ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติทีโอที (1) : ยื้อคลื่น 900 MHz ขุมทรัพย์หมื่นล้าน เพื่อความอยู่รอด

วิกฤติทีโอที (1) : ยื้อคลื่น 900 MHz ขุมทรัพย์หมื่นล้าน เพื่อความอยู่รอด

28 ตุลาคม 2015


บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที นับเป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวจาก 7 แห่ง แม้จะมีกำไรสะสมทะลุหลักแสนล้านบาทแต่กลับอยู่ในสถานะวิกฤติและถูกสั่งให้ฟื้นฟูกิจการอย่างเร่งด่วนจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพราะถูกมองว่าทีโอทีจะต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่สูงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ประกอบกับรายได้สำคัญของทีโอทีที่ได้รับจากระบบสัมปทานคลื่น 900 MHz ที่ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้หมดอายุสัญญาไปเมื่อ 30 กันยายน 2558 ส่งผลให้รายได้ของทีโอทีจะเริ่มต้นลดลง

ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. คลื่นที่หมดสัญญาสัมปทาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีสิทธิเรียกคืนมาเปิดประมูลใหม่ในระบบใบอนุญาต โดยปัจจุบัน กสทช. มีกำหนดการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำหรับไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และทีโอที ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพทีโอที นำโดยนายอนุชิต ธูปเหลือง ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการบริหารบางคนที่ไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กร ปล่อยให้ กสทช. นำคลื่นไปประมูล โดยระบุว่าคลื่นต้องกลับมาที่ทีโอที และ กสทช. ไม่มีสิทธินำไปประมูล เนื่องจากแต่เดิมทีโอทีเคยได้รับการจัดสรรคลื่นจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) แบบไม่มีกำหนดเวลา ขณะที่ฝ่าย กสทช. ยังยันยืนว่า เมื่อสัญญาสัมปทานหมดลง คลื่นจะต้องกลับมาเป็นของประเทศ และ กสทช. มีหน้าที่ตามกฎหมายจัดสรรคลื่นให้ประชาชนได้ใช้บริการ

Print

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมให้ความเห็นถึงการพยายามยื้อคลื่น 900 MHz ว่า ที่ผ่านมาทีโอทีแทบไม่ได้ปรับตัวและแนวทางการดำเนินธุรกิจ พึ่งพาเงินรายได้จากสัญญาสัมปทานกว่า 20,000 ล้านบาทในทุกๆ ปี สร้างกำไรให้ทีโอทีมาได้โดยตลอด ตามขนาดของธุรกิจโทรคมนาคมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคลื่น 900 MHz หมดอายุสัมปทานและต้องนำไปประมูลใหม่ จะส่งผลให้ทีโอทีขาดทุนทันทีปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท และย่อมจะส่งผลต่อการฟื้นฟูกิจการของทีโอที

ทั้งนี้ถ้าย้อนกลับไปถึงที่มาของสัญญาสัมปทานและปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เดิมรัฐเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากเหตุผลทางด้านความมั่นคงของประเทศ โดยรัฐทำหน้าที่เป็นเจ้าของ กำกับดูแล และให้บริการประชาชน ผ่านทางรัฐวิสาหกิจเพียง 2 แห่งเท่านั้น ได้แก่ 1) การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ก่อนต่อมาจะแปรรูปเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เทเลคอม ดูแลส่วนธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ 2) องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ท.ศ.ท.) ก่อนแปรรูปเป็น ทีโอที ในปัจจุบัน ดูแลในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศ

“ผลธุรกิจโทรคมนาคมขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก จนสุดท้ายส่งผลให้ในช่วงทศวรรษปี 2530 ทั้งทีโอทีและแคท เทเลคอม ไม่สามารถขยายบริการได้ทันตามความต้องการ ขณะเดียวกัน เอกชนเองยังไม่สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจได้โดยตรง เนื่องจากธุรกิจถูกผูกขาดโดยภาครัฐอยู่”นักวิเคราะห์รายนี้ให้ความเห็น

ดังนั้น เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง ทางทีโอทีและแคท เทเลคอม จึงหันมาใช้ระบบสัมปทานแบบ BTO หรือ Build-Transfer-Operate คือให้เอกชนสร้างโครงข่ายก่อนจะโอนให้กับรัฐวิสาหกิจถือเป็นเจ้าของ แล้วจึงให้บริการภายใต้โครงข่ายนั้นจนหมดสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สิทธิในทรัพย์สินโทรคมนาคมยังเป็นของรัฐอยู่ นอกจากนี้ เอกชนยังมีหน้าที่ต้องแบ่งปันรายได้ที่ได้ให้กับรัฐวิสาหกิจและภาครัฐ หรือระบบ Revenue Shared ประมาณ 20-40% ของรายได้รวมของเอกชน

โดยเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากทีโอทีส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ เอไอเอสและบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค ก่อนที่ต่อมาในปี 2539 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู จะได้รับสัมปทานด้วย ขณะที่โทรศัพท์บ้าน ทีโอทีให้สัมปทานทั้งหมดกับทรู ก่อนที่ภายหลังจะแบ่งให้ทรูบริการเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และให้ทีโอทีรับผิดชอบบริการพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด

รายได้จากสัมปทาน TOT

รายได้รวมของทีโอที

กำไร(ขาดทุน)สุทธิของTOT

กำไร(ขาดทุน)สุทธิ หลังห

รายได้รวมของเอไอเอส

แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์รายนี้ชี้ว่าเมื่อดูผลประกอบการย้อนหลัง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 จะพบว่าทีโอทีพึ่งพารายได้จากสัมปทานประมาณ 30% ของรายได้รวม หรือคิดเป็นรายได้จากสัมปทานรวม 6 ปี 125,997 ล้านบาท เฉลี่ยตกปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท จากรายได้รวม 6 ปี 451,453 ล้านบาท เฉลี่ยตกปีละ 75,000 ล้านบาท แต่ถ้าหากตัดรายได้จากสัมปทานส่วนนี้ไป พบว่าผลประกอบการในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาขาดทุนทุกปี เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท รวม 6 ปีขาดทุนสะสมกว่า 85,000 ล้านบาท

“จะเห็นชัดเจนว่า ที่ทีโอทีอยู่ได้ เพราะเงินสัมปทานที่ได้จากภาคเอกชน เนื่องจากตลาดมือถือเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ คิดดูว่าอย่างเอไอเอส วันแรกที่เขาเริ่มปี 2535 มีรายได้แค่ 1,700 ล้านบาทต่อปี ตอนนี้ปี 2557 มีรายได้ 150,000 ล้านบาท เพิ่มมา 100 เท่า ซึ่ง เงินส่วนหนึ่งก็เข้าไปที่ทีโอที ทีโอทีก็เอนจอยอัตราการเติบโตขึ้นของโทรศัพท์มือถือ ต่อให้ธุรกิจหลักคือโทรศัพท์บ้านมันเล็กลงเรื่อยๆ เขาก็ไม่เห็นความสำคัญ เพราะว่าเขารวยขึ้นทุกวัน แต่จริงๆ เขาควรจะเห็นว่าวันหนึ่งมันจะหมดไป ก็ไม่เข้าใจว่าผู้บริหารไม่เห็นได้อย่างไร เวลาดูงบกำไรขาดทุนก็เห็นอยู่แล้ว แล้วพอวันนั้นมาถึง ก็คือตอนนี้ เขาเพิ่งจะเริ่มตระหนักว่าถ้าไม่ได้เงินจากเอกชนเขาจะขาดทุน เขาก็พยายามจะดึงไว้ไม่ให้ไป แต่จริงๆ ผมคิดว่าไม่ใช่ความผิดเขานะ เพราะเขาต้องทำตามเกม คือต้องเก็บเอาไว้เพื่ออยู่รอด จึงอยู่ที่รัฐบาลว่าจะเคาะเอาคลื่นไปไว้ไหน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปถึงปัญหาในกรณีที่ทีโอทีสามารถเก็บคลื่น 900 MHz เอาไว้ได้ว่า อาจจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและประชาชนโดยรวมมากกว่า เนื่องจากระบบใบอนุญาตของ กสทช. ถือว่ามีความโปร่งใสและถูกกว่าระบบสัมปทานที่เอกชนต้องแบ่งรายได้กว่า 20-40% ของรายได้รวม และยังให้สิทธิเอกชนในการถือครองเป็นเจ้าของ ซึ่งทำให้การพัฒนาโครงข่ายมีความต่อเนื่องมากกว่าการที่ทีโอทีนำมาดำเนินการพัฒนาเอง

เดินหน้าประมูล 4G – ติง TOT ขวางไม่ได้อะไร

ต่อเรื่องนี้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2558 โดยกล่าวถึงการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (คลื่นฯ 900 MHz)ว่า เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาทางข้อกฎหมาย เนื่องจากสหภาพแรงงานบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ต้องการนำคลื่นที่หมดสัญญาสัมปทานกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 มาบริหารจัดการเอง ไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปเปิดประมูล ว่า การประมูลคลื่นฯ 900 MHz ต้องเดินหน้าต่อไป หากมีปัญหาข้อกฎหมายก็ไปฟ้องร้องเอา แต่ท้ายสุดเชื่อว่าคนที่ฟ้องจะไม่ได้อะไรทั้งสิ้น การนำคลื่นฯ 900 MHz ประมูลจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะ TOT เองก็จะได้เงินไปดูแลพนักงาน ส่วนประชาชนก็จะได้ใช้ 4G เท่าที่ทราบคือทั้ง 2 ฝ่าย คือ กสทช. กับ TOT กำลังพูดคุยหาทางออกกันอยู่ ตนคงไม่ไปสั่งการอะไรทั้งสิ้น แต่หาก TOT ต้องการคลื่นฯ 900 MHz คืนทั้งหมด เกรงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน