ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิษณุ” เล่าเรื่องร่องรอยจาก “Failed State – สู่รัฐประหาร” แจง 7 ปี 5 รัฐบาล กับ กม.120 ฉบับ เทียบ 2 ปี ผลงาน “ประยุทธ์”

“วิษณุ” เล่าเรื่องร่องรอยจาก “Failed State – สู่รัฐประหาร” แจง 7 ปี 5 รัฐบาล กับ กม.120 ฉบับ เทียบ 2 ปี ผลงาน “ประยุทธ์”

2 ตุลาคม 2016


ในวันที่รัฐบาลแถลงผลงาน 2 ปี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กุนซือด้านกฎหมาย รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เล่าเรื่องราวบันทึกร่องรอยการเมืองให้ห้วงที่ผ่านมา ในฐานะมือกฎหมายที่อยู่คู่รัฐบาลต่างๆ มากว่า 4 ทศวรรษ 10 นายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะแถลงผลงานด้านกฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา

“ในเดือนกันยายน 2559 นี้คนไทยอาจจะไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะบรรยากาศในวันนี้ไพร่ฟ้าหน้าใส ใครจะเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกสบาย ปลอดภัย รถอาจจะติดบ้าง แต่ถนนหนทางไม่ได้คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนหรือม็อบดังเช่นเมื่อก่อน ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่างชาติมองว่ารัฐไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ “Failed State”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

“หากรำลึกย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้านี้ หรืออีกหลายปีก่อนหน้าไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ ทำเนียบรัฐบาล ตึกสันติไมตรี ไม่สามารถใช้เป็นที่ทำงานของรัฐบาลได้เลย รัฐบาลต้องหนีญญ่ายพ่ายจะแจ ส่วนราชการต่างๆ กระจัดกระจาย ต้องหาที่ทำการใหม่ ข้าราชการต้องนำงานไปทำที่บ้านเพราะไม่มีที่ทำงาน”

นายวิษณุกล่าวถึงความระส่ำระส่ายของบ้านเมืองที่ส่งผลให้แม้แต่ตราพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สำนักเลขาคณะรัฐมนตรีเก็บรักษาไว้ แม้ชำรุดทรุดโทรมก็ต้องนำช่างจากภายนอกมาซ่อม ไม่เคยได้รับอนุญาตให้นำออกไปจากทำเนียบรัฐบาล เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลับต้องถูกโยกย้ายที่เก็บรักษานำออกจากทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี

“เรื่องอาจจะเล็กแต่จำเป็นต้องนำมาเรียนให้ทราบผมเป็นเลขธิการคณะรัฐมนตรีอยู่หลายปี ภาระหน้าที่ประการหนึ่งซึ่งหนักอึ้งก็คือการดูแลรักษาทรัพย์สินสำคัญของชาติ โดยเฉพาะตราพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ถอยไป 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองไม่เรียบร้อย แม้แต่ตราพระปรมภิไธยก็ไม่วางใจให้เก็บรักษาไว้ในทำเนียบรัฐบาล ต้องเชิญออกไปเก็บรักษาไว้ข้างนอก เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยจึงได้เชิญกลับมา และวันที่เชิญกลับมาก็คือ 3 วันหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้ายึดอำนาจ เป็นที่มั่นใจว่าเหตุการณ์บ้านเมืองกลับฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ”

และ 2 ปีก่อนหน้านั้น ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักลงทุน นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักวิเคราะห์เหตุบ้านการเมือง ได้พากันวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว หรือ Failed State เรื่องอย่างนี้สามารถไปย้อนดูได้ในข่าว CNN หรือ BBC ก็จะปรากฏว่าเขามองว่าประเทศไทยกำลังเป็นรัฐที่ล้มเหลว ก็คือ Failed State

นายวิษุณอุปมาประเทศไทยว่าเหมือนกับคนที่แข็งแรงยืนอยู่ดีๆ แล้วทรุดฮวบล้มลง เหมือนกับต้นไม้แข็งแกร่ง แต่ลมพัดมานิดเดียวก็หักโค่นลง สภาพแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นตัวทำให้เกิด นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องมาฟื้นฝอยหาตะเข็บอะไรในวันนี้ แต่ปัญหาว่าภาวะอย่างนั้น ภาวะที่บอกว่าประเทศชาติ “กำลังจะล้มเหลว” มีอะไรถึงบอกว่าจะล้มเหลว และอะไรที่ในวันนี้ไม่มีใครสักคนในโลกบอกว่าประเทศไทยกำลังจะล้มเหลว

