ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : คุณธรรมออนไลน์เดือด ทพญ. หนีทุน คนค้ำอ่วม และ “สปท. เตรียมคุย ไลน์-เฟซบุ๊ก ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : คุณธรรมออนไลน์เดือด ทพญ. หนีทุน คนค้ำอ่วม และ “สปท. เตรียมคุย ไลน์-เฟซบุ๊ก ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล”

6 กุมภาพันธ์ 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 31 ม.ค. – 6 ก.พ. 2559

  • “ฆ่าข่มขืนไม่ให้อภัยโทษ?” หลากหลายทัศนะจากคดีโจ๋พัทลุง
  • คุณธรรมออนไลน์เดือด ทพญ. หนีทุน คนค้ำอ่วม
  • สวีเดนดุ มวลชนสวมหน้ากากเล่นงานผู้อพยพ
  • นักข่าวจีนลี้ภัยหายตัวในไทย โผล่อีกครั้งที่จีน
  • สปท. เตรียมคุย ไลน์-เฟซบุ๊ก ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

“ฆ่าข่มขืนไม่ให้อภัยโทษ?” หลากหลายทัศนะจากคดีโจ๋พัทลุง

Screen Shot 2016-02-05 at 8.36.25 AM

เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้นในจังหวัดพัทลุง เมื่อมีกลุ่มวัยรุ่นรุมข่มขืนแฟนสาวของคู่อริต่อหน้าก่อนจะยิงฝ่ายชายแล้วฝังศพไว้ในป่า จากนั้นได้ใช้ไม้และก้อนหินทุบตีฝ่ายหญิงรวมทั้งแทงด้วยมีด จนเมื่อเข้าใจว่าเสียชีวิตแล้วก็นำร่างโยนทิ้งลงเหวแต่กลับรอดชีวิตมาได้ จนเรื่องถูกเปิดโปงกลายเป็นประเด็นร้อนตามหน้าสื่อทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

แม้รูปคดีโดยหลักจะเป็นเรื่องของการฆาตกรรม ข่มขืน พยายามฆ่า และอำพรางศพ แต่เมื่อผู้ก่อเหตุยังเป็นเยาวชน ความกังวลของสังคมว่าจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษจึงนำมาซึ่งกระแสรณรงค์เรื่องความรุนแรงของโทษในคดีข่มขืนอีกครั้ง โดย บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์กรทำดี เปิดเผยว่า เรื่องคดีที่พัทลุงเป็นคดีที่สะเทือนใจและสะเทือนขวัญของประชาชนอย่างยิ่ง การเป็นเยาวชนและสามารถก่อคดีได้ร้ายแรงขนาดนี้ จิตใจโหดเหี้ยมเกินเด็ก ในเมื่อกฎหมายเยาวชนไม่สามารถที่จะทำอะไรรุนแรงหรือลงโทษได้อย่างหนักกับเด็กพวกนี้ได้ เราก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เด็กพวกนี้มีจิตสำนึกกันบ้าง เช่น นำตัวพ่อแม่มาแถลงข่าวร่วมกัน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ ทางตนและองค์กรทำดีจะรวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อขอยกเลิกอภัยโทษคดีฆ่าข่มขืนทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนอีกด้วย

ในเวลาต่อมา บุ๋ม ปนัดดา ได้ประกาศผ่านทั้งทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมส่วนตัว เชิญชวนให้ร่วมลงชื่อ 100,000 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้มีการแก้ไขบทลงโทษสูงสุดในคดีข่มขืนกระทำชำเรา รวมทั้งขอยกเลิกการอภัยโทษในคดีข่มขืนแล้วฆ่า ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางกระแสออนไลน์ที่ไม่ได้พูดเพียงเรื่องการลงโทษสูงสุดโดยไม่มีการลดหย่อนหรืออภัยโทษ แต่ยังพูดไปถึงเรื่องว่า “ข่มขืนต้องประหาร” เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ก็ได้นำเสนอหลากหลายมุมความคิดอีกด้านจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา โดย ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตอาชญวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า ถ้ามีเพียงโทษประหาร นอกจากจะทำให้เกิดการฆ่าปิดปากและอาจมีการอำพรางศพ ยังอาจทำให้เกิดการจับแพะหรือใส่ร้าย รวมทั้งอาจมีการติดสินบนให้พ้นผิด นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชัน และยังบอกว่า บทลงโทษไม่ได้มีไว้แก้แค้น แต่มีไว้เพื่อป้องกันการกระทำความผิด การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่ไม่ให้โอกาสแก้ไขปรับตัว อยากให้เข้าใจว่ามนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเยาวชน

ด้านนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม บอกว่าที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดซ้ำเพียงส่วนน้อย เป็นเยาวชน 12 เปอร์เซ็นต์ ผู้ใหญ่ 14 เปอร์เซ็นต์ แต่ถูกนำไปเสนอข่าวบ่อยครั้ง ทั้งยังบอกว่าผู้ก่ออาชญากรรมมักไม่อยู่ในสภาพจิตใจปรกติพอจะคิดถึงผลที่ตามมา และการทำผิดมีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งภายในจิตใจผู้ก่อเหตุรวมทั้งปัจจัยภายนอก ตนเคยสัมภาษณ์เด็กบางคนที่ก่อเหตุ พบว่ามีความต้องการทางเพศสูงกว่าปรกติ เมื่อสบโอกาส ความเสี่ยงจะก่อเหตุก็เพิ่มขึ้น สังคมต้องดูปัจจัยต้นทางให้รอบด้าน และยังบอกว่า ไม่มีใครสนับสนุนหรืออยากให้เกิดอาชญากรรม แต่โอกาสในการแก้ตัวคือสิ่งที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับ

ขณะที่ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย” ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตจากบทความและงานวิจัยทางอาชญวิทยาว่า ฆาตกรในคดีสะเทือนขวัญมักผ่านชีวิตอันโหดร้ายมาก่อน ทุกคดีล้วนมี “สัญญาณนำที่ไม่มีใครเห็น” ซึ่งต่อเรื่องดังกล่าว เราควรกลับมาถามตัวเองว่าชุมชนหรือสังคมแบบไหนที่ผลิตฆาตกร 4 คนให้มารวมในพื้นที่เดียวกัน ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเคยสังเกตและรับรู้ปัญหาหรือพฤติกรรมผิดปรกติของคนเหล่านี้มาก่อนหรือไม่ คนกลุ่มนี้แค่เป็นกลุ่มที่ไม่มีใครมองเห็น ในขณะที่เราจดจ่อกับการปรับบทลงโทษ เราเคยเห็นปัญหาของพวกเขาก่อนจะกลายเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่ สังคมไทยอาจมีเด็กชายอีกมากมายที่ต้องทนอยู่กับ “บาดแผลที่ไม่มีใครเห็น” และรอวันจะส่งต่อบาดแผลนั้นให้ผู้บริสุทธิ์

คุณธรรมออนไลน์เดือด ทพญ. หนีทุน คนค้ำอ่วม

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Nation TV (http://www.nationtv.tv/main/content/social/378487960/)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Nation TV (http://www.nationtv.tv/main/content/social/378487960/)

กลายเป็นเรื่องสะท้านคุณธรรมความซื่อสัตย์ให้คนออนไลน์ได้กล่าวขวัญกันอีกครั้ง เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เผด็จ พูลวิทยกิจ” เปิดเผยว่า ตนต้องชำระหนี้ร่วม 2 ล้านจากการค้ำประกันทุนการศึกษาต่อต่างประเทศให้นางสาวดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยอ้างว่าปัจจุบันทันตแพทย์หญิงท่านนี้ทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เงินเดือนสูง ทั้งยังอยู่อพาร์ตเมนต์หรูหรา โดยไม่ยอมชำระหนี้ทุนการศึกษาแต่อย่างใด โดยบอกว่าไม่มีเงิน

อนึ่ง ยอดหนี้ทุนการศึกษาที่นางสาวดลฤดีต้องชดใช้นั้นอยู่ที่ 30 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ค้ำประกัน 4 คนต้องชดใช้รวมกัน 8 ล้านบาท

ต่อมา วันที่ 2 ก.พ. 2559 เว็บไซต์ Nation TV รายงานว่า คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดแถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าว โดยบอกว่าได้พยายามติดตามเรื่องนี้มาตลอด โดยกับทางฝ่ายผู้ค้ำประกันทั้ง 4 คน ก็ได้มีการทำความเข้าใจและผ่อนพันลดหย่อนหนี้โดยไม่เสียดอกเบี้ย แต่ในทางคดีกับ ทพญ.ดลฤดี นั้นไม่สามารถดำเนินการข้ามประเทศได้ เนื่องจากเป็นคดีแพ่งในราชอาณาจักร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหารือพิจารณาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อดำเนินขั้นตอนการทวงหนี้ข้ามประเทศ โดยจะเร่งดำเนินคดีก่อนวันที่ 14 ก.พ. 2559 เพื่อป้องกันการหมดอายุความ

ขณะเดียวกัน ทางด้าน ทพญ.ดลฤดี ได้ตอบอีเมลเพื่อชี้แจงกับทาง Nation TV ในวันที่ 3 ก.พ. 2559 โดยมีใจความว่า ตนไม่มีเจตนาหลบหนี และมีการขอร้องให้มีการยืดหยุ่นในการใช้คืนมาตลอด เช่น ขยายเวลาใช้คืนให้ยาวออกไปแทนที่จะจ่ายก้อนใหญ่ภายใน 30 วัน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องวีซ่า รวมถึงการต่ออายุหนังสือเดินทางซึ่งได้รับการปฏิเสธจากทางมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ไม่สามารถทำงานได้หลายปี จนได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนไข้ และเพื่อนร่วมงาน จึงได้สถานะวีซ่าคืนและเริ่มชีวิตใหม่ได้ ทั้งยังบอกว่าตนติดต่อกับผู้ค้ำประกันมาตลอดในทุกช่องทาง และได้มีการชำระคืนไปบางส่วน โดยเมื่อเดือนเมษายน 2558 ก็ได้นำเงินจากสินเชื่อส่วนตัวจำนวน 50,000 ดาลลาร์สหรัฐมอบให้แก่ผู้ค้ำประกันไป ทั้งยังสัญญาว่าจะชำระคืนให้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยเมื่อได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคต และอยากขอร้องให้มีเวลาเพิ่มเติมเพื่อสามารถเสาะหาเงินมาชำระคืนแก่ผู้ค้ำประกัน

ทั้งนี้ ในตอนท้าย ทพญ.ดลฤดี ยังบอกว่า หวังว่ากรณีนี้จะมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน (หลักเกณฑ์) การอนุมัติให้ทุนการศึกษา และระบบใช้ทุนคืนในประเทศไทย – ซึ่งเป็นระบบที่จะอนุญาตให้มีทางออกเสริมที่มีเหตุผลและเป็นประโยชน์ต่อสำหรับผู้ได้รับทุน ที่จะสามารถชำระเงินคืนได้

ซึ่งในวันต่อมา ทาง Nation TV ก็ได้รายงานถึงการโพสต์ข้อความของ ทพ.เผด็จ ที่มีต่อจดหมายดังกล่าวว่า “ผมได้อ่านแล้วครับ แต่ผมไม่ชอบกินสะตอครับ” ซึ่งหมายความว่า ทพ.เผด็จ ไม่เชื่อคำพูดของ ทพญ.ดลฤดี เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการผิดคำพูดมาหลายครั้ง

สวีเดนดุ มวลชนสวมหน้ากากเล่นงานผู้อพยพ

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (http://goo.gl/n25m2z)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (http://goo.gl/n25m2z)

1 ก.พ. 2559 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานโดยอ้างอิงดิอินดิเพนเพนท์ของประเทศอังกฤษว่า เกิดเหตุการณ์ผู้สวมหน้ากาก ปลอกแขน และแต่งกายชุดดำ จำนวนหลายร้อยคน เข้าทำร้ายผู้อพยพในบริเวณสถานีรถไฟกรุงสตอล์กโฮม ประเทศสวีเดน โดยก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีการแจกใบปลิวซึ่งมีข้อความว่า “ทนไม่ไหวแล้ว ตอนนี้! พวกเด็กข้างถนนจากแอฟริกันเหนือเร่ร่อนไปเรื่อย ลงโทษมันให้สาสม” ซึ่งเป็นความโกรธแค้นจากกรณีที่ อเล็กซานดรา เมเซอร์ หญิงผู้ทำงานให้หน่วยงานรัฐในค่ายผู้อพยพเยาวชน ถูกแทงเสียชีวิต

เวลาต่อมา ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่ม Swedish Resistance Movement ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายขวา ได้ออกแถลงการณ์ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการ “กวาดล้างผู้อพยพที่เป็นอาชญากร ซึ่งมาจากแถบแอฟริกาเหนือ ซึ่งมาอาศัยอยู่ในย่านเซนทรัลสเตชั่นของเมือง” ทั้งยังระบุว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจกำจัดความปั่นป่วนเหล่านี้จากผู้อพยพ และขณะนี้เราได้เห็นแล้วว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากพวกเราลงมือลงโทษพวกผู้อพยพเองอย่างสาสม”

อนึ่ง จากเหตุการณ์นี้ มีผู้ถูกจับกุม 4 ราย โดยเป็นข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน 1 ราย และอีก 3 รายเป็นข้อหาสวมหน้ากากในที่สาธารณะ ซึ่งผิดกฎหมายสวีเดน

