Gig Economy

8 กันยายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

Gig Economy มิได้หมายถึง Digital Economy หรือแม้แต่ ‘เศรษฐกิจเกี่ยวกับกิ๊ก’ ของไทย หากเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์ใหม่ที่สอดคล้องกับรสนิยม และความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน

Digital Economy นั้นมีชื่ออื่นว่า New Economy หรือ Web Economy หรือ Internet Economy ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของ IT (IT เรียกเล่น ๆ ว่าเป็นลูกที่เกิดจากการแต่งงานระหว่าง computer กับโทรศัพท์) เช่น การซื้อขาย on-line/Digital TV /social media ฯลฯ ซึ่งบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับ Gig Economy

ส่วน ‘เศรษฐกิจเกี่ยวกับกิ๊ก’ นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นเรื่องศีลธรรม คำว่า ‘กิ๊ก’ ฟังดูน่ารัก เป็นมิตร หากใครมีกิ๊กก็ไม่ผิดศีลธรรมเพราะมันดูคิกขุ ไร้เดียงสา ไม่ผิดศีลธรรม (มันแค่กิ๊กยังไม่ถึง gigabyte เลย) ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว ‘กิ๊ก’ ก็คือการนอกใจ การทรยศ ฯลฯ ใครเห็นว่า ‘กิ๊ก’ เป็นเรื่องธรรมดาก็คือ ‘การเห็นกงจักรเป็นดอกบัว’

เมื่อปฏิเสธไปแล้วว่า Gig Economy ไม่ใช่ทั้งสองอย่างข้างต้น คราวนี้ก็ต้องขยายความว่ามันคืออะไร ขอเริ่มที่คำว่า Gig ในภาษาอังกฤษซึ่งมีหลายความหมาย เช่น รถสองล้อที่ม้าลาก เรือลำยาวแคบ ๆ สำหรับพาย งานแสดงดนตรี แต่ในที่นี้เป็นคำแสลงอเมริกันหมายความถึง ‘งาน’

Gig Economy หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานชนิดที่เป็น part time/ชั่วคราว/freelance/self-employed หรืองานที่รับมาจากคนอื่นอีกต่อเป็น outsource กล่าวโดยสรุปก็คือไม่ใช่งานประจำแบบเป็นลูกจ้างดังที่เคยเป็นกันมา

Adam Smith บิดาวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 18 ไว้ในหนังสือคลาสสิกชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (ค.ศ. 1776) ว่าแต่ละคนค้าขายกันและเกิดเป็นระบบตลาดเสรี และต่อมาในอีก 2 ช่วงศตวรรษหลังการเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 ก็มีบริษัทขนาดใหญ่และเล็กมีนายจ้างและลูกจ้างทำงานรับเงินเดือน ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และมีผู้ประกอบการอิสระ มีผู้รับจ้างงานอิสระด้วย

ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์ในโลกตะวันตกที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังกลับมาค้าขายตัวต่อตัวดังที่ Adam Smith บรรยายไว้ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง digital revolution ตัวอย่างได้แก่ การซื้อขาย on-line โดยถึงตัวระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ใน Gig Economy อย่างไรก็ดี โลกใหม่ที่เรากำลังเห็นแตกต่างไปจากระบบกลไกตลาดแบบพื้น ๆ ที่ Adam Smith มองเห็น

เราเห็น Uber (ระบบบริหารแท็กซี่ที่รถยนต์เอกชนร่วมรับจ้างเป็นบางครั้ง) Airbnb (ระบบการให้เช่าที่พักส่วนตัวทั่วโลก) Etsy (ระบบซื้อขายสินค้าทำด้วยมือแนวศิลปะ) TaskRabbit (ระบบจ้างเพื่อนบ้านช่วยทำธุระ) การรับงาน freelance รับงาน outsource รับจ้างงานชั่วครั้งชั่วคราว ฯลฯ โดยไม่มีลูกจ้างทำงานประจำของบริษัท

ที่มาภาพ : http://cdn.static-economist.com/sites/default/files/Jobs330.jpg
ที่มาภาพ : http://cdn.static-economist.com/sites/default/files/Jobs330.jpg

