ThaiPublica > คอลัมน์ > ตำรวจกับการคอร์รัปชัน ปัญหาโลกแตกที่พูดกี่ทีก็ไม่มีวันจบ

ตำรวจกับการคอร์รัปชัน ปัญหาโลกแตกที่พูดกี่ทีก็ไม่มีวันจบ

15 ตุลาคม 2015


Hesse004

วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันตำรวจแห่งชาติ” อาชีพตำรวจนับเป็นอาชีพที่มีเกียรติในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพราะตำรวจคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทำให้อาชีพนี้กลายเป็นอาชีพที่มีทั้งคนรักและชังพร้อมๆ กัน

ปัญหาหนึ่งที่ตำรวจถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยเฉพาะการเรียกรับสินบน ซึ่งทำให้อาชีพนี้ถูกตราหน้าและเป็นจำเลยสังคมเสมอมา …ไม่เฉพาะตำรวจไทยเพียงแห่งเดียวที่ถูกตราหน้าแบบนี้ หากแต่วงการตำรวจทั่วโลกต่างก็ถูก “ยัดเยียด” ภาพด้านลบภายใต้อคติของผู้คนในสังคมมากกว่าที่จะเกิดภาพพจน์ด้านบวก

การศึกษาปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในวงการตำรวจนั้นมีความละเอียดอ่อนพอๆ กับการศึกษาปัญหาความไม่โปร่งใสของกองทัพ แพทย์ หรือผู้พิพากษา เพราะอาชีพเหล่านี้ถูกคาดหวังจากสังคมสูงมาก

อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา วิเคราะห์พฤติการณ์คอร์รัปชันภายใต้พื้นฐานที่ว่า การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมีแรงจูงใจที่จะใช้อำนาจรัฐนั้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

ดังนั้น ตำรวจในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงกลายเป็นอาชีพที่ถูกมองว่าแสวงหาประโยชน์จากการทำหน้าที่มากที่สุดเช่นกัน

ภาพลักษณ์เหล่านี้กลายเป็น “ภาพลบ” กับอาชีพตำรวจทั่วโลก ทั้งๆ ที่มีตำรวจจำนวนมากตั้งใจทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา เช่น กรณีของ พันตำรวจเอก สมเพียร เอกสมญา หรือจ่าเพียร (ภายหลังได้รับพระราชทานยศเป็นพลตำรวจเอก) อดีตผู้กำกับ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังการเสียชีวิตของจ่าเพียร ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในวงการตำรวจถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม

ที่มาภาพ : http://img.tnews.co.th/large/tnews_1408286447_9520.jpg
ที่มาภาพ : http://img.tnews.co.th/large/tnews_1408286447_9520.jpg

เรื่องของจ่าเพียรเป็นปัญหาความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้งโยกย้ายภายในองค์กรตำรวจที่กระทบกับตัวตำรวจผู้ปฏิบัติงานเอง

ขณะเดียวกัน การทุจริตคอร์รัปชันของตำรวจยังกระทบต่อสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ของประชาชน ในปี พ.ศ. 2553 มีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งได้สะท้อนภาพการทุจริตคอร์รัปชันในวงการตำรวจออกมา

งานดังกล่าวเป็นการศึกษามาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยการศึกษาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ1

ประเด็นสำคัญของงานชิ้นนี้ คือ การอธิบายพฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชันของตำรวจ รวมทั้งทำความเข้าใจกับปัจจัยที่เอื้อให้ตำรวจสามารถใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตในการรีดนาทาเร้นชาวบ้านได้

การศึกษาครั้งนี้ ทำโดยนักวิจัยที่เป็นตำรวจเหมือนกัน โดยทีมวิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเลือกเครื่องมือ คือ การสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับกลุ่มข้าราชการตำรวจชั้นประทวนและสัญญาบัตร เพื่อเก็บข้อมูล โดยทีมวิจัยพยายามค้นหารูปแบบและอธิบายพฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในวงการตำรวจ

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ตำรวจมีพฤติการณ์ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ 5 ลักษณะ กล่าวคือ

1. การทุจริตคอร์รัปชันของตำรวจ (Police Corruption) ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปทรัพย์สินเงินทอง โดยพฤติการณ์สำคัญคือ เรียกรับสินบนหรือที่ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า “ไถ” เลือกปฏิบัติในการจับกุม บิดเบือนพยานหลักฐานในคดี ยักยอกเงินประกันตัวผู้ต้องหา รวมทั้งซื้อขายตำแหน่ง

2. การประพฤติมิชอบของตำรวจ (Police Misconduct) กรณีนี้เป็นพฤติการณ์ที่ไม่ได้มีเจตนาเรียกรับผลประโยชน์จากการกระทำนั้น แต่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจเกินขอบเขต เช่น ซ้อมหรือทรมานผู้ต้องหา ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย

3. พฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เนื่องจากตำรวจเกี่ยวข้องกับการจับกุมผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดโดยตรง ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นความผิดมีโทษหนัก ดังนั้น ผู้กระทำผิดมักใช้วิธีการ “วิ่ง/ยัด/จ่าย” ให้ตำรวจตั้งแต่ขั้นต้นเพื่อให้ตนเองพ้นผิด หรือถูกดำเนินคดีโดยได้รับโทษที่ไม่หนักมาก

4. พฤติการณ์ที่ยังคลุมเครือว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ พฤติการณ์เหล่านี้อยู่ในรูปแบบของการรับสินน้ำใจจากร้านค้า ร้านทอง ร้านสะดวกซื้อที่ขอร้องตำรวจมาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัย หรือช่วยจัดการจราจรให้ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นการทุจริต หากแต่เป็นการอำนวยความสะดวกโดยมีสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ เป็นเครื่องตอบแทน

5. การฝ่าฝืนจรรยาบรรณ เช่น ทำงานไม่เต็มเวลา

ในรายงานวิจัยได้แสดงข้อมูลที่ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตของตำรวจในช่วงปี 2544-2551 ซึ่งมีทั้งสิ้น 3,053 เรื่อง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว 104 เรื่อง

พฤติการณ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลนั้นแบ่งออกเป็น การเรียกรับสินบน การกลั่นแกล้ง ยึดค้น จับกุม การทุจริตนำเงินประกันตัวไปใช้ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

แม้ว่าตำรวจจะรู้ปัญหาเหล่านี้ดี แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะปัญหาดังกล่าวถูก “ซุกไว้ใต้พรม” และการขุดคุ้ยจากคนข้างในกันเองก็เข้าทำนอง “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ”

…ดังที่เรียนตอนต้นแล้วว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่มีคนรักและชัง เพราะตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ผูกพันใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ ปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจจึงกลายเป็นปัญหาโลกแตกที่พูดกี่ทีก็ไม่มีวันจบ

การวิพากษ์วิจารณ์อาชีพตำรวจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์พาไปน่าจะเป็นแนวทางสร้างสรรค์ที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาการทุจริตในวงการตำรวจได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

หมายเหตุ 1.ผู้สนใจสามารถสืบค้นงานดังกล่าวได้ที่ http://www.nacc.go.th/more_news.php?cid=292&filename=index