คำตอบคือ ในเวลานั้นบ้านเมืองไม่สงบ ไม่ปลอดภัยทุกหัวระแหง นักการเมือง ผู้สมัครพรรคการเมืองไม่กล้าที่จะหาเสียงข้ามถิ่น ข้ามภาค แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็เรียกร้องการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันทุกคนไม่มั่นใจในความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง นั่นเป็นประจักษ์พยานหนึ่งของคำว่ากำลังจะล้มเหลว นอกจากนี้ กฎหมายที่มีมากมายหลายฉบับ แต่มีแล้วก็เหมือนเศษกระดาษ ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์

“บ้านเมืองเกิดความไม่เรียบร้อยเวลานั้นใครๆ ก็รู้ แล้วทำไมไม่ประกาศใช้กฎหมายอาญา ใช้แต่ไม่กลัว ทำไมไม่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ประกาศแต่ก็ไม่มีใครกลัว ทำไมไม่ใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ใช้แต่ไม่มีใครกลัว แล้วทำไมไม่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ใช้แต่ไม่มีใครกลัว นั่นคือภาวะที่กฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และตามมาด้วยเหตุการณ์สำคัญที่ประชาชนแตกแยกทั้งความคิดและความเห็น พี่ น้อง พ่อ แม่ สามี ภรรยา พระในวัดเดียวกันยังพูดกันไม่รู้เรื่องแม้นุ่งจีวรสีเดียวกันก็ตาม สภาพอย่างนั้นเคยมีอยู่”

กลไกการทำงานของประเทศเกือบหยุดชะงัก และที่สำคัญคือ คนไม่เชื่อถือในอำนาจรัฐอีกต่อไปว่าจะสามารถคุ้มครอง ป้องกัน อารักขาเขาได้ นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่าประเทศ “กำลังจะล้มเหลว” ยังไม่ล้มเหลว แต่ “กำลังจะ”

สำหรับกลไกของประเทศที่บอกว่ากำลังจะหยุดชะงัก คือ ในระบบประชาธิปไตย กลไกมี 3 ประการ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หัวใจก็อยู่ตรงนี้ วันนี้ที่ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะออกกฎหมายลูกต่างๆ ที่มีการถกเถียงกัน ขัดแย้งกัน ก็อยู่ที่การจัดระเบียบกลไก นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทั้งนั้น ไม่มีใครไปพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่มีใครพูดถึงเรื่องที่ว่าคนจนจะอยู่อย่างไร ความเหลื่อมล้ำจะแก้อย่างไร ทุกคนตะลุมบอนอยู่ตรงที่ว่าจะจัดระเบียบนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อย่างไร

“วันนั้นก็ตะลุมบอนกันแบบนี้เหมือนกัน นิติบัญญัติ คือ รัฐสภา เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดต้องยุบสภาในเดือนธันวาคม 2556 ดังนั้นจึงต้องจัดการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจัดขึ้นได้ แต่ถูกประกาศว่าเป็น “โมฆะ” เมื่อจัดใหม่ก็ไม่ได้ ผู้สมัครไม่มี กระบวนการวุ่นวายไปหมด เวลาผ่านไป 6 เดือนประเทศไทยก็ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้ ยังไม่เคยปรากฏว่าไทยจะต้องหยุดชะงักว่างเว้นการเลือกตั้งนานขนาดนั้นในระบอบประชาธิปไตย เราไม่ได้เว้นการเลือกตั้งเพราะระบอบเผด็จการเข้ามายึดอำนาจแล้วห้ามการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยให้เลือกตั้งแต่จัดการเลือกตั้งไม่ได้”

ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้นจึงไม่มีแม้แต่คนเดียว ส่วนสมาชิกวุฒิสภามี แต่หมดวาระลงกึ่งหนึ่ง ต้องเลือกใหม่ แต่ก็มีการประท้วงกันวุ่นวายไปหมดว่ามีการทุจริต จนต้องมีการประกาศให้ประชุมกันไปก่อน แต่ก็ยังประชุมไม่ได้เพราะประธานวุฒิสภาถูกให้ออกจากตำแหน่ง เลือกใหม่ก็ไม่ได้ ประธานวุฒิสภาไม่มี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภาก็ไม่มี เป็นอันว่าสภาหยุดชะงักการทำงาน กฎหมายออกไม่ได้เลยสักฉบับ

ด้านฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต้องคำสั่งให้หยุดชะงักการปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่เป็นไร รองนายกฯ ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการแทน แต่ในเวลานั้นก็เกิดการยุบสภา ทำงานต่อไปไม่ได้ หานายกฯ ใหม่ก็ไม่ได้ เปลี่ยนรัฐมนตรีก็จะดูลำบากในขณะนั้น ปรับ ครม. ก็ไม่ได้ รัฐบาลในขณะนั้นจะอนุมัติงบประมาณอะไรแม้แต่บาทสองบาทก็ดูจะติดขัดไปหมด จะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสักคนก็ทำไม่ได้ ต้องขอความเห็นชอบ กกต. ปัญหาเรื่องข้าวระอุขึ้นมา จะต้องเยียวยา ต้องแก้ปัญหา ซึ่งไม่สามารถอนุมัติเงินได้แม่แต่ 1 บาทเพื่อไปช่วยเหลือเยียวยา นั่นเป็นปัญหาของฝ่ายบริหาร

ฝ่ายตุลาการ ก็มีผู้ออกมาประกาศผ่านวิทยุ โทรทัศน์ทั่วไปว่า ไม่นับถือ ไม่ยอมรับอำนาจศาล

”จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สภาวะของนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ชะงัก จึงไม่แปลกที่ต่างชาติสรุปว่าประเทศไทยใกล้เป็นรัฐล้มเหลว เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่ประเทศไทยซึ่งครั้งหนึ่งเกือบจะเป็นเสือตัวที่ 5 ประเทศไทยที่ครั้งหนึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของอาเซียน กลายมาเป็นภาระของอาเซียน และกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้คนเขาเยาะเย้ยไยไพ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะต้องทำคือ ต้องจัดการฟื้นฟู ทำให้กลไกการทำงานของชาติที่ชะงักอยู่กลับฟื้นคืนมาให้ได้ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 งานด่วนที่สุดคือฟื้นฟูกลไกการทำงานของประเทศให้กลับมา เพื่อ 1) นำความสงบเรียบร้อยสู่บ้านเมือง 2) ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ หรือภาษาชาวบ้านคือ ช่วยทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป ตามที่คนเรียกร้อง 3) สิ่งที่คนเฝ้ารอ คือเขายังอยากจะเห็น อยากจะมี อยากจะเป็น เขาต้องการอะไรหลายอย่างแต่ไม่สามารถจัดให้ได้ก่อนหน้านั้น ช่วยจัดให้ที

ช่วงแรกที่ คสช. เข้ามา หากเปิดหนังสือพิมพ์เก่าๆ ดูจะเห็นว่า เรื่องที่ประชาชนเข้ามาเรียกร้อง ผ่านทางสื่อ โดยตรงก็มี บางคนมีปัญหาเรื่องวินเมอร์เตอร์ไซค์ ก็มาร้องขอให้ คสช. ช่วยเรื่องนี้ บ้างเดือดร้อนเรื่องรถตู้โดยสาร บางกลุ่มเดือดร้อนกับปัญหาเด็กแว้น บางกลุ่มเดือดร้อนกับปัญหาราคาล็อตเตอร์รี่ที่แพงเกินเหตุ บ้างเดือดร้อนกับปัญหาเปิดร้านสุรายาเมาใกล้สถานศึกษา ใกล้โรงพยาบาล บางกลุ่มอาจไม่ได้เดือดร้อนกับปัญหาเล็กน้อยเหล่านี้ แต่เดือดร้อนกับปัญหาว่า จะสร้างบ้าน สร้างโรงงาน ต้องขอใบอนุญาต ยื่นไป 2-3 ปีแล้วแต่ติดขัดไม่ได้ออกมาสักใบหนึ่ง นักลงทุนต่างชาติกำเงินหมื่นล้านแสนล้านเข้ามาหวังตั้งโรงงานในประเทศไทย ขอใบอนุญาตใบเดียวรอมา 2 ปีก็ยังไม่ได้

สิ่งที่คนบางกลุ่มเรียกร้องในเวลานั้นคือ รัฐมีนโยบายให้คนติดตั้งแผงพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแล้วขายไฟฟ้าให้รัฐ จึงลุกขึ้นติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเป็นการใหญ่ ตามนโยบาย “พลังงานของรัฐ” และครั้งนั้นบางกระทรวงก็บอกว่าการตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเข้าข่ายเป็นโรงงาน ต้องขออนุญาต หากยังไม่ขอก็ผิดและต้องจับ เมื่อจะจับก็ต้องถอดแผงเหล่านี้ออกทั้งหมด

