ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “คนร.” ไฟเขียว คลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจ ในตลาดหุ้น ตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง – คณะอนุกรรมการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ”

“คนร.” ไฟเขียว คลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจ ในตลาดหุ้น ตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง – คณะอนุกรรมการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ”

2 มีนาคม 2015


123
พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ครั้งที่ 4/2558 หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ว่าคนร.เห็นชอบในในหลักการแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่คล้ายเจ้าของรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ โดยแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงาน 1) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ 2) สคร. โดยเบื้องต้นให้หน่วยงานแรกดูแลหน่วยงานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมหาชน และบริษัทจำกัด เช่น ปตท. การบินไทย อสมท. ส่วนสคร.ดูแลหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะกิจของตนเอง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปา

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่มีดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน ศึกษารายละเอียดและยกร่างกฎหมาย เรื่องการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในภาพรวมที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์รัฐวิสาหกิจการสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอนคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ การจัดทำระบบบรรษัทภิบาล การติดตามประเมินผลคณะกรรมการและองค์กร การตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูล อีกด้านให้ศึกษาการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ทั้งเรื่องการสรรหาคณะกรรมการ กรรมการผู้จัดการ รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางการทำงานของบรรษัทฯ โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2558

สาเหตุที่ต้องแยกระบบการกำกับรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ส่วน เนื่องจากการนำรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งตามกฎหมายเฉพาะมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบรรษัทฯทันที เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ถ้านำรัฐวิสาหกิจที่มีทุนเรือนหุ้น หรือ เป็นบริษัทมหาชนอยู่แล้ว เอาเข้ามาอยู่ภายใต้บรรษัทฯจะไม่มีผลกระทบต่อสัดส่วนการถือครองหุ้นใดๆทั้งสิ้น เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการกำกับดูแลเท่านั้น

“บรรษัทฯเข้ามาดูแลองค์กรในฐานะเจ้าของหุ้น ไม่ใช่ผู้กำกับดูแล การบริหารงานมีลักษณะรวมศูนย์ เช่น การบริหารพอร์ต ดูแลเรื่องการให้บริษัทจดทะเบียนเหล่านี้มีกรรมการที่มีคุณภาพมีสัดส่วนกรรมการที่มาจากภาคเอกชน ที่เป็นมืออาชีพในการบริหารธุรกิจโดยเฉพาะ ไม่มีข้าราชการ ส่วนการแทรกแซงจากรัฐมนตรีนั้น ไม่น่าจะทำได้ เพราะการแต่งตั้งกรรมการเข้ามาบริหารรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการโดยบอร์ดของบรรษัท ส่วนการสรรหากรรมการที่จะมาเป็นบอร์ดของบรรษัท ก็มีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสและเปิดเผย ฉะนั้นการเมืองจะส่งคนเข้ามานั่งบริหารที่นี่คงทำได้ยาก  กระทรวงที่เป็นต้นสังกัดมีหน้าที่แค่ให้นโยบายแก่รัฐวิสาหกิจ ส่วนบรรษัทฯจะมาดูว่าจะมีการลงทุนอย่างไรให้สอดคล้องนโยบายดังกล่าว” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวอีกว่าหลังการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กระทรวงการคลังจะโอนหุ้นของบริษัทมหาชนและบริษัทจำกัดที่ถือหุ้นอยู่มาให้บรรษัทฯบริหารจัดการทั้งหมด โดยบรรษัทฯหรือองค์กรเจ้าของจะทำหน้าที่เหมือนผู้ถือหุ้น ที่จะทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะอย่างมืออาชีพ  เหมือนในต่างประเทศที่มีบริษัทเทมาเส็กโฮลดิงส์ของสิงคโปร์ หรือ คาซาน่า ของมาเลเซีย นอกจากนี้ การตั้งบรรษัท ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นองค์กรเจ้าของ จะมีส่วนช่วยดูแลประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในรัฐวิสาหกิจ การสร้างรายได้เพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และไม่น่าจะสร้างความกังวลต่อนักลงทุนในตลาดทุน

นอกจากนี้ คนร.ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Multi Stakeholder Group: MSG) สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ  หรือ CoST เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวปฏิบัติและเปิดเผยข้อมูลและกลไกอื่นในการเสริมสร้างภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งดำเนินการตามบรรทัดฐานขององค์กร CoST โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, กรมบัญชีกลาง, องค์กรภาคเอกชน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)  องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและส่งแวดล้อมและมีสคร.เป็นฝ่ายเลขานุการ

ขณะที่ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา 3 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) คนร.มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการแยกบทบาทและจัดทำรายละเอียดที่จำเป็นเพื่อโอนหน้าที่กำกับดูแลให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)  รวมไปถึงบทบาทการออกใบอนุญาต ก่อนจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ทราบต่อไป นอกจากนี้ยังเร่งให้ปฏิรูปเส้นทางเดินรถระหว่าง ขสมก.และเอกชน โดยให้กำหนดเส้นทางที่ต้องการให้ ขสมก.เดินรถ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้สูงสุด รวมไปถึงการกำกับดูแลการซื้อรถโดยสาร NGV เพิ่มเติม ให้เป็นไปตามแผน ก่อนจะนำไปประเมินผลเพื่อดำเนินในงวดถัดๆไป ด้านทีโอทีและกสท. คนร.ให้ความสำคัญกับการเร่งใช้ประโยชน์จากเสาโทรคมนาคม พร้อมเจรจายุติข้อพิพาทกับคู่สัญญาเอกชน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเสาโทรคมนาคมต่อไป

นอกจากการแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจดังกล่าว คนร.ยังเห็นชอบปรับเพิ่มเงินลงทุน (Cost Overrun) โครงการพัฒนาระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเพิ่มศักยภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รองรับต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศ และให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง วงเงิน 2,878 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 2,158 ล้านบาท พร้อมอนุมัติให้ทยอยกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่าจะแล้วเสร็จ และเงินรายได้จากกฟภ.อีก 720 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน คนร.ได้มอบแนวทางปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสาขาพลังงานและขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้เอกชนเข้ามาร่วมแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมและเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจในสาขาเดียวกัน โดยสาขาขนส่ง ให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์ด้านการบินของประเทศ, เร่งสร้างความชัดเจนของการกำกับระบบขนส่งทางราง โดนตั้งกรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง, เตรียมแยกบทบาทของขบ.และบริษัท ขนส่ง จำกัด ออกจากกัน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ขณะที่สาขาพลังงาน ให้กระทรวงพลังงานรวมศูนย์หน่วยงานด้านนโยบายด้านพลังงาน เพื่อสร้างการบูรณาการอย่างแท้จริงและให้พิจารณาระบบเงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจส่วนที่ดำเนินงานเพื่อสังคม เน้นอุดหนุนโดยตรงแก่ประชาชน

(อ่านเพิ่มเติมที่นี่)