วันที่ 4 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยประมาณ 4 ล้านครอบครัวในประเทศไทย โดยได้สั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดหาที่อยู่อาศัยให้บุคคลเหล่านี้ตามความเหมาะสม
“การดำเนินการเป็นการวางแผนระยะยาวในการนำคนเหล่านี้ไปอยู่ในรูปแบบอพาร์ตเมนต์หรือแฟลต โดยเฉพาะในสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลที่ได้มีการสร้างไว้แล้วแต่ยังขายไม่ได้ หรือมีปัญหาด้านการผ่อนต่อในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแก้ปัญหาไปได้แล้วประมาณ 13,000 ยูนิต และกำลังสั่งการเพิ่มเติมให้ไปดูในเรื่องของการนำคนที่อยู่อาศัยบุกรุกลำคลอง ให้หาที่อยู่ที่ไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก โดยต้องมีการจัดหาปลูกสร้างที่อยู่อาศัยดีๆ ให้ และต้องให้เขาผ่อนชำระไป โดยอาจจะใช้ที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมบ้าง วันนี้ก็ได้สั่งให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ส่วนเรื่องของธุรกิจเพื่อสังคม อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ข้อกฎหมายซึ่งจะเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยต้องการให้ประชาชนร่วมกลุ่มขับเคลื่อนกิจการ และนำรายได้มาทำประโยชน์เพื่อสังคม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
ทำเกษตรแบบ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาอุทกภัยว่า ขณะนี้ตนเป็นห่วงภาคตะวันออกเฉียงเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น แต่ฝากเตือนทุกจังหวัดด้วยว่า การมุ่งแต่ระบายน้ำออกอย่างเดียวก็จะเป็นปัญหาในอนาคต พร้อมชี้ให้เกษตรกรทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์เมอร์ เนื่องจากรัฐปูทางโดยจัดทำแอปพลิเคชันให้ความรู้ รายงานเรื่องต่างๆ ไว้ให้ทั้งหมดแล้ว
“วันนี้เกษตรต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คือต้องเรียนรู้ เปิดดูได้ในโทรศัพท์ ผมได้สั่งให้เขารายงานไปหมดแล้วในแอปพลิเคชันของรัฐบาล มีทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน การปลูกพืช เขาแนะนำหมดทุกกระทรวง เรื่องพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกก็มี” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พล.ต. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่ใช้งบประมาณของแต่ละจังหวัดจำนวน 10 ล้านบาทว่า งบประมาณดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เพื่อใช้จ้างแรงงาน, ฝึกอบรมอาชีพ, ซ่อมแซมระบบประปา เป่าล้างบ่อน้ำบาดาล เพื่อจัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ได้ดำเนินการหารือหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกับกรมบัญชีกลาง ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติการ และเริ่มจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา และคาดว่าจะจัดการแล้วเสร็จสิ้นเดือนสิงหาคม 2558
ประยุทธ์แจงไม่ขอตอบโต้ใคร
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำทั้งหมด เพราะมีปัญหาในทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการบริหารประเทศ ซึ่งตนไม่โทษว่าเป็นความผิดของใคร โดยการปฏิรูปประเทศได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1. การปฏิรูปในช่วงระยะเวลาปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ตามโรดแมปจำนวน 11 ข้อ ที่ได้วางไว้ 2.การปฏิรูปเรื่องโครงสร้างของประเทศโดยจะวางแผนและกำหนดระยะเวลาในการทำงานตามแผนการปฏิรูปเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลชุดต่อไปสานต่อ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และคณะกรรมการมูลนิธิ กปปส. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อต้องการอำนาจในการบริหาร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวต่อประเด็นดังกล่าวว่า “ตนไม่ขอตอบโต้ ช่างเขา ก็เป็นคนคุ้นเคย เคยรู้จักกันอยู่แล้ว ตนก็รู้จักทุกรัฐบาล ซึ่งหากตนไปตามมากๆ ก็หงุดหงิดก็ไม่ต้องทำอะไร ท่านอยากจะพูดอะไรก็พูดไป”
“ถ้าบอกว่ารัฐบาลผมไม่ดีคงไม่เหลือใครดีแล้ว ผมพยายามเลือกคนดีเข้ามาทำงานพิสูจน์ฝีมือให้เห็น ซึ่งผมก็ให้โอกาสทุกคน ส่วนฝ่ายการเมืองเก่าหากเอามาทำงานด้วยก็คงไปกันไม่ได้ หลายคนไม่เข้าใจ จึงว่าตนอยู่ทุกวัน นั่นเพราะเขามีอำนาจอยู่แล้วตนไปเอาอำนาจเขามา แต่ยืนยันว่าตนเข้ามาเพื่อทำในสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งอาจจะได้เห็นผลในระยะยาว เริ่มไว้ให้เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสานต่อ ทุกอย่างก็จะอยู่ในรัฐธรรมนูญ”
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญอย่าดึงตนไปเกี่ยวข้อง เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นก็เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อหาข้อสรุป สู่การทำประชามติ และนำไปสู่การเลือกตั้ง การให้ผ่านไม่ผ่านไม่ใช่หน้าที่ของตน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
พล.อ. ประยุทธ์ให้ความเห็นต่อข้อถามถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ออกมาสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลว่า “ถึงท่านจะพูดสนับสนุนอะไรก็แล้วแต่ ตนก็ขอขอบคุณเป็นการส่วนตัวเพราะรู้จักกันมากก่อน แต่ขอร้องว่าอย่าให้เกิดความขัดแย้งกันอีกเลย”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน พล.อ. ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งต่อไปใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ให้ความเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ระบุไว้อย่างไรก็ดำเนินการตามนั้น ต้องตั้งคณะกรรมการใหม่ ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็แค่เท่านั้น เรื่องดำรงตำแหน่งก็เป็นความจำเป็น พร้อมถามกลับว่าแล้วจะมีใครมาเป็นแทนตนไหม
สำหรับการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากเหตุชุมนุมในปี 2553 กรณีนี้ยังไม่มีการนำเข้าที่ประชุม ครม. แต่ตนได้สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปตั้งกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องดูพันธะทางกฎหมายด้วย เนื่องจากมีคดีความอยู่ บางคดีจบแล้ว บางคดียังไม่จบ จะทำอย่างไร จะช่วยเฉพาะคนที่คดีจบแล้ว คนที่คดียังไม่จบก็เดือดร้อน ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้จัดการส่วนนี้ให้ได้ กฎหมายคือกฎหมาย จะผิดมากผิดน้อยก็คือผิด ถ้ากฎหมายยังไม่ตัดสินก็ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนผู้ที่มีการใช้ความรุนแรง หรือถูกดำเนินคดีอาญาอยู่ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่าตนไม่ได้ทำเพื่อใคร รัฐบาลไหนก็ต้องทำแบบเดียวกัน ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน
โครงการพลังงงานถ้าไม่ผ่าน EIA/EHIA ไม่สร้าง
พล.อ. ประยุทธ์กล่าวไปถึงเรื่องปัญหาพลังงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองเหล็กต่างๆ โดยระบุว่ารัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขอยู่ ขอร้องอย่าเพิ่งทะเลาะกัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งก็เสนอว่าให้ทำเพื่อเป็นความมั่นคงในวันหน้า อีกฝ่ายก็เห็นว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ตนยืนยันว่าหากโครงการไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด
“ถึงจะประมูลไปแล้ว การประมูลที่เขาจะทำก็เป็นไปเพื่อให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง แต่หากไม่ผ่าน (EIA, EHIA) ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ต้องกลัว ไว้ใจรัฐบาลนี้เถอะ ผมก็จะทำอย่างเต็มที่ ผมยังอยู่ตรงนี้ยังไงก็ตามผมก็จะไม่ปล่อยให้เกิดความเสียหาย เห็นใจพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ดึงงบกลาง 6,541 ล้านบาท ช่วยเกษตรกร 10 ล้านราย
พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงผลการประชุมในส่วนการอนุมัติแผนงานช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเสนอให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเข้ามาในรูปแบบองค์กรเกษตรกร ไม่เป็นนิติบุคคลก็ได้ หากใช้ชื่ออื่นจะเกิดความซ้ำซ้อนในด้านกฎหมาย
แผนงานโครงการในครั้งนี้ใช้งบประมาณจากงบกลาง ปี 2558 ทั้งสิ้น 6,541 ล้านบาท แบ่งเป็น 9 กลุ่มใหญ่ รวม 4,966 โครงการ แบ่งเป็น 6,470 กิจกรรม มีผลต่อเกษตรกร 2.18 ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนเกษตรกรประมาณ 10 ล้านราย
พล.อ. อนุพงษ์กล่าวว่า หลังแผนงานผ่านมติ ครม. แล้วจะเริ่มดำเนินการทันที และต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2558 การดำเนินการที่เกิดขึ้นนั้นจะมาจากความต้องการของประชาชนที่รวมกลุ่มกันเข้ามา มีการทำแผนงานกิจกรรม ว่าอยากได้ อยากทำอะไร ซึ่งจะผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่ทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆ และมีการประเมินผล ก่อนจะส่งมาถึงระดับกระทรวงมหาดไทย ก็จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ อีกครั้ง ขณะนี้ได้การพิจารณาแผนงานโครงการกว่า 6,000 โครงการเรียบร้อยแล้วว่ามีความเหมาะสม เป็นพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ
“โครงการต่างๆ ได้มีการเสนอเข้ามาเรียบร้อยแล้ว มีการกลั่นกรองโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ ความเหมาะสม หรือแม้กระทั่งงบประมาณที่ใช้ ยกตัวอย่างในพื้นที่เดียวกัน ขอในเรื่องเดียวกันแต่ราคาไม่เท่ากัน ก็จะมีการรับให้อยู่ในพื้นฐานเดียวกัน ทั้งนี้แต่ละจังหวัดที่งบประมาณเข้านั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรม แต่ทั้งหมดเป็นความต้องการของเกษตรกรเอง ไม่ใช่ส่วนกลางสั่งลงไป ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนเหล่านั้นมาทั้งหมดแล้ว จึงนำมาเข้า ครม. ต่อไปก็เป็นการลงไปปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการดำเนินการระดับจังหวัดที่จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อย” พล.อ. อนุพงษ์กล่าว
ด้านนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เม็ดเงินจำนวน 6,541 ล้านบาทนั้นต้องส่งไปอย่างรวดเร็ว ตามโครงการที่ได้วางไว้ โดยระเบียบที่ใช้บังคับกับกรณีดังกล่าวคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ซึ่งมีการเตรียมการไว้ตั้งแต่ต้นปี 2558 พยายามให้โครงการเป็นการดำเนินการจากข้างล่างขึ้นข้างบน ครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเกษตรกรตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 แต่จะครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมด คาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ และขีดความสามารถขององค์กรเกษตร ให้เศรษฐกิจในชนบทฟื้นตัวขึ้นมาได้
เร่งเพิ่มทุน กองทุนหมู่บ้าน 19,825 กองทุน
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ กทบ. เร่งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ให้โอนเงินเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านระยะที่ 3 หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ซึ่งยังคงค้างจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกจำนวน 19,825 กองทุน จากจำนวนกว่า 79,000 กองทุน ให้เสร็จโดยเร็ว
“รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารได้เพิ่มทุนไป 6,631 กองทุน ยังคงเหลือประมาณ 20,000 กองทุน โดยกองทุนที่เหลือยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองในระดับจังหวัด สืบเนื่องจากปัญหาด้านการบริหารงาน หรือการมีหนี้เสียเกิน ทำให้ไม่ได้รับเงินเพิ่ม นายกฯ ได้สั่งการให้ไปหามาตรการช่วยเหลือ จึงมีการเสนอให้ทำแผนฟื้นฟูแก่หมู่บ้านที่ มีผลการดำเนินงานต่ำกว่ามาตรฐาน หรือที่เป็นหมู่บ้านเกรดซีและดี” นายสุวพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนฟื้นฟูนั้น จะมีการร่วมมือกันในภาคีเครือข่ายระหว่าง สทบ. กรมการพัฒนาชุมชน และสถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตามแผนเน้นช่วยกันยกระดับคุณภาพของกองทุนที่ประสิทธิภาพต่ำ เนื่องจากส่วนมากมีปัญหาเกี่ยวกับตัวคณะกรรมการ จึงต้องเข้าไปช่วยอบรมและวางแผนการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้นด้วย
“แผนฟื้นฟูดังกล่าว ได้ทำเป็นร่างเสร็จแล้วและจะเสนอให้ที่ประชุม กทบ. รับทราบในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 หากเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยโอนเงินเพิ่มทุนให้กับหมู่บ้านประมาณ 3,200 แห่ง คาดว่าจะสำเร็จใน 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่โครงการเพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสุนนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านที่มีศักยภาพดี วงเงินรวม 40,000 ล้านบาทนั้น ล่าสุดมีหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนสินเชื่อไปแล้ว 3,356 แห่ง เป็นวงเงิน 5,725 ล้านบาท แยกเป็นธนาคารออมสิน 1,704 แห่ง วงเงิน 3,011 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 1,652 แห่ง วงเงิน 2,714 ล้านบาท” นายสุวพันธุ์ กล่าว
ด้าน พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด และ พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโษฆกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงมติที่สำคัญอื่นๆ โดยสรุปดังนี้
ชงหม่อมอุ๋ย-ยงยุทธ ขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม
พล.ต. สรรเสริญกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม มาช่วยขับเคลื่อนเรื่องการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 โดยจะต้องสร้างความชัดเจนเรื่องคำนิยามของธุรกิจชุมชน, ธุรกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันยังมีความหลากหลายของคำนิยาม ทำให้ไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์นโยบายได้ หลังจากนั้นจึงให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รับเรื่องดำเนินการกำหนดนโยบายอำนวยความสะดวก ส่งเสริม และสนับสนุนวิสาหกิจแต่ละประเภทต่อไปอย่างเป็นระบบ
“โดยเรื่องนี้จะยกร่างเป็นพระราชบัญญัติและจะต้องพูดถึงนิยามของวิสาหกิจแต่ละประเภทให้ชัดเจน ปัจจุบันมันมีการร้องเรียนกันมากว่ามูลนิธิที่จัดตั้งมาแบบไม่แสวงหากำไร แต่ก็เริ่มมีการขายสินค้าด้วย แม้ไม่ได้เอาเงินมาเป็นกำไร แต่ก็เป็นลูกเล่นในแต่ละแบบ ซึ่ง ดร.วิษณุ เครืองาม บอกว่ามันมีกรณีแบบนี้หลากหลายมาก จึงควรทำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้ชัดเจน” พล.ต. สรรเสริญกล่าว
ทั้งนี้ พล.ต. สรรเสริญกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องการท่องเที่ยวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์เรื่องการท่องเที่ยวให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญของประเทศ โดยจะต้องทำให้ประชาชนในท้องที่มีส่วนร่วมสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวและรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วย นอกจากนี้ จะต้องมีการกระจายงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ อุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมและพร้อมประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่นด้วย
เร่งศึกษาข้อตกลงทวิภาคีกับเกาหลีใต้ หนุนการค้าลงทุน
