เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมแทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
แจงทุกตำบล ได้ 5 ล้านหมด ขยายเวลายื่นคำขออีก 15 วันต้องทำโครงการเสร็จใน 3 เดือน
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการทำความเข้าใจกรณีมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เรื่องมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท ให้กับ 7,255 ตำบล รวมวงเงิน 36,275 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้มีการเข้าใจว่า บางตำบลจะได้ไม่ครบ 5 ล้านบาท เพราะต้องไปหักเงินจากที่ได้รับจากมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ประชุม ครม. อนุมัติไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 จำนวน 4,966 โครงการ รวมวงเงิน 6,541 ล้านบาท โดย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นคนละส่วนกัน เพราะมีวัตถุประสงค์โครงการแตกต่างกัน โดยมาตรการสนับสนุนตำบลละ 5 ล้านบาท หวังผลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังผลระยะสั้น เห็นได้จากการกำหนดให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 ส่วนโครงการที่ใช้งบ 6,541 ล้านบาท เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างงาน ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว
“ยืนยันว่าทุกตำบลจะได้เงินสนับสนุน 5 ล้านบาท เท่ากันหมด เพียงแต่โครงการที่ยื่นของบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ยื่นไว้เดิม” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว
“อนุพงษ์” ยันมีมาตรการป้องกันทุจริต
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (สงป.) กล่าวว่า ขณะนี้ทุกตำบลได้ยื่นคำร้องขอรับเงินสนับสนุนจากงบที่ได้รับตำบลละ 5 ล้านบาท ครบทั้ง 7,255 ตำบลแล้ว แต่เนื่องจากยังมีความเข้าใจที่สับสนคิดว่าบางตำบลจะได้รับงบไม่ครบ 5 ล้านบาท จึงมีการขยายเวลาในการยื่นคำร้องขอรับเงินสนับสนุน จากเส้นตายเดิมในวันที่ 30 กันยายน 2558 ออกไปอีก 15 วัน เป็นจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สงป. ตรวจสอบว่า มีคำร้องขอรับเงินสนับสนุนใดที่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ใช้งบ 6,541 ล้านบาท เบื้องต้นพบว่ามีประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งได้ตีกลับไปให้ตำบลดังกล่าวทำคำร้องขอรับเงินสนับสนุนเข้ามาใหม่ แต่ต้องเป็นโครงการอื่นที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการเดิม
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินมาตรการเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ โครงการละไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมวงเงิน 24,000 ล้านบาท ที่ประชุมได้อนุมัติไปแล้วกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท คงเหลือกว่า 5 พันล้านบาท โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำร้องขอเงินสนับสนุนมาแล้ว แต่ได้รับการอนุมัติไปเพียง 3.6 พันล้านบาท ยังเหลืองบอีก 1.4 พันล้านบาท ที่ต้องยื่นคำร้องขอเงินสนับสนุนมายัง สงป. อีกครั้ง
ด้าน พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า จะมีมาตรการป้องกันการทุจริตการใช้เงินสนับสนุนตำบลละ 5 ล้านบาท ทั้งขาขึ้นและขาลง โดยขาขึ้น ในขั้นตอนการเสนอโครงการ จะให้คณะกรรมการหมู่บ้านเสนอขึ้นมายังจังหวัด เพื่อให้เป็นความต้องการของคนในท้องถิ่นจริงๆ ส่วนขาลง จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปช่วยดูเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ
ปีงบ 58 เบิกจ่ายได้ 91%
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สงป. กล่าวว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 ขณะนี้ มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 2.35 ล้านล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 2.57 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.5% แบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบลงทุน 3.46 แสนล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 4.50 แสนล้านบาท คิดเป็น 77.1%
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 ทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่ง ครม. อนุมัติไปทั้ง 2 ครั้ง และการเบิกจ่ายงบประมาณปกติ คาดว่าน่าจะอยู่อีก 2.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1.58 แสนล้านบาท ถึง 1.26 แสนล้านบาท เท่ากับ 0.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
พาณิชย์ ชู 3 โครงการพัฒนาตลาด สานนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า วันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ โครงการตอบรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ โครงการยกระดับตลาดกลาง โครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น และโครงการ Thaitrade.com – SOOK (Small Order OK)
“ทั้ง 3 โครงการ จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 เท่าที่มีของกระทรวงพาณิชย์จำนวน 328.6 ล้านบาท ขาดเหลือจึงจะใช้งบกลาง” นายสุวิทย์ กล่าว