สิ่งที่มาร้องในเวลานั้นคือ นี่เราอยู่ประเทศเดียวกันหรือเปล่า เหตุใดกระทรวงหนึ่งเห็นอย่างหนึ่ง อีกกระทรวงหนึ่งจะตามจับ นอกจากนั้น ความไม่สะดวกความไม่สบายในการติดต่อราชการชะงักล่าช้าไปหมด ไปยืนหนังสือขออนุญาต บางครั้งแค่เพียงเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ ก็ต้องนำเอกสารมากมายมาแสดง แล้วทำไมไม่บอกให้รู้ล่วงหน้าจะได้นำเอกสารมาให้ถูกต้อง

ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้น คือ การทุจริต การคดโกง การรับเงินใต้โต๊ะ การเรียกส่วนต่าง ได้ระบาดไปทั่ว ทั้งยังมีปัญหาความทุกข์ชาวนา ชาวไร่ ขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเงินยังไม่ได้ หนี้เก่าก็ยังไม่ได้ปลด หนี้ใหม่ตามมา แล้วจะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้คือปัญหาของประเทศ

แม้แต่นักธุรกิจที่มีปัญญาที่จะคิดทำอะไรก็ตามให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่มาติดขัดเมื่อคิดได้ มาติดเรื่องภาษี เรื่องการขออนุญาตส่งออก เรื่องเมื่อส่งออกไปต่างประเทศเขาทำท่าจะไม่ซื้อ เพราะถือว่าประเทศไทยผลิตสินค้าโดยใช้แรงงานเด็ก ใช้แรงงานผู้หญิง ใช้แรงงานประมงต่างชาติผิดกฎหมาย กดค่าแรง แล้วจะมีหน้ามาผลิตสินค้าให้ เขาก็จะไม่ซื้อ นี่คือสภาพปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของใครก็ตามที่เข้ามาวันนั้นต้องฟื้นฟูและจัดการให้หมดไป

นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งหมดนี้แปลง่ายๆ คือ คืนความสุขให้กับประชาชน แล้วคืนอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีท่านก็บอกว่า การคืนความสุขนั้นไม่ใช่การช่วยกันร้องเพลงที่ท่านแต่งให้ (เพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย) ไม่ใช่การมานั่งฟังท่านพูดทุกคืนวันศุกร์ นั่นเป็นแค่การสร้างความรับรู้ความเข้าใจ แต่สิ่งที่จะคืนความสุขได้นั้นคือทุกฝ่ายต้องลงมือ

ท่านนายกฯ เปรียบตัวท่านเหมือนหัวหมู่ทะลวงฟัน เมื่อรำดาบเดินออกไป รัฐมนตรีอีก 35 คน ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกกว่า 3 ล้านคนต้องเดินตาม ทุกอย่างจึงจะแก้แล้วคลี่คลายไปได้ แล้วมันง่ายขนาดนั้นหรือ กับแค่เดินตาม ปัญหาจึงมีว่าแล้วทำอย่างไรจะแก้ปัญหาที่ว่าได้

การที่จะแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง แน่นอนที่สุดจะต้องมีตัวช่วยสำคัญยิ่ง 4 ประการ ไม่เช่นนั้นจะบันดาลไม่ได้

1) ต้องมีเงิน คือ งบประมาณ แต่หากไม่มีก็ยังกู้ได้ ออกพันธบัตรได้

2) ต้องมีคน คือ บุคลากร เข้ามาช่วย ซึ่งหากคนไม่มีก็จ้างได้ ให้เอกชนไปทำต่อได้

3) ต้องมีความรู้มีความคิด แปลว่าต้องมี เทคโนโลยี มีหลักวิชา แต่หากไม่มีก็ส่งคนไปเรียนต่อได้ เปิดตำราได้ จ้างที่ปรึกษาเข้ามาได้

4) ต้องมีอำนาจ นั่นแปลว่าต้องมีกฎหมายมาสนับสนุน อำนาจไม่มีก็ต้องออกกฎหมาย เพราะกฎหมายนั้นเป็นที่มาแห่งอำนาจ วันนี้ตำรวจจับโจรได้ก็เพราะมีอำนาจ ที่มีอำนาจเพราะกฎหมายให้อำนาจ จะทำรถไฟรางเดี่ยว รางคู่ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นจะทำได้อย่างไร ขาดเงินจะไปกู้เขา กู้ก็ต้องมีอำนาจ รัฐบาลในอดีตที่พลาดพลั้งกันมาแล้วก็เพราะลุแก่อำนาจบ้าง คิดว่ามีอำนาจแต่ไม่มีอำนาจบ้าง อำนาจนั้นมาจากกฎหมาย แล้วถ้าออกกฎหมายไม่ได้อีก ก็ไม่มีอำนาจ

ผลงานรัฐบาลด้านกฎหมาย

ดังนั้น จึงมาถึงประเด็นสำคัญว่า เดิมที ก่อนหน้าที่ คสช. เข้ามา ย้อนหลังไป 7 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2557 ระยะเวลา 7 ปี 4 รัฐบาล เรารู้ว่าอำนาจได้มาด้วยการมีกฎหมาย แต่ 7 ปีนั้นสามารถออกกฎหมายมาได้ 120 ฉบับ แปลว่าปีละ 17 ฉบับ แต่ไปตำหนิไม่ได้เพราะสถานการณ์ขณะนั้นเขาไม่อำนวยจึงทำได้แค่นี้

“จะทำได้อย่างไร ก็ 7 ปีนั้นไม่ใช่หรือที่รัฐบาลชุดหนึ่งเข้ามาอย่างสง่าผ่าเผยเตรียมตัวทำงาน ต้องแถลงนโยบาย แต่แถลงในสภาไม่ได้ ต้องเปิดตึกกระทรวงการต่างประเทศแถลงนโยบาย ซึ่งไม่เคยปรากฏในประเทศไทย อีกรัฐบาลเข้ามา วันแถลงนโยบายต้องเอาบันไดพาดกำแพงสภาปีนเข้าไป แถลงเสร็จต้องโหนเฮลิคอปเตอร์ออกไป สภาพแบบนั้นคือสภาพที่บ้านเมืองไม่อำนวย รัฐบาลบางชุดวันเดียวก็ไม่เคยเข้ามาในทำเนียบรัฐบาล เพราะเข้ามาไม่ได้ นั่นคือสภาพไม่อำนวย เมื่อสภาพไม่อำนวยอย่างนั้น 7 ปีจึงมีกฎหมายออกมา 120 ฉบับ แล้วพอกินไหม พอใช้ไหม พอที่จะนำไปแก้ปัญหาของประเทศมากมายสารพัดที่ทับถมทวีเข้ามาหรือไม่”

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า เทียบกับ 2 ปีที่ คสช. เข้ามาจากวันนั้นถึงวันนี้ จากกันยายน 2557 – กันยายน 2559 พระราชบัญญัติออกมาทั้งหมด 187 ฉบับ และยังค้างอยู่ในสภากำลังจะออกเร็วๆ นี้อีก 27 ฉบับ และที่ คสช. ได้อนุเคราะห์ ใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เหมือนปฐมพยาบาลไปก่อนบางเรื่อง อีก 104 ฉบับ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่จะใช้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของประเทศ และการพัฒนาประเทศต่อไปข้างหน้าได้อย่างเพียงพอ

“พูดถึงของเดิม 120 ฉบับ ของใหม่ 2 ปี 187 ฉบับ คงต้องมีคนคิดบ้างว่านั่นคือปริมาณ กินได้หรือเปล่า กระดาษทั้งนั้น คุยทำไม ใครเป็นคนอยากได้ แล้วคุณภาพล่ะ 187 ฉบับ มีคุณภาพไหม แล้วเป็นกฎหมายแบบไหน ประชาชนได้อะไร แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีกระบวนการควบคุมคุณภาพ”

นายวิษณุระบุว่า เมื่อ คสช. เข้ามายึดอำนาจได้มีการตั้งฝ่ายต่างๆ เข้ามาทำงาน ฝ่ายหนึ่งในหลายฝ่ายคือฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่มี พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ วันที่เริ่มทำงานได้พบสิ่งที่น่าแปลกใจมาก คือ ปลัดกระทรวง 20 กระทรวง เข้าแถวเดินหน้าเข้ามาเพื่อเสนอให้ คสช. ช่วยออกกฎหมายให้ที นับแล้วประมาณ 300 ฉบับ ที่อยู่ในมือปลัดกระทรวง 20 คนวันนั้น

จากกรณีดังกล่าวจึงได้ตั้งคำถามว่า แล้วคุณไปอยู่ที่ไหนจึงได้มาในวันนี้ เอากฎหมาย 300 ฉบับมายื่นขอให้ออก เขาบอกว่าเพราะก่อนหน้านี้ออกไม่ได้ เหตุผลก็มีสารพัดปัญหา ซึ่งเขาบอกว่าจำเป็นต้องออกโดยเร็วเพราะบางฉบับต่างชาติจี้มา ไปสัญญาแล้วไม่ทำตาม บางฉบับไม่เกี่ยวกับต่างชาติ แต่หากไม่มีจะทำงานไม่ได้ ประชาชนจะเดือดร้อน คนจนจะลำบาก ในที่สุดจะต้องทำการผลักดันกฎหมายเหล่านั้นออกมาให้ได้ ซึ่งเกณฑ์ที่หัวหน้า คสช. ตั้งขึ้นวันนั้นคือเราจะไม่ตามใจ ข้าราชการ ไม่ตามใจกระทรวง แต่จะทดสอบด้วยวิธีการดังนี้

“ถ้าของเก่ายังใช้งานได้ให้สานต่อ ถ้าของเก่าย่ำแย่ให้แก้ไข ถ้าของเก่ามั่วแต่ถกเถียงกัน หาข้อสรุปไม่ได้ ยึกยัก จะผลักดันให้ อะไรที่ของเก่าทำมาแล้วผิด ก็คิดทำใหม่ให้ถูก อะไรที่ของเก่าเขารู้แล้วเขาไม่ยอมทำ ก็จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และอะไรก็ตามที่ของเก่ายังไม่คิดที่จะเริ่ม ก็เริ่มเสียสิ และจากวันนั้นก็คือการขับเคลื่อนกฎหมายทั้ง 187 ฉบับที่ผ่านออกมา อีก 27 อยู่ในสภา และจะทะลักตามออกมาอีกนับร้อยฉบับใน 1 ปีข้างหน้า”

ทั้งนี้นายวิษณุได้ยกตัวอย่างกฎหมาย และมาตรการด้านยุติธรรมที่ออกมาบังคับใช้แล้วในด้านต่างๆ ดังนี้

  • การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น การลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) วันนี้ได้ออก พ.ร.บ.ค้างาช้าง พ.ศ. 2558 เพื่อควบคุมการค้างาช้าง ผู้ที่ครอบครองงาช้างต้องไปขึ้นทะเบียน, ออกพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับสากล เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์, หรือที่ไทยเคยลงนามในอนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ลัทธิการก่อการร้าย (Convention for the Suppression of Financing of Terrorism) ขณะนี้ได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558
  • ปัญหาสั่งสมในอดีตที่ต้องแก้ไข อาทิ ออกเป็นพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้รับประกันคือบริษัทจะเอาเปรียบผู้เอาประกันไม่ได้ และหากบริษัทประกันล้มจะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันอย่างน้อย 1 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่มีข้อกำหนดทำให้ไม่มีการจ่าย, ออกพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ว่าห้ามข้าราชการแต่งเครื่องแบบไปทวงหนี้ หรือทวงหนี้ห้ามทำหลังพระอาทิตย์ตกดิน เป็นต้น, แก้ปัญหากรณีอุ้มบุญ โดยออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ไปจนถึงคุ้มครองสัตว์ด้วยการออกพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
  • การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น ออกพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559, พระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558, การแก้ไขกฎหมายค้ำประกัน จำนอง จำนำ, ออกพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 และออกพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
  • การแก้ปัญหาสังคม เช่น ออกพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559, พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559, พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559
  • แก้ปัญหาให้แก่สถาบันอุดมศึกษา เช่น ออกพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2558 ให้สถาบันการศึกษาวิชาการทหารจัดการเรียนการสอนได้ถึงระดับปริญญาเอก, พระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. 2558, แก้กฎหมายให้กับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ผลงานรัฐบาลด้านกฎหมาย

  • ด้านเศรษฐกิจ เช่น กรณีลิขสิทธิ์นักแสดงถูกละเมิด พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558, ไม่มีกฎหมายคุ้มครองทางการค้า ได้ออกพระราชบัญญัติความลับทางการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558, แก้ปัญหาราคายางพาราตก คุณภาพยากตกต่ำ ออกพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558, ปัญหาล้มละลายไม่เป็นธรรม ออกพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559, กรณีไม่มีหลักประกัน ทำธุรกิจยาก ออกพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และแก้ปัญหาภาษีนิติบุคคลสูง โดยแก้ไขประมวลรัษฎากร ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ด้านความยุติธรรม เช่น ในอดีตคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยาก มีความซับซ้อน ล่าช้า และเสียค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันมีการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ให้สามารถส่งใบสั่งได้ทางไปรษณีย์ และเสียค่าปรับได้หลายวิธี, แก้ไขกฎหมายให้คดีแพ่งยุติในชั้นอุธรณ์, แก้ไขกฎหมายให้สามารถติดอุปกรณ์ติดตามตัวผู้ประกันตัวได้, แก้ไขกฎหมายให้โอนคดีได้ง่ายขึ้น รวมถึงตราพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เพื่อช่วยเหลือประชาชนซึ่งได้รับความเดือดร้อนให้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเบิกเงินจากกองทุนนี้แล้ว 2,000 ราย เป็นเงิน 140 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี
  • การปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน เช่น ติดตามเร่งรัดคดีทุจริตใหญ่ๆ ไปกว่า 30 เรื่อง, มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559, ตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมมือหน่วยงานด้านการปราบปรามทุจริตอื่นๆ ในการตรวจสอบทุจริต, ใช้กฎหมายมาตรา 44 ในการสั่งพักงานข้าราชการที่มีความผิด รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายให้สามารถสอบวินัยราชการได้หลังเกษียณหรือลาออก
  • แก้ปัญหาของระบบราชการ เช่น ออกพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกฤษฎีกา ซึ่งกำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสกัดการโกง การเอาทรัพย์สินของราชการมาใช้ ไม่ว่าเรื่องเล็ก จนถึงเรื่องใหญ่

หลังจากนี้ ระยะเวลาที่เหลือ 1 ปีกว่าของรัฐบาล นายวิษณุกล่าวว่า จากนี้รัฐบาลจะมีภาระหนักกว่าที่ผ่านมา ทั้งการที่ต้องผลักดันกฎหมายที่รัฐบาลต้องการออก ไม่ได้เกี่ยวกับใคร แต่เกี่ยวกับรัฐบาลอยากออก ประชาชน ส่วนราชการอยากได้อยากเห็นอีกประมาณ 50 ฉบับ และยังเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เป็นกฎหมายใหม่ 59 ฉบับ ส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 7 ด้าน และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

กฎหมายต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องมี หากไม่จะอยู่ลำบาก เพื่อให้เป็นเครื่องมือแก่รัฐบาลหน้า ต้องปฏิรูปการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ การศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้คือคือสิ่งที่ต้องลงมือในระยะเวลาที่เหลือ แล้วจะความสำเร็จก็จะเกิดในรัฐบาลหน้าที่จะรับช่วงต่อไป

ทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าประชาชนได้อะไร สิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้กลับมาสู่ประโยคสำคัญ 3 ประโยคเท่านั้น คือ ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายมาให้อำนาจรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ทำงานไม่ได้ เพราะเราอยู่ในหลักนิติรัฐ นิติธรรมต้องอาศัยกฎหมายเป็นฐาน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ แก้ปัญหาเกษตร ประมง ค้ามนุษย์ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคนจนก็แก้ไม่ได้ทั้งนั้น ต่อให้มีเงินมากองก็ตาม หากไม่มีกฎหมาย

“กฎหมาย 187 ฉบับที่คลอดออกมาแล้ว อีก 27 ฉบับที่กำลังอยู่ในสภา อีกนับร้อยฉบับที่กำลังจะตามเข้าไป แล้วจะออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลหน้าได้ใช้ คสช. หรือรัฐบาลชุดนี้ไม่ทันได้ใช้กฎหมายเหล่านี้ หากรัฐบาลหน้าต้องประสบปัญหาแบบเดิมก็จะมีกฎหมายเป็นเครื่องมือพอที่จะทำงาน กำหมายที่ออกมาแล้ว ที่กำลังจะออก หรือกำลังจะเข้าสภา ทำไว้ให้ประชาชนทั้งนั้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย และเพื่อให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

เอกสารประกอบการแถลงของนายวิษณุ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

กฎหมายมากต้นทุนรัฐยิ่งเพิ่ม สวนกระแสโลก

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายบรรยง พงษ์พานิช กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะปฏิรูปกฎหมายของประเทศไทยที่มีมากเกินไปว่ากำลังจะออกพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย โดยให้ทุกกระทรวง ทุก 5 ปี ต้องกลับไปทบทวนกฎระเบียบว่ายังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นต้องยกเลิก

โดยกระบวนการดังกล่าวมีแนวคิดแบบองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่เคยใช้รื้อกฎหมายมา 10 ประเทศ เรียกชื่อว่า Regulatory Guillotine คือกิโยติน ตัดกฎหมายทิ้ง แบ่งเป็น 4 หลักการ หนึ่ง คือ เก่า กฎหมายเก่าไม่ทันยุคสมัย สอง คือ กฎหมายเกิน คือรัฐชอบทำตัวเป็นผู้รู้ สาม คือ กฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ต่อทุกคนได้ สี่ คือ กฎหมายที่ประโยชน์ไม่คุ้มต้นทุน

ดังนั้น กฎหมาย 4 ประเภทข้างต้นประเด็นคือต้องเลิก วิธีเลิกกฎหมายในวิธีธรรมดาของประเทศไทย ก่อนอื่นมาดูจำนวนก่อน กฎหมายประเทศไทยมีพระราชบัญญัติอยู่ 900 ฉบับ คสช. อีก 100 ฉบับ ถ้ารวมกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกามีอีก 20,000 ฉบับ ถ้ารวมข้อบังคับ คำสั่งต่างๆ ที่ถูกบังคับใช้กับประชาชนมีอีก 100,000 ฉบับ บวกๆ ทำไมต้องบวกๆ เพราะไม่มีใครในประเทศนี้รู้ว่ามันเท่าไหร่ ผมไปรวบรวมที่กฤษฎีกา กฤษฎีกาบอกว่าเท่าที่รวบรวมได้ มากที่สุดที่หาได้แล้วคือ 100,500 ฉบับ แต่รับรองรวมไม่หมดหรอก คร่าวๆ คือเรามีชีวิตอยู่ใต้กฎหมายแสนกว่าฉบับ ผมรับประกันทุกคนต้องผิดกฎหมาย ไม่รู้ว่าข้อไหน มันต้องโดนสักข้อแน่ๆ ผิดแน่ๆ มันเยอะขนาดนั้น ไม่รู้หายใจแรงจะผิดหรือเปล่า

“ผมบอกก่อนเลยว่าเรื่องนี้จะค่อนข้างใกล้ตัวแต่ไม่ค่อยมีคนรู้สึก กิจกรรมของทุกรัฐ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีจะเลว รัฐต้องทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ คือออกกฎหมาย แล้วบางทีรัฐสภาชอบโม้นะว่าออกกฎหมายไปกี่ฉบับ KPI คือออกกฎหมาย ไม่เลิกเลย แล้วคิดดูเป็น 100 ปี ออกกฎหมาย แล้วประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือกฎหมาย คุณรู้หรือไม่ว่ารัฐบาลนี้ออกมาแล้วกว่า 500 ฉบับ รวมพระราชบัญญัติ 170 ฉบับ และประกาศต่างๆ อีก ผมนำเสนอเรื่องนี้ไปนายกฯ บอกว่าแย่แล้ว คุณช่วยเลิกที่ผมออกไปบ้างก็ได้ มันออกเพลิน”

แล้วทุกครั้งที่ออกกฎหมายแปลว่าเรากำลังเพิ่มอำนาจรัฐ แปลว่าเราเพิ่มต้นทุนให้กับรัฐ ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดเลยคือมันสวนกระแสโลก โลกเขามีแต่ลดรัฐเพราะมันพิสูจน์แล้วว่ารัฐไม่มีประสิทธิภาพ รัฐทั่วโลกไม่เฉพาะไทย คอมมิวนิสต์เลิก เพราะรัฐมันไม่มีประสิทธิภาพ มันรั่วไหลเยอะ แต่ของประเทศไทยดันขยายรัฐ ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราขยายมโหฬาร งบประมาณเพิ่ม รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์ 4.7 ล้านล้านบาท เป็น 13.5 ล้านล้านบาท เคยค้าขายปีละ 1.5 ล้านล้านล้าน ตอนนี้ 5.5 ล้านล้านบาท เราเพิ่มรัฐ แล้วใครรู้จักรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพบ้างครับ รถไฟ รถเมล์ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ มันไม่มี มันพิสูจน์ชัดว่าเรากำลังหลงทางเพิ่มรัฐโดยไม่รู้ตัว รัฐยึดตลาดข้าวไปทำแบบนี้คือเพิ่มรัฐ อันนี้คือปัญหาสำหรับประเทศไทยในความเห็นของผม แล้ววิธีที่จะลดคอร์รัปชันได้เร็วที่สุดคือลดรัฐ คุณไม่ต้องมีมาตรการอะไรเลย แค่ทำให้รัฐลดลงมันก็ลดแล้ว ลดทั้งขนาดทั้งบทบาท

แล้วเรื่องนี้มีการวิจัย ซึ่งเมืองไทยทำยากมาก แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีวิจัยว่ากฎหมายมีต้นทุนเท่าไร ของสหรัฐอเมริกาบอกว่าต้นทุน 13% ของจีดีพีคือกฎหมาย ถ้าไม่มีกฎหมาย แต่มันไม่มีเลยก็ไม่ได้ มันต้องมีที่เหมาะสม เขาบอกว่าประเทศไหนที่มีกฎหมายที่เหมาะสมจะมีต้นทุนแถวๆ 10% ของจีดีพี ถ้าเลวจะมีต้นทุนที่ 20% ของจีดีพี ผมว่าประเทศไทย 20% บวก มันวัดยาก แต่ 20% มันเยอะมากเลย ปีหนึ่งหลายล้านล้านบาท มันเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง ของเรามีกฎหมายมากสร้างความสับสน