ThaiPublica > คนในข่าว > บทเรียน “วิโรจน์ นวลแข” จำคุก 18 ปี กับกรณีหนี้เอ็นพีแอล “กรุงไทย” – พลาดไม่ใช่โกง

บทเรียน “วิโรจน์ นวลแข” จำคุก 18 ปี กับกรณีหนี้เอ็นพีแอล “กรุงไทย” – พลาดไม่ใช่โกง

27 สิงหาคม 2015


นายวิโรจน์ นวลแข ที่มาภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/kt/media/image/news/2015/08/26/662783/640x390_662783_1440587181.jpg
นายวิโรจน์ นวลแข ที่มาภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/kt/media/image/news/2015/08/26/662783/640x390_662783_1440587181.jpg

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก “วิโรจน์ นวลแข-อดีตบิ๊กกรุงไทย” 18 ปี คดีปล่อยกู้เอื้อ บมจ.กฤษดามหานคร

หากใครที่เคยอยู่ในแวดวงตลาดทุนก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ชื่อ “วิโรจน์ นวลแข” บิ๊กบอสบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ เป็นตำนานของคนตลาดหุ้นที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นนายกสมาคมโบรกเกอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย หลายบทบาทที่สวมอยู่ล้วนเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมผลักดันและพัฒนาตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่องและแข็งขันมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2518

ตลอดช่วงกว่า 30 ปีที่ “วิโรจน์ นวลแข” ได้คลุกคลีในแวดวงตลาดหุ้น “วิโรจน์ ” ได้ชื่อว่าเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นคนใจนักเลง เป็นพี่ใหญ่ในแวดวงตลาดทุนควบคู่มากับ”ศ.สังเวียน อินทรวิชัย”,”โยธิน อารี”,”สุขุม สิงคาลวณิช” เป็นต้น สู้รบตบมือกับบรรดาโบรกเกอร์ เพื่อวางระบบ กฏเกณฑ์ กติกา ในการพัฒนาและยกระดับตลาดทุนไทยให้ได้มาตรฐานสากล

ขณะเดียวกันก็ปลุกปั้น “ภัทรธนกิจ” ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของบริษัทไฟแนนซ์ เป็นบริษัทโบรกเกอร์ชั้นนำรายหนึ่งของเมืองไทย เป็นวาณิชธนกิจอันดับต้นๆในวงการ ก่อนที่จะมาสู่จุดพลิกผันเมื่อประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติต้มยำกุ้ง 56 สถาบันการเงินถูกปิดกิจการ หนึ่งในนั้นมี “ภัทรธนกิจ” รวมด้วย

จากเส้นทางตลาดทุนก็เข้าสู่ตลาดเงิน ได้รับการสรรหาและมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 มีวาระ 3 ปี ในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

“วิโรจน์” เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายคือการสร้างธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารนำของรัฐและเป็นธนาคารชุมชน

ถ้าจำกันได้ ในขณะนั้น ช่วงของการฟื้นฟูหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง มีบริษัทที่ประสบปัญหาจากวิกฤติมากมายที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล: NPL) ไม่มีใครปล่อยกู้ อยู่ในสภาพที่ขาดสภาพคล่อง ภายใต้นโยบายรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ธนาคารกรุงไทยในฐานะแบงก์รัฐและเป็นแกนนำของแบงก์รัฐทั้งหมด จึงต้องทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นเศรษฐกิจ ด้วยแคมเปญ “กรุงไทยอัศวินม้าขาว” เปิดโอกาสให้คน/บริษัทที่เป็นเอ็นพีแอลสามารถเข้ามากู้เงิน

จากแคมเปญอัศวินม้าขาว ลูกหนี้เอ็นพีแอลทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และทั้งที่เป็นพรรคพวกเพื่อนพ้องนักการเมืองหลายๆ ราย จึงพุ่งมาที่แบงก์กรุงไทยพร้อมใบสั่ง

นี่คือปมเหตุของคดี เพราะเป็นที่มาของหนี้เน่า 4,600 ล้านบาท จากลูกหนี้ 14 ราย ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะนั้น ชี้ว่าผู้บริหารกรุงไทย ทำให้แบงก์เสียหาย และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “วิโรจน์” ไม่ได้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในวาระที่ 2 เพราะขาดคุณสมบัติ เนื่องจากทำให้แบงก์ได้รับความเสียหาย ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีหนังสือไม่เห็นชอบ แม้ว่าคณะกรรมการแบงก์อนุมัติให้ “วิโรจน์” นั่งเก้าอี้ต่อในวาระที่ 2 แล้วก็ตาม

