ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” สั่ง สรอ. กำหนดชุดข้อมูลที่ทุกหน่วยงานรัฐต้องเปิด เสริมมาตรการปราบโกง เบื้องต้นมี “จัดซื้อจัดจ้าง-ใช้งบประมาณ”

“ประยุทธ์” สั่ง สรอ. กำหนดชุดข้อมูลที่ทุกหน่วยงานรัฐต้องเปิด เสริมมาตรการปราบโกง เบื้องต้นมี “จัดซื้อจัดจ้าง-ใช้งบประมาณ”

10 สิงหาคม 2015


นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/EGAThailand/photos/a.852877688115207.1073741842.542226425847003/852878141448495/?type=3&theater
นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/EGAThailand/photos/a.852877688115207.1073741842.542226425847003/852878141448495/?type=3&theater

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ สรอ. ไปจัดทำรายการชุดข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ หรือ data.go.th เพื่อสนับสนุนการต่อต้านการทุจริต ตามหลักคิดเรื่อง Open Government Data โดยให้ สรอ. เสนอรายการชุดข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยกลับมายังรัฐบาลภายในเดือนกันยายน 2558 จากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งต้องปฏิบัติตามภายในปี 2558 เพิ่มเติมจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) กำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงาน จำนวน 2 ชุด โดยจะนำไปใช้ประกอบการวัด KPI ของหน่วยงานนั้นๆ

“เบื้องต้นคาดว่าจะอย่างน้อย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ 1. รายการจัดซื้อจัดจ้าง คุณซื้อกับบริษัทไหน ราคาเท่าไร จากราคากลางเท่าไร และ 2. งบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้รับมีการจัดสรรไปแต่ในพื้นที่อย่างไรบ้าง โดยอาจจะมีชุดข้อมูลอื่นๆ อีก แต่อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งเมื่อ สรอ. ได้ข้อมูลมาแล้ว ก็จะเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเพื่อพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันให้ง่ายต่อการเข้าถึงและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน เพราะหลักการสำคัญของ Open Data คือให้ทุกคนนำไปต่อยอดได้” นายศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สรอ. ได้เปิดตัวเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ หรือ data.go.th ไปตั้งแต่ปลายปี 2557 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลที่สมควรเปิดเผยมาเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ ตามหลักคิดเรื่อง Open Data แต่ถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลมาเปิดเผยไว้เพียง 89 ชุดข้อมูลเท่านั้น

อะไรคือ Open Data

ในคู่มือว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลอิสระ (Open Data Handbook) ที่ สรอ. ทำเผยแพร่ ได้ให้นิยามของ Open Data ไว้ว่า หมายถึง “ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และแจกจ่ายได้โดยใครก็ตาม แต่ต้องระบุแหล่งที่มาหรือเจ้าของงานและต้องใช้สัญญาหรือเงื่อนไขเดียวกันกับที่มาหรือตามเจ้าของงานกำหนด”

ซึ่งการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลของภาครัฐ จะมีประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น ความโปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม การเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง การสร้างนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพของบริการภาครัฐ การวัดผลกระทบเชิงนโยบาย ฯลฯ เป็นต้น

คู่มือดังกล่าว ยังยกตัวอย่างการนำข้อมูลที่ได้จาก Open Data โดยเฉพาะข้อมูลของภาครัฐ ไปใช้งาน เช่น

1. ในแง่ความโปร่งใส

– โครงการ Tax tree ของประเทศฟินแลนด์ และโครงการ Where does my money go ของประเทศอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าเงินภาษีของประชาชนถูกนำไปใช้อย่างไร

– ประเทศแคนาดาสามารถประหยัดเงินจำนวน 3.2 พันล้านเหรียญแคนาดาในการฉ้อโกงภาษีการกุศล

– เว็บไซต์ folketsting.dk ของประเทศเดนมาร์กได้ติดตามความเคลื่อนไหวในรัฐสภาและกระบวนการผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งทำให้เราสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น และดูได้ว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดเข้าร่วมประชุมบ้าง

2. ในแง่การอำนวยความสะดวก

– ผู้หญิงเดนมาร์กคนหนึ่งได้จัดทำเว็บไซต์ findtoilet.dk เพื่อแสดงจุดที่เป็นห้องน้ำสาธารณะในประเทศเดนมาร์กทั้งหมด

– ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีบริการที่เรียกว่า vervuilingsalarm.nl ซึ่งจะส่งข้อความเตือนในเรื่องคุณภาพอากาศในบริเวณที่กำหนดไว้ในวันรุ่งขึ้น

– บริการ เช่น mapumental ในประเทศอังกฤษ และ mapnificent ในประเทศเยอรมัน ช่วยให้เราสามารถหาสถานที่เพื่ออยู่อาศัย โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการเดินทางไปทำงาน

opendatahandbook