ThaiPublica > คนในข่าว > “ธิปไตร แสละวงศ์” ซุก-ซ่อน-ซื้อ ปัญหาใช้งบพีอาร์รัฐ และกลไกปิดฉากการใช้เงินหลวงโฆษณาตัวเอง

“ธิปไตร แสละวงศ์” ซุก-ซ่อน-ซื้อ ปัญหาใช้งบพีอาร์รัฐ และกลไกปิดฉากการใช้เงินหลวงโฆษณาตัวเอง

24 สิงหาคม 2015


นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ภาพป้ายโฆษณาหรือสื่อโฆษณาต่างๆ ที่มีรูปนักการเมืองขนาดใหญ่ อาจเป็นสิ่งที่หลายคนเห็นแล้วรู้สึกรำคาญใจ แต่การที่ได้พบเจอมาหลายสิบปี ทำให้เคยชินจนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่การโฆษณาเหล่านั้นใช้เงินที่มาจากภาษีของประชาชน

ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเรื่องการใช้เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐอย่างเป็นระบบมาก่อน เมื่อทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เข้าไปศึกษาในปี 2556 จึงพบอุปสรรคในการหาข้อมูลมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐ ที่สุดจึงต้องกลับไปใช้วิธีดูงบโฆษณาที่รัฐใช้ซื้อสื่อผ่านเอเจนซี่แทน แม้จะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนทั้งหมด แต่ก็ได้ตัวเลขกลมๆ ว่า รัฐใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการ “ซื้อสื่อ” ปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่มากกว่างบประมาณประจำปีของบางกระทรวงด้วยซ้ำไป แต่กลับไม่มีกลไกการตรวจสอบความคุ้มค่าและความโปร่งใสของการใช้งบประมาณก้อนนี้อย่างเพียงพอ นำไปสู่การเสนอให้ออกกฎหมายมาแก้ปัญหานี้ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็นำไอเดียนี้ไปยกร่างกฎหมายคุมงบซื้อสื่อ หรือ ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. ….. และส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เป็นที่เรียบร้อย

“ธิปไตร แสละวงศ์” หนึ่งในทีมวิจัย TDRI ซึ่งปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา เพิ่งเขียนบทความชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า “อาจใกล้หมดเวลา รัฐใช้งบพีอาร์ไร้สาระ” จะออกมาเปิดเผยว่า สิ่งที่ค้นพบจากการทำวิจัยว่าด้วยการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐมีอะไรบ้าง จะมีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร และประเทศอื่นๆ มีปัญหาเหมือนประเทศไทยหรือไม่ และเขามีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร

ไทยพับลิก้า: ที่มาของงานวิจัยเรื่องงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ

มันอยู่ในซีรีส์งานวิจัยเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่เป็น priority research ของ TDRI ซึ่งเราพบว่า มีหัวข้อเรื่องความเป็นอิสระของสื่อที่พูดกันมานาน ประเด็นตั้งต้นก็คือ เราคิดว่ารัฐแทรกแซงสื่อ ซึ่งรัฐในที่นี้คงหนีไม่พ้นนักการเมือง แต่คำถามคือจะแทรกแซงอย่างไร

ในสมัยก่อนจะใช้กฎหมาย ต้องส่งข่าวหรือบทความให้ตรวจก่อน แต่แบบนั้นมันเป็นวิธีโบราณ คือใช้อำนาจในการเซ็นเซอร์ก่อนจะเผยแพร่ พอมาสมัยใหม่ สื่อมวลชนหรือนักนิเทศศาสตร์ก็เห็นว่ามันมี 2 ช่องทางหลักๆ คือ 1. การเป็นเจ้าของสื่อทางอ้อม อาจจะถือหุ้นไขว้ แม้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 จะห้าม เพื่อให้สื่อมีอิสระในการทำหน้าที่ แต่เรื่องนี้ยังตีโจทย์ไม่แตกว่าจะทำวิจัยอย่างไร และ 2. การใช้เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะรายได้หลักของสื่อมาจากการโฆษณา ซึ่งเราเลือกทำวิจัยหัวข้อหลัง

