ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (12): อธิบดีสรรพากรปฏิเสธเปิดข้อมูลแอมเวย์โอนเงินโบนัสกลับบริษัทแม่ย้อนหลัง ประกอบสำนวนคดี

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (12): อธิบดีสรรพากรปฏิเสธเปิดข้อมูลแอมเวย์โอนเงินโบนัสกลับบริษัทแม่ย้อนหลัง ประกอบสำนวนคดี

24 กรกฎาคม 2015


ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอข่าว คณะผู้บริหารบริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีกรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีบริษัทแอมเวย์พร้อมค่าปรับย้อนหลัง 4,600 ล้านบาท (ปี 2539-2548) และเนื่องจากข้อพิพาทดังกล่าวยืดเยื้อมานานเกือบ 10 ปี คดีทยอยขาดอายุความเป็นรายใบขนสินค้า ต่อกรณีดังกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธรจึงเชิญเจ้าหน้าที่ศุลกากรมารายงานความคืบหน้าคดีนี้

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมศุลกากรส่งเจ้าหน้าที่ไปรายงานความคืบหน้าคดีแอมเวย์ให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรรับทราบ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกมีรองอธิบดีกรมศุลกากรเป็นหัวหน้าทีม รายงานต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรว่าคดีนี้ได้ข้อยุติแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ตัดสินว่า “เงินโบนัสที่บริษัทแอมเวย์จ่ายให้ตัวแทนจำหน่ายอิสระ (IBO) ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคา กรมศุลกากรนำมาคำนวณภาษีไม่ได้” ส่วนความคืบหน้าของคดี ณ ขณะนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการออกจดหมายเรียกบริษัทแอมเวย์ฯ ให้มาชำระภาษีให้ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า “หนังสือแจ้งประเมินอากร” ซึ่งบริษัทแอมเวย์ฯ มีสิทธิมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน”

แหล่งข่าวรายงานต่อว่า เนื่องจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังมีประเด็นข้อสงสัย อาทิ ประเด็นที่คณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาของ WCO ตัดสินให้ฝ่ายไทยแพ้ ไม่ให้นำเงินโบนัสมารวมเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร ทำไมกรมศุลกากรจึงสรุปสำนวนคดีส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดีบริษัทแอมเวย์ และทาง DSI รับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษ จึงเชิญนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องมาสอบถามเป็นครั้งที่ 2

ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรรายงานว่า คดีแอมเวย์ยังไม่ได้ข้อยุติ ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาของ WCO ตัดสินให้ฝ่ายไทยแพ้ ไม่ให้นับเงินโบนัสที่จ่ายให้ IBO เป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากรจริง แต่ศุลกากรไทยที่ประจำอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ขณะนั้นยืนยันว่าเงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ IBO เป็นส่วนหนึ่งของราคา เมื่อคำตัดสินของ WCO ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย จึงเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาของ WCO นำเรื่องที่กรมศุลกากรไทยสอบถาม WCO ไปแขวนไว้ (Conspectus part III) ถือว่าไม่มีการวินัยฉัยประเด็นใดๆ และถ้าหากกรมศุลกากรไทยจะนำเรื่องที่แขวนไว้กลับมาให้ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาของ WCO พิจารณาอีกครั้ง ต้องเป็นประเด็นคำถามใหม่เท่านั้น

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร

แหล่งข่าวจากศุลกากรกล่าวต่อว่า ที่มาของคดีแอมเวย์เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 สำนักป้องกันและปราบปราม กรมศุลกากร ขออนุมัติหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทแอมเวย์ ยึดเอกสารหลักฐานต่างๆ ของบริษัทมาตรวจสอบ พบว่าเงินโบนัสที่บริษัทแอมเวย์จ่ายให้กับ IBO ในประเทศและต่างประเทศ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร ต้องนำมาเสียภาษีนำเข้า ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวมีหลักการและเหตุผลดังนี้

1. ตามหลักการแกตต์ มาตรา 7 ตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 ในหมวด 1 ว่าด้วยกฎของการประเมินราคาศุลกากร เฉพาะที่กล่าวถึงหลักว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรมีทั้งหมด 17 มาตรา ซึ่งมาตราสำคัญที่กรมศุลกากรใช้เป็นหลักในการประเมินราคาศุลกากร ก็คือ มาตรา 1 กำหนด “ให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะยอมรับ ราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงได้ ต้องเป็นราคาที่มีการชำระค่าสินค้านั้นจริง” และในมาตรา 1 ข้อ ข ระบุว่า “การขายหรือราคาขาย ต้องไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือผลตอบแทนที่ทำให้ไม่อาจกำหนดราคาสินค้านั้นได้”

นอกจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องพิจารณาว่าการขายนั้นเป็นการขายแบบมีเงื่อนไขหรือไม่แล้ว ยังต้องทำการปรับราคาตามรายการต่างๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 8 เข้ามารวมอยู่ในราคาศุลกากรด้วย เช่น ค่านายหน้าจากการขาย (ไม่รวมค่านายหน้าจากการซื้อ) ค่าคนกลาง ค่าภาชนะที่บรรจุมากับของที่นำเข้านั้น ค่าบรรจุหีบห่อ เป็นต้น

