ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เปิดตัวสถาบันวิจัยป๋วย สร้าง “วัฒนธรรมการวิจัย – คลังนักวิจัย” เชื่อมประสานเศรษฐศาสตร์เข้า “ท่า” เข้าถึงประชาชน

เปิดตัวสถาบันวิจัยป๋วย สร้าง “วัฒนธรรมการวิจัย – คลังนักวิจัย” เชื่อมประสานเศรษฐศาสตร์เข้า “ท่า” เข้าถึงประชาชน

5 เมษายน 2016


นายปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER)
นายปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER)

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 นาย​ปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (สศป.)  หรือ PIER (Puey Ungphakorn Institute for Economic Research) แถลงเปิดตัวสถาบันอย่างเป็นทางการ สถาบันจัดตั้งขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ภายใต้การเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถติดตามได้ผ่านเฟซบุ๊ก รวมถึงจดหมายข่าวที่สามารถกดติดตามได้ภายในเว็บไซต์

ทั้งนี้ สถาบันมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ 1) สร้าง คือ สร้างงานวิจัยเพื่อให้การดำเนินนโยบายตั้งอยู่บนพื้นฐานวิชาการมากขึ้น 2) ประสาน คือ ประสานเครือข่ายนักวิจัย ทรัพยากรการวิจัย ทั้งทุนและข้อมูล เพื่อให้วงการวิชาการของไทยเข้มแข็งและมีชีวิตชีวามากกว่าที่เป็นอยู่ และ 3) ขยายผล คือ ให้มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเก็บข้อมูลการวิจัยในประเทศให้เด่นชัดและสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อรับมือกับความผันผวน ความไม่แน่นอน และความซับซ้อนของโลกที่มากขึ้นเรื่อยๆ

“ต้องยอมรับว่าสมัยนี้เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่าซับซ้อนมากขึ้นมาก เป็นระบบที่เดาผลกระทบยากเวลาดำเนินนโยบายอะไรไป เราอาจจะคิดทำอะไรแค่เล็กน้อย แต่ตัวระบบเองอาจจะสร้างผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้ค่อนข้างเยอะทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม เช่น เรื่อง Subprime crisis หรือ arab’s spring ที่ผ่านมา แบบนี้มันยากที่เราจะพึ่งพาองค์ความรู้ที่มีอยู่แต่เดิมมาวิเคราะห์โจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และดำเนินนโยบายแบบในปัจจุบันที่เป็นแบบตอบสนอง หรือ reactive คือโจทย์มาก็ไปหยิบความรู้มาประยุกต์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้เราประทังชีวิตต่อไปได้ ซึ่งมันก็ค่อนข้างมีข้อจำกัด แต่ในโลกที่มีความผันผวนสูง เราต้องสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่ proactive คือค่อนข้างกระตือรือร้นมากขึ้น ซึ่งข้อสำคัญคือมันจะช่วยสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวขยายความต่อไปว่า บทบาทของงานวิจัยใหม่ๆ นอกจากจะสร้าง “องค์ความรู้” ใหม่แล้ว งานวิจัยจะช่วยสร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ให้กับสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนในสังคมของประเด็นต่างๆ ซึ่งค่อนข้างมีความสำคัญมาก เพราะองค์ความรู้ที่โดยธรรมชาติจะค่อนข้างนิ่ง ขณะที่กระบวนการเรียนรู้จะเป็นตัวช่วยให้องค์ความรู้มีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ช่วยสร้าง “วัฒนธรรมการวิจัย” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกประเทศในปัจจุบันที่ต้องให้ความสำคัญกับการคิดคำตอบให้ถูกมากกว่าตอบโจทย์ให้ถูก

“มันมีมุกตลกของพวกเรียนปริญญาเอกจบมา 30 กว่าปีแล้ว กลับไปขออาจารย์ดูว่าข้อสอบตอนนี้เป็นอย่างไร ปรากฏว่าข้อสอบเหมือนกันหมดทุกข้อ อาจารย์บอกว่า ใช่ มันเหมือนเดิมทุกข้อ แต่คำตอบที่ถูกมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว นี่คล้ายๆ สัจธรรมของเศรษฐศาสตร์ว่าความรู้มันเปลี่ยนแปลงไป คำตอบที่เรามองว่าถูก จริงๆ มันไม่ได้นิ่ง” นายปิติกล่าว

ด้านผลงานของสถาบันฯ จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ 1) PIER Discussion Paper หรือรายงานวิจัยฉบับเต็ม จากนักวิจัยของสถาบันฯ และนักวิจัยภายนอก ซึ่งค่อนยากแต่จำเป็นสำหรับการรักษาองค์ความรู้เอาไว้ในที่เดียวกัน 2) aBRIDGEd เป็นบทความวิจัยฉบับย่อที่สังเคราะห์บทสรุปของงานฉบับเต็มมาในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อกระตุ้นการพูดคุยระหว่างผู้ดำเนินนโยบาย สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป และ 3) เศรษฐศาสตร์เข้า “ท่า” เป็นบทบรรณาธิการ (Editorial Paper) เป็นบทความที่ย่อยสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยประมาณ 2 หน้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของประชาชนยิ่งขึ้น เนื่องจากบางครั้งบทความ aBRIDGEd ยังอาจจะยากเกินไป ตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง Roller coaster ride ไปกับกระแสเงินทุนต่างชาติ

สำหรับการคัดเลือกงานวิจัยที่อาจจะเน้นไปที่ขอบเขตงานของ ธปท. มากกว่าอย่างอื่น นายปิติ กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการประสานเครือข่ายนักวิจัยและเพิ่มความหลากหลายของงานวิจัย สถาบันจะมีคณะกรรมการภายนอก 2 ท่านมาประเมิน “คุณภาพ” ของงานวิจัยให้ได้มาตรฐานตามที่งานวิจัยที่ดีควรจะเป็นมากกว่าจะเลือกจากมุมมองส่วนตัวหรือหัวข้อการวิจัย โดยปัจจุบันมีรายงานวิจัยฉบับเต็มประมาณ 40 งานวิจัย ซึ่งกำลังทยอยนำมาปรับเป็น aBRIDGEd และบทความเศรษฐศาสตร์เข้าท่าต่อไป

นอกจากนี้ สถาบันยังจัดทำ “คลังนักวิจัย” หลังจากนักวิจัยแต่ละคนมาลงผลงานในสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติย่อ ความเชี่ยวชาญ และการติดต่อต่างๆ เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับสื่อมวลชนและนักวิจัยให้สามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในบางเรื่องได้อย่างถูกต้อง โดยปัจจุบันมีนักวิจัยประมาณ 80 คนในเครือข่าย

“ล่าสุด สถาบันฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิต บูโร เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวิจัย ซึ่งยังไม่มีหัวข้อวิจัยที่ชัดเจน แต่คงเป็นด้านการเงินภาคประชาชน เนื่องจากเป็นข้อมูลสถานะหนี้ของประชาชนที่กู้ยืมจากสถาบันการเงิน สามารถนำมาวิเคราะห์เชิงนโยบายได้ค่อนข้างมาก” นายปิติกล่าว

PIER webpage