ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนรับน้อง: ฝึกความอดทนหรือฝึกยอมจำนน

บทเรียนรับน้อง: ฝึกความอดทนหรือฝึกยอมจำนน

31 สิงหาคม 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

ทุกทีปีละครั้ง (เป็นอย่างน้อย) ที่เมื่อถึงเทศกาลรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เราก็จะได้พบเห็นการรบรากันทางความคิด ระหว่างฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามอยากถ่ายทอดสืบสาน กับฝ่ายที่ไม่ยอมและไม่อยากให้ใครต้องเดินตามพิธีกรรมเชิงวัฒนธรรมประเพณีนี้อีกต่อไป

การถกปะทะเหล่านั้นทำให้ทุกทีปีละครั้ง (เป็นอย่างน้อยเช่นกัน) มักทำให้ผมเดินทางกลับไปยังความทรงจำเมื่อช่วงเวลาเกือบยี่สิบปีที่แล้ว เมื่อครั้งยังมีชีวิตส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย นึกถึงตอนที่ตัวเองต้องเกี่ยวข้องกับการรับน้อง ทั้งในฐานะรุ่นน้องที่ยินดีเข้ารับพิธีกรรม และในฐานะรุ่นพี่ที่รับและเห็นดีจะสืบทอดพิธีกรรม

การรับน้องในสถานศึกษาที่ผมเข้าร่วมนั้นมีสามระดับ คือระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ และระดับกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ว่าก็คือกลุ่มต่างๆ ภายในคณะ (บางที่คงเรียก “โต๊ะ”) และเป็นกลุ่มที่สืบทอดกันมาเป็นสิบปี โดยมีสมาชิกกลุ่มละประมาณ 20 คน คัดเลือกผ่านการจับฉลาก

ส่วนที่เรียกว่ามีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการว้าก ก็คือพิธีกรรมการรับน้องกลุ่ม ซึ่งก็ไม่ใช่มีกันทุกกลุ่ม และในกลุ่มที่มีพิธีกรรมนี้ ก็ไม่ใช่จะทำกันอย่างซีเรียสเครียดเคร่งกันทุกกลุ่ม ทั้งนี้ กลุ่มที่ผมสังกัดนั้น จัดอยู่ในจำพวกที่จริงจังกับพิธีกรรมนี้ไม่น้อย

การรับน้องกลุ่ม มักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนแรกของการเปิดภาคเรียน ดังนั้น ในการเตรียมการเรื่องการว้าก ใครที่จะเป็นพี่ว้าก หากมีเหตุให้ต้องเจอน้องก่อนถึงวันรับน้องกลุ่ม สิ่งที่ต้องทำคือ “ขรึม” ไม่ต้องถึงขั้นไปดุไปร้าย จะพูดคุยด้วยก็ได้ แต่ต้องทำเป็นเข้มเป็นนิ่งไว้เป็นหลักน่ะครับ น้องจะได้รู้สึกเกรงๆ ไว้แต่เนิ่นๆ การว้ากจะได้ง่ายเข้า (อันนี้ พี่ว้ากคนไหนใจไม่แข็งนี่ไม่คุยกับน้องก่อนวันรับน้องกลุ่มเลยครับ กลัวหลุดขำ)

ทั้งนี้ ปรกติ การรับน้องกลุ่มจะกินเวลาสามวันสองคืน และการว้ากของกลุ่มที่ผมสังกัดอยู่ในขณะจะเริ่มขึ้นในวันแรก หรือตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากรถ

พอลงรถปุ๊บ ผมก็ถูกพาไปริมหาดพร้อมเพื่อนๆ เกือบยี่สิบคนที่มารับน้องด้วยกัน ที่หาดจะมีพี่ๆ ยืนอยู่ประมาณสิบกว่าคน เกือบจะเท่าน้องนี่ละครับ น้อยกว่ากันก็ไม่มาก หน้าเครียดกันมาเลย ประกาศว่าเราจะเข้าที่พักกันด้วยการเดินไปตามหาด พร้อมทั้งแจกแจงกฎระเบียบต่างๆ ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

สมัยเป็นน้องนี่ กลัวหัวหดเลยครับ แต่ก็เป็นพวกกลัวแล้วสู้ สู้นี่ไม่ได้หมายถึงลุกไปฉีกพี่ๆ เป็นชิ้นๆ นะครับ แต่คือ ผมก็ทำตามคำสั่งอย่างแข็งขันไปเสียทุกประการเลยครับ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะมีพี่สาวๆ ใจดีสงสารน้องแอบแหกกฎกระซิบบอกระหว่างเดินมาหาดว่า “พี่เค้าสั่งอะไรก็ทำๆ ตามไปนะ” (ที่ว่าแหกกฎก็เพราะกลุ่มเราห้ามแพร่งพรายอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการว้ากครับ กลุ่มอื่นก็คงเช่นกัน)

ระหว่างกิจกรรม “การเดินทางกลับที่พัก” (ว้าก) ก็จะมีฐานต่างๆ ให้เราทำภารกิจครับ ซึ่งแต่ละฐานก็จะคิดมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ที่จะรู้จักและจดจำเพื่อน ให้รู้จักเสียสละ คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง (โดยเฉพาะผู้ชายที่ต้องเสียสละให้ผู้หญิงก่อน) รู้จักที่จะตระหนักว่าความทรมานที่เราได้รับ คนอื่นเขาก็ได้รับเหมือนกัน และบางคนเขาอาจจะทรมานกว่าเรา ภายใต้มรัพยากรอันจำกัด เราควรคิดถีงคนอื่นด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง เราจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่กระทบกระทั่งกันที่สุด

ทั้งนี้ แต่ละภารกิจนั้นเป็นคำตอบปลายปิด คือจะมีวิธีผ่านภารกิจเพียงวิธีเดียวที่รุ่นพี่กำหนดไว้เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่จะทำให้รุ่นน้องได้เข้าใจในเรื่องที่รุ่นพี่ต้องการจะสอน วิธีการอื่นนอกเหนือจากนั้น ให้ดูมีความคิดสร้างสรรค์ขนาดไหน ทรงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาอย่างไร แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่รุ่นพี่วางไว้ ถือว่าไม่ผ่านครับ ก็จะต้องถูกทำโทษ ลงทะเล นอนคลุกทราย ให้คนนอนหัวแถวกลิ้งทับเพื่อนๆ ไปจนสุดทางทีละคน แต่แม้กระทั่งในการลงโทษ ก็จะมีการสอนให้รู้จักคิดถึงคนอื่นครับ อย่างตัวขนาดผมนี่ พอกลิ้งไปเจอเพื่อนตัวจิ๋วๆ ก็ไม่ควรทิ้งน้ำหนักทั้งหมด ควรช่วยพยุงตัวเองไว้ส่วนหนึ่ง

กิจกรรมทั้งหมดจะกินเวลาไม่เกินสามชั่วโมง เต็มที่ก็สี่ คือ พี่ๆ ก็ไม่อยากให้มันจบดึกนักครับ เพราะต่างก็ไม่อยากให้เกิดอันตราย (ที่นอกเหนือไปจากไอ้ที่ “รู้สึก” ว่าพอจะควบคุมได้) แต่ละภารกิจนี่ก็จะพยายามใบ้แล้วใบ้อีกด้วยหน้าโหดๆ เสียงเข้มๆ บางทีนี่ก็แทบจะเฉลยกันถ้าน้องทำท่าว่านึกไม่ออกจริงๆ และพอจบกิจกรรม เราก็จะนั่งเคลียร์กัน ใครรู้สึกยังไง พอใจหรือไม่พอใจอะไร ก็ว่ากันไป และกลางคืนก็บายศรีกันอิ่มเอม (บางกรณีก็อืดอม เพราะพี่บางคนนี่พูดม้ากพูดมาก)

ทีนี้ ถ้าถามว่า แล้วน้องทุกคนในกลุ่มต้องเข้าร่วมการว้ากนี่ไหม คำตอบคือไม่ครับ รุ่นพี่จะถามก่อนตั้งแต่ต้น ที่หาดที่ลงมาตอนแรก ว่ากฎระเบียบเป็นแบบนี้ คุณจะยอมรับไหม แต่ก็จะพยายามกดดันให้ยอมละครับ ส่วนที่จะไม่กดดันเลยจริงๆ ก็คือคนป่วย คนร่างกายไม่พร้อม เพราะในแง่หนึ่ง รุ่นพี่ต่างก็รู้ดีว่า แม้แต่การติดคุกก็ชดเชยชีวิตคนที่ตนทำให้ตายไปไม่ได้ ซึ่งปีที่ผมโดนว้ากนั้น เพื่อนผมคนหนึ่งก็ไม่เข้าร่วมครับ คุ้นๆ ว่าเธอแพ้น้ำทะเล ก็โอเค พี่ๆ ไม่ว่าอะไร

ทีนี้ พอถึงคราวตัวเองเป็นรุ่นพี่ การจัดรับน้องกลุ่มนี่ก็ไม่ใช่ว่าได้เงินจากไหนนะครับ แม่งานหลักก็ปีสองนี่เอง (ส่วนปีอื่นๆ จะสมทบแค่ไหนก็ไปว่ากันหน้างาน) เราก็ต้องมีการเก็บเงินกลุ่มครับ สมัยผม (เกือบ 20 ปีที่แล้ว) ก็จะเก็บกัน 300 บาทต่อคนต่อเดือนครับ แต่ช่วงปลายๆ ปี หากมีวี่แววว่าเงินไม่พอ (มักกะกันว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรับน้องกลุ่มทีหนึ่งไม่ควรเกินสามหมื่นบาท) ก็อาจเก็บเพิ่ม เพราะฉะนั้น ก็สรุปได้ว่าจะอยู่ในระหว่าง 300-500 บาทต่อคนต่อเดือน

ฟังดูเป็นเงินที่ไม่เยอะใช่ไหมครับ ค่าขนมผมตอนนั้นได้อาทิตย์ละ 1,000 บาท เฉลี่ยว่าเดือนละประมาณ 4,000 บาท เงินกลุ่มเดือนละ 300-500 บาท นี่เอาจริงๆ ฟังดูไม่น่าจะหนักหนา แต่ว่าผมก็ไม่จ่ายเลยครับ ซึ่งผมก็บอกกับเพื่อนในกลุ่มไปตรงๆ ว่าไม่อยากจ่าย อยากเอาไปทำอย่างอื่นมากกว่า แต่ถ้าจะให้ออกแรงช่วยงานนี่ได้เลยเต็มที่ (พอดีตอนนั้นมีแฟนด้วย เงินทองก็หมดไปกับการใช้เวลากับแฟน ไม่อย่างนั้นผมก็คงจ่าย…กระมัง) เพื่อนก็ดูเซ็งๆ นะครับ แถมสุดท้ายผมก็ไม่ได้ช่วยอะไรนักด้วย แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไร เราก็ไปรับน้องด้วยกัน ความสัมพันธ์ก็เหมือนเดิม (หรือมันไม่เหมือนเดิมแต่ผมโง่เขลาเกินกว่าจะรู้ก็ไม่ทราบ)

โอเค เล่ามาหลายย่อหน้านี่ จะบอกอะไร

คืออย่างนี้ครับ

1. ประโยชน์ของการรับน้องนั้นมีไหม ว่ากันจริงๆ ผมคิดว่ามีนะครับ หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือทำให้มันมีได้ เพียงแต่เราควรขยายมันออกไปให้มากกว่าเรื่องการรักเพื่อน รักคณะ รักสถาบัน มีความเคารพรุ่นพี่ และอื่นใดตามที่ยึดถือกันอยู่ การรับน้องน่าจะมีโจทย์ไปในทิศทางเพื่อให้เกิดการฉุกคิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม ไม่ใช่แค่เฉพาะในหมู่พรรคพวกกันเอง

หรือพูดอีกอย่างว่า หากจะรับน้องเพื่อให้เกิดความเคารพอะไร ก็ขอให้สิ่งนั้นอยู่บนฐานความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมายเถิดครับ ผมคิดว่าสิทธิตามกฎหมายเป็นสิ่งที่เราควรปลูกฝังและเชิดชูมากกว่าสิทธิทางวัฒนธรรมอย่างระบบอาวุโส (บอกว่า “มากกว่า” นี่ก็คงชัดเจนนะครับ ว่าไม่ได้แปลว่าช่างหัวสิทธิทางวัฒนธรรมไปเสีย แต่คือควรให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่า)

ถ้าเริ่มจากฐานตรงนี้เป็นโจทย์ ผมว่าจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่รุ่นพี่และรุ่นน้อง คือรุ่นพี่เองก็ต้องมานั่งคิดกันอย่างจริงจังว่า “ความเท่าเทียม” อันเป็นจุดหมายที่ควรไปถึงในสังคมนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เราจำเป็นต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ตรงนี้นี่ ถ้าไปกันสุดจริงๆ อาจารย์เองก็คงเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยการช่วยกันขบคิดโจทย์เพื่อนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

เราควรเตรียมพร้อมนิสิตนักศึกษาทั้งหลายให้ออกไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวัฒนธรรมหลายๆ ประการที่ไม่น่ารักนะครับ สอนให้อดทนนั้นก็ควร แต่เราก็ต้องแยกให้ออกระหว่าง “อดทน” กับ “ยอมจำนน” หรือกระทั่ง “ผลิตซ้ำ” มันไปเรื่อยๆ

2. เหตุผล (หรือใครจะเรียกว่าข้ออ้างก็ตาม) ประการหนึ่งที่มักยกขึ้นมาสนับสนุนการรับน้องกันก็คือ จะช่วยให้น้องรู้จักกันเร็ว มีเพื่อนมีฝูง ซึ่งก็นับว่าจริงอยู่บ้างนะครับ ผมกำลังนึกภาพตัวเองเทียบกับเพื่อนบางคน อย่างผมนี่มีเพื่อนร่วมโรงเรียนหลายคนเอ็นทรานซ์ติดคณะเดียวกัน ไม่รู้จะคบใครจริงๆ ก็ยังอาจพอเกาะเกี่ยวกับเพื่อนเหล่านี้ได้ แต่กับเพื่อนบางคน ทั้งโรงเรียนมีเขาหรือเธอเข้ามาคนเดียว แล้วไม่ใช่เข้ามาคนเดียวในคณะ แต่คือคนเดียวในทั้งมหาวิทยาลัย อะไรแบบนี้นี่การรับน้องช่วยบรรเทาแรงกดดันได้แน่ๆ ครับ

แต่กระนั้น เราก็ต้องไม่ไปประเมินพลังของการรับน้องในด้านนี้สูงจนเกินไป การรับน้องไม่ได้ทำให้น้องๆ รักกันไปตลอดชีวิตการศึกษาหรือกระทั่งชีวิตที่เหลืออยู่หรอกครับ มนุษย์นั้นไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งพวกเขาต่างต้องค้นหาที่ทางของตัวเอง แม้มันจะกลายเป็นการอยู่คนเดียวแต่เขาก็ควรได้เลือกอย่างนั้นถ้ามันคืิอความสะดวกใจที่สุดของเขา เพราะผมก็เห็นอยู่ว่า สุดท้ายแล้ว ในคณะที่ผมศึกษานั้น มีอยู่บ่อยไปที่เกิดการกระจัดกระจายของสมาชิกบางคนไปจับกลุ่มจับก้อนกันเอง ทั้งที่ก็ไม่ได้ชิงชังอะไรกับสมาชิกในกลุ่มตั้งต้นที่ได้จากการจับฉลากนะครับ เพียงแต่มันมีที่อื่นที่เขาสะดวกใจมากกว่า บางคนไปสิงอยู่กับเพื่อนคณะอื่นเลยก็มี โดยที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนในกลุ่มตั้งต้นนั้น แม้จะไม่แนบแน่น แต่ก็ไม่ได้มีความระหองระแหงอันใด