อย่างไรก็ตาม จากการทำวิจัย เรายังไม่เจอหลักฐานที่ว่ามีการแทรกแซง เพราะยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันว่า พฤติกรรมแบบนี้เป็นการแทรกแซงสื่อหรือเปล่า ดังนั้นเราเลยตัดปัญหา โดยหาวิธีทำให้การใช้เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น ส่วนหลักจะเน้นที่การใช้เงินให้โปร่งใส และส่วนเสริมคือไม่ให้มีการใช้เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์เข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อ เช่น จะไม่มีกรณีที่รัฐมนตรีไม่อนุมัติงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เพราะไม่พอใจที่คุณรายงานข่าวที่เขาไม่พอใจ

ค่าใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ภาครัฐ

จากข้อมูลที่มี ซึ่งได้จากบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า มีเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐอยู่ที่ 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงสักเท่าไร เพราะเป็นตัวเลขประมาณการ สาเหตุที่มันไม่มีตัวเลขที่แน่นอน เพราะเงินมันน้อยถ้าเทียบกับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นๆ ที่แต่ละปีมีมูลค่าสูงเป็นหลักแสนล้านบาท ทำให้ไม่คิดว่ามันมีความสำคัญ จึงไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

ไทยพับลิก้า: ทั้งที่มีการพูดกันมานานว่าเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ภาครัฐให้กับสื่อ อาจบิดเบือนการทำหน้าที่ของสื่อได้ แต่พอทีมวิจัยลงไปค้นข้อมูลดูจริงๆ กลับไม่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบเลย

ใช่ครับ การหาข้อมูลในเรื่องนี้ค่อนข้างยาก ทั้งที่อย่างน้อยๆ ควรจะมีข้อมูลว่ารัฐให้เงินกับสื่อไทยเท่าไร มันควรจะมีข้อมูลให้สามารถแกะรอยไปติดตามตรวจสอบได้ เราหวังว่าจะมีหน่วยงานของกรมบัญชีกลางหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) น่าจะมีข้อมูลตรงนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครจัดเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเลย

ไทยพับลิก้า: นอกจากไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ คุณธิปไตรก็เคยบอกว่า มีการ “ซ่อน” งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้ในโครงการอื่นๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง

ใช่ แต่เราไม่ได้กล่าวหาเขานะว่าซ่อนไว้เพราะไม่อยากให้เราตรวจสอบ แต่เขาอาจจะไม่ได้คิดว่ามันสำคัญ การโฆษณาประชาสัมพันธ์อาจจะเป็นแค่รายการที่ต้องทำในโครงการหนึ่งๆ เช่น ผมจะสร้างเส้นทางรถไฟ ในโครงการมันก็ต้องมีการพีอาร์อยู่แล้ว

แต่ถ้าคิดในแง่ร้าย มันก็มีข่าวออกมาเหมือนกันว่าบางโครงการชงมาเพื่อทำพีอาร์โดยเฉพาะ เป็นวิธีเอื้อพวกพ้องอีกแบบ เป้าหมายอาจจะไม่ใช่การแทรกแซงสื่อ แต่อาจได้เงินของรัฐ เรียกง่ายๆ คือคอร์รัปชัน

ไทยพับลิก้า: ความยากอื่นๆ ในการหาข้อมูล

ข้อมูลที่เราใช้ ส่วนใหญ่มาจากบริษัทนีลเส็นฯ ความจริงเราก็อยากได้ข้อมูลจากฝั่งรัฐด้วย เพื่อเอามาชนกันจะได้ตรวจสอบเทียบกัน (cross check) ปรากฏว่ามันไม่มี ไปไล่ดูเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ไม่ครบ บอกไม่ชัดว่าใช้สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเปล่า

จากสิ่งที่เราค้นพบ ทั้งความยากลำบากในการรวบรวมข้อมูล การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่มีความโปร่งใส เลยเป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. …. ที่ TDRI องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน และสมาคมวิชาชีพสื่อร่วมกันนำเสนอ ซึ่งเนื้อหาอาจแตกต่างกับร่างที่ สปช. เสนอต่อ ครม. ไปแล้ว สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับ TDRI คือ เรื่องประสิทธิภาพการใช้เงิน เราเสนอให้ สตง. เข้ามาตรวจสอบโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ เป็น pre-audit จากเดิมที่ สตง. ก็ทำหน้าที่ post-audit อยู่แล้ว เพื่อให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่นึกอยากจะโฆษณาประชาสัมพันธ์อะไรก็ทำ หากเป็นไปตามกลไกใหม่ มันจะมีกรอบ มีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนเรื่องแทรกแซงสื่อ ไม่มีเขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ. เพราะเรื่องนี้มีหลายระดับ ซึ่งต้องแยกกัน แต่ถ้าเราทำระดับแรก คือให้การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐโปร่งใสสำเร็จ แค่นั้นก็จบ

