ThaiPublica > คอลัมน์ > 36 ปี ซีรีส์เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

36 ปี ซีรีส์เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

7 พฤษภาคม 2016


Hesse004

ว่ากันว่า ซีรีส์หนังจีนเรื่องหนึ่งที่ขึ้นหิ้ง “คลาสสิค” ตลอดกาล คือ ซีรีส์ชุด The Bund ของ TVB ฮ่องกง ซึ่งออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1980

ชื่อ The Bund อาจไม่คุ้นหูสำหรับคอหนังจีนบ้านเรา แต่ถ้าเอ่ยชื่อ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” …หลายท่านต้องร้อง “อ๋อ” พร้อมนึกถึงภาพของ ติงลี่ และเนื้อเพลง “หลอปั๊ง หลอเหล่า…”1 ที่ทุกวันนี้ยังเป็นที่นิยมในหมู่นักร้องคาราโอเกะเพลงจีน

ปีนี้ ซีรีส์ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” มีอายุครบ 36 ปี พอดิบพอดี (ออกอากาศครั้งแรกในฮ่องกงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 1980) เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้กลายเป็นเวทีแจ้งเกิดของเหล่าดาราฮ่องกงระดับ “ตำนาน” ตั้งแต่ โจวเหวินฟะ ที่รับบทนำเป็น “สี่เหวินเฉียง” หลี่เหลียงเหว่ย ในบท “ติงลี่” ที่ทุกคนยังจดจำเขาได้ดี รวมทั้ง จ้าวหย่าจือ (Angie Chiu) นางเอกหน้าหวานผู้รับบทเป็นคุณหนูฉิงฉิง

คนที่ตกหลุมรักซีรีส์เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ยุค 80 น่าจะมีเหตุผลคล้ายๆ กัน เช่น หลงใหลแฟชั่นการแต่งตัวในยุค 30 และบรรยากาศเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ถูกเรียกว่าเป็น “ปารีสแห่งตะวันออก” หรือชอบพล็อตเรื่องที่ว่าด้วยการก่อร่างสร้างตัวของพระเอก 2 คน ทั้งสี่เหวินเฉียงและติงลี่ หรือเศร้าไปกับโศกนาฏกรรมแห่งความรักแบบ “รักสามเส้า” ของชายสอง หญิงหนึ่ง รวมทั้งสนุกไปกับฉากบู๊ ชิงไหวชิงพริบในการแย่งอำนาจของมาเฟียเซี่ยงไฮ้

ผ่านไป 36 ปี เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้เวอร์ชั่นแรก ก็ยังคงคลาสสิคอยู่เสมอ ที่มาภาพ :https://upload.wikimedia.org/ wikipedia/en/3/30/Shanghaitan.jpg
ผ่านไป 36 ปี เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้เวอร์ชั่นแรก ก็ยังคงคลาสสิคอยู่เสมอ
ที่มาภาพ :https://upload.wikimedia.org/
wikipedia/en/3/30/Shanghaitan.jpg

…พูดง่ายๆ ว่า เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้เป็นหนังชุดที่ “ครบรส” เทียบเคียงกับ The Godfather มาเฟียโรแมนติคของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ก็ว่าได้

เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้วางโครงเรื่องเหตุการณ์ในช่วงที่แผ่นดินจีนเกิดความโกลาหล วุ่นวาย อ่อนแอ ถูกต่างชาติรุกรานและยึดครองภายใต้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ย้อนกลับไป ก่อนปี 1930 สภาวะไร้ระเบียบของสังคมจีน ทำให้จีนกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย เมื่อหมดยุคราชวงศ์ชิง เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ เกิดการแก่งแย่งกันของขุนศึกที่ต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ยุคนี้เอง ใครเข้มแข็งก็อยู่รอด ใครอ่อนแอก็จะถูกกำจัด

อย่างไรก็ดี การอยู่รอดให้ได้นั้น ทุกคนต้องทำทุกวิถีทางโดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะถูกหรือผิด

ด้วยเหตุนี้ แก๊งอาชญากรรมจึงเติบโตขึ้นในช่วงที่สภาพบ้านเมืองไร้ขื่อแป ไม่มีกฎกติกา อำนาจปืนและอำนาจเงินเท่านั้นที่จะทำให้คนแข็งแรงกว่าอยู่รอดปลอดภัยได้

สภาพเซี่ยงไฮ้ในเวลานั้นก็เช่นกัน เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจ มีผู้คนอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก ชาวต่างชาติเดินทางมาตั้งถิ่นฐานและควบคุมเขตปกครองต่างๆ ในรูปแบบของ “เขตเช่า” หรือ เขตสัมปทาน เช่น เขตเช่าอังกฤษ เขตเช่าฝรั่งเศส ชาวตะวันตกฉกฉวยโอกาส กอบโกยประโยชน์จากแผ่นดินจีนในยามที่จีนอ่อนแอ

นอกจากนี้ “ญี่ปุ่น” ยังส่งกองทัพเข้ารุกรานเพื่อหวังจะครอบครองแผ่นดินจีนด้วยเช่นกัน

เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ภาคแรก (ถ้าเป็นสมัยนี้คงใช้ซีซั่น 1) ทั้ง 25 ตอน สะท้อนภาพบรรยากาศความไร้ระเบียบ โกลาหล ของประเทศจีนยุคนั้นได้อย่าง “ทรงพลัง” ไม่เฉพาะเรื่องการตีรันฟันแทงของแก๊งต่างๆ เพียงอย่างเดียว หากแต่แฝงประเด็นความรักชาติและอุดมการณ์ต่อต้านญี่ปุ่นไว้ด้วย ที่แม้คนเหล่านี้จะเป็นมาเฟียแต่พวกเขาก็ยังสำนึกในความเป็นคนจีนอยู่

ดังเช่นคำพูดของสี่เหวินเฉียงที่พูดไว้ว่า

“จริงอยู่ ผมไม่ใช่คนดี แต่ผมก็มีสิทธิเลือกจะเป็นคนจีน” 2

อาจกล่าวได้ว่า การเป็นมาเฟียเมื่อ 80 ปีก่อน แก๊งอันธพาลมีอุดมการณ์เรื่องชาตินิยมสูงมาก หากใครที่เข้าข้างกองทัพญี่ปุ่น คนนั้นจะถูกมองเป็น “สุนัขรับใช้ญี่ปุ่น” ขายชาติ ไม่มีความเป็นนักเลงหรือผู้กล้าแต่อย่างใด

หลังจากซีรีส์ชุดนี้ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย TVB ได้ปล่อยซีรีส์ The Bund II และ III ออกมาติดๆ กัน โดยบทนำยังอยู่ที่คุณติงลี่

พล็อตเรื่องเกี่ยวกับมาเฟียเซี่ยงไฮ้ยุค 30 ยังคงถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอ เช่น ปี 1996 TVB รีเมคซีรีส์ชุดนี้ใหม่ เพิ่มเป็น 40 ตอน และใช้ชื่อว่า Once Upon a Time in Shanghai แต่ดูจะไม่เปรี้ยงปร้างเท่าใดนัก ต่อมาปี 2007 ผู้ผลิตซีรีส์จากจีนแผ่นดินใหญ่หยิบเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้มาปัดฝุ่นใหม่และใช้ชื่อว่า Shanghai Bund (ช่องสามเคยนำมาออกอากาศในชื่อเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ หักเหลี่ยมมังกร)

นอกจากซีรีส์แล้ว The Bund ยังถูกนำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง Shanghai Grand (1996) ที่ได้หลิว เต๋อ หัว มารับบทเป็นติงลี่ และเลสลี่ จาง เป็นสี่เหวินเฉียง

เมื่อกลับไปดูประวัติศาสตร์จริงของมาเฟียเซี่ยงไฮ้จะพบว่า ช่วงก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นรุกรานเซี่ยงไฮ้ในปี 1937 (Battle of Shanghai) เซี่ยงไฮ้มีแก๊งมาเฟียชื่อดัง คือ แก๊งชิงปิง หรือภาษาอังกฤษใช้ว่า Green Gang แก๊งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลในเซี่ยงไฮ้ เป็นองค์กรลับที่เคลื่อนไหวทำธุรกิจใต้ดินทุกอย่าง ตั้งแต่เปิดซ่อง ค้าฝิ่น เปิดบ่อนพนัน เก็บค่าคุ้มครอง นอกจากนี้ ชิงปิงยังมีบทบาทในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นด้วย

แก๊งนี้มีผู้นำอยู่ 3 คน คือ หวางจินหลง ตู้เย่ว์ซิน และจางเซ่าหลิน

ทั้งสามคนนี้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ถือกฎหมายและคนในกองทัพ

หวางจินหลง ไต่เต้าจากการเป็นอันธพาลสู่เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ แถมได้รับโปรโมตจากกรมตำรวจในเขตเช่าฝรั่งเศสให้เป็นถึงจเรตำรวจ มีบทบาทในแก๊งเหมือนเป็นพี่ใหญ่ เช่นเดียวกับตู้เย่ว์ซิน (Du Yuesheng) ที่สนิทสนมกับนายพลเจียง ไคเชก แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง และออกเงินระดมทุนช่วยเหลือกองทัพของเจียงในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานจีน

ตู้เย่ว์ซิน ถูกจัดว่าเป็นเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ตัวจริง เรื่องราวของเขาถูกบันทึกและถ่ายทอดในฐานะมาเฟียผู้รักชาติ ต่อต้านญี่ปุ่น และยอมบริจาคเงินมหาศาลเพื่อสนับสนุนกองทัพก๊กมินตั๋งต่อสู้กับญี่ปุ่น3

เรื่องราวของตู้เย่ว์ซิน ยังถูกนำมาเป็นพล็อตหนังเรื่อง The Last Tycoon (2009) หรือ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ คนสุดท้าย นำแสดงโดย โจวเหวินฟะ ผลงานกำกับของ หว่อง จิ้น (Wong Jin)

ทุกวันนี้ มาเฟียแบบติงลี่ สี่เหวินเฉียง หรือตู้เย่ว์ซิน อาจจะเหลือน้อยแล้ว เพราะอุดมการณ์ชาตินิยมในแก๊งมาเฟียน่าจะลดน้อยถอยลงไปพร้อมๆ กับโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เหล่านักเลงอันธพาลกลายเป็นมาเฟียข้ามชาติ ที่สนใจเพียงผลประโยชน์ของแก๊งเพียงอย่างเดียว

หมายเหตุ

1. ชื่อเพลงประกอบซีรีส์เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ คือ Seung Hoi Tan (上海灘) ขับร้องโดย Frances Yip ศิลปินนักร้องชาวฮ่องกง
2. ผู้เขียนขอขอบคุณเจ้าของบทความเรื่อง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (คลาสสิค) ซึ่งได้โค้ดคำคมเด่นๆ จากซีรีส์ชุดนี้ไว้ ผู้สนใจเรื่องย่อและเกร็ดประวัติศาสตร์ของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ดูที่นี่
3. ผู้สนใจเรื่องของตู้เย่ว์ซิน โปรดดู Du, the god father of Shanghai