ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ส่ง “กม.จัดซื้อจัดจ้างใหม่” ที่กฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดู – จ่อชง สนช.

ครม. ส่ง “กม.จัดซื้อจัดจ้างใหม่” ที่กฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดู – จ่อชง สนช.

10 ธันวาคม 2015


581210จัดซื้อจัดจ้าง
ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=SEyfN3923yo

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 อนุมัติหลักการ “ร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ….” ขึ้นมาใช้แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของภาครัฐ ก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

ล่าสุด ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้เสร็จแล้ว และได้ส่งกลับมายังรัฐบาล โดยที่ประชุม ครม. ได้มีมติให้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทราบ หากมีความเห็นเพิ่มเติมให้แจ้งมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 7 วัน และกรณีที่จะเสนอขอแก้ไขในส่วนที่มีนัยสำคัญ ก็ให้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้ง แต่กรณีที่เห็นชอบด้วยหรือมิได้มีกรณีที่จะเสนอขอแก้ไขในส่วนที่มีนัยสำคัญ ให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. (ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว) มี 11 ประการ มีใจความโดยสรุป ดังนี้

  1. ร่าง พ.ร.บ. นี้จะใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ทั้งราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น ป.ป.ช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ด้วย
  2. การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐจะต้องสอดคล้องกับหลักการ 4 ประการ คือ คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้
  3. ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ร่วมสังเกตุการณ์ หรืออาจเข้ามาด้วยวิธีการอื่น
  4. จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพิ่มเติม 5 ชุด คือ (1) คณะกรรมการนโยบาย (2) คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหา (3) คณะกรรมการกำหนดราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (4) คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และ (5) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน โดยจะทำงานร่วมกับคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุตามกลไกของรัฐปกติ เพื่อทำให้การรจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นไปด้วยความโปร่งใสยิ่งขึ้น
  5. ให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้จัดทำฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุ
  6. ให้ผู้ประกอบการที่จะเป็นผู้ยื่นเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐจะต้องมาขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง
  7. ให้หน่วยงานของรัฐต้องทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และประกาศเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐนั้นๆ โดยวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง จะเหลือเพียง 3 วิธี คือ ประกาศเชิญชวนทั่วไป คัดเลือก และเฉพาะเจาะจง (และให้เพิ่มอีก 1 วิธี คือ ประกวดแบบ สำหรับการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง)
  8. ในการทำสัญญาจะมีข้อตกลงห้ามคู่สัญญาจ้างช่วงให้ผู้อื่นทำอีกทอดหนึ่งไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญาแล้ว
  9. กำหนดให้ใช้ผลประเมินการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอหรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
  10. กำหนดกลไกในการร้องเรียนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐไว้ 2 ระดับ คือต่อหน่วยงานของรัฐนั้นๆ และหากไม่พอใจ ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนได้
  11. กำหนดโทษทางอาญาสำหรับเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ละเว้นไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ. นี้ โดยมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 40,000-400,000 บาท โดยให้ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. นี้จะใช้บังคับเมื่อพ้นระยะเวลา 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป