หลังจากที่สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เข้าร่วมประชุมกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการะทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เรื่องการจัดหาพื้นที่เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า (Pick up counter) ณ สนามบินนานาชาติที่อยู่กำกับของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทั่วไป ซึ่งการประชุมครั้งนั้น ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง ,ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ร่วมกันพิจารณา และหาทางออกในการแก้ไขปัญหาจุดส่งมอบสินค้าให้ได้ข้อสรุปภายใน 60 วัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 11.00 น. นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เดินทางมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาจุดส่งมอบสินค้า พร้อมกับ
ยื่นข้อเสนอแนะต่อนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาจึุดส่งมอบสินค้า
นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบหมายให้สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาจุดส่งมอบสินค้า สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้ได้ข้อยุติภายใน 60 วัน โดยเริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานที่ประชุมได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ อาทิ ตัวแทนกระทรวงการคลัง,กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,บริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด,ทอท.,กรมศุลกากร,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เป็นต้น และครั้งที่ 2 วันที่ 20 มกราคม 2559 มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ประชุม ครบกำหนด 60 วันตามคำสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรากฏว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ
“วันนี้ทางสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงมาติดตามความคืบหน้าในการจัดหาพื้นที่เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับโมเดลทางออกในการแก้ปัญหาจุดส่งมอบสินค้าที่สมาคมฯนำเสนอนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรี หรือเปิดร้านค้าดิวตี้ฟรีค้าสินค้าปลอดอากรภายในสนามบินนานาชาติแข่งกับบริษัท คิง เพาเวอร์แต่อย่างใด ข้อเสนอของสมาคมฯคือต้องการให้กรมศุลกากรใช้อำนาจตามกฎหมาย กำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะภายในท่าอากาศยานนานาชาติประมาณ 300 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกราย นำสินค้ามาวางที่จุดส่งมอบสินค้าที่กรมศุลกากรกำหนด และส่งมอบสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมที่จะลงทุนวางระบบตรวจวัดยอดขาย (Point of sale) และระบบป้องกันการลักลอบนำสินค้าปลอดอากรออกมาขายในประเทศจนกว่ากรมศุลกากรจะพอใจ”นางรวิฐา กล่าว
นางรวิฐา กล่าวต่อว่า จากการศึกษาของสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย พบว่าการเปิดจุดส่งมอบสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมือง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.กรมศุลกากร มีอำนาจกำหนดจุดส่งมอบสินค้าและให้ความเห็นชอบ ไม่ว่าจะอยู่ในสนามบินนานาชาติ ซึ่งเป็นสนามบินศุลกากร ตามมาตรา 3 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8) 2480 หรือ กำหนดพื้นที่ใดก็ได้ที่อยู่ในอำนาจของกรมศุลกากร และกรมศุลกากรสามารถกำกับดูแลได้ ตามมาตรา 8 ทวิ (1) และ(2) แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 18) 2543 ประกอบด้วยข้อ 6.3.3(1) และ (2) ของประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549
ปัจจุบันกรมศุลกากรได้เห็นชอบให้มีจุดส่งมอบสินค้าเฉพาะในพื้นที่เชิงพาณิชย์ (สนามบินสุวรรณภูมิ) หรือ ในพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติบางแห่งที่อยู่ในเขตพื้นที่สัมปทาน อันมีผลทำให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นๆไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่จุดส่งมอบสินค้าตามที่กรมศุลกากรเห็นชอบได้ ซึ่งปัจจุบันภายในท่าอากาศยานนานาชาติยังมีพื้นที่เหลือเพียงพอที่จะเปิดเป็นจุดส่งมอบสินค้าได้ อาทิ ที่ทำการกรมศุลกากรภายในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง แต่กรมศุลกากรต้องมีความชัดเจนในการกำกับดูแลสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อไปจากร้านปลอดอากรในเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร
2. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องเอื้ออำนวยพื้นที่ เพื่อให้กฎหมายศุลกากรมีผลในทางปฏิบัติดังกล่าวตามข้อ 1. นอกจากนี้ทอท.ยังถือเป็นรัฐวิสาหกิจ การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงกฎหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนโยบายของรัฐและผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำจุดส่งมอบสินค้าภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทอท.) ไปมอบให้กับผู้ประกอบการรายใด และควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองมาขอเช่าพื้นที่เพื่อใช้จุดส่งมอบสินค้าได้ทุกราย โดยผ่านความเห็นชอบจากกรมศุลกากรเท่านั้น
นางรวิฐา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าภายในพื้นที่สนามบินนานาชาติของทอท.ทุกแห่ง ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับทอท. 3% ของราคาสินค้าที่นำไปฝากไว้ ณ จุดส่งมอบสินค้า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี หากทอท.เปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองมาเช่าพื้นที่เพียง 300 ตารางเมตร จะทำให้ทอท.มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติ ทอท.สามารถเจรจาขอคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจากผู้รับอนุญาตบริหารพื้นที่ได้ โดยใช้ข้อสงวนสิทธิ์ที่ 25 ตามที่กำหนดในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นสัญญาที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยข้อสงวนสิทธิ์ที่ 25 ระบุว่า “ในการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขสัญญานี้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ หรือการตีความเงื่อนไขสัญญาให้ทอท.และผู้รับอนุญาตร่วมหารือกับเพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ในกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ให้ความเห็น หรือ ทางเลือกของทอท.ถือเป็นที่สุด” ทอท.สามารถจัดสรรพื้นที่นอกเขตเชิงพาณิชย์ให้กับอธิบดีกรมศุลกากร กำหนดจุดส่งมอบสินค้า และให้ความเห็นชอบต่อไปก็ได้
“ขณะนี้สาธารณชนต่างรับทราบว่า การให้ความเห็นชอบในพื้นที่ตั้งจุดส่งมอบสินค้า สำหรับให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง เป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากร แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา กรมศุลกากร ยอมให้ทอท.กำหนดจุดส่งมอบสินค้าไว้ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ของผู้รับสัมปทานในสนามบินสุวรรณภูมิ และยอมให้ทอท.นำพื้นที่ดังกล่าวไปเปิดประมูลบ้าง อันเป็นเหตุให้กฎหมายศุลกากรไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ และก่อให้เกิดการผูกขาดโดยปริยาย อาจเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ หากกระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินบังคับใช้กฎหมายศุลกากรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทางสมาคาการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จำเป็นต้องร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล” นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย กล่าวทิ้งท้าย