“ประยุทธ์” ย้ำไม่ตั้งศูนย์พักพิงโรฮิงญาในไทย พร้อมคุยนานาประเทศ 29 พ.ค. นี้ แก้ปัญหาต้นทางยันปลายทาง ด้าน ครม. เห็นชอบ “เกษมสันต์ จิณณวาโส” เป็นปลัด ทส. คนใหม่ – อนุมัติ เซ็น MOC ไทย-ญี่ปุ่น ทำรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา ก่อนการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ว่า ไทยจะดำเนินการเป็นประเทศต้นแบบในการช่วยเหลือผู้อพยพดังกล่าว โดยจะจัดตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำ และให้มีกำลังทางอากาศบินลาดตระเวนเพื่อชี้เป้าหมายสำหรับให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหากประเทศใดต้องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็สามารถประสานมายังไทยได้ เพราะถือว่าอยู่ในพื้นที่ความดูแลของไทย โดยจะเสนอวิธีการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 นี้ด้วย
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนได้สั่งการไปยังกระทรวงการต่างประเท และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องแนวทางช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญา ประการแรกต้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รู้ว่าไทยได้จัดตั้งศูนย์อพยพมานานแล้ว ปัจจุบันมีผู้อพยพอยู่ 1.4 หมื่นคน แต่ได้หารือกับเพื่อนบ้านว่าหากมีความพร้อมก็จะส่งผู้อพยพไปยังประเทศปลายทางต่อไป ซึ่งการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามกติกาของยูเอ็น คือยึดหลักความสมัครใจของผู้อพยพเป็นหลัก แต่ปัญหาในเวลานี้คือชาวโรฮิงญายังไม่แสดงความสมัครใจใดๆ
“ทุกประเทศในโลกมีหน้าที่ต้องดูและมนุษยชาติของโลก ประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก แล้วจะดูแลอย่างไร เรื่องนี้ผมชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อพบเรือในเขตรอยต่อ ต้องสอบถามเขาว่าจะไปไหน เขาสมัครใจหรือไม่ที่จะเข้ามาพำนักในประเทศไทย หากไม่สมัครใจก็ไปบังคับเขาไม่ได้ ก็ต้องไปหาประเทศปลายทางมาว่าเขาต้องการไปไหน ระหว่างทางก็ต้องมีการจัดระเบียบว่าจะต้องทำอะไร”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า หากพบเจอผู้เรือผู้อพยพลอยลำกลางทะเลก็ต้องให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ทั้งเรื่องอาหาร ยา และน้ำมัน เป็นการอำนวยความสะดวก แต่ไม่สามารถบังคับให้ผู้อพยพเหล่านั้นมาขึ้นฝั่งในประเทศไทยได้หากเขาไม่ต้องการ ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย หากจำเป็นต้องนำเข้ามารักษาในประเทศไทย กติกาสากลก็ระบุว่าจะต้องนำมาพร้อมกันทั้งครอบครัว ไปแยกเขาไม่ได้ แต่เมื่อรักษาเสร็จแล้วก็ต้องทำตามกฎหมายไทยเรื่องลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ควบคุมตัว ส่งฟ้องศาล และส่งกลับประเทศต้นทาง แต่หากชาวโรฮิงญาไม่สมัครใจกลับประเทศต้นทาง ก็ไม่สามารถบังคับได้
ย้ำไม่ตั้งศูนย์พักพิงโรฮิงญา – “อินโดฯ-มาเลย์” พร้อมรับระยะแรก
นายกฯ ยังกล่าวว่า ปัจจุบัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์: UNHCR) ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย จำนวน 9 ศูนย์ มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาอยู่ในความดูแลของยูเอ็นเอชซีอาร์ทั้งหมด ต้องควบคุมคนเหล่านั้นอยู่ในศูนย์ ไม่สามารถนาเป็นแรงงานได้ แต่จะมีการฝึกอาชีพอยู่ในศูนย์ เพื่อที่เมื่อมีการส่งตัวไปประเทศอื่นจะได้ทำงานได้
“ผมยืนยันมาเป็น 100 ครั้งแล้วว่า จะไม่มีการตั้งศูนย์พักพิงขึ้นในประเทศไทย หลังจากได้หารือกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย หากผู้อพยพไม่สมัครใจจะเดินทางกลับประเทศต้นทาง หลังดำเนินการทางกฎหมาย จะต้องส่งตัวไปยังศูนย์พักพิงระยะที่หนึ่งใน 2 ประเทศดังกล่าว โดยยูเอ็นจะให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ ส่วนเรื่องอื่นต้องไปหารือในการประชุมวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 นี้”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า หน้าที่ของประเทศไทยในฐานะประเทศกลางทาง จะมีแค่ 4 อย่าง คือ อำนวยความสะดวก แก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ดูแลเรื่องมนุษยธรรม และดำเนินการหากทำผิดกฎหมายของไทย มีแค่นั้น ประเทศต้นทางจะต้องแก้ไขอย่างไร ต้องมีการหารือกัน ถ้ายากจน ยูเอ็นก็ต้องไปหาวิธีทำให้เขามีอยู่มีกิน จะได้ไม่มีการอพยพอีก ส่วนประเทศปลายทาง ระยะแรก 2 ประเทศในอาเซียนก็รับไป ส่วนระยะต่อไปจะส่งไปยังประเทศใดต่อ ยังต้องหารือกันอีก
พล.อ. ประยุทธ์ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้มีมติแต่งตั้ง พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนใหม่
ไฟเขียวคมนาคม เซ็น MOC กับญี่ปุ่น ทำรถไฟเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่
สำหรับผลการประชุม ครม. ที่สำคัญ
พล.ต. วีรชน แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperate: MOC) ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมอบหมายให้ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นตัวแทนฝ่ายไทยในการลงนามดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคม 2558
สาระสำคัญของร่าง MOC ดังกล่าวคือ จะให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนใน 2 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยจะใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น ส่วนรูปแบบการลงทุนและความช่วยเหลือด้านการเงินจะต้องพิจารณาอีกครั้ง โดย 2 ประเทศจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ การออกแบบรายละเอียด และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเร็ว และ 2. การพัฒนาระบบรางเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ ทั้งนี้ กระทรวงที่ดินฯ ร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) จะเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบรายละเอียดโดยเร็ว
นอกจากนี้ จะศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการอื่นๆ อาทิ เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร การให้บริการขนส่งสินค้าทางราง ฯลฯ ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง คค. ของไทยรับทราบข้อเสนอของกระทรวงที่ดินฯ ของญี่ปุ่น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนงาน
“ทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเรื่องกรอบระยะเวลาการดำเนินการตามความร่วมมือข้างต้น ภายใน 1 เดือนหลังลงนามใน MOC ฉบับนี้” พล.ต. วีรชน กล่าว
ตั้ง “เกษมสันต์ จิณณวาโส” เป็นปลัด ทส. คนใหม่
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.), นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ผู้ตรวจการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองปลัด, นายอนันต์ ลิลา รองปลัด เป็นผู้ตรวจการ และนายเสริมสกุล คล้ายแก้ว รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้ว่าการ กฟภ.
