ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > นักวิชาการแนะ คสช. เลิกประกาศ-ม.44 สร้างบรรยากาศถกเถียง ก่อนประชามติร่าง รธน. – ชาวเน็ตเลือกตั้ง ส.ส.ร. เขียนฉบับใหม่เอง หากไม่ผ่าน

นักวิชาการแนะ คสช. เลิกประกาศ-ม.44 สร้างบรรยากาศถกเถียง ก่อนประชามติร่าง รธน. – ชาวเน็ตเลือกตั้ง ส.ส.ร. เขียนฉบับใหม่เอง หากไม่ผ่าน

8 มิถุนายน 2015


เสวนาประชามติ รธน. อย่างไรไม่ให้เสียของ นักวิชาการแนะ คสช. เลิกประกาศ-ม.44 สร้างบรรยากาศถกเถียงก่อนโหวต – เผยชาวเน็ตอยากให้ประชาชนได้เลือก ส.ส.ร. เอง ถ้าประชามติไม่ผ่าน

580608prachamati
(จากซ้ายไปขวา) นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ นางสุนี ไชยรส นายจตุรงค์ บัณยรัตนสุนทร และนายประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่มาภาพ : http://www.prachatai.com/journal/2015/06/59660

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2558 ที่โรงแรมบางกอกชฎา เว็บไซต์ประชามติ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของ 4 องค์กร ประกอบด้วย iLaw ประชาไท ThaiPublica และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ?” มีการเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้สนใจ มาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

นายจตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ประธานสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ตนสนใจบางประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่หากไม่แก้ไขจะทำให้คนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 1. การเลือกตั้ง ส.ว. จังหวัด ที่ให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมากลั่นกรองก่อน ซึ่งขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย 2. การควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไว้เป็นองค์กรเดียวกัน ทั้งที่อำนาจหน้าที่ของ 2 องค์กรนี้เป็นคนละอย่าง การแยกกันจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า และ 3. ระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง

“อย่าบีบฝ่ายตรงข้ามจนไม่มีทางออก เจตนาของผู้ยกร่างอาจต้องการทำให้การเมืองโปร่งใส แต่บางครั้งก็ต้องรอบคอบเพราะพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคในไทยต่างก็มีฐานมวลชนกว้างขวาง” นายจตุรงค์กล่าว

นายจตุรงค์กล่าวว่า การทำประชามติควรจะมี 2 แนวทาง คือ ทำประชามติว่าจะรับทั้งฉบับหรือไม่ กับทำประชามติแบบเลือกเฉพาะประเด็นที่ขัดแย้งกัน ส่วนตัวเห็นว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำประชามติทั้งฉบับ แต่ต้องรอเห็นร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายก่อนว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เหลือประเด็นอะไรบ้าง

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำประชามติเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในประเทศที่พัฒนาด้านประชาธิปไตยแล้วจะกำหนดให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญตั้งแต่การยกร่างไปจนถึงการแก้ไข ย้ำว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะต้องทำประชามติ ไม่เช่นนั้นก็จะยุ่ง ในประเทศที่พัฒนาด้านประชาธิปไตยแล้ว จะมีการเขียนอย่างชัดเจนว่าอะไรควรทำประชามติ ที่สำคัญ กระบวนการและบริบทต้องเอื้อกับการถกเถียงแลกเปลี่ยน เหมือนอย่างร่างรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน ที่มีปัญหาความไม่ลงรอยกันมาก องค์กรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ยึดโยงกับประชาชน หรือไม่รู้ว่ามีหัวนอนปลายเท้ามาจากไหน คงมีเรื่องถกเถียงกันได้อีกมาก จึงต้องสร้างบรรยากาศ

“ผมเคยพูดว่า เวลานี้เราเหมือนถูกครอบด้วยกะลาอะไรบางอย่าง มีช่องเล็กๆ ที่โผล่ได้คือตากะลา เราต้องเปิดกะลาออก ไม่ใช่เอาเท้าไปเหยียบทับไว้อีก” นายประภาสกล่าว

นายประภาสกล่าวว่า การสร้างบรรยากาศการทำประชามติ คือต้องยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ไปขัดขวางบรรยากาศของการจัดเวที รวมกลุ่ม เสนอความเห็น เคลื่อนไหว ผลักดัน ถ้าจะสร้างประชาธิปไตยจะต้องสร้างบรรยากาศแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่มีผลต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง ไม่มีใครพูดได้ว่ารู้ผลประโยชน์ของคนทั้งชาติแล้วจะเขียนให้คนทุกกลุ่มได้เท่ากันหมด ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต้องสร้างกระบวนการให้ผู้คนต่อรองกันได้ ไม่ต้องห่วงว่าชาวบ้านจะไม่รู้เรื่อง

น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวว่า คำว่าเสียของ ของในที่นี้น่าจะหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งหลักการทำประชามติและประชาธิปไตย ซึ่งหลักการนี้มันไปด้วยกันไม่ได้กับเจตนารมณ์ของรัฐประหาร มันคนละเรื่องกัน หากจะตอบโจทย์ทั้ง 2 อย่าง คงจะทำไม่ได้ด้วยการทำประชามติครั้งนี้ ดังนั้นเราต้องเลือกสักอย่าง ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องรักษาไว้ไม่ให้เสียของที่สุด คือหลักการทำประชามติและประชาธิปไตย โดยการทำประชามติดังกล่าว กลุ่มเสนอไว้ 2 ส่วน

ส่วนแรก ขั้นตอนก่อนการทำประชาติ จะต้องให้มีการรณรงค์และแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี ต้องยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ต้องเปิดเวทีและโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่หากเกิดการทำประชามติโดยไม่เปิดให้รณรงค์ ทางกลุ่มก็พร้อมที่จะบอกว่าไม่รับการทำประชามติแบบนี้ เพราะขณะนี้ก็เห็นว่าฝ่ายรัฐประหารมีเครื่องมือเป็นสื่ออยู่ในมือมากมาย แต่ฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหาร กลับไม่มีเครื่องมือในมืออย่างเพียงพอ แน่นอนว่ามันไม่ยุติธรรม

ส่วนที่ 2 ข้อเสนอในการทำประชามติ หากผลการทำประชามติออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งต่อไป แต่หากประชาชนส่วนใหญ่ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ จะเรียกร้องไม่ให้กลับไปสู่วงจรเดิม จะไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง (กมธ.ยกร่างฯ) โดย คสช. อีกแล้ว แต่จะให้ยุบองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กมธ.ยกร่างฯ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วเลือกสภายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ให้มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาอีกฉบับ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติอีกครั้ง

“ถามว่าการทำประชามติควรจะทำทั้งฉบับหรือรายมาตรา ส่วนตัวมองว่า การทำประชามติรายมาตราไม่ได้ตอบโจทย์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีปัญหาแค่ตัวบทอย่างดียว แต่มีปัญหาเรื่องที่มา เพราะไม่ได้มาจากองค์กรที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน แต่มาจากการองค์กรที่ยึดอำนาจ” น.ส.ปองขวัญกล่าว

นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่สูตรสำเร็จ ไม่ใช่สิ่งที่ออกมาแล้วจะเป็นหลักประกันแน่นอนว่าจะมีผลทุกเรื่องต่อประชาชน หลายเรื่องเขียนไว้ดีก็ไม่มีผลเชิงปฏิบัติ แต่สิ่งที่คนเรียนรู้จากหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 คือต้องไม่ปล่อยให้รัฐธรรมนูญอยู่ในมือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการยกร่าง หากรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนเรื่องต่อรองกันในสถานการณ์หนึ่ง ยิ่งภาคประชาชนเข้มแข็งแค่ไหน การต่อรองก็จะดีขึ้น

ดังนั้น ต้องพูดเรื่องทำประชามติต่อ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อจำกัดในการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมาก ส่วนประชามติจะเสียของหรือไม่ ประชาชนต้องร่วมกันพูดว่าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อาจไม่ได้ออกมาดีที่สุด แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามากที่สุดในแง่เนื้อหา เท่ากับเอาประชาชนมาถ่วงดุล และจะทำให้ กมธ.ยกร่างฯ ต้องตรวจสอบตัวเอง และรับฟังเสียงต่างๆ มากขึ้น

“หากทำประชามติทั้งฉบับ จะไม่วุ่นวายและสับสน แต่หากกำหนดประเด็นออกมาชัดแล้ว ควรจะทำประชามติเป็นประเด็นด้วย เพื่อจะได้ความคิดเห็นที่น่าสนใจในแต่ละประเด็น แล้วจะกลายเป็นข้อที่นำไปพัฒนาต่อได้” นางสุนีกล่าว

prachamati

ชาวเน็ตหนุนตั้ง ส.ส.ร. เอง หากร่าง รธน. ไม่ผ่านประชามติ

วันเดียวกัน ทีมงานเว็บไซต์ประชามติ ได้เปิดผลสำรวจของเว็บที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. – 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ต่อคำถามที่ว่า “หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ​ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?” มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโหวต 1,000 คนเศษ ในแต่ละข้อ ผลลัพธ์เป็นดังนี้

(1) ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ – เห็นด้วย 84% ไม่เห็นด้วย 16%

(2) ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กลับมาใช้ – เห็นด้วย 20% เห็นด้วย 80%

(3) ให้ประชาชนเลือกสภายกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) – เห็นด้วย 87% ไม่เห็นด้วย 13%

(4) ให้ คสช. แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ – เห็นด้วย 14% ไม่เห็นด้วย 86%

(5) ให้ สนช. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ – เห็นด้วย 13% ไม่เห็นด้วย 87%

(6) ให้ คสช. หยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา – เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย 74%

ทั้งนี้ มีการสำรวจความเห็นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มาใช้งานผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊กประชามติ รวม 777 ความเห็น พบว่ามี 6 ประเด็นหลักที่มีผู้ให้ความเห็น ได้แก่

– หากประชามติไม่ผ่าน ให้มีการนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยประชาชนจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

– หากประชามติไม่ผ่าน ให้มีการนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือ พ.ศ. 2550 ฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขจุดอ่อนและนำกลับมาใช้ใหม่

– หากประชามติไม่ผ่าน ให้มีการนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาใช้ แล้วเลือกตั้งใหม่

– หากประชามติไม่ผ่าน ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.

– หากประชามติไม่ผ่าน ให้ คสช. ร่างใหม่ต่อไป

– หากประชามติไม่ผ่าน ให้นำรัฐธรรมนูญทหารมาปรับใช้ เพื่อให้เปิดช่องสำหรับการเลือกตั้ง