งานส่วนใหญ่ใน Gig Economy ผู้รับเงินเป็นรายได้มิใช่ลูกจ้าง หากมีตัวกลางเป็น ผู้เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ดังเช่นกรณีของ Uber (คนขับแท็กซี่ซึ่งเป็นคนทำงานอิสระตามใจชอบรับเงินโดย Uber เป็นตัวกลาง) Airbnb (เจ้าของได้รับค่าเช่าผ่านคนกลาง) Etsy และ Task Rabbit ก็เช่นเดียวกัน คนกลางที่สร้างระบบเครือข่าย digital ขึ้นเป็นผู้จับผู้ซื้อผู้ขายมาพบกัน โดยตนเองได้เงินเช่นเดียวกับผู้ร่วมกิจกรรม

ในความหมายทั่วไป Gig Economy คือระบบเศรษฐกิจที่ผู้ทำงานรับงานเป็นครั้ง ๆ ตามความต้องการ (on demand) ซึ่งหมายความถึงความชั่วคราวไม่เต็มเวลา ความเป็นอิสระ ทำงานตามความสมัครใจโดยหลุดออกไปจากระบบดั้งเดิมของการเป็นลูกจ้างบริษัท

คนไทยในชนบทส่วนใหญ่นั้นจะว่าไปแล้วอยู่ใน Gig Economy มานานแล้วเพราะไม่มีคนจ้างให้ทำงานประจำ ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระอย่างไม่สมัครใจ เมื่อว่างจากงานเกษตรกรรมก็วิ่งรับจ้างหางานสารพัดอย่างมาเสริม เพราะไม่อาจอยู่รอดได้จากรายได้จากภาคเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้นจึงทำงานไม่เต็มเวลา ชั่วคราว เป็น freelance ซึ่งตรงกับคำจำกัดความของ Gig Economy เพียงแต่ไม่ได้สมัครใจ อย่างไรก็ดี Gig Economy ในที่นี้มีนัยยะว่าเลือกที่จะทำงานประจำแบบดั้งเดิมได้แต่ไม่ต้องการทำ

การรับงานชนิด Gig Economy อย่างสมัครใจและเต็มใจของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรสนิยมในการต้องการความเป็นอิสระ สามารถเป็นนายตนเอง ริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ได้คล่องตัวและประการสำคัญมั่นใจว่าสามารถรวยได้ในอนาคต

สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” นั้นจริงเสมอเพราะสิ่งที่ได้มาต้องเอาไปแลกกับความไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอของรายได้ การขาดสวัสดิการและความเสี่ยง

สิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่ซึ่งชื่นชอบ Gig Economy จะต้องเผชิญอย่างเจ็บปวดก็คือความไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนของรายได้ การได้เงินสม่ำเสมอไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามทีเป็นการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้ชีวิตในระดับหนึ่ง

ประเด็นที่คนรุ่นใหม่พึงพิจารณาก่อนเลือกเส้นทางใหม่นี้ก็คือการตระหนักถึงด้านลบต่าง ๆ ที่จะต้องเผชิญก่อนที่จะประสบความสำเร็จ (หากสามารถประสบความสำเร็จ) เพื่อประกอบการตัดสินใจอันได้แก่ การขาดความคุ้มครองจากการทำงานซึ่งแตกต่างจากการเป็นลูกจ้างขององค์การ

ผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานของผู้เลือกเส้นทาง Gig Economy เป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินว่าตนเองจะอยู่รอดหรือไม่ และเศรษฐกิจโดยส่วนรวม (ประเทศชาติ) จะดำเนินไปได้อย่างดีหรือไม่ ในปัจจุบันดีกรีของความเป็น Gig Economy ในบ้านเรายังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เริ่มมีโมเมนตั้มในการเคลื่อนไหวเข้าสู่ Gig Economy อยู่ไม่น้อยอันเห็นได้จากการประกอบธุรกิจ SME’s โดยเฉพาะใน digital economy

ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งยากหนักหนาที่ภาครัฐจะควบคุมดูแลให้เดินอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสมได้ จำเป็นที่จะต้องมีอีกฟากหนึ่งที่เข้มแข็งมาคานไว้โดยธรรมชาติ การเป็น Gig Economy ในดีกรีที่เข้มข้นขึ้นจะเป็นอีกหนทางในการช่วยคานอำนาจและให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ในการเข้าร่วม

ผู้คนใน Gig Economy เผชิญความเสี่ยงและการขาดหลักประกันซึ่งการทำงานประจำสามารถให้ได้ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือเสริมจุดอ่อนเหล่านี้หากเห็นความสำคัญของมัน

อย่าลืมว่าการห่วงอาทรชีวิตและความสุขของพลเมืองทุกคน คือ เป้าหมายแรกและเป้าหมายเดียวของรัฐบาลที่ดี

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 8 ก.ย.2558