พล.ต. วีรชนกล่าวว่า ครม. ได้รับทราบผลการศึกษาหารือความเป็นไปได้ที่จัดทำข้อตกลงทวิภาคีระหว่างไทย-เกาหลี ด้านการค้าและการลงทุน พร้อมสั่งการให้ดำเนินการผลักดันต่ออย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนกับเกาหลีใต้ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผลการศึกษาฝ่ายไทยได้ข้อสรุปว่าข้อตกลงทวิภาคีจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากมาตรการด้านภาษีแล้วยังจะต้องลดอุปสรรคการค้าไม่ใช่ภาษี ต้องเปิดเสรีภาคบริการ เพิ่มการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและโอกาสการลงทุน ต้องปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และต้องต่อยอดจากกรอบการตกลงอาเซียน-เกาหลีใต้ ด้านเกาหลีใต้มองว่าไม่ควรจะมุ่งเน้นเฉพาะอุปสรรคการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี แต่ต้องออกกฎระเบียบที่ส่งเสริมการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
“ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีการทำการค้าการลงทุนร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน-เกาหลีเท่านั้น ยังไม่มีข้อตกลงทวิภาคี 2 ประเทศ ขณะที่บางประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้มีการทำข้อตกลงแล้ว ประกอบกับที่ผ่านมาการค้าระหว่างไทย-เกาหลีมีมูลค่าเพียง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับญี่ปุ่นและจีนที่ 6.3 และ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ครม. จึงเห็นว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่ควรจะส่งเสริมการค้าการลงทุนมากขึ้น” พล.ต. วีรชนกล่าว
จ่ายคืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.24 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.008 ล้านล้านบาท
พล.ต. สรรเสริญกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติให้โอนเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เข้าบัญชีสะสมเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเติมอีก 12,400 ล้านบาท โดยให้ทยอยโอนเข้าบัญชีสะสมฯ ตามสภาพคล่องของกองทุน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในปีงบประมาณ 2558 ครม. เคยอนุมัติโอนเงินของกองทุนฯ เข้าไปยังบัญชีสะสมฯ แล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน2557 และวันที่ 20 เมษายน 2558 จำนวน 21,000 ล้านบาท และ 31,629 ล้านบาท ตามลำดับ รวม 51,629 ล้านบาท ทยอยชำระแล้ว 40,450 ล้านบาท คงเหลืออีก 12,175 ล้านบาท เมื่อรวมกับที่อนุมัติเพิ่มเติมวันนี้ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2558 จะคงเหลือยอดที่ต้องทยอยชำระอีก 24,575 ล้านบาท สำหรับผลดำเนินงานโดยรวมของกองทุนฯ จากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เดิมในปี 2541 มียอดหนี้คงค้าง 1.124 ล้านล้านบาท โดยถ้าชำระคืนเงินต้นในปีงบประมาณ 2558 แล้วเสร็จ จะยังมียอดหนี้คงเหลืออีก 1.008 ล้านล้านบาท
ปรับค่าผ่านทางเส้นทางกรุงเทพฯ-บ้านฉางจากเหมาจ่ายเป็นตามระยะทาง
รายงานการะประชุมของสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. ได้เห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ในรายละเอียด นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการแก้ไขร่างกฎกระทรวงในการจัดเก็บค่าผ่านทาง ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เส้นทางกรุงเทพฯ-บ้านฉาง โดยจะจัดเก็บตามระยะทางที่ใช้จริง ในอัตรากิโลเมตรละ 1 บาท จากเดิมที่เก็บแบบเหมาจ่ายจากด่านลาดกระปรับค่าทางด่วนจากเหมาจ่ายเป็นตามระยะทางบัง-พานทองในราคา 60 บาทสำหรับรถยนต์ไม่เกิน 4 ล้อ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เดินทางในระยะสั้นลดค่าใช้จ่ายลง และการจัดเก็บในอัตราใหม่จะมีผลบังคับ 60 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา