ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.ยิ่งลักษณ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีจ่ายเงินเยียวยาม็อบไม่ชอบจาก ป.ป.ช. แค่ 10 ราย “ยิ่งลักษณ์-เฉลิม” ไม่มา ส่งหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์แทน

ครม.ยิ่งลักษณ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีจ่ายเงินเยียวยาม็อบไม่ชอบจาก ป.ป.ช. แค่ 10 ราย “ยิ่งลักษณ์-เฉลิม” ไม่มา ส่งหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์แทน

30 มิถุนายน 2015


ครม.ยิ่งลักษณ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีจ่ายเงินเยียวยาม็อบไม่ชอบจาก ป.ป.ช. แค่ 10 ราย “ยิ่งลักษณ์-เฉลิม-กิตติรัตน์” ไม่มา ส่งหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์แทน – ยกคำร้องคัดค้านอนุไต่สวนของ “อนุดิษฐ์”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.ปู 3) ถ่ายรูปหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.ปู 3) ถ่ายรูปหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2555

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงความคืบหน้าคดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ว่า

ตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ให้แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี รวม 34 ราย กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9, 23, 25 , 29 และวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นั้น ปรากฏว่า

มีผู้ถูกกล่าวหาที่ “มาทราบข้อกล่าวหาหรือได้ส่งตัวแทนมารับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว” มีจำนวน 10 ราย ดังนี้

  1. น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มารับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558
  2. นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มารับเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558
  3. นายธีระ วงศ์สมุทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มารับเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558
  4. นางนลินี ทวีสิน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558
  5. พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกรัฐมนตรี มารับเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558
  6. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มารับเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558
  7. นางสุกุมล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มารับเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558
  8. นายวิทยา บูรณศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มารับเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
  9. ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มารับเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
  10. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มารับเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558

มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 1 ราย คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย “ไม่สามารถส่งหนังสือขอให้มารับทราบข้อกล่าวหาได้” จึงต้องดำเนินการส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต่อไป

มีผู้ถูกกล่าวหาที่มีหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และที่ประชุมได้พิจารณาให้เลื่อน โดยกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้ง ในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่ปรากฏว่า “ไม่มารับทราบข้อกล่าวหา จึงต้องส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ทางไปรษณีย์” จำนวน 8 ราย ได้แก่

  1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
  2. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
  3. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี
  4. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  5. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  6. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  7. นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  8. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

มีผู้ถูกกล่าวหาที่มีหนังสือ “ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และที่ประชุมได้พิจารณาให้เลื่อน” โดยกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้ง ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เวลา 14.00 น. จำนวน 13 ราย ได้แก่

  1. นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
  2. พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
  3. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  4. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  6. นายฐานิสร์ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  7. พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  8. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  9. นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
  10. นายศักดา คงเพชร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  11. นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  12. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
  13. นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทั้งนี้ หากผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นไม่มารับทราบข้อกล่าวหาตามกำหนด จะต้องดำเนินการส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต่อไป

ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 2 ราย คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีกำหนดให้มารับทราบข้อกล่าวหาในที่ 30 มิถุนายน 2558 ปรากฏว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ได้มายื่นหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 อ้างว่าคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ 442/2556 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้เข้าพบคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด เห็นว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ณ์ชัยกุล เพียงมายื่นหนังสืออ้างว่าคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้มาพบคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จึงถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่มารับทราบข้อกล่าวหา และได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหา  ทั้งสองรับทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต่อไป

เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวอีกว่า ส่วนการยื่นคัดค้านคณะอนุกรรมการไต่สวน ตามที่ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ผู้ถูกกล่าวหา ได้มีหนังสือลงวันที่ 29 มิถุนายนมิถุนายน 2558 ขอคัดค้านและเปลี่ยนหรือถอนตัวคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยอ้างเหตุว่า น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญา คณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นจำเลย และ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นผู้หนึ่ง ในคณะรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการทั้ง 11 คน อนุกรรมการทั้งสิบเอ็ดคนดังกล่าว  จึงตกเป็นผู้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 46 (3) และตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 11 (3) ซึ่งห้ามมิให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา กล่าวคือ อนุกรรมการนั้นถูกฟ้องดำเนินคดีอาญา มาทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีของ น.อ. อนุดิษฐ์  นาครทรรพ ได้อีก ซึ่งจะทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ได้ความจริงและความยุติธรรม นั้น

“คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าเหตุแห่งการคัดค้านตามมาตรา 46 (3) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 จึงมีมติให้ยกคำคัดค้านดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ผู้คัดค้านทราบต่อไป” นายสรรเสริญกล่าว