรองแหล่งที่มาของไม้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภายนอกเป็นผู้รับรองได้ โดยให้ภาครัฐเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยอมรับได้ทั้งอำนาจหน้าที่ วิธีปฏิบัติ และบทลงโทษ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