2. รายการที่กรมศุลกากรเห็นว่าน่านำเข้ามารวมเป็นราคาศุลกากรก็คือ เงินโบนัสที่บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าโอนกลับไปให้บริษัทแอมเวย์ในสหรัฐอเมริกา (บริษัทแม่) ถือเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของสินค้า น่าจะเป็นรายการที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 8 ในข้อ 8.1 (d) ที่ระบุว่า “มูลค่าของเงินที่ได้ส่วนหนึ่งส่วนใดจากการขายต่อในภายหลัง จากการจำหน่าย หรือการใช้ของที่นำเข้าที่มีผลเพิ่มพูนให้กับผู้ขาย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จะต้องนำมารวมเป็นราคาศุลกากรตามมาตรา 1 ด้วย”

3. นอกจากประเด็นการโอนเงินโบนัสกลับไปให้บริษัทแม่แล้ว ศุลกากรยังมีหลักฐานชัดเจนว่า บริษัทแอมเวย์ในสหรัฐฯ และเครือข่ายถือหุ้นในบริษัทแอมเวย์ประเทศไทย 100% นั่นก็หมายความว่า ทั้งแอมเวย์ในสหรัฐฯ และแอมเวย์ประเทศไทยคือบุคคลเดียวกัน มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน ตามหลักแกตต์ มาตรา 15 ข้อ 4 และ ข้อ 5 ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ทำให้กรมศุลกากรไม่สามารถยอมรับราคาที่บริษัทแอมเวย์สำแดงในขณะนำเข้าเป็นราคาศุลกากรได้

จากเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมด กรมศุลกากรจึงต้องนำต้นทุนส่วนที่บริษัทโอนกลับให้บริษัทแม่ภายหลังการนำเข้ามารวมเป็นราคาศุลกากร แม้ว่าต้นทุนสินค้าดังกล่าวนี้ บริษัทแอมเวย์จะใช้ชื่อเรียกว่าเป็นการโอนเงินค่า “โบนัส IBO” ก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว เงินโบนัสส่วนนี้คือส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศไทย แต่โอนกลับไปภายหลังการนำเข้า

ทั้งนี้ กรมศุลกากรมีหลักฐานชัดเจนที่บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) โอนเงินจำนวนนี้ออกไปนอกประเทศไทย โดยบริษัทมายื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ยื่นต่อกรมสรรพากร ยอมเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% แต่ไม่ได้สำแดงต้นทุนจำนวนนี้ไว้ในราคาสินค้าขณะนำเข้า ปี 2557 กรมศุลกากรจึงสรุปสำนวนคดีทั้งหมดส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำเป็นคดีพิเศษแล้ว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี

หลังจากที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ทราบที่มาของคดีแอมเวย์ทั้งหมดแล้ว จึงสั่งการให้นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ทำเรื่องขอข้อมูลกรณีบริษัทแอมเวย์ประเทศไทย โอนเงินกลับไปให้บริษัทแม่ เพื่อจ่ายเป็นเงินโบนัส IBO ที่อยู่ในต่างประเทศตามแบบภ.ง.ด.54 ย้อนหลัง 20 ปี จากกรมสรรพากรเป็นการภายใน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ล่าสุด กรมสรรพากรทำหนังสือตอบปฏิเสธ กรณีกรมศุลกากรทำเรื่องขอข้อมูลบริษัทแอมเวย์ถึงกระทรวงการคลัง เพื่อให้นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รายงานให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรรับทราบต่อไป โดยกรมสรรพากรให้เหตุผลว่า “ถึงแม้กรมศุลกากรจะเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 10 ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลผู้เสียภาษีไปเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบ และที่สำคัญ กฎหมายศุลกากรไม่มีบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรขอข้อมูลผู้เสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำประกอบสำนวนคดี ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

“แต่อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้จัดทำสรุปยอดเงินที่บริษัทแอมเวย์ประเทศไทยส่งกลับไปให้บริษัทแม่ย้อนหลัง 20 ปี วางไว้บนอินทราเน็ตของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเปิดข้อมูลที่บันทึกในรูปแบบของตาราง Excel ดูได้ ส่วนข้อมูลที่บันทึกตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.54 คงให้เปิดเผยไม่ได้ เพราะขัดกับมาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากร และกรมศุลกากรไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะมาขอข้อมูลผู้เสียภาษีจากกรมสรรพากร เหมือนกับ DSI และ ป.ป.ช.” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าว

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามประเด็นกรมสรรพากรส่งหนังสือตอบปฏิเสธถึงกระทรวงการคลังต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รองนายกรัฐมนตรี ได้รับคำตอบว่า “ผมสั่งให้อธิบดีกรมศุลกากรไปขอข้อมูลบริษัทแอมเวย์ ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ตอนนี้ผมยังไม่เห็นเรื่อง ต้องขอรอดูหนังสือตอบปฏิเสธของกรมสรรพากรก่อน”