แม้จะมีคนท้วงว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว แต่ที่ต้องให้แยกออกมา เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะ มันเกี่ยวกับความเป็นอิสระของสื่อ แล้วไม่ให้มีการนำเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐไปโปรโมตตัวเอง ซึ่งยังไม่มีกฎหมายไหนบอก อาจจะมีในประมวลจริยธรรม แต่มันก็ไม่ชัดเจนเหมือนร่าง พ.ร.บ. นี้

ไทยพับลิก้า: ใช้เงินหลวงโฆษณาตัวเอง ปัญหาที่ชัดที่สุดที่พบจากการทำงานวิจัยชิ้นนี้

เราเห็นกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว ลงไปข้างล่างก็เห็นรูปผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยืนอยู่ครึ่งป้าย คนในวงการโฆษณาเขาก็วิจารณ์ว่า เวลารถวิ่งผ่านป้ายนี้ แล้วเห็นหน้านักการเมืองขนาดใหญ่ กับข้อความอะไรไม่รู้เต็มไปหมด เราจำอะไรได้มากกว่ากัน คอนเซปต์โฆษณามันก็ชัดว่าต้องการโปรโมตรูปนักการเมืองมากกว่าเนื้อหาโฆษณา

ไทยพับลิก้า: ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับ TDRI และฉบับที่ สปช. ปรับปรุงแล้ว มีการเสนอให้มีคณะกรรมการกลางชุดหนึ่งขึ้นมาช่วยกลั่นกรองโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ก่อนจะมีการเบิกจ่ายเงิน ทำไมต้องสร้างกลไกนี้ขึ้นมา

ความจริงเราเสนอให้ สตง. ทำหน้าที่ pre-audit แต่คุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. ก็บอกว่า ไม่ได้หรอก เพราะ สตง. มีหน้าที่ pre-audit อยู่แล้ว สตง. ไม่มีหน้าที่มานั่งดูว่าโครงการไหนโอเคหรือไม่โอเค

ผมยังไม่ได้เห็นร่าง พ.ร.บ. ที่ สปช. ปรับปรุงแล้ว แต่การตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาช่วยกลั่นกรองแทน สตง. น่าจะสมเหตุสมผลกว่า จริงๆ เราก็มีคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ลักษณะนี้อยู่แล้ว คือคณะกรรมการการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) แต่พอกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มันก็เลยไม่ค่อยได้ประชุม เพราะนายกฯ ไม่มีเวลา นายกฯ คนล่าสุดที่เรียกประชุม กปช. คือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากนั้นก็เงียบหายไป ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น

โมเดลนี้หลายประเทศก็ใช้กัน คือให้มีคณะกรรมการมา pre-audit โมเดลดีๆ ที่ในระดับโลกชอบอ้างกันคือของออสเตรเลียกับแคนาดา

ไทยพับลิก้า: ข้อมูลของโมเดลทั้ง 2 ประเทศนี้คืออะไร

ของแคนาดา หลักการง่ายๆ คือให้ สตง. มา pre-audit โครงการก่อนดำเนินการ แล้วการจะใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องมีแผน ไม่ใช่มาเป็นรัฐมนตรีปุ๊บ เซ็นงบประชาสัมพันธ์เลย เหมือนของกระทรวงแรงงานไทยที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์กัน ที่สำคัญ จะมีฐานข้อมูลกลางสำหรับการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เช่น หน่วยงาน A เคยลงโฆษณากับสื่อด้วยราคาประมาณนี้ ถ้าหน่วยงาน B จะลงโฆษณาที่คล้ายๆ กัน ก็ต้องมีราคาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ สัญญาจ้างใดที่มีมูลค่าเกิน 10,000 ดอลลาร์แคนาดา จะต้องนำรายละเอียดในสัญญาไปเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์

ส่วนของออสเตรเลีย การจะใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ จะต้องเสนอแผนงานว่าจะนำเงินไปใช้ทำอะไร แล้วจะมี media planner มาช่วยดู กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยรวมจะเหมือนบ้านเรา แต่ของเขาจะนำไปรวมไว้ที่ศูนย์กลาง และไม่ว่ากระทรวงไหนอยาจะใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ จะมีหน่วยงานที่เหมือนกรมบัญชีกลางไปหาคู่ค้ามาให้ แล้วโครงการที่ใช้งบมากกว่า 250,000 หมื่นดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 6.2 ล้านบาท) ขึ้นไป จะต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมาเป็นที่ปรึกษา คอยดูว่าแผนงานโอเคแล้วหรือไม่ จะผลิตกันอย่างไร แล้วตรวจสอบสัญญาว่าข้อเสนอกับสิ่งที่ทำมันตรงกันหรือไม่ จากนั้น เมื่อหาคู่ค้าได้แล้ว จะมีคณะกรรมการอีกชุดมาตรวจสอบการดำเนินการ และเผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้สาธารณชนช่วยกันตรวจสอบ

ข้อดีของโมเดลออสเตรเลีย คือถ้าเป็นโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐที่มีมูลค่ามากๆ เราจะมั่นใจได้ว่าโครงการนั้นจะมีประสิทธิภาพ ไม่ไร้สาระ และคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป

ไทยพับลิก้า: ทำไมออสเตรเลียต้องสร้างกลไกลักษณะนี้ขึ้นมา เพราะเจอปัญหาลักษณะเดียวกับไทยใช่หรือไม่

เขาก็เคยมีปัญหาเหมือนบ้านเรา โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงินของภาครัฐไปโฆษณาตัวเอง แม้ไม่ได้หนักหนาเท่า ซึ่งความจริงอยากจะบอกว่า ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาลักษณะนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มี ของแคนาดาก็เคยมี แต่หลายประเทศก็จะมีวิธีแก้ปัญหาต่างกันไป อย่างของสหรัฐอเมริกา จะเขียนไว้ในจริยธรรมนักการเมืองว่าห้ามมีรูป หน้า เสียง หรือสัญลักษณ์นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐในโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินของรัฐเลย โดยเฉพาะพวกบิลบอร์ด ใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษโดยคณะกรรมการจริยธรรม

นอกจากนี้ หลักการที่ใช้กันทั่วโลก ในสื่อใดที่ใช้เงินของรัฐต้องเขียนไว้ด้วยว่าใช้เงินของรัฐ เพื่อให้แยกว่านี่คือสื่อโฆษณาของรัฐ ไม่ใช่เงินของพรรคหรือของใครนะ แต่ในทางปฏิบัติมันก็มีวิธีเลี่ยงอยู่ เช่น หนังสือพิมพ์บางฉบับอาจจะขึ้นรูปนายกฯ เต็มหน้าให้ โดยไม่ได้ใช้เงินของรัฐ แต่ทำให้เพราะหวังว่านายกฯ จะชอบ แล้วให้เงินโฆษณาภายหลัง หรือกรณีจ้างเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็คงเกินขอบเขตที่กฎหมายจะไปช่วยจับ

เรื่องงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ แค่ให้รู้ว่าใช้เงินกับใครหรือสื่อสำนักไหน ใช้ไปกี่บาท แค่นี้ก็พอแล้ว เพราะคนจะตามไปดูเองว่า อ้อ! หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ รับเงินจากรัฐมาเยอะนะ เขียนข่าวแบบนี้เอง รู้เห็นเป็นใจกับรัฐบาลหรือเปล่า อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลให้คนได้ดู แล้วเขาจะนำไปพิจารณากันเอาเอง

ไทยพับลิก้า: ดูเหมือนหลักคิดของหลายประเทศจะคล้ายกัน คือทำให้โปร่งใส จะได้ตรวจสอบได้

แต่ของเราจะเริ่มตั้งแต่ก่อนจัดซื้อจัดจ้าง ของเราไปเน้นดักปลายทาง จึงควรเปลี่ยนไปดักตั้งแต่ต้นทาง เพราะถ้าเริ่มมาก็ไม่โปร่งใสแล้ว โอกาสที่จะถูกนำงบไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ฟุ่มเฟือย หรือโฆษณาตัวเอง ก็มีมากขึ้น

ประเทศแถวบ้านเราที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็มีฟิลิปปินส์ แต่เหมือนจะใช้ไม่ได้ผลนัก ดังนั้น ถ้าร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ผ่านการพิจารณาจาก ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกบังคับใช้ ไทยก็จะมีกฎหมายที่ล้ำที่สุดในอาเซียน