โดยโครงการยกระดับตลาดกลาง ภายใต้การดูแลของกรมการค้าภายใน เป็นส่วนที่จะรวบรวมผลผลิต เป็นแหล่งเชื่อมโยง และกระจายสินค้าให้กับเกษตรกร ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการในการฟื้นฟูและพัฒนาตลาดกลางดังกล่าว โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ในระยะเวลา 3 ปี
ส่วนโครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น อาทิ โครงการ OTOP จะมีการใช้ธุรกิจเอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตร และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจท้องถิ่น เป็นกลไกแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรให้แก่รัฐบาล เป็นช่องทางในการระบายผลผลิตของเกษตรกร รวมถึงเป็นส่วนที่จะตอบโจทย์การท่องเที่ยว จะดำเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัด จังหวัดละ 236 แห่ง ในระเวลา 3 ปี
ด้านโครงการ Thaitrade.com – SOOK เป็นส่วนที่เป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.comที่จะทำการเชื่อมตลาดชุมชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบโครงการ Thailandbest จากภาคเอกชน (เครือสหพัฒน์) มาดำเนินการต่อ ส่วนนี้จะช่วยเชื่อมตลาดไปสู่ประชาชนได้มากขึ้น โดยดำเนินการผ่านเว็บไซต์ www.thailandbest.in.th
ปรับโครงสร้าง ทูตพาณิชย์ – พาณิชย์จังหวัด รับคลัสเตอร์เศรษฐกิจ – AEC
นายสุวิทย์ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการปรับโครงสร้างการทำงานของทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำการอยู่ใน 41 พื้นที่ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยแต่ละพื้นที่ต้องอาศัยความสามารถและทักษะแตกต่างกันไปตามลักษณะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีการคัดสรรคนเข้ามาดำเนินการใหม่เพื่อให้ทูตพาณิชย์เป็นผู้เจาะตลาดในแต่ละพื้นที่
“ทูตพาณิชย์เหล่านี้จะเป็นตัวเชื่อมที่ดีให้กับพาณิชย์จังหวัด ซึ่งต่อไปพาณิชย์จังหวัดจะป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่สุด ส่วนนี้ก็จำเป็นต้องหาบุลคลากรที่มีความเข้าใจแต่ละพื้นที่เข้าไปดำเนินการ เพราะจะต้องเชื่อมโยงกับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ นอกจากนี้ทางกระทรวงมีแผนการที่จะสนับวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises: IDE) ที่เป็นบุคลากรรุ่นใหม่ อาทิ กรณีของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เป็นส่วนที่จะต้องให้การสนับสนุนแยกจากเอสเอ็มอีอื่นๆ” นายสุวิทย์กล่าว
นอกจากนี้ นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการปรับโครงสร้าง 12 เซกเตอร์อุตสาหกรรมส่งออกของไทยใหม่ทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรี จะทำการหารือกับแต่ละเซกเตอร์เป็นการเฉพาะ โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์
ภายหลังการประชุม ครม. พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงรายงานในที่ประชุมและมติที่สำคัญเพิ่มเติม ดังนี้
เล็งใช้ตั๋วร่วม ปลายปี’59 เชื่อมระบบขนส่งมวลชน
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงแนวคิดที่ใช้ระบบ “ตั๋วร่วม” โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้พิจารณาที่จะเชื่อมโยงการใช้บริการการเดินทางและการขนส่ง โดยเฉพาะการคมนาคมสาธารณะ อาทิ รถไฟฟ้า (BTS) รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) การเดินทางทางน้ำ รถเมล์ การใช้บริการมอเตอร์เวย์ รวมถึงการใช้บริการทางด่วนในระบบ Easy Pass ให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้โดยใช้เพียงตั๋วใบเดียว
โดยการจัดทำตั๋วร่วมดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงรัฐเองก็จะประหยัดงบประมาณในการดำเนินการทำระบบเก็บเงิน ระบบดังกล่าวจะช่วยให้รัฐสามารถเก็บ้อมูลเพื่อวางแผนเรื่องการจราจรและการขนส่งต่อไปได้ในอนาคต
“ในเรื่องตั๋วร่วมมีแนวคิดมา 4-5 ปีแล้ว แต่ครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะดำเนินการติดตั้งระบบเสร็จ และจะทำการทดสอบระบบในเดือนสิงหาคม 2559 หลังจากนั้นอาจมีการปรับปรุงอีกเล็กน้อยและจะทำการเปิดให้บริการได้เลย” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว
“สมคิด” ชงใช้ระบบ “PPP” กระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนรัฐจัด “งบแบบบูรณาการ”
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงแนวทางการประหยัดงบประมาณของประเทศ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่จะส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญโดยอาศัยระบบความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) และจัดทำ “งบประมาณแบบบูรณาการ” โดยหน่วยงานหรือกระทรวงใดที่มีนโยบายหรือโครงการเหมือนกัน อาทิ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประสานงานและเชื่อมโยงกัน ซึ่งการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการนี้ให้นำไปใช้ในการจัดทำงบประมาณในปีงบประมาณถัดไป
อนุมัติเพิ่ม ขรก. 1.3 หมื่นอัตรา
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้เพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่แก่ส่วนราชการต่างๆ จำนวน 13,280 อัตรา ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยมอบให้สำนักงบประมาณดำเนินการในการจัดสรรงบบุคคล โดยมี 7 หน่วยงานที่ยื่นขอเพิ่มกำลังคน ดังนี้
– กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 9,863 อัตรา สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขต่างๆ
– กระทรวงมหาดไทย ในสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รวม 307 อัตรา สำหรับปฏิบัติงานในศูนย์ดำรงธรรม และส่วนของกรมการปกครอง 841 อัตรา สำหรับปฏิบัติงานในที่ทำการอำเภอ
– กระทรวงยุติธรรม ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ จำนวน 1,794 อัตรา สำหรับปฏิบัติงานในเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักขัง ส่วนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จำนวน 325 อัตรา สำหรับปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาทุจริต ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
– สำนักงานงานข่าวกรองแห่งชาติ 143 อัตรา สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในภารกิจด้านข่าวกรองของประเทศ
– กระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 7 อัตรา สำหรับปฏิบัติงานในสถานเอกอัครราชทูตแห่งใหม่ ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก
“ในที่ประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงให้ฟังว่ารัฐต้องใช้งบประมาณเฉลี่ย 25 ล้านบาท ในการจ้างงานและให้สวัสดิการต่างๆ แก่ข้าราชการ 1 คน การขอเพิ่มกำลังคนจึงต้องดูตามความเหมาะสม ในกรณีที่มีการขอแปรสภาพพนักงานลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ ได้ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะหากจะเพิ่มจำนวนข้าราชการอย่างเดียวจะมีผลกระทบต่องบประมาณ และการการบริหารประเทศในภาพรวม” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว
ดึงงบกลาง 700 ล้าน สร้างแก้มลิง – ฝายกักน้ำ รับภัยแล้งปี’59
พล.ต. สรรเสริญ ระบุว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชายแดนระหว่างประเทศ ระยะเร่งด่วน และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ในวงเงิน 721.69 ล้านบาท โดยต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นฤดูฝน ในกลางเดือนตุลาคม 2558 นี้
“งบประมาณดังกล่าวจะใช้ใน 2 โครงการ คือ โครงการแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชายแดนระหว่างประเทศ ระยะเร่งด่วน จำนวน 604.5 ล้านบาท ทั้งหมด 30 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม หนองคาย เลย บึงกาฬ และมุกดาหาร มีกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จำนวน 117.19 ล้านบาท ในพื้นที่ลำน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ 526 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 100 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 384 แห่ง ภาคกลาง 10 แห่ง และภาคตะวันออก 32 แห่ง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ
ปรับ กอช. บริหารงานแบบซูเปอร์บอร์ด
รายงานเพิ่มเติมจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ปรับปรุงโครงสร้าง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ให้ กอช. บริหารงานในลักษณะซูเปอร์บอร์ด โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการปรับแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ยกเลิกมติ ครม. จัดสรรที่ป่าชายเลน 27,000 ไร่ ให้คนไร้ที่ทำกิน
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวถึงมติในที่ประชุมพิจารณาอนุมัติยกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 และ 22 สิงหาคม 2543 ในการนำที่ดินป่าชายเลนในท้องที่ อ.เมือง และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ไปจัดทำที่ดินทำกินให้ประชาชน จำนวน 27,000 ไร่ ตามที่กระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ป่าชายเลนของไทยลดลงอย่างมากจาก 2.3 ล้านไร่ ในปี 2534 เหลือ 1.5 ล้านไร่ในปัจจุบัน
“ในช่วงที่มีการอนุมัติจัดสรรที่ดินทำกินดังกล่าวนั้น จำนวนป่าชายเลนของไทยยังมีอยู่มาก คือ 2.3 ล้านไร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนมากทำให้พื้นที่ลดลงเหลือเพียง 1.5 ล้านไร่ ในปัจจุบันจึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกมติ ครม. เดิม แต่จะทำการจัดสรรที่ดินจำนวน 27,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชเป็น 3 ส่วน คือ จำนวน 10,500 ไร่ จัดสรรสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้วได้ทำกินต่อไป จำนวน 500 ไร่ จะเป็นส่วนที่รัฐจัดสรรให้เพิ่มเติมแก่ผู้ที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนอีก 16,000 ไร่ เป็นส่วนที่ยังมีความอุดสมบูรณ์จะขอสงวนไว้เพื่อทำการฟื้นฟูต่อไป ทั้งนี้ การจัดสรรที่ดินดังกล่าวเป็นการให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ จะไม่มีการมอบเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนแต่อย่างใด” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว