สฤณี อาชวานันทกุล
ผ่านไปเกือบปีครึ่งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารยังเดินหน้า “ปฏิรูปประเทศ” อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดวันที่ 5 ตุลาคม 2558 มีการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ในจำนวนนี้เป็นทหารและตำรวจมากถึง 72 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ของ สปท. ทั้งคณะ
ในเมื่อทหารและตำรวจเป็นกลุ่มอาชีพที่มีสัดส่วนใน สปท. มากที่สุด และวันนี้ประเทศไทยอยู่ใต้การปกครองของทหาร ก็สมควรที่เราจะมาสำรวจการทำงานของรัฐบาลภายใต้การครอบงำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กันเล็กน้อย เพื่อดูว่าการปฏิรูปโดย สปท. นั้นน่าจะมี “ทิศทาง” อย่างไร
วันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบการ “จัดระเบียบสังคม” ของ คสช. ซึ่งใช้อำนาจเนรมิตให้ชายหาดสวยงาม ทางเดินสองฝั่งถนนไร้เงาหาบเร่แผงลอย และสลากกินแบ่งราคา 80 บาท
แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายเหล่านี้มิใช่การวางรากฐานการปฏิรูปให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แต่เป็นเพียงการแก้ “ปัญหา” ที่หลายคนมองว่าไม่ใช่ปัญหา
และต่อให้มองว่าเป็นปัญหา ก็มีทางเลือกในการแก้ไขมากมายนอกเหนือจากการใช้ “อำนาจพิเศษ” อย่างมาตรา 44
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ คสช. รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้ไม่อาจร้องเรียนกับใครได้ เพราะหลายคนเกรงว่าจะถูกนำตัวไป “ปรับทัศนคติ” หรือไม่ก็ถูกประณามว่า “ไม่รักชาติ”
เมื่อหันมาดูการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะ “ระยะยาว” มากกว่าการจัดระเบียบสังคม ดำริที่จะจัดตั้ง single gateway และนโยบาย “แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” หรือชื่อเล่น “ทวงคืนผืนป่า” เป็นเพียงสองตัวอย่างของนโยบาย คสช. ซึ่งดูเผินๆ แตกต่างกันสุดขั้ว แต่มีจุดร่วมอย่างน้อยสองข้อที่ให้บทเรียนเราได้อย่างดีถึงกระบวนการปฏิรูปในยุคนี้
ข้อแรก ทั้งสองนโยบายนี้มิได้มาจากการเสนอของภาคประชาชน แต่มาจากดำริของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการ
นโยบาย single gateway ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี วันที่ 30 มิ.ย. 2558 (สืบค้นได้จากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ก็ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปด้วย”
มิได้บอกให้ไป “ศึกษา” เฉยๆ แบบที่ผู้มีอำนาจหลายคนดาหน้าออกมาอ้างแต่อย่างใด
ส่วนนโยบายทวงคืนผืนป่า ริเริ่มในคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 ในเดือนมิถุนายน 2557 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ครอบครอง ทำลายป่า ติดตามผลคดีป่าไม้ และฟื้นฟูสภาพป่าที่สมบูรณ์
ข้อสอง นโยบายทั้งสองถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอย่างกว้างขวางจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือจะได้รับผลกระทบในอนาคต แต่เสียงคัดค้านไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินนโยบาย
ดำริที่จะจัดตั้ง single gateway ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ใช้เน็ต (มีผู้ลงนามในแคมเปญคัดค้านบน change.org กว่า 140,000 คนในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์) ผู้ประกอบการดิจิทัลทั้งไทยและเทศ ตลอดจนบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่
ส่วนนโยบายทวงคืนผืนป่าก็ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางจากชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนหลายสิบแห่งที่ทำงานกับชาวบ้าน ถึงแม้คนเมืองอาจไม่ได้ยินข่าวเท่ากับกระแสการคัดค้าน single gateway เพราะสื่อกระแสหลักยังไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้เท่าที่ควร
ในเดือนกันยายน 2558 กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch) เปิดรายงานเรื่องผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ระบุว่า
“คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 เน้นย้ำว่าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ยากไร้ และให้มีกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีความสืบเนื่องต่อกันมา แต่เนื่องจากมาตรการหลักของคำสั่ง คสช. คือการใช้กำลังเข้าจับกุม และทวงคืนพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหากับภาครัฐ จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปด้วย”
Land Watch พบว่าชาวบ้านที่ถูกข่มขู่คุกคาม ไล่รื้อ ตัดฟันทำลายพืชผล และจับกุมดำเนินคดี จากนโยบายดังกล่าว มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 681 รายทั่วประเทศ
รายงานฉบับนี้สรุปว่า “คำสั่ง คสช. ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับประชาชนที่อาศัยและทำกินในเขตป่า …อีกทั้งเมื่อมีการเจรจาในระดับขบวนการภาคประชาชนกับตัวแทนรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน คำสั่ง คสช.ก็ยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ ดำเนินการตามที่ตัวเองเห็นสมควร ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากขึ้นไปอีก”
ด้านกระบวนการ รายงานวิเคราะห์ว่า “แผนแม่บทป่าไม้นั้นจัดทำโดยกลุ่มคนเพียง 17 คน (ที่ปรึกษา 5 คน, คณะผู้จัดทำ 12 คน) ในจำนวนนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารถึง 11 นาย ไม่มีสัดส่วนของตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง …ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด”
ยังมีอีกหลายนโยบายที่ คสช. หรือข้าราชการริเริ่ม ซึ่งกำลังเผชิญกับเสียงคัดค้าน และผู้คัดค้านก็นำเสนอเหตุผลและทางเลือก แต่ผู้มีอำนาจไม่สนใจ อาทิ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เปิดเหมืองทองคำทั่วประเทศ เปิดเหมืองโปแตซ และโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา เป็นต้น
ผู้เขียนเห็นว่า นโยบายเหล่านี้ตั้งอยู่บนโลกทัศน์ที่คร่ำครึของรัฐราชการเมื่อค่อนศตวรรษที่แล้ว สมัยที่เชื่อกันว่า การพัฒนาต้องทำจากศูนย์กลางเพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไร้การศึกษา ต้องให้ “ผู้เชี่ยวชาญ” ตัดสินใจแทน อีกทั้งรัฐต้องเอาใจนายทุนเพราะเป็นหัวหอกในการพัฒนาเศรษฐกิจ
โลกทัศน์ “รัฐราชการ+อำนาจรวมศูนย์+เอื้อประโยชน์นายทุน+เศรษฐกิจมาก่อน” เช่นนี้ แปลกแยกแตกต่างอย่างรุนแรงกับโลกทัศน์ของประชาชน ผู้ไม่ได้ติดอยู่ในวิธีคิดแบบเก่า
โลกทัศน์ของประชาชนวันนี้ ไม่เพียงแต่คนไทยแต่รวมถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั่วโลก ถ้าจะสรุปง่ายๆ คือ “รัฐโปร่งใส+อำนาจกระจายศูนย์+เพิ่มพลังพลเมือง+การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ในเมื่อโลกทัศน์ระหว่าง “ข้าราชการ+เทคโนแครต” กับ “ประชาชน” โดยรวมกำลังขัดแย้งแตกต่างกันเช่นนี้ กระบวนการปฏิรูปใดๆ ก็ตาม ที่ไม่วาง “ประชาชน” เป็นหัวใจ จึงไม่มีทางที่จะลงหลักปักฐานได้เลย
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมองว่า ก้าวแรกที่จำเป็นต่อการปฏิรูปอะไรก็ตาม คือการปฏิรูป “โลกทัศน์” ของผู้ถืออำนาจการปฏิรูป
จากโลกทัศน์แบบอำนาจนิยมที่เชื่อว่าคนดี-คนเก่งรู้ดีที่สุด มาเป็นโลกทัศน์แบบประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ผู้เขียนหวังว่า สมาชิก สปท. ที่มีโลกทัศน์แบบเก่าจะสามารถปฏิรูปตนเอง และจะมีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะคัดค้านนโยบายของรัฐบาล หรือคำสั่งของ คสช. ที่ขัดกับโลกทัศน์ของประชาชน.