เทคนิคกรุงเทพ จับมือ TAI สานหลักสูตร “ซ่อมบำรุงอากาศยานฯ” ร่วมบริษัท แอร์โร่ บิวดุง จากเยอรมัน สร้างคนมาตรฐาน EASA ตั้งงบ 200 ล้าน หนุนอุตสาหกรรมการบินไทยได้มาตรฐานสากลเป็นฮับการบินในอาเซียน
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (UTK) ร่วมกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ให้ได้มาตรฐานขององค์กรรับรองความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA)

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมุงคลกรุงเทพ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านหลักสูตร “ซ่อมบำรุงอากาศยาน ราชมงคลกรุงเทพ”
โครงการพัฒนาบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานนั้นเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2556 โดยทางมหาวิทยาลัยได้หารือและทำสัญญาร่วมกับกับบริษัท แอร์โร่ บิวดุง จำกัด ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนพัฒนาและอบรมบุคลากรตามมาตรฐานของ EASA เป็นเวลา 8 ปี ที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาควบคุมกำกับดูแลการเรียนการสอนในประเทศไทย หลังจากนั้นได้ส่งคณะอาจารย์ไปอบรมที่ประเทศเยอรมันจำนวน 16 คน โดยใช้เวลาเตรียมการหลักสูตรนี้ถึง 2 ปี โดยโครงสร้างหลักสูตรทั้งหมดได้วางงบประมาณไว้จำนวน 200 ล้านบาท
“หลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานฯ นี้จะมีการจัดกระบวนการสอนภายใต้มาตรฐานของ EASA ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นจะต้องใช้สถานที่ในการฝึกจริง โดยบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จะให้การสนับสนุนสถานที่ที่จะใช้ในการลงมือฝึกปฏิบัติภาคสนาม รวมถึงร่วมสนับสนุนการสอนในภาคปฏิบัติ เพื่อให้หลักสูตรเป็นไปตามมาตรฐานและเงื่อนไขที่ EASA กำหนด” ดร.สาธิตกล่าว
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมุงคลกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจตลาดอุตสาหกรรมการบิน พบว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีการสั่งผลิตเครื่องบินเพิ่มอีกประมาณ 8,000 ลำ ในจำนวนนี้ 2,800 ลำ จะถูกนำมาใช้ในเอเชีย ซึ่งจะกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคอาเซียนถึง 1,400 ลำ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินกำลังเติบโตไปมาก แรงงานในส่วนนี้กำลังขาดแคลน เครื่องบินแต่ละลำต้องใช้ช่างและผู้ตรวจสอบจำนวนไม่น้อย
“การแข่งขันในเรื่องนี้ของไทยถือว่าช้าไป มาเลเซียเขาเริ่มมากว่า 10 ปีแล้ว หากประเทศไทยไม่ผลิตบุคลากรเองก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากจีน มาเลเซีย หรือประเทศอื่นๆ ที่มีการผลิตบุคลากรที่ได้รับใบรับรองจากสากล และเพื่อไม่ให้เด็กๆ ที่มีศักยภาพไปกระจุกตัวเพียงแค่อาชีพแพทย์หรือวิศวกร การถ่ายเทแรงงานมาในภาคที่ขาดแคลน มีตลาดแรงงานรองรับ จึงมีความสำคัญ ซึ่งหลักสูตรนี้ถือเป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐานสากลแห่งแรกในประเทศไทย” ดร.สาธิตกล่าว

หลักสูตรดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักเรียนรุ่นแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ผู้ที่จะเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรนี้จะต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสายวิทย์–คณิต มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดี โดยระยะเวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี ใน 2 ปีแรกจะเป็นการเรียนการสอนทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ อีก 2 ปีจะเป็นการเก็บประสบการณ์การทำงานในสถานที่จริง จึงจะได้ใบรับรองจาก EASA ที่จะสามารถใช้ปฏิบัติงานได้ในระดับสากล
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของ EASA ทำให้หลักสูตรดังกล่าวสามารถรองรับนักศึกษาได้เพียง 25 คน/รุ่น ทั้งนี้ ดร.สาธิตระบุว่า ขณะนี้ได้พยายามเชื่อมโยงกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีก 8 แห่งทั่วประเทศ ในการที่จะส่งบุคลากรด้านการสอนเข้าฝึกอบรมร่วมกันที่ประเทศเยอรมัน แล้วในเบื้องต้นจะดำเนินการให้หลักสูตรในมหาวิทยาลัยของตนมีความเข้มแข็งก่อนที่จะขยายไปยังเครือข่ายอื่นๆ
“ตอนนี้ทางมหาลัยอยู่ในช่วงเตรียมผู้สอนให้พร้อม ซึ่งกว่าจะผ่านการอบรมจาก EASA ในแต่ละครั้งไม่ง่าย มีบางท่านที่ไม่ผ่านก็ต้องทำการอบรมและประเมินใหม่จนกว่าจะผ่าน ปัญหาที่เราเจอคือความพร้อมด้านภาษา ส่วนนี้ก็ต้องมีการคัดกรอง แต่ในระยะยาวทางมหาลัยได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ในการให้ทุนแก่เด็กที่มีความสามารถ สำหรับเรียนต่อระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ และกลับมาสอนให้กับมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต ส่วนนี้ก็จะส่งไปทุกปี ปีละ 2 คน รองรับการขยายตัวของหลักสูตรในอนาคต ที่อาจมีการพิจารณาตั้งเป็นวิทยาลัยเฉพาะทางด้านการบินโดยตรง” ดร.สาธิตกล่าว
ด้าน พล.อ.ท. ประกิต ศกุณสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) กล่าวว่า ในปี 2559 นี้จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การพัฒนาบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติป้อนให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านการบินให้แก่ไทย และความร่วมมือนี้ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการจะก้าวไปเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานมาตรฐานสากลชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน

“โดยทาง TAI เล็งเห็นความสำคัญของความปลอดภัยด้านอากาศยาน และหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยฝึกอบรมบุคลากรสายงานช่างซ่อมอากาศยานภาคสนามของบริษัทอุตสาหกรรมการบินให้ได้รับมาตรฐานสากล และจะสามารถพัฒนาเป็นอาจารย์ผู้สอนร่วมในหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานของทางมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ทาง TAI มีแนวทางที่จะสนับสนุนโควตางานสำหรับรองรับนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวเช่นกัน” พล.อ.ท. ประกิต กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่เรียนในหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานราชมงคลกรุงเทพ จะได้เข้ามาฝึกภาคสนาม จากอาจารย์ผู้สอนภาคปฎิบัติที่มีความเชี่ยวชาญของ TAI และได้ออกฝึกปฎิบัติการจริงในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของ TAI ทั้ง 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ดอนเมือง ศูนย์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และศูนย์จังหวัดลพบุรี
ทำความรู้จักศูนย์ซ่อมเครื่องบิน TAI – อุดเงินไหลออก
เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอากาศยานที่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กว่า 1,000 เครื่อง แต่ยังไม่มีศูนย์ซ่อมอากาศยานเปิดให้บริการโดยทั่วไป หน่วยงานที่มีอากาศยานต่างซ่อมบำรุงตามขีดความสามารถของช่างและเครื่องมือที่มีอยู่
การซ่อมบำรุงอากาศยานที่นอกเหนือกว่านั้นจะส่งซ่อมกับต่างประเทศทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านบาท ทำให้สูญเสียเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ต่างก็มีศูนย์ซ่อมอากาศยานในประเทศของตนเอง
กระทรวงคมนาคมและกองทัพอากาศได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อดำเนินการซ่อมอากาศยานเป็นส่วนรวมของประเทศ นับเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในวันที่ 23 กันยายน 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการจัดตั้งบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เพื่อดำเนินกิจการซ่อมอากาศยานให้แก่ส่วนราชการต่างๆ โดยมุ่งมั่นให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานที่มีมาตรฐานสากล เพื่อจูงใจให้ต่างประเทศส่งอากาศยานมาใช้บริการศูนย์ซ่อมฯ ในประเทศไทย พร้อมทั้งได้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค
บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (Thai Aviation Industries Co., Ltd.: TAI) เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนขั้นต้น 100 ล้านบาท โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 70 และกองทัพอากาศ (กองทุนสวัสดิการทหารอากาศ) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 30 ปัจจุบันได้ปรับสัดส่วนเป็น 51:49
บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 และขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 รวมทั้งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 จากนั้นก็ได้รับการรับรองเป็นหน่วยซ่อมมาตรฐานจากกรมการบินพลเรือน (Department of Civil Aviation,) กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547
ปัจจุบัน บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน 1 ใน 3 แห่งของประเทศ นอกจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (บางกอกแอร์เวย์) ดำเนินการซ่อมเครื่องบินของกองทัพอากาศทั้งหมด รวมถึงเครื่องบินของสายการบินที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินภายในประเทศอีกจำนวนหนึ่ง