ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ยุค “วัชรพล ประสารราชกิจ” ทำงานเป็นคลัสเตอร์ ให้จังหวัดไต่สวนคดีได้ – เน้นโปร่งใส โชว์ข้อมูลทุกคดีบนเว็บไซต์

ป.ป.ช. ยุค “วัชรพล ประสารราชกิจ” ทำงานเป็นคลัสเตอร์ ให้จังหวัดไต่สวนคดีได้ – เน้นโปร่งใส โชว์ข้อมูลทุกคดีบนเว็บไซต์

16 กุมภาพันธ์ 2016


พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มาภาพ : www.nacc.go.th
พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มาภาพ : www.nacc.go.th

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ได้เปิดแถลงข่าวถึงยุทธศาสตร์และแนวทางการทำงานต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

ตั้งเป้าคดีสำคัญเสร็จปีละ 500 คดี – ให้ ป.ป.ช. จังหวัดไต่สวนเองได้

พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวว่า ในการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตยุคตน จะให้สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดมีบทบาทมากขึ้น ทั้งนี้ จะมีการแบ่งระดับคดีออกเป็นขนาด S M L XL ตามจำนวนผู้ถูกกล่าวหา จำนวนข้อกล่าวหา มูลค่าความเสียหาย และความซับซ้อนของคดี โดยคดีขนาด S และ M ให้สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดสามารถไต่สวนและทำสำนวนคดีได้เอง ก่อนเสนอที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่พิจารณาวินิจฉัยว่าจะชี้มูลหรือยกคำร้อง โดยจะให้กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่มอบหมายให้ไปกำกับดูแลแต่ละเขตพื้นที่ รวม 9 เขต เป็นผู้กลั่นกรองว่าคดีใดที่สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดสามารถไต่สวนและทำสำนวนคดีเองได้

สำหรับคดีขนาด L และ XL จะให้สำนักไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. ส่วนกลางที่มีอยู่ 8 สำนักหลัก (สำนักไต่สวนคดีทุจริตภาครัฐ 3 สำนัก สำนักไต่สวนคดีทุจริตภาคการเมือง 4 สำนัก และสำนักไต่สวนคดีทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ อีก 1 สำนัก) เป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนจะไปถึงขั้นให้ ป.ป.ช. จังหวัดพิจารณาวินิจฉัยคดีแทนที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ได้หรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องของอนาคตอีกยาวไกล เพราะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎหมายของ ป.ป.ช. ที่กำหนดว่าการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและการพิจารณาวินิจฉัยดคีใดๆ นั้น ให้เป็นอำนาจของที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่

“ในปี 2559 นี้ตั้งเป้าว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง จะทำคดีสำคัญๆ และคดีที่ประชาชนให้ความสนใจให้เสร็จอย่างน้อย 500 คดี จากปี 2558 ทำเสร็จเพียง 230 คดีเท่านั้น ทำให้เหลือคดีค้างกว่า 2,000 คดี ซึ่งหากดำเนินการได้เร็ว ไม่เพียงจะทำให้เกิดความเกรงกลัวที่จะทำผิด สังคมก็จะให้ความเชื่อมั่นกับ ป.ป.ช. มากขึ้น”

พล.ต.อ. วัชรพล ยังกล่าวว่า ตนจะให้กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคนลงพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดที่กำกับดูแลอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ในกลุ่มจังหวัดนั้นๆ รวมถึงพันธมิตรในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างมาตรการป้องกันการทุจริต นอกจากนี้ จะเร่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ใหม่ที่เพิ่งบรรจุใหม่กว่า 800 คน ให้เป็นผู้ช่วยพนักงานไต่สวนให้ได้ เพื่อเพิ่มจำนวนคนทำงาน จากที่ปัจจุบัน ป.ป.ช. มีพนักงานไต่สวนชำนาญการอยู่เพียง 200 คน และผู้ช่วยพนักงานไต่สวนอีก 700 คน และในเดือนมีนาคม 2559 จะมีการเวิร์กชอปคนทำงานของ ป.ป.ช. ทั้งหมด เพื่อให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน

เน้นโปร่งใส โชว์ข้อมูลทุกคดีบนเว็บไซต์ ไฟเขียว “กรรมการ-เจ้าหน้าที่” แจงสื่อ

สำหรับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวว่า จะไม่มีการตั้งโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็เหมือนเป็นโฆษกโดยตำแหน่งอยู่แล้ว และให้กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคน ไปจนถึงผู้บริหารของ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ ไปจนถึงผู้อำนวยการสำนัก สามารถชี้แจงงานในหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่อาจมียกเว้นรายละเอียดในสำนวนคดีที่ขอไม่เปิดเผย เพราะอาจกระทบกระเทือนต่อรูปคดี ที่เหลือให้สามารถชี้แจงได้หมด โดยเฉพาะเรื่องความคืบหน้าของคดีต่างๆ

“ผมยังตั้งใจว่าจะให้เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าคดีต่างๆ ทุกคดีไว้บนเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ แต่ขอไม่เปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ คณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบคดีนั้นๆ เพราะอาจถูกกดดันการทำงานได้” พล.ต.อ. วัชรพล กล่าว

รับ สนิทบิ๊ก คสช. แต่ยืนยันจะไม่ทำอะไรไม่ถูกต้อง

พล.ต.อ. วัชรพล ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์เรื่องความใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงว่า ยอมรับว่าใกล้ชิดกับ พล.อ. ประวิตร เพราะเคยเป็นเลขานุการรองนายกฯ ของ พล.อ. ประวิตรมาก่อน เพราะหลังเกษียณอายุราชการ พล.อ. ประวิตรก็ชักชวนให้ไปรับตำแหน่งดังกล่าว อย่าลืมว่าการเมืองขณะนี้เป็นการเมืองในช่วงพิเศษ รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลช่วงพิเศษที่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แต่เมื่อมีการเปิดรับสมัครกรรมการ ป.ป.ช. ตนก็ลาออกจากทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นเลขานุการรองนายกฯ ไปจนถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพราะคิดว่าจะสามารถทำงานรับใช้ประเทศชาติได้

“การสนิทใกล้ชิดใครเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แต่อยู่ที่ว่าเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่ออยู่ตรงนี้ผมก็ถูกสอดส่องมากมาย โดยเฉพาะจากสื่อมวลชน ถ้าทำไม่ดีก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. โทษเป็นสองเท่าของคนทั่วไป จึงยืนยันได้ว่าผมจะไม่เอาเกียรติประวัติในชีวิตราชการมาทำอะไรที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน ซึ่งต้องดูกันต่อไป แต่ขอเรียนว่า ยิ่งถูกเพ่งเล็ง ผมยิ่งมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประชาชน” พล.ต.อ. วัชรพล กล่าว

เล็งตั้งสำนักคดีร่ำรวยผิดปกติ ลุยคดีใกล้หมดอายุความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ พล.ต.อ. วัชรพล ได้แจกจ่ายเอกสารนโยบายการทำงานของตน มีจำนวน 3 หน้ากระดาษเอสี่ แบ่งเป็น 6 หัวข้อ คือ 1. ด้านป้องกันการทุจริต 2. ด้านปราบปรามการทุจริต 3. ด้านตรวจสอบทรัพย์สิน 4. การจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประเด็นการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 5. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2561-2565) และ 6. การพัฒนาองค์กร

สาระสำคัญในนโยบายการทำงานของ พล.ต.อ. วัชรพล คือจะมุ่งทำงานแบบ 5 ส. (สามารถ สุจริต สากล สร้างสรรค์ สามัคคี) โดยมีแนวคิดในการปรับปรุงการทำงานของ ป.ป.ช. หลายข้อ อาทิ

  • ให้สำนักไต่สวนคดีในส่วนกลางกำหนดเป้าหมายเรื่องที่จะแล้วเสร็จในแต่ละเดือน โดยจัดกลุ่มงานออกเป็น 100 กลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน โดยมีพนักงานไต่สวนชำนาญการเป็นหัวหน้ากลุ่ม ดำเนินการทั้งแสวงหาข้อเท็จจริงและไต่สวนคดี
  • ให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่กำกับดูแลในแต่ละเขตพื้นที่ จัดตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองคดี พร้อมกับตั้งกลุ่มพนักงานไต่สวนในเขตพื้นที่ละ 5-10 กลุ่ม เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและไต่สวนคดีในเขตพื้นที่นั้นๆ เชื่อว่าจะทำให้การปราบปรามการทุจริตมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  • เร่งดำเนินการเรื่องค้างเก่าที่จะหมดอายุความภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
  • เร่งสะสางการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ยังมีค้างอยู่ถึง 7.2 หมื่นบัญชี โดย 86% อยู่ในพื้นที่ของ ป.ป.ช. จังหวัด โดยมีนโยบายที่จะให้มีการจัดตั้งสำนักคดีร่ำรวยผิดปกติขึ้นมาทำคดีร่ำรวยผิดปกติโดยเฉพาะ
  • ก่อสร้างสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้ง 76 จังหวัดให้ครบภายใน 5 ปี และให้แต่ละแห่งมีรถยนต์สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานจังหวัดละ 2 คัน
  • ให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อ 1 คน
  • ให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีคู่มือการปฏิบัติงานที่กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. มีจำนวนคดีคงค้าง 11,971 คดี (อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน 9,839 คดี และอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง 2,132 คดี) และจำนวนบัญชีทรัพย์สินคงค้าง 72,057 บัญชี (อยู่ในส่วนกลาง 9,749 บัญชี และส่วนจังหวัด 62,308 บัญชี)