วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ชาย 2 คนกำลังจะปล้นร้านเหล้าโดยแอบอยู่มุมตึก คนหนึ่งถามอีกคนว่า “Are you good?” คำบรรยายเป็นภาษาไทยคือ “คุณเป็นคนดีหรือเปล่า?” ต่อมาสักพักเมื่อสถานการณ์ดูจะไม่ค่อยดีเพราะรถตำรวจผ่านมา อีกคนก็พูดว่า “We are going south” คำบรรยายคือ “เรากำลังจะไปทางใต้กัน” ผู้เขียนแอบดูคำบรรยายแล้วปวดหัวเหลือกำลัง (กำลังจะปล้นถามว่าเป็นคนดีหรือเปล่า และจู่ๆ จะไปใต้กันแล้ว) คิดว่าวันหนึ่งจะต้องเขียนถึงและวันนี้ก็คือโอกาสนั้นแล้ว
“Are you good?” ในบริบทนี้ก็คือ “Are you ok?” และ “Go South” ก็คือ “Go Down” สำนวนหลังนี้น่าจะมีอะไรเป็นแง่คิด
“go south” เป็นสำนวนอเมริกันหมายถึงแย่ลง ต่ำลง หายตัวไป หรือห่างหายไปจากสายตา ส่วนใหญ่ใช้ในความหมายว่ากำลังเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดี คือสถานการณ์แย่ลง สาเหตุที่ “ทิศใต้” เกี่ยวพันกับ “ต่ำลง” ก็เพราะรูปภาพเข็มทิศที่ใช้กันนั้นเข็มทิศจะชี้ไปทางทิศเหนือซึ่งไปทางข้างบน ดังนั้น “ทิศใต้” จึงเป็นไปในทางตรงกันข้าม
Oxford English Dictionary บันทึกว่ามีการใช้กันตั้งแต่ทศวรรษ 1920 โดยเป็นภาษาตลาด (ไม่ใช่ภาษาเขียนหรือทางการ) ถ้าเป็นตลาดหุ้น “go south” ก็หมายถึงราคาหรือมูลค่าลดลง สำหรับสำนวนเกี่ยวกับทิศก็มีอีกเช่น “go west” ของคนอเมริกันซึ่งหมายถึงการไปเสี่ยงหาความมั่งคั่งโดยใช้คำนี้กันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1850 เมื่อมีการขยายทิศทางการออกไปหากินกันทางทิศตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการพบทองคำในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ในระดับประเทศและโลก คำว่า “south” มีความหมายอีกอย่างหนึ่งแต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ด้อยกว่า “north” กล่าวคือภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกทำให้เรียกกลุ่มประเทศยากจนหรือด้อยพัฒนาว่ากลุ่ม south
หากจินตนาการแผนที่โลกโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือ Global North ซึ่งรวมพื้นที่อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และพื้นที่พัฒนาแล้วของเอเชียตะวันออก (เกาหลี จีน ญี่ปุ่น) และ Global South ซึ่งประกอบด้วยแอฟริกา อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย และประเทศในตะวันออกกลาง
“กลุ่มเหนือ” เป็นพื้นที่ร่ำรวยกว่า “กลุ่มใต้” อย่างเห็นได้ชัดใน 3 ลักษณะเป็นอย่างน้อย ซึ่งได้แก่ (ก) ร้อยละ 90 ของ “กลุ่มเหนือ” มีอาหารและที่อยู่อาศัยเพียงพอ (ข) “กลุ่มเหนือ” มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่า (ค) “กลุ่มเหนือ” มีเทคโนโลยีที่สูงกว่า มีเสถียรภาพทางการเมืองและมีสินค้าอุตสาหกรรมเป็นฐาน
ในเชิงเศรษฐกิจ “กลุ่มเหนือ” ถึงแม้จะมีประชากรรวมกันเพียง 1 ใน 4 ของโลก แต่เป็นเจ้าของ 4 ใน 5 ของรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโลก ร้อยละ 90 ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลกผลิตและเป็นเจ้าของโดย “กลุ่มเหนือ”
เมื่อลักษณะของภูมิเศรษฐศาสตร์เป็นเช่นนี้จึงเรียกประเทศที่ยากจนว่าเป็น south ถึงแม้ว่าจะอยู่ทางเหนือตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ก็ตามที ในทางกลับกันประเทศที่อยู่ทางใต้หากร่ำรวย เช่น ออสเตรเลีย ก็ถือว่าเป็น north
ในการแบ่งแประเทศในยุคสงครามเย็น (ประมาณ ค.ศ. 1950-1989) ประเทศถูกแบ่งเป็น east และ west โดย east ก็คือจีนและสหภาพโซเวียต ส่วน west ก็คือสหรัฐอเมริกาและพรรคพวกที่ร่ำรวยทั้งหลายอันได้แก่ประเทศยุโรปตะวันตก
ยังมีการแบ่งประเทศอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า first world คือประเทศที่พัฒนาแล้ว และ third world คือประเทศที่กำลังพัฒนา first world จึงกลายเป็น north และ third word กลายเป็น south
ความร่วมมือ North-South จึงหมายความถึงการร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Countries) กับประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries ซึ่งเป็นคำไม่น่ารังเกียจเท่า poor countries) และ South-South Cooperation จึงหมายความถึงความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง
South-South นี้เองที่นำไปสู่ Group of 77 ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทย (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในฐานะตัวแทนประเทศไทย เพิ่งไปรับตำแหน่งประธานกลุ่มนี้กลับมา
Group of 77 จัดตั้งขึ้นในปี 1964 โดยกลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติซึ่งล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันแบบ South-South โดยเป็นองค์กรแบบไม่เป็นทางการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของ UN
ความร่วมมือที่ว่านี้ก็เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างพลังอำนาจในการต่อรองร่วมกันในประเด็นต่างๆ ภายใต้ระบบของสหประชาชาติ และสนับสนุนความร่วมมือแบบ South-South ในการพัฒนาประเทศ
Group of 77 นั้น ถึงแม้ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 134 ประเทศ (แต่ก็ยังคงชื่อของ Group of 77 ไว้เช่นเดิม) ในตอนแรกตั้งมีสมาชิก 77 ประเทศ อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศที่ต่อมาถอนตัวออกไป เช่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ฯลฯ
กลุ่มนี้มีผลงานในอดีตมากมาย และเป็นพลังสำคัญอันหนึ่งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใน UN (การจัดตั้ง UNCTAD เป็นผลงานหนึ่ง) อย่างไรก็ดี ความสำคัญของกลุ่มนี้แปรเปลี่ยนไปตามบริบท สิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขของแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น ความซับซ้อนและความหลากหลายของโลกปัจจุบันทำให้พลังของ Group of 77 ผันแปรไปตามกาลเวลา
ประธานของ Group of 77 ผลัดเปลี่ยนกันไปตามเขตภูมิศาสตร์ คือ แอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และลาตินอเมริกา ในปี 2015 ประธานคือแอฟริกาใต้ นิวยอร์ก และปี 2016 คือประเทศไทย การที่ไทยได้เป็นประธาน Group of 77 นั้นเข้าใจว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของนักการทูตมืออาชีพของไทยทั้งที่กรุงเทพฯ เจนีวา และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยแท้เมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขจำกัดของไทย การโน้มน้าวชักจูงหว่านล้อมเพื่อนสมาชิกให้เห็นแง่มุมของผู้นำไทยและประโยชน์ที่กลุ่มจักได้รับ ตลอดจนการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเชิงการทูตทำให้ไทยได้รับตำแหน่งนี้ซึ่งมีนัยสำคัญของการได้รับการยอมรับจากชาวโลกในระดับหนึ่ง
“Go South” ในกรณีของ Group of 77 มิได้หมายความถึงการเลวร้ายลง หากหมายถึงดีขึ้นหรือไปทางทิศเหนือ คือ “อุดร” ซึ่งตรงข้ามกับทิศใต้ คือ “ทักษิณ”
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 13 ต.ค.2558