3. บ่อยครั้ง ที่เราได้ยินฝ่ายที่สนับสนุนการรับน้องหรือกระทั่งการว้ากน้องบอกว่าไม่ได้บังคับเสียหน่อย จะไม่เข้าร่วมก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราไม่หน้าซื่อตาใสจนเกินไป เราก็น่าจะนึกออกใช่ไหมครับว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ก็คงต้องมีลักษณะของการกดดันให้เข้าร่วมอยู่กลายๆ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดอ้อมๆ ของรุ่นพี่ หรือกระทั่งการดดันตัวเองให้กลัวว่าถ้าไม่เข้าร่วมแล้วจะไม่มีเพื่อน พูดตรงๆ ก็คือไม่มีใครคบ เพราะไม่ยอมร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในกิจกรรม

อยากให้ย้อนนึกถึง 2 กรณีที่ได้เล่าไป คือ 1) เรื่องที่เพื่อนร่วมกลุ่มผมคนหนึ่งไม่เข้าร่วมพิธีการว้าก 2) การที่ผมยืนยันจะไม่จ่ายเงินกลุ่ม (อย่างหน้าด้านๆ เลยก็ได้เอ้า)

หลังจากทั้งสองเรื่องดังกล่าว ทั้งผมและเพื่อนคนนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับกลุ่มนะครับ หรือต่อให้จริงๆ มันมีปัญหาแต่ไม่มีใครโวยวายอะไรออกมาในลักษณะของการคาดคั้นหรือกระทั่งกีดกันขับไล่ ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีและทางออกที่น่าสนใจของปัญหาเรื่องการรับน้องเลยล่ะครับ คือ จากนี้ ถ้ายังจะยืนยันว่าต้องมีการรับน้อง มันควรเป็นไปอย่างเคารพในสิทธิที่จะเลือกภายใต้ข้อจำกัดและความเต็มใจของน้องหรือเพื่อนของเรา ยอมรับในการเลือกของเขา รับผิดชอบในการเลือกของเรา อดทนอดกลั้นต่อความไม่พอใจของตนอันเกิดจากการเลือกอันแตกต่าง และจะไม่เอามันมาเป็นเงื่อนไขในการกีดกันและเลือกปฏิบัติ นี่คือผมให้น้ำหนักกับการเลือกอย่างเต็มที่เลยนะครับ ใครจะบอกว่าว้ากน้องนั้นละเมิดสิทธิ์และส่งเสริมการกดขี่หรืออะไรไปในทางนั้น แต่ถ้ามีคนอยากเข้าไปอยู่ในโครงสร้างแบบนั้นอย่างเต็มใจก็ให้เขาเข้าไปครับ ส่วนใครที่ไม่อยากเข้าก็ไม่ต้องเข้า เพราะประเด็นที่สำคัญกว่ามันอยู่ตรงที่ว่า ในสังคมที่มีการเลือกอย่างแตกต่างกันขนาดนี้นี่ สุดท้าย คุณจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

ถ้าเราตั้งโจทย์และออกแบบดีๆ การรับน้องสามารถเป็นแบบจำลองการใช้ชีวิตในสังคมอย่างสร้างสรรค์และเคารพในความแตกต่างของกันและกันได้เลยนะครับ และผมคิดว่า นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายรวมทั้งจะเป็นการพิสูจน์สติปัญญาของผู้ที่สังคมเรียกว่า “มีการศึกษา” ว่าสุดท้ายแล้ว การรับน้องหรือว้ากน้่องจะเป็นการ “ฝึกความอดทนสามัคคี” อย่างที่พูดกัน หรือคือ “ฝึกสามัคคียอมจำนน” กันแน่