ThaiPublica > คอลัมน์ > ลินดา ทิราโด: ความในใจของคนจน

ลินดา ทิราโด: ความในใจของคนจน

29 พฤศจิกายน 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

ครั้งหนึ่งที่ได้แวะไปดู “รถหมูแดง” ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิกระจกเงา ที่จะมีเหล่าอาสาสมัครทำอาหารไปแจกให้กับคนไร้บ้านบริเวณลานคนเมือง (หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตรงเสาชิงช้า) ในตอนจบ ก็ไปยืนแอบฟังเสียงสะท้อนความรู้สึกจากอาสาสมัครที่มาร่วมกิจกรรม และความเห็น หรืออาจะเรียกว่าข้อสงสัย ประการหนึ่งที่อาสาสมัครท่านหนึ่งมีก็คือเรื่องของคนไร้บ้านกับการดื่มสุรา เพราะคนไร้บ้านหลายๆ คนที่มารับแจกอาหารนั้น มาแบบที่เรียกว่ากลิ่นหึ่งมาเลย

ในสายตาทั่วๆ ไปของสังคมแล้ว คนไร้บ้านเป็นผู้ยากจนและยากไร้อย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งยาเสพติดประเภทต่างๆ ก็มักเป็นที่รับรู้ในฐานะของหนทางสู่ความเสื่อม เสื่อมกาย เสื่อมใจ และยิ่งกว่าสิ่งใดคือเสื่อมทรัพย์ ดังนั้น พฤติกรรมของคนยากจนคนยากไร้ ที่เสียทรัพย์ไปกับสิ่งอันให้ผลเป็นการเสื่อมกายเสื่อมใจ แทนที่จะเก็บหอมทรัพย์นั้นไว้สร้างเนื้อสร้างตัว จึงเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ ไม่สมเหตุสมผล เกินจะทนยอมรับ

ทำไมคนที่ “ทุน” (capital) ในชีวิตต่ำ เสียจนบอกได้ว่าต้องจ่าย “ต้นทุน” (cost) สูงมากหากจะยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเอง กลับใช้จ่ายไปในเรื่องที่ยิ่งบั่นทอนทุนชีวิตตัวเองแบบนั้น หรือพูดให้กว้างไปกว่านั้น ทำไมคนเหล่านี้จึงเลือกจะทำพฤิตกรรมที่ทำร้ายตัวเอง มากกว่าจะดิ้นรนพยายามทำอะไรไปในทางที่เป็นการพัฒนาตัวเอง

เว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ (Huffingtonpost) ได้เผยแพร่บทความที่ชื่อว่า “นี่คือเหตุผลว่าทำไมการตัดสินใจแย่ๆ ของคนจนจึงสมเหตุสมผลสุดๆ” (This Is Why Poor People’s Bad Decisions Make Perfect Sense) ซึ่งเขียนโดย ลินดา ทิราโด (Linda Tirado) และผมคิดว่าใจความของสิ่งที่เธอเขียนนั้นน่าจะเป็นคำตอบที่ดีคำตอบหนึ่ง ถึงพฤติกรรมที่แลดูไม่สมเหตุสมผลของคนยากคนจนทั้งหลาย

ลินดา ทิราโด (Linda Tirado) ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดอะการ์เดียน (http://goo.gl/Y5YXkE)
ลินดา ทิราโด (Linda Tirado)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดอะการ์เดียน (http://goo.gl/Y5YXkE)

เหตุผลที่คุณทิราโดเธอเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็คือ เธอต้องการตอบคำถามหนึ่งที่เธอพบเจอในโลกออนไลน์ คำถามที่ว่าก็คือ “Why do poor people do things that seem so self-destructive?” หรือ “ทำไมคนจนถึงชอบทำอะไรที่มันทำลายตัวเอง” ซึ่งบทความอันเป็นคำตอบนั้นเป็นที่เล่าล่อกันปากต่อปากจนโด่งดังและนำมาสู่การเขียนหนังสือชื่อ “Hand to Mouth: Living in Bootstrap America” ในเวลาต่อมา