นักข่าวจีนลี้ภัยหายตัวในไทย โผล่อีกครั้งที่จีน

 หลี่ ซิน นักข่าวจีนที่เสาะแสวงหาที่ลี้ภัยและหายตัวไปในการเดินทางในประเทศไทย ที่มาภาพ: The Guardian (http://goo.gl/Sv79Ox)

หลี่ ซิน นักข่าวจีนที่เสาะแสวงหาที่ลี้ภัยและหายตัวไปในการเดินทางในประเทศไทย
ที่มาภาพ: The Guardian (http://goo.gl/Sv79Ox)

ปลายเดือนตุลาคมปี 2558 หลี่ ซิน (Li Xin) คอลัมนิสต์และบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์หนานฟางตู้ชือเป้า หรือ เมืองใต้รายวัน (Southern Metropolis Daily/南方都市报) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง เดินทางจากจีน ผ่านฮ่องกง ไปยังเมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย หลังเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงขู่จะดำเนินคดีกับเขาฐานเป็นสายลับ หากไม่ยอมเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ในการติดตามนักกิจกรรมรายอื่นๆ

ระว่างอยู่ที่อินเดีย หลี่ ซิน เผยแพร่เอกสารที่ได้จากสมัยทำงานหนังสือพิมพ์ รวมถึงเอกสารของรัฐบาลจีน ที่ห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวในเรื่องต่างๆ เช่น “การประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี ค.ศ. 1989”, “ขบวนการเพื่อประชาธิปไตยปี 89”, “4 มิถุนายน” หรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับลัทธิฟาหลุนกง และยังมีคำต้องห้าม ไม่ว่าจะที่เกี่ยวข้องกับข่าวใหญ่ต่างๆ ในจีน ชื่อบุคคลและสื่อต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเมื่อทางเว็บไซต์ Hong Kong Free Pres (HKFP) ได้ลองใช้คำต้องห้ามเหล่านี้เสิร์ชผ่านเว็บค้นหาคำอย่าง Baidu และเว็บโซเชียลมีเดียอย่าง Weibo ก็พบว่าคำเหล่านี้ถูกบล็อกโดยมีการแสดงข้อความเช่น “ไม่สามารถแสดงผลการค้นหาได้เนื่องจากกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง”

หลี่ ซิน ถูกสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการลี้ภัย เขาจึงเดินทางมาไทย และนั่งรถไฟไปหนองคายเพื่อเข้าสู่ประเทศลาวเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2559 ก่อนจะขาดการติดต่อไปในช่วงเช้าของวันที่ 11 ม.ค. 2559

ล่าสุด ภรรยาของเขาเปิดเผยว่า ได้รับโทรศัพท์จากหลี่ซิน ซึ่งบอกว่าตนเองกลับเมืองจีนเพื่อรับการสอบสวนอย่างสมัครใจ แต่เธอไม่เชื่อ เธอคิดว่าเขาถูกบังคับให้พูดแบบนั้น

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)

สปท. เตรียมคุย ไลน์-เฟซบุ๊ก ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ที่มาภาพ: รอยเตอร์ (http://goo.gl/wrkj2h)
ที่มาภาพ: รอยเตอร์ (http://goo.gl/wrkj2h)

31 ม.ค. 2559 เว็บไซต์รอยเตอร์รายงานถึงคำกล่าวของ พล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า สปท. มีแผนจะเข้าพูดคุยกับฝ่ายบริหารของเฟซบุ๊กและไลน์ เพื่อขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล กรณีที่มีการขอให้นำเนื้อหาที่มีอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยออกจากระบบ

พล.ต.ต. พิสิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับคำสั่งศาลในการขอให้นำเนื้อหาที่ทำความเสียหายต่อประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์ และความสงบเรียบร้อย ออกจากระบบ แต่บริษัทเหล่านี้ก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อให้มีการตอบสนองอย่างรวดเร็วในอนาคต

เวลาต่อมา เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2559 เว็บไซต์มติชนรายงานว่า ไลน์ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า ทางไลน์ ประเทศไทย ได้รับทราบเกี่ยวกับกรณีการขอตรวจเช็คข้อมูลการใช้บริการผ่านไลน์ ซึ่งทางบริษัทฯ ยังไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากหน่วยงานใด โดยไลน์ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน หากทางไลน์ ประเทศไทย ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ ทางบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือและพิจารณาเพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศไทย พร้อมยังคงยึดมั่นในมาตรฐานการรักษาข้อมูลของผู้ใช้งานไว้อย่างแน่นอน