ไฟเขียว พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ เพิ่มอายุผู้ซื้อขั้นต่ำเป็น 20 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ อาทิ ปรับปรุงนิยามคำว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ อาทิ มอระกู่ มอระกู่ไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์, กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี, เพิ่มอัตราโทษกรณีขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ จากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นมีโทษไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท และกรณีสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ จากเดิมมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 5,000 บาท, ห้ามการโฆษณาและสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น ห้ามการแสดงชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสื่อต่างๆ เป็นต้น
เห็นชอบ กม.ขายตรง ต้องมีเงินชดเชยผู้บริโภค – ห้ามโฆษณาเกินจริง
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการผู้ครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่างกฎหมายขายตรงฯ ฉบับใหม่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และเพื่อให้มีหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองอันเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงฯ มีสาระสำคัญอาทิ ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงฯ ต้องจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ให้มีการวางหลักประกันรวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ผู้บริโภค กำหนดบทลงโทษกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงฯ โฆษณาเกินจริง เป็นต้น ทั้งนี้จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
คลอดยุทธศาสตร์ร่วมทุนกับเอกชน 5 ปี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558-2562 โดยมีการแยกประเภทกิจการออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-out) มีจำนวน 6 กิจการ ประกอบด้วย 1. กิจการขนส่งมวลชนทางรางในเมือง 2. กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง 3. กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า 4. กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 5. กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม และ 6. กิจการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
กลุ่มที่ 2 กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-in) มีจำนวน 14 กิจการ ประกอบด้วย 1. กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง 2. กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแผกและกระจายสินค้า 3. กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม 4. กิจการพัฒนาธุรกิจและบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน 5. กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ 6. กิจการพัฒนาระบบชลประทาน 7. กิจการพัฒนาระบบจัดการมูลฝอย 8. กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ 9. กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข 10. กิจการพัฒนาด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 11. กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 12. กิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล 13. กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ และ 14. กิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
“ในกลุ่มที่ 1 จะต้องให้เอกชนร่วมลงทุนด้วย แต่ในกลุ่มที่ 2 จะให้เอกชนร่วมลงทุนหรือไม่ก็ได้ รวมทั้ง 20 กิจการ มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 65 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท” พล.ต. สรรเสริญกล่าว
ทบทวนสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งแหลมฉบัง
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบในหลักการ ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) วงเงิน 1,864 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดย กทท. จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด และให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และจ่ายเงินให้กับ กทท. เป็นเวลา 10 ปี แต่นายกฯ มีข้อท้วงติงว่าการดำเนินการเช่นนี้ในต่างประเทศจะต้องให้เอกชนมาเป็นผู้ร่วมลงทุนก่อสร้างกับรัฐด้วย ไม่ใช่ให้รัฐลงทุนฝ่ายเดียว จึงขอให้กลับไปปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดอัตราค่าภาระ (ค่ายกและเคลื่อนย้ายตู้สินค้า) ขั้นต่ำและขั้นสูง ในอัตรา 1,545 บาท และ 3,180 บาท ตามลำดับ
กู้ กสทช. 1.43 หมื่นล้าน ลงทุนน้ำ-ถนน
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า จากกรณีที่ คสช. เคยมีคำสั่งที่ 80/2557 เรื่อง เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือกฎหมาย กสทช. โดยมีสาระสำคัญคือให้รัฐบาลสามารถกู้เงินจากค่าประมูลคลื่นความถี่หรือจากกองทุนของ กสทช. มาดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ ที่ประชุม ครม. จึงได้มีมติให้กู้เงินจากค่าประมูลคลื่นความถี่และกองทุนของ กสทช. เป็นเงินกว่า 1.43 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในโครงการก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำและการสร้างถนน โดยสำนักงาน กสทช. คิดดอกเบี้ย 0% ทำให้ประหยัดงบดอกเบี้ยได้มากกว่าการกู้สถาบันการเงินถึง 560 ล้านบาท