ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติทีโอที (3): ทางรอด เปลี่ยนบทบาท “บริการโครงสร้างพื้นฐาน”

วิกฤติทีโอที (3): ทางรอด เปลี่ยนบทบาท “บริการโครงสร้างพื้นฐาน”

7 พฤศจิกายน 2015


นอกจากปัญหาเรื่องสูญเสียคลื่นความถี่ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญ และการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่โฉมหน้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมไปถึงการแข่งขันกับภาคเอกชนที่รุนแรงขึ้นแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที ต้องเผชิญการปรับบทบาทขององค์กรในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ในช่วงหลังมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทจำกัด หรือการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขึ้นมาดูแลธุรกิจโทรคมนาคม

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวว่า การจัดตั้ง กสทช. หลังประเทศไทยได้เข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วงปี 2538 ตามเงื่อนไขที่รัฐต้องเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ 2 ด้าน คือ 1. กสทช. จะทำหน้าที่กำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่แทนรัฐวิสาหกิจเดิม ทำให้รัฐวิสาหกิจจะกลายเป็นผู้เล่นในธุรกิจโทรคมนาคมเหมือนเอกชน 2. เปลี่ยนระบบการจัดสรรจากสัมปทานเป็นใบอนุญาต ซึ่งมีความแตกต่างคือเอกชนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมที่ลงทุนไป ต่างจากเดิมที่เมื่อสร้างเสร็จจะต้องส่งมอบกรรมสิทธิให้กับทีโอที และมีสิทธิ “ใช้” โครงข่ายโทรคมนาคมจนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานเท่านั้น ทำให้เอกชนมามีสิทธิเป็นเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมได้อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ในประเด็นการการแบ่งรายได้ นอกจากเงินประมูลที่ต้องส่งเข้ารัฐ “ครั้งเดียว” แล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่อีกเพียงปีละ 4-5% ของรายได้รวม จากเดิมที่ต้องเสียให้กับรัฐวิสาหกิจสูงถึง 20-40% ของรายได้รวม

“ชัดเจนว่าระบบใบอนุญาตแบบนี้มันเป็นมิตรกับเอกชนมากกว่า เพราะ 1. เอกชนสร้างโครงข่ายก็เก็บไว้ได้ แบบนี้รัฐไม่ได้ผูกขาดแล้ว 2. ค่าธรรมเนียมมันถูกลง ผมว่าบทบาทมันก็ต่างกันไป แต่ก่อนทีโอทีกับ กสท นอกจากเป็นผู้กำกับดูแลยังเป็นผู้เล่น ด้วย เขามีแรงจูงใจในการทำกำไรสูงๆ ให้ธุรกิจ พอจะทำกำไรสูงๆ เขาต้องเอาเงินจากทางผู้เล่นเอกชนเยอะๆ แต่พอมาเป็น กสทช. มโนทัศน์หรือทัศนคติมันเปลี่ยนไป ภารกิจมันเปลี่ยนไป มันไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดจากการออกใบอนุญาต ภารกิจของ กสทช. คือให้เมืองไทยมีระบบโทรคมนาคมที่ดี มีคุณภาพดี ครอบคลุม ราคาบริการพอเหมาะพอสมไม่แพงไป พอภารกิจของผู้กำกับดูแลเปลี่ยนไป ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างกำไรให้เยอะที่สุดที่เป็นไปได้เหมือนตอนที่ทีโอทีทำหน้าที่นี้” แหล่งข่าวกล่าว

มูลค่าตลาดการสื่อสาร

ตลาดโทรคมนาคม

แหล่งข่าวอธิบายต่อไปว่า แม้ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังคงมีบทบาทกำกับดูแลอยู่ เนื่องจากสัญญาสัมปทานที่ทำไว้ช่วงก่อนหน้านี้ยังไม่หมดอายุลง แต่ถือว่าอยู่ในช่วงท้ายของการเปลี่ยนผ่านแล้ว โดยในที่สุดเมื่อสัญญาสัมปทานของรัฐวิสาหกิจหมดอายุลงทั้งหมดในปี 2561 บทบาทของการเป็นผู้กำกับดูแลและผู้เล่นในธุรกิจโทรคมนาคมก็จะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด และในกรณีที่การเปลี่ยนผ่านเสร็จสิ้น ประเทศไทยจะมีคลื่นออกมาเยอะมากขึ้น และย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพของคุณภาพบริการของโครงข่ายดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวยังคงต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะกรณีที่ทีโอทีพยายามที่จะไม่ปรับบทบาทของตนเอง แต่พยายามจะยื้อสิทธิการเป็นเจ้าของคลื่นเอาไว้ในฐานะผู้กำกับดูแล ซึ่งในกรณีนี้จะส่งให้ประชาชนต้องรับภาระแทนค่าบริการที่แพงขึ้น เนื่องจากทีโอทีเองไม่มีศักยภาพพอที่จะลงทุนในระดับหลายแสนล้านบาท จึงต้องอาศัยเอกชนเข้ามาดำเนินงานแทน โดยคิดเงินค่าใช้คลื่นเท่ากับผลขาดทุนของตนเอง ซึ่งสุดท้ายเอกชนย่อมจะส่งต่อออกมาให้ประชาชนในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ การนำคลื่นมาเก็บไว้ที่ทีโอทียังส่งผลต่อความโปร่งใสในการใช้คลื่น เนื่องจากเอกชนจะต้องวิ่งไปหารัฐวิสาหกิจ คือนอกจากการเสนอผลตอบแทนแล้ว จะต้องใช้เครือข่ายพวกพ้องด้วย ซึ่งทีโอทีอาจไม่ได้เลือกคนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดก็เป็นได้ แต่ประชาชนไม่สามารถรู้ว่าใครเป็นใคร

“ของเราก็อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่าน เมืองไทยคิดว่าเป็นที่เดียวด้วยที่มี 2 ระบบซ้อนกันอยู่คือระบบสัมปทาน ของเก่าที่กำลังจะหมดอายุลง ซึ่งถ้าทำไม่ดีนะ มันก็จะเละ มันก็จะกลับไประบบกึ่งสัญญาสัมปทาน เพราะว่าถ้าได้คลื่นไว้ก็ต้องให้เอกชนเอาไปใช้อยู่ดี แต่แค่ไม่เรียกว่าสัมปทานแล้ว อย่างแคท เทเลคอม เก็บโคร่งข่ายไว้ได้แล้ว แต่โครงสร้างจริงๆ ก็เหมือนเดิม คลื่นอยู่ที่แคท เทเลคอม ทรูก็จ่ายค่าใช้คลื่น แล้วถามว่าแคท เทเลคอม ทำอะไรบ้าง ไม่ได้ทำอะไรเลย โชคดีคลื่นมาอยู่กับตัวเอง ก็ได้เก็บเงินค่าใช้คลื่น แล้วทำไมคลื่นต้องมาอยู่กับคุณด้วย ทำไมไม่ไว้ที่ กสทช. แล้วประมูล เงินก็เขารัฐเหมือนกัน” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อถามถึงความเหมาะสมของระบบที่ควรจะเป็น แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการศึกษากรณีศึกษาจากต่างประเทศ พบว่าเกือบทุกประเทศต่างใช้ผู้กำกับที่เป็นลักษณะตัวกลาง ไม่ทำหน้าที่ทับซ้อนในบทบาทผู้เล่นด้วย จะมีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่มีความแตกต่าง แต่ยังบริหารจัดการได้ดี คือมีผู้เล่นเป็นรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 3 เจ้า ได้แก่ China Mobile, China Telecom, China Unicom ส่วนการจัดสรรคลื่นจะไม่มีการประมูลคลื่น รัฐบาลจะแจกให้ตามความเหมาะสม โดยผลประกอบการที่ออกมากลับกลายเป็นว่า นอกจากไม่ขาดทุนแล้วยังเติบโตจนได้อยู่ในตลาดหุ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวยังย้ำว่า โมเดลธุรกิจในลักษณะนี้โดยทั่วไปคือเอาคลื่นมาให้เช่าช่วงต่อกับเอกชน โดยหลักเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วตั้งแต่แรก ประเทศจีนจึงเป็นเพียงกรณีพิเศษเท่านั้น

สำหรับแนวทางออกของทีโอทีจากการถูกปรับบทบาท แหล่งข่าวกล่าวว่าอาจจะทำได้ 3 แนวทาง คือ 1) ยุบเลิกกิจการ เนื่องจากทีโอทีไม่สามารถุแข่งขันได้ต่อไปในบทบาทผู้เล่น และไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่จะดำรงอยู่ตั้งแต่ต้นหลังจากปรับบทบาท 2) ให้ทีโอทีมีบทบาทกำกับดูแลคลื่นและเก็บคลื่นไว้จัดสรรได้ แต่สุดท้ายประชาชนต้องรับภาระ เนื่องจากทีโอทีและเอกชนจะต้องมีการส่งต่อต้นทุน และ 3) ปรับสภาพธุรกิจ ให้แข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ให้เช่าเสาโครงข่ายต่างๆ เป็นต้น และเลิกแข่งขันในธุรกิจที่เอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว

โดยกรณีหลังสุดสอดคล้องกับทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ซึ่งเคยมีมติให้ทีโอทีหันไปดำเนินธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานและร่วมมือกับเอกชนมากกว่าที่จะทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ไม่ว่าจะงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน, อินเทอร์เน็ตเกตเวย์, เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ, บริการด้าน fixed line หรือโทรศัพท์บ้าน และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์

“มันมีแนวคิดตรงกลางอยู่ คือปรับสภาพเขา แทนที่จะทำแบบรายย่อย หรือ retail ไปทำแบบรายใหญ่ หรือ wholesale แทน คำว่า retail ก็คือเขาดิ้นรนจะทำธุรกิจมือถือด้วย แต่ว่าดันมีลูกค้าแค่ 1% ของทั้งระบบ มันก็ขาดทุน ก็ย้าย ไม่ทำ retail แล้ว พวกธุรกิจที่ติดต่อกับลูกค้าผู้ใช้โดยตรง หันไปทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม แล้วเอาตรงนี้ไปให้เอกชนเช่า ข้อดีมันก็คือได้แน่นอน เพราะไม่ต้องมาแข่งขันกับใคร ทรัพย์สินที่ให้เช่ามาจากไหน ก็เอาทรัพย์สินที่ได้มาตอนทำสัญญาสัมปทานนั่นแหละ ก็เป็นเจ้าของอยู่แล้ว อย่างเสาโทรคมนาคมรับโอนมาจาก AIS 13,000 เสาที่เพิ่งได้สิทธิใช้มา ก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องไปแข่งกับ AIS เอามาให้ AIS เช่าต่อ อย่างไรก็ต้องใช้ แค่นั้นเอง แล้วก็ลดขนาดลงไป ให้มันเพรียว ให้ lean ขึ้น ผันตัวเองเป็น Infrastructure Operator” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้พบปะพนักงานทีโอทีอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

โดยทีโอทีต้องเร่งแผนพลิกฟื้นองค์กรอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นจะประสบประสบภาวะทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ทีโอทีขาดทุนราว 8,000 ล้านบาท โดยทั้งปีคาดว่าจะขาดทุน 12,000 ล้านบาท มีรายได้ 39,600 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินทรัพย์ 175,400 ล้านบาท ลดลง 15,500 ล้านบาท หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ เคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศ บริการไอที. คลาวด์ มีกำไร 416 ล้านบาท กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ขาดทุน 800 ล้านบาท กลุ่มเสาโทรคมนาคม ขาดทุน 147 ล้านบาท กลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานและอินเตอร์เน็ตขาดทุน 485 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ขาดทุน 6,600 ล้านบาท

นายมนต์ชัยกล่าวว่า การเจรจาพันธมิตรจะสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) พร้อมจะโอนเสาโทรคมนาคมกว่า 12,000 ต้นให้ทีโอที และทีโอทีจะมาให้เอไอเอสเช่าใช้ต่อ ซึ่งเอไอเอสก็ยินยอมในหลักการแล้ว จากเดิมเสนอเป็นบริษัทร่วมทุน แต่ทีโอทีไม่เห็นด้วย เกรงว่าจะใช้เวลานาน เพราะต้องเข้าสู่ขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ส่วนการจัดตั้งกองทุนท่อร้อยสายโทรคมนาคม เพื่อนำสายเคเบิลที่มีอยู่ทั้งหมดลงใต้ดินนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาในเร็วๆนี้