เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้บริษัทเอกชนที่สนใจยื่นคำขอรับใบอนุญาต (ยื่นซองประมูล) ให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำหรับไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ปรากฏว่ามีผู้มายื่นคำขอ พร้อมจ่ายค่าพิจารณาคำขอ 5.35 แสนบาท และวางหลักประกัน 644 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด
2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับคำขอ แล้วเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่มี พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นประธาน พิจารณา คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 โดยการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะมีขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ช้ากว่าการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เพียงหนึ่งวัน
ทั้งนี้ เมื่อมีผู้ยื่นคำขอมากกว่าจำนวนใบอนุญาตที่มีอยู่ 2 ใบ ดังนั้น ราคาเริ่มต้นการประมูลจึงอยู่ 80% ของมูลค่าคลื่น หรืออยู่ที่ 12,864 ล้านบาท แต่ละครั้งที่เคาะราคาประมูล มูลค่าจะเพิ่มครั้งละ 644 ล้านบาท
“อยากให้ประชาชนร่วมใจสนับสนุนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เพื่อจะได้นำเอาคลื่นความถี่นี้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการสื่อสารของประเทศไทยให้มีศักยภาพ รองรับเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ขอให้ประชาชนคนไทยมั่นใจว่า กสทช. ดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความรอบคอบ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง” เลขาธิการ กสทช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ยื่นซองประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ทั้ง 4 ราย เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกับที่ยื่นซองประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ การนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาประมูลของสำนักงาน กสทช. เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมาย เมื่อสหภาพบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช. เพราะมองว่าคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เมื่อบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS หมดสัญญาสัมปทานกับ TOT เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา คลื่นความถี่นี้ก็ควรจะกลับคืนมาสู่ TOT ไม่ใช่ให้ กสทช. นำไปประมูล