ThaiPublica > คอลัมน์ > อุปสรรคของการปฏิรูปที่แท้จริง (3): มายาคติเกี่ยวกับกฎหมาย

อุปสรรคของการปฏิรูปที่แท้จริง (3): มายาคติเกี่ยวกับกฎหมาย

9 พฤษภาคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

สองตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามสรุป “มายาคติ” สองประการที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปที่แท้จริงในประเทศไทย ได้แก่ มายาคติเกี่ยวกับคนจน และมายาคติเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญ

มายาคติอีกประการที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ มายาคติเกี่ยวกับกฎหมาย โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า กฎหมายคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตายตัว ออกแล้วย่อมชอบธรรมเสมอ ดีเสมอไม่ต้องทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ดังนั้นถ้าเพียงแต่ “ทุกคนทำตามกฎหมาย” บ้านเมืองก็จะสงบเรียบร้อยรุ่งเรืองก้าวหน้า ฯลฯ

มายาคติเช่นนี้นอกจากจะผิดมหันต์แล้วยังเป็นอันตรายต่อการพัฒนาอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อเท็จจริงคือ 1. “นิติรัฐ” กับ “กฎหมาย” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน 2. การบังคับใช้กฎหมายที่ล้าสมัยและสะท้อนลัทธิอำนาจนิยม มีส่วนซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและฉุดรั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3. กฎหมายไม่ใช่แก้วสารพัดนึก แก้ปัญหาทุกเรื่องไม่ได้

ใครๆ ที่สถาปนาตัวเองเป็นใหญ่ในแผ่นดิน หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ย่อมสามารถออกกฎหมายหรือออกคำสั่งต่างๆ และอ้างว่าคำสั่งเหล่านั้นมีสถานะเป็น “กฎหมาย” (ศาลจะยอมรับหรือไม่ก็อีกเรื่อง โดยธรรมเนียมศาลไทยนั้นยอมรับ)

แต่สังคมสมัยใหม่รู้ดีว่า ลำพังการมี “กฎหมาย” ไม่ใช่หลักประกันว่าประเทศจะก้าวหน้า

อย่าลืมว่าการทรมานจนตาย การใช้แรงงานทาส การเหยียดผิว และธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งอาจมีเหตุมีผลหรือคนในอดีตรับได้ แต่คนทั่วไปวันนี้รับไม่ได้อีกแล้วเพราะมองว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ล้วนแต่เคย “ถูกกฎหมาย” ในอดีตมาแล้วทั้งสิ้น

การผลักดันให้แก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ หลายครั้งจึงเริ่มจากการ “อารยะขัดขืน”

ที่มาภาพ: http://40.media.tumblr.com/f6a2338414f50835c7dfcc5e3a1c4e25/tumblr_o0hhpnwqdC1s5tccmo1_1280.jpg
ที่มาภาพ: http://40.media.tumblr.com/f6a2338414f50835c7dfcc5e3a1c4e25/tumblr_o0hhpnwqdC1s5tccmo1_1280.jpg

ในเมื่อกฎหมายอาจไม่ยุติธรรม จึงมีการนิยามและเผยแพร่ความจำเป็นของ “นิติรัฐ” หรือ rule of law ซึ่งสาระสำคัญ ได้แก่ 1. รัฐจะต้องไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด 2. กฎหมายจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เขียนอย่างชัดเจนว่าให้รัฐล่วงล้ำเข้าไปในแดนของสิทธิเสรีภาพประชาชนในกรณีใดบ้าง และภายใต้ขอบเขตใด เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ให้ล่วงล้ำ “เกินความจำเป็น” และ 3. การควบคุมไม่ให้รัฐขัดต่อกฎหมายหรือกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการซึ่งจะต้องเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

หลายคนบ่นว่าการปฏิรูปเกิดไม่ได้เพียงเพราะผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ หรือขัดขวางไม่ให้ “ผู้รู้” ได้ทำงาน ราวกับว่าทุกเรื่องเรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าต้องทำอะไรอย่างไร มีองค์ความรู้พร้อมมูลแล้ว รอเพียงผู้มีอำนาจมา “เปิดไฟเขียว” ให้ปฏิรูปเท่านั้น

ความคิดเช่นนี้อธิบายว่าเหตุใดข้าราชการและคนอื่นๆ จำนวนมากที่ยังยึดติดกับแนวคิดแบบอำนาจนิยม ถึงได้พยายามเชียร์ให้ คสช. ใช้อำนาจเผด็จการตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว กับเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

แต่ลำพังการที่ คสช. ใช้อำนาจเผด็จการออกคำสั่งต่างๆ และประกาศว่าคำสั่งเหล่านั้นมีสถานะเป็นกฎหมาย ย่อมมิได้ทำให้คำสั่งเหล่านั้น “ชอบด้วยกฎหมาย” หรือตรงตามหลักนิติรัฐโดยอัตโนมัติ

ที่ผ่านมามีคำสั่ง คสช. จำนวนมากซึ่งล่วงล้ำแดนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยที่อธิบายไม่ได้ หรือไม่เคยอธิบาย ว่าคำสั่งเหล่านั้น “จำเป็น” อย่างไร เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น คำสั่ง คสช. 3/3558 และ 13/2559 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า, ควบคุมตัว, ค้น ยึด อายัด, หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยที่ทหารไม่ต้องรับผิดใดๆ

ตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครองอย่างสิ้นเชิง

บทเรียนอำนาจนอกระบบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: http://www.ilaw.or.th/node/4085
บทเรียนอำนาจนอกระบบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: http://www.ilaw.or.th/node/4085

คำสั่งทั้งสองฉบับโดยเฉพาะ 13/2559 มีปัญหาในตัวบทมากมาย (ดูอาทิ ความเห็นของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ไอลอว์)

ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและควบคุมตัวหลายวันโดยอาศัยอนาจตามคำสั่งดังกล่าว ก็มิได้ “กระทำความผิดซึ่งหน้า” ตามเงื่อนไขในคำสั่งแต่อย่างใด เพียงแต่โพสความคิดเห็นออนไลน์ก่อนหน้าจะโดนจับ อย่างเช่นกรณีของ วัฒนา เมืองสุข ซึ่งเพียงแต่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ บางกรณีจับคนไปดื้อๆ เช่น การคุมตัวแอดมินเพจ ‘เปิดประเด็น’ จากสุราษฎร์ธานีมาเข้าค่ายทหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นทหารก็คืนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือให้ แต่ไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ

สูญเสียอิสรภาพไป 7 วันโดยไม่รู้ว่าทำไม และอาจสูญเสียข้อมูลส่วนตัวมากมายเพราะคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือถูกยึด แต่ไม่มีสิทธิ์ไปร้องเรียนกับใครได้เลย

นอกจากคำสั่งและการบังคับใช้คำสั่ง คสช. จะขัดต่อหลักนิติรัฐแล้ว อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การตีความกฎหมายเดิมในทางที่เกินเลยและขัดต่อหลักนิติรัฐ (ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และ “ไม่มีเส้น” (ไม่รู้จักกับใครในรัฐบาล หรือแกนนำฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล)

ตัวอย่างเช่น การจับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งในเชียงใหม่ หลังจากที่โพสรูปขันแดงซึ่งมีข้อความจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และโปสเตอร์ทักษิณกับยิ่งลักษณ์ ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ตามคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร (ข่าวไทยรัฐ)

ภาพขันแดงและโปสเตอร์ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ซึ่งผู้โพสถูกฟ้องในข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา 116 ที่มาภาพ: http://prachatai.com/journal/2016/03/64918
ภาพขันแดงและโปสเตอร์ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ซึ่งผู้โพสถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ที่มาภาพ: http://prachatai.com/journal/2016/03/64918

มาตรา 116 ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

กฎหมายระบุชัดเจนว่า “การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต” เช่น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิจารณ์กฎหมายที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ย่อมไม่ผิดกฎหมาย

แม้แต่การกระทำที่อาจเข้าข่ายไม่สุจริต เช่น บางคนมีวาระทางการเมือง ออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินก็ไม่ผิด หากเป็นการเรียกร้องโดยสันติวิธี ไม่ใช่ “ใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย” ตาม 116(1)

ลำพังการโพสภาพขันแดงพร้อมโปสเตอร์อดีตนายก การแชร์ภาพการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ หรือเป็นแอดมิจเพจล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะรับจ้างใครทำหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่เป็นความผิดต่อความมั่นคงของชาติ ตามมาตรา 116 แต่อย่างใด (อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้จากบทวิเคราะห์โดยไอลอว์)

อย่างมากการกระทำเหล่านี้ก็อาจเข้าข่ายความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ซึ่ง บุคคลใดๆ ก็ตามที่ถูกพาดพิง รวมถึงนายกรัฐมนตรี ย่อมมีสิทธิฟ้องได้ตามกฎหมาย และที่ผ่านมานายกฯ หลายคนก็ใช้สิทธินี้มาแล้ว

ไม่ใช่ฟ้องผู้วิจารณ์ด้วยข้อกล่าวหารุนแรงอย่าง “ยุยงปลุกปั่น” ซึ่งเท่ากับเป็นการยกชั้นสถานะ “บุคคล” ของตัวเองขึ้นมาเทียบเท่า “รัฐ” อยู่เหนือทุกสถาบันเลยทีเดียว

ผังเครือข่ายเพจล้อเลียน "เรารัก พล.อ. ประยุทธ์" ซึ่งจัดทำโดยทหาร ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news/121287
ผังเครือข่ายเพจล้อเลียน “เรารัก พล.อ. ประยุทธ์” ซึ่งจัดทำโดยทหาร ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news/121287

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นน่าจะช่วยฉายภาพว่า “นิติรัฐ” กับ “กฎหมาย” นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ยิ่งผู้ใช้อำนาจไม่เข้าใจ และคนจำนวนมากตกอยู่ใต้มายาคติ การปฏิรูปที่แท้จริงไม่ว่าเรื่องไหนไม่เพียงแต่จะเกิดยากเท่านั้น แต่สังคมยิ่งจะตกหล่มถอยหลังมากกว่าเดิม เพราะกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของอำนาจ โดยขาดกลไกตรวจสอบและไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

ส่วนประเด็นเรื่องความล้าหลังของกฎหมาย และความที่กฎหมายไม่ใช่แก้วสารพัดนึกนั้น เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับมายาคติอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ มายาคติเกี่ยวกับการพัฒนา

โปรดติดตามตอนต่อไป.