คนรุ่นใหม่ TDRI

ระยะหลังชื่อของนักวิชาการจาก TDRI ที่ปรากฏตามหน้าสื่อ ไม่ได้มีแต่รุ่นใหญ่อย่าง ดร.อัมมาร สยามวาลา ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร หรือรุ่นกลางอย่าง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ แต่ยังมีรุ่นใหม่ๆ อย่าง ดร.สุเมธ องกิตติกุล และหนึ่งในนั้นได้แก่ “ธิปไตร แสละวงศ์” เด็กหนุ่มจาก จ.ระยอง ศิษย์เก่า Toulouse School of Economics ติดอยู่ในโผด้วย

“ผมเรียกตัวเองว่าเป็นนักวิจัย ยังไม่ใช่นักวิชาการ เพราะนักวิชาการต้องมีองค์ความรู้ พอจะให้คอมเมนต์เรื่องต่างๆ ได้ แต่ผมยังไม่ถึงขนาดนั้น”

แม้เขาจะบอกเราเช่นนั้น แต่จากการทำงานใกล้ชิดกับ ดร.เดือนเด่น ถึงขนาดบางสื่อเรียกว่าเป็นมือขวา และมีงานวิจัยที่น่าสนใจออกมาหลายชิ้น ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ทำงานในสถาบันแห่งนี้ ไม่ว่าจะงานวิจัยเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ รวมไปถึงการออกมา “ตรวจการบ้าน” มาตรการปราบปรามคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำให้ชื่อเขากลายเป็นหนึ่งในนักวิจัย TDRI รุ่นใหม่ที่น่าจับตา

ธิปไตรกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นแรกที่ทำที่ TDRI คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ตอนแรกก็คิดว่ามันสำคัญยังไง แต่ที่เราพูดๆ กันเรื่องทุจริตนี่แหละตัวหลักเลย ถ้าการเปิดเผยข้อมูลมันทำได้ ก็จะช่วยได้มาก ดีกว่าไปตามจับ ตามปราบอย่างเดียว

“ผมเชื่อว่างานวิจัยจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ เพราะการจะทำอะไรต้องมีข้อมูล ยิ่งต้องลงเงินเยอะๆ ยิ่งต้องมีข้อมูลเยอะ แต่เราไม่ได้เป็นรัฐบาล หน้าที่ของเรามีแค่สร้างองค์ความรู้ไว้ก่อน รอให้เขาหยิบใช้”

เขาว่าการทำงานร่วมกับ ดร.เดือนเด่น ทำให้ได้รับรู้แนวคิด ตรรกะ ของคนที่ทำงานมานาน อีกเรื่องคือได้ทักษะในการสื่อสาร โดย ดร.เดือนเด่นจะสอนตลอดว่า ประเด็นใดที่มั่นใจให้ “ฟันธง” ไปเลย ว่าใช่-ไม่ใช่ คิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นนั้นๆ เพราะคนไทยมักกลัวเสียหน้า ไม่กล้าฟันธง เลยไม่ค่อยมีใครกล้าพูดอะไร

“อีกคนที่เป็น role model คือ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เพราะเวลาทำงานวิจัยสักชิ้น แกจะเอาจริงเอาจังและสละเวลาให้กับงานมาก แสดงให้เห็นว่า ดร.นิพนธ์มีความซื่อสัตย์กับวิชาชีพมาก”

แม้จะทำงานใน think tank ชั้นนำของประเทศ และงานวิจัยหลายชิ้นถูกนำไปใช้ในการปฏิรูปประเทศในขณนี้ แต่ธิปไตรยังมองว่า ข้อเสียของการที่ TDRI มีบทบาทมากเกินไปคือจะทำให้คนฟังข้อมูลด้านเดียว ไม่มีข้อมูลจากด้านอื่นให้ประชาชนได้เลือกฟังแล้วเปรียบเทียบ think tank อื่นๆ เช่น สถาบันอนาคตไทยศึกษา ก็ยังมีขนาดเล็กเกินไป

“ผมอยากให้มันมีหน่วยงานที่มีบทบาทแบบ think tank มากขึ้น เวลามีประเด็นอะไร คนได้มีข้อมูลจากหลายๆ แหล่งให้เลือกฟัง พิจารณา เปรียบเทียบ แล้วค่อยได้คิดดูว่าจะเชื่อข้อมูลจากแหล่งไหน” ธิปไตรกล่าว