ทิราโดขึ้นต้นการตอบคำถามนั้นได้อย่างน่าสนใจ เธอรู้สึกว่างานวิชาการเกี่ยวกับความยากจนอาจจะทำให้คนเราได้รู้ว่ามีอะไรเกิดอะไรขึ้น และเกิดขึ้นอย่างไร (what&how) แต่ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมจึงเกิดขึ้น (why) งานวิชาการอาจทำให้เราเข้าใจปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ก็ยากจะได้เห็นคนจนบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองจากปากตัวเอง คุณทิราโดก็เลยมาทำอย่างนั้นเสีย เล่าเรื่องราวชีวิต (จนๆ) ทั้งที่ตัวเองเป็นและสังเกตชีวิตอื่นๆ มาให้พวกเราได้ฟัง ไม่ใช่เพื่อจะให้สงสาร แต่ด้วยหวังว่าเราจะได้เข้าใจวิธีใช้ชีวิตของคนจนจากมุมมองของคนจน เข้าใจเงื่อนไขชีวิตของคนจน ที่นำไปสู่พฤติกรรมทางการเงินที่แลดูไม่สมเหตุสมผล เธอคงหวังว่าคนอื่นๆ จะสามารถสวมรองเท้าของคนจน จะได้มองโลกของเขาจากมุมมองของคนเหล่านี้ (บ้าง)

“ทำลายตัวเองก็ใช่ แต่มันปลอดภัยกว่า”

เธอว่าอย่างนั้น…

การพักผ่อนคือสิ่งฟุ่มเฟือย

ในบทความซึ่งเป็นการตอบคำถามนั้น บางถ้อยคำของคุณทิราโดก็เสียดสีจนระคายหูระคายตาอยู่บ้าง แต่หากข้ามมันไปได้ เราก็จะพอเข้าใจได้ว่าทำไมจึงออกมาในทางอย่างนั้น

คุณทิราโดเป็นคุณแม่ลูกสอง ช่วงชีวิตในตอนที่ตอบคำถามนั้น เธอต้องตื่นแต่หกโมงเช้าเพื่อไปเรียน เธอเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เธอบอกว่าเธอลงเรียนเต็มหลักสูตร แต่เข้าชั้นเรียนแบบเรียนด้วยตัวเองเพียงสองวิชา จากนั้น เธอก็ไปทำงาน ทำงานเสร็จก็ไปรับลูก รับสามี เหลือเวลาครึ่งชั่วโมงในการเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อไปทำงานอีกงานหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเสร็จก็กลับถึงบ้านเที่ยงคืนครึ่ง ถามว่าได้นอนเลยไหม ไม่ครับ เธอยังต้องศึกษาวิชาเรียนต่อและทำอะไรต่อมิอะไรอีกหลายสิ่ง ซึ่งกว่าจะได้นอนก็ปาเข้าไปตีสาม และแน่นอน ยังไม่ลืมใช่ไหม เธอต้องตื่นหกโมงเช้า

กับชีวิตแบบนั้น ผมไม่แปลกใจสักนิด กับที่เธอกล่าวอย่างเสียดสีว่า “การพักผ่อนเป็นสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยของคนรวย” (rest is a luxury for the rich)

อย่าพยายามเป็นชนชั้นกลาง

เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดและความคิดทำนองว่า ถ้าคนจนรู้จักทำอาหารกินเอง ก็จะประหยัดไปได้อีกเยอะ คุณทิราโดบอกว่าเธอทำอาหารเป็น แต่ถ้าเราดูจากคำบอกเล่าของเธอแล้ว การทำอาหารนั้นเรียกร้องอะไรจากเธอบ้างล่ะ เตา หม้อ เครื่องเทศ แค่จะปรุงบรอกโคลีกินยังกลายเป็นภัยคุกคาม มันอาจจะไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร แต่ก็เรียกร้องทักษะมากมายจากหลายๆ คน และถ้าทำพลาด ก็มีอันไม่ได้แ-กกันทั้งบ้าน [ขอโทษครับ อารมณ์เธอที่ผมสัมผัสได้มันกลายเป็นคำนี้ ก็คำบอกเล่าของคุณทิราโดมีคำสี่อักษร (4 letters word) อยู่ด้วย] และไม่ว่าคุณจะเหนื่อยแค่ไหนคุณก็ต้องทำ ไม่อย่างนั้นไอ้เครื่องเคราทั้งหลายคงกลายเป็นสิ่งเย้าใจมดแมงทั้งปวง

ครับ เธอคงกำลังอยากบอกเราว่า ทำอาหารกินเองมันเรื่องของชนชั้นกลาง และคุณทิราโดยังบอกว่า เธอเรียนรู้ว่าอย่าได้พยายามเป็นชนชั้นกลางให้มากไปเลย มันไม่ได้ผลดีนัก แถมยังทำให้ต้องรู้สึกแย่เมื่อล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซื้ออาหารที่มันอร่อยและราคาถูกกินไปเถอะ พวกอาหารขยะ (junk food, ที่คนเขาว่ามันช่างไร้ประโยชน์) คือความพึงพอใจที่เธอได้รับอนุญาตให้มีได้

“แล้วทำไมจะไม่เอา ในเมื่อเราก็กินมันได้แค่นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น” เธอว่า

ไม่ใช่แค่ทำตัวอย่างคนจนก็จะไม่มีวันจน

เราอาจผ่านหูผ่านตากันเสียจนแม้ไม่เคยท่องก็ท่องได้ “จนแล้วทำตัวอย่างคนจนไม่มีวันจน รวยแล้วทำตัวอย่างคนรวยไม่มีวันรวย” แต่สิ่งที่คุณทิราโดบอกเล่าแก่เรานั้นกลับตรงกันข้าม อย่างน้อยก็ในประโยคแรกของภาษิตสวยงามดังกล่าว

คุณทิราโดอธิบายว่า คนจนนั้นรู้ดีว่าถ้าทำตัวอย่างคนจนก็จะไม่มีวันจน (หรือวันหนึ่งก็จะสามารถหลุดพ้นจากความยากจนไปได้) แต่เธอบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่ได้หนักแน่นพอจะเป็นแรงกระตุ้นให้ปรับปรุงหรือพัฒนาตัวเอง เพราะยังมีความสิ้นหวังอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางอยู่อีก

คุณทิราโดยกตัวอย่างเรื่องการสมัครงาน ที่ต้องพลาดงานดีๆ หลายครั้งด้วยเหตุผลที่ว่าเธอ “ไม่เข้ากับภาพลักษณ์ขององค์กร” (don’t fit the image of the firm) เธอบอกเลยว่า จะ “สวย” ได้ก็เมื่อมีปัญญาจ่ายเท่านั้น (เธอไม่ได้จะไปเป็นพริตตี้นะครับ ที่พลาดๆ เพราะดูดีไม่พอนี่ก็งานทั่วๆ ไปนั่นแหละ)

บุหรี่ช่วยให้ผ่อนคลายและยืนหยัด

คุณทิราโดรู้ดีว่าบุหรี่นั้นแพง แต่เธอก็สูบ เพราะมันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แถมมันยังช่วยกระตุ้นร่างกายได้ คุณทิราโดเปรียบเปรยอย่างอลังการว่า ในเวลาที่จะเดินอีกสักก้าวยังไม่ไหว การสูบบุหรี่ทำให้เธอยืนหยัดต่อไปได้อีกชั่วโมง และในบางอารมณ์อันล้มลุกคลุกคลานนั้น มันก็ช่วยให้เธอผ่อนคลายได้ (แม้จะแค่นาทีเดียวก็ตาม) คุณทิราโดรู้ว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีเลย แต่ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ นั่นกลับเป็นการพักผ่อนเดียวที่เธอเข้าถึงได้ และเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยไม่ให้เธอล่มสลายหรือกระทั่งระเบิดกระจุยกระจายขึ้นมา

อดเปรี้ยวก็ไม่ช่วยให้ได้กินหวาน

คุณทิราโดยอมรับว่าเธอมีการตัดสินใจทางการเงินที่แย่ หรือพูดง่ายๆ ก็คงอย่างที่คนเขาชอบบอกว่าคนจน “ใช้เงินไม่เป็น” หรือใช้เงินอย่าง “สามล้อถูกหวย” น่ะครับ มีมากใช้มาก แถมบางทีมีน้อยก็ใช้มากอย่างไม่เข้าท่าอีก

เธอบอกว่า สำหรับคนจนแล้ว มันไม่ใช่ว่ายอมอดกลั้นต่อความพึงพอใจเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้แล้วแปลว่าวันหน้าจะสามารถซื้ออะไรใหญ่โตได้ เพราะความจริงก็คือ เมื่อไม่มีเงินมากพอ ใช้จ่ายอย่างรับผิดชอบแค่ไหนก็มีอันต้องถังแตกไปในสามวันต่อมา การมีวินัยทางการเงินไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์แวดล้อมที่เป็นอยู่นั้นมันดีขึ้น

ความยากจนนั้นกัดกินสมอง

คุณทิราโดบอกว่าความยากจนคือความสิ้นหวังและยังกัดกินการ “คิดยาว” เธอยกตัวอย่างเรื่องความสัมพันธ์กับหนุ่มๆ ว่าทำไมบางทีเราเห็นสาวๆ ที่ยากจนนั้นมีหนุ่มๆ พร้อมกันทีละ 4 คน แทนที่จะเป็นคนเดียว

เกริ่นแบบนั้นก็ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือหาคนเลี้ยง แต่สิ่งหลักในเรื่องนี้ที่คุณทิราโดบอกกับเราไม่ใช่แบบนั้นครับ กลับเป็นเรื่องของการได้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เธอบอกว่าการได้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในช่วงเวลาหนึ่งนั้นเป็นความจำเป็นพื้นฐานยิ่งกว่าอาหารเสียอีก คนจนจะคว้าทุกความสัพมันธ์ที่ทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ ได้รู้สึกมีคุณค่าแม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เขาเหล่านั้นและเธอสักคนอาจเข้ากันไม่ได้ในระยะยาว แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่อยู่ด้วยกัน พวกเขาก็ทำให้เธอรู้สึกทรงพลังและมีคุณค่าขึ้นมา

หนังสือ Hand to Mouth: Living in Bootstrap America ที่มาภาพ: แอมะซอนดอตคอม (http://goo.gl/lJDyOJ)
หนังสือ Hand to Mouth: Living in Bootstrap America
ที่มาภาพ: แอมะซอนดอตคอม (http://goo.gl/lJDyOJ)

อ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมอยากบอก และเข้าใจว่าคุณทิราโดเองก็คงอยากบอกกับทุกคนเช่นก็คือ อันที่จริงแล้ว คนเราอาจจะไม่ได้ยากจนเพราะคิดสั้น แต่ที่คิดสั้นนั้นเป็นเพราะยากจน ดังที่คงจะได้เห็นตัวอย่างไปแล้วว่าความยากจนนั้นจะมาตีกรอบจำกัดชีวิตคนเราในหลายๆ ด้านตั้งแต่วัตถุไปจนถึงความรู้สึก

และที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การจะออกจากความยากจนได้ไม่ใช่เรื่องของการบำเพ็ญพรตส่วนตัว สิ่งที่กดทับคนจนไว้ไม่ใช่แค่เรื่องของวินัยการเงินหรือนิสัยเฉพาะของตัวเอง แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย (เรื่องสมัครงานน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี) การวนเวียนอยู่ในความยากจนอย่างยาวนาน พยายามเท่าไรก็ไม่เคยจะสามารถขยับชีวิตตัวเองออกจากวังวนได้ แถมความยากจนที่มีอยู่เดิมนั่นเองที่เป็นตัวถ่วงไม่ให้สามารถออกไปได้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ย่อมนำมาซึ่งความสิ้นหวัง และการพยายามจะมีความหวังก็อาจกลับกลายเป็นการทำร้ายตัวเองไปเสีย

เหล่านี้ล้วนทำให้การพัฒนาตัวเองกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งเกินจะจ่าย (ไม่ว่าด้วยตัวเงินหรือความพยายาม) และการมีความหวังก็ดูจะกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไปในที่สุด

หวังเพียงจะเข้าใจคนจนจากมุมมองของคนจนมากขึ้น