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเข้าสู่วาระที่ 2 ของ “วิโรจน์” รายงานนสพ.ผู้จัดการว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยนำนิยามการจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่มาใช้ก่อนหน้าเวลาอันควรถึง 3 ปี ทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลไตรมาสที่ 2 ของธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้นมาทันที 4.6 หมื่นล้านบาท จากลูกหนี้ 14 ราย และราคาหุ้นแบงก์กรุงไทยลดลงจากที่เคยเคลื่อนไหวในระดับ 10 บาท เหลือเพียง 7 บาท

พร้อมๆ กันนั้น ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะมาเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ใหม่ โดยอาศัยอำนาจ ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ปี 2505 มาตรา 22 (8) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งระบุคุณสมบัติต้องห้ามไว้ในลักษณะ โดยเฉพาะในข้อ 8 ที่ว่า

“มีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการกลั่นกรองหรือตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขาดจรรยาบรรณหรือขาดความรอบคอบที่พึงมีในการปฏิบัติหน้าที่อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสถาบันการเงินโดยรวม หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ หรือการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ หรือต่อลูกค้าของธุรกิจสถาบันการเงิน”

“วิโรจน์” ให้สัมภาษณ์นสพ.ผู้จัดการในขณะนั้นว่า “ถือเป็นการเลือกปฏิบัติและการกลั่นแกล้งตนและผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น เนื่องจากการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารในช่วงเวลาดังกล่าว มีมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อหากมีคณะกรรมการท่านใดไม่เห็นด้วยก็สามารถคัดค้านได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาการอนุมัติสินเชื่อไม่มีคณะกรรมการท่านใดคัดค้านจึงถือว่าคณะกรรมการทุกท่านให้ความเห็นชอบ”

พร้อมกล่าวอีกว่า “โดยปกติคดีทางธุรกิจถ้ามีความผิดถึงขั้นยอมรับไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารที่หลอกลวงประชาชนหรือการออกผลิตภัณฑ์ให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ในเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจเจ้าหน้าที่ และการมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างทางการกับผู้ปฏิบัติงานไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เกราะป้องกันตัวเองในขณะนี้ก็คือความจริง ซึ่งเราอาจจะพลาดบ้างก็คือความโง่ของเราที่เราอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สิ่งที่เราทำถือว่าสุดความสามารถ และทำด้วยความสุจริต ซึ่งคิดว่าทุกคนเข้าใจดี”

จะว่าไปแล้ว “วิโรจน์” กับ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” ต่างรู้จักกันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี เพราะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คือหัวหน้าคนแรกและคนเดียวของวิโรจน์ในชีวิตการทำงานในธนาคารกสิกรไทยก่อนที่จะถูกส่งมาบุกเบิกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจในเครือธนาคารกสิกรไทย

การร้องทุกข์กล่าวโทษของ ธปท. ต่อวิโรจน์และพวกนั้น ในปี 2548 ระบุว่าได้กระทำความผิด 2 กรณี คือ กรณีการใช้สินเชื่อแก่บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด และกรณีขายหุ้นบุริมสิทธิของ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้กับ บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11, พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 83, 86 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 313 และ 315

สำหรับกรณีของบริษัท โกลเด้นเทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่ถูกระบุว่ามีการใช้เงินผิดประเภทนั้น “วิโรจน์” กล่าวว่า ในช่วงที่อนุมัติเงินกู้จำนวน 9,900 ล้านบาท มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ คือที่ดินที่เขตเศรษฐกิจใหม่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 4,000 ไร่

โดยเงินกู้จำนวนดังกล่าวบริษัทแบ่งเป็น 500 ล้านบาท นำไปซื้อที่ดินเพิ่มเติม และ 1,400 ล้านบาท นำไปก่อสร้างถนนเข้าที่ดิน เพื่อนำที่ดินขายให้กับบริษัทพัฒนาที่ดิน และอีก 8,000 ล้านบาท นำไปรีไฟแนนซ์เงินกู้จากสถาบันการเงินอื่น ส่วนกรณีลูกค้านำเงินที่ปล่อยกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ธนาคารไม่สามารถไปตรวจสอบบัญชีลูกค้าจากสถาบันการเงินอื่นได้

ส่วนกรณีการขายหุ้นบุริมสิทธิ แปลงสภาพของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC ให้กับบริษัท แกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยไม่รับชำระเงินทันที ทำให้เกิดความเสียหาย 4,740 ล้านบาทนั้น เจ้าหน้าที่ของธนาคารได้เสนอให้ขายหุ้นบุริมสิทธิ KMC ในราคาหุ้นละ 8 บาท แต่คณะกรรมการบริหารพิจารณาแล้วเห็นว่าราคาต่ำเกินไป และต้องการขายในราคาต้นทุนคือ 10 บาท และขายให้กับบริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ฯ และให้นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ค้ำประกัน ในราคา 10 บาทบวกกับต้นทุน แต่มีระยะเวลาในการชำระค่าหุ้น แต่เมื่อบริษัทที่รับซื้อหุ้นไปไม่สามารถชำระค่าหุ้นได้ธนาคารได้ดำเนินการฟ้องร้องทันที

ปมคดีนี้ข่าววงในระบุว่าการปล่อยกู้ให้กฤษดามหานครครั้งนี้ ธปท. ตรวจสอบเส้นทางเงินแล้วพบว่ามีเงินหล่นในกระเป๋าลูกนักการเมืองก้อนใหญ่ แต่เมื่อถึงเวลาฟ้องร้อง รายชื่อลูกนักการเมืองรายนี้ก็ถูกถอดออกไป

ดังนั้น จากการกล่าวโทษต่อการปล่อยสินเชื่อหละหลวมของธนาคารกรุงไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รับไม้ต่อ เมื่อ คตส. หมดวาระ ก็โอนเรื่องส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณาต่อและส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2551 ซึ่งมีการกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณ กับพวกร่วมกันกระทำความผิด กรณี ธนาคารกรุงไทยฯ อนุมัติสินเชื่อจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ

ในที่สุดนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดผู้รับผิดชอบคดี ได้ส่งสำนวนยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2555 พร้อมกันนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงความถูกต้องว่า จากเดิมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติระบุถึงผู้ถูกฟ้องมากถึง 31 คน แต่สำนวนที่สั่งฟ้องเพียง 27 คน หรือถูกตัดออกไป 4 คน หมายความว่าสำนวนที่อัยการส่งไปถึงศาลได้มีการตัดรายชื่อผู้ถูกฟ้องออกไป 4 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีลูกชายของนักการเมืองรวมอยู่ด้วย

ปัจจุบัน”กฤษดามหานคร”หรือ KMC ในตลาดหุ้นซึ่งอยู่ในกลุ่มหุ้นฟื้นฟูกิจการและห้ามการซื้อขายมาระยะหนึ่ง จนมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่จากกลุ่มกฤษดาธานนท์ เป็นพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถือหุ้น 2,500 ล้านหุ้น คิดเป็น 19.73% และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน)กลับมาซื้อขายได้อีกครั้ง

หากการปล่อยสินเชื่อแล้วเป็นหนี้เน่าถือว่าเป็นความผิด สร้างความเสียหาย ธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่คงต้องถูกผู้ถือหุ้นฟ้องติดคุกกันมากมาย เพราะเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งสูงถึงประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 47% ของสินเชื่อทั้งระบบ ปัจจุบันเอ็นพีแอลระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 2/2558 อยู่ที่ 311,600 ล้านบาท คิดเป็น 2.38% ของสินเชื่อทั้งระบบ และธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองหนี้ที่มีปัญหาเหล่านี้ครบจำนวนเต็มจำนวนและมากกว่าเป็นส่วนใหญ่

ด้วยเหตุนี้ 10 ปี ของการต่อสู้คดีในคดีนี้ มีเอกสารประกอบเป็นแสนหน้า เป็นการต่อสู้ด้วยเอกสารหลักฐาน เพื่อพิสูจน์การบริหารจัดการที่ตรงไปตรงมา เพราะมนุษย์ย่อมพลาดได้ แต่บางครั้งการพลาดก็ไม่ใช่การโกง แต่ถ้ามีคนโกงก็ต้องลงโทษคนโกง อย่าให้รายชื่อตกหล่นระหว่างทาง