ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่19): ชี้แรงงานถูกเอาเปรียบด้านสุขภาพ

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่19): ชี้แรงงานถูกเอาเปรียบด้านสุขภาพ

30 พฤษภาคม 2015


เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ระบุแรงงานไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมในประเด็นสุขภาพจากการทำงานมาตลอด โดยเฉพาะโรคเหตุแร่ใยหิน แม้ว่ามีกฎหมายกำหนดชัดเจน แต่ผู้ประกอบการก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในขณะที่หากคนงานสุขภาพไม่ดี ทำงานไม่ได้ ก็จะถูกเลิกจ้าง และได้ค่าชดเชยไม่คุ้มค่า

นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาเครือข่ายฯ ทำงานด้านแรงงานที่ป่วยจากการทำงานมานานแล้ว โดยเฉพาะแรงงานที่ป่วยจากฝุ่นฝ้าย แต่สำหรับเรื่องแร่ใยหินเพิ่งเข้าร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย หรือ “ทีแบน” ในปี 2554 โดยทำหน้าที่ประสานเครือข่ายทั้งหมดที่มีกว่า 50 กลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยการติดตามความคืบหน้าของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีสังคมไทยไร้แร่ใยหินในปี 2554

นางสมบุญกล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานพบผู้ป่วยมะเร็งจากการทำงานมาตลอด และส่วนใหญ่เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ซึ่งทางสภาเครือข่ายฯ ทำได้แค่ให้กำลังใจ เพราะคนงานไม่มีชีวิตอยู่นานพอที่จะพิสูจน์โรคได้ รวมถึงยังไม่รู้จักทีมแพทย์เพื่อมาวินิจฉัยโรคด้วย จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมากและในวันนี้โรคเหล่านี้ก็ยังไม่หยุด รวมถึงการรื้ออาคารที่มีวัสดุแร่ใยหินหากไม่มีการป้องกันก็อาจจะเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ภาครัฐต้องยืนอยู่บนความถูกต้องและไม่ตกอยู่ในอิทธิพลใดๆ และต้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมถึง 5 ครั้ง กว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 ว่าไครโซไทล์อันตราย แม้ว่าก่อนหน้านี้การประชุมทั้ง 4 ครั้ง มีข้อสรุปว่าแร่ใยหินไม่อันตรายมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ทราบกันมานานแล้วว่าแร่ใยหินนั้นอันตรายและเป็นสารก่อมะเร็งตามประกาศขององค์การอนามัยโลก และยังเห็นว่า ปัญหาที่ปัจจุบันยังยกเลิกแร่ใยหินไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เร่งดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อออกประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยโดยเร็ว

“วันนี้มีความหวังว่า คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทหาร คงไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร จึงอยากให้ท่านสนใจเรื่องนี้ด้วยตัวเองเพราะไม่แน่ใจว่าคนอื่นมีอำนาจตัดสินใจแค่ไหน โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องแร่ใยหินน่าจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้เวลาหลายปี และควรจะส่งข้อห่วงกังวลนี้ไปให้ถึงนายกรัฐมนตรี” นางสมบุญกล่าว

กองทุนทดแทนที่แรงงานถูกกีดกัน

ด้านกองทุนทดแทนก็ไม่สามารถขอเงินชดเชยได้ทุกโรค เพราะโดยปกติคนงานจะใช้สิทธิรักษาจากประกันสังคม ซึ่งเป็นสิทธิรักษานอกงาน จึงไม่มีการยื่นเรื่องเข้ากองทุนทดแทนและการวินิจฉัยโรค ปัจจุบัน จริงๆ แล้วคนงานที่จะได้รับการวินิจฉัยโรคต้องไปที่คลินิกโรคจากการทำงานซึ่งต้องยื่นเรื่องกับกองทุนทดแทน ในขณะที่นายจ้างจะพยายามหลบเลี่ยงโดยการให้ลูกจ้างไปรักษาโดยใช้สิทธิประกันสังคมหรือรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแทนคลินิกโรคจากการทำงาน เพื่อลดสถิติการเกิดโรคหรืออุบัติเหตุในการทำงานให้เป็น zero accident ตามที่กระทรวงแรงงานมีนโยบายจัดประกวด ทำให้โรงงานหลายแห่งปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพหรือเลิกจ้างคนงานทันทีหากพบโรค

นอกจากนี้ การเหมาช่วงแรงงาน ยังทำให้ลูกจ้างขาดอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ดังนั้นทางสภาเครือข่ายฯ จึงพยายามยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาช่วง รวมถึงยังพยายามช่วยแรงงานข้ามชาติที่มักไม่ได้รับสิทธิใดๆ ในกรณีที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการทำงานด้วย ซึ่งพวกนี้ถ้านายจ้างไม่เอาเข้ากองทุนทดแทนจะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะคนงานทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพียงแต่การเรียกร้องของคนงานมีอำนาจไม่เท่าทัน

ทั้งนี้ โรคจากการทำงานในวันนี้มีจำนวนมาก โดยเฉพาะโรคโครงสร้างกระดูกในคนงานที่ทำงานอยู่คลังสินค้า ซึ่งยังไม่มีกฎหมายครอบคลุมเรื่องการยกของเทินสูง ในขณะที่เมื่อสุขภาพคนงานมีปัญหานายจ้างก็เลิกจ้าง

กองทุนทดแทนเกิดจากคณะปฏิวัติในปี 2516 และประกาศเป็นพระราชบัญญัติในปี 2537 ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดๆ ส่วนคลินิกโรคจากการทำงานนั้นทางสภาเครือข่ายฯ เรียกร้องให้ก่อตั้งซึ่งต่อมากระทรวงแรงงานโดยกองประกันสังคมทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วเปิดเป็นคลินิกโรคจากการทำงานครั้งแรก 24 แห่ง ต่อมาเพิ่มอีก 34 แห่ง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมี 82 แห่งแล้ว โดยคลินิกดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนซึ่งมีที่มาจากดอกผลของกองทุนทดแทนประมาณร้อยละ 22 หรือประมาณ 200 ล้าน เพื่อจัดสรรให้กับคลินิกโรคจากการทำงานทั้ง 82 แห่ง แห่งละ 1.7-3 แสนบาท รวมถึงสนับสนุนโครงการสัปดาห์ความปลอดภัยประมาณ 1 ล้านบาท ที่จัดโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

“การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้กฎหมายหรือมีส่วนร่วมทางนโยบายมีน้อยมาก ผู้ประกอบการมักไม่ค่อยจะเผยแพร่ข้อมูลประกันสังคมและมักจะปกปิดข้อมูลกองทุนทดแทนไม่ให้คนงานรู้ ส่วนเรื่องการจัดอบรมคนงานนั้น เงินก้อนจะอยู่ที่สภาแรงงาน แล้วสภาจะจ่ายให้กับสหภาพแรงงาน โดยมีข้อแม้ว่าสหภาพต้องเชิญวิทยากรจากประกันสังคมมาบรรยาย กล่าวคือ มีเจตนาให้แรงงานรู้และเข้าใจแต่เพียงสิทธิประกันสังคมเพียงอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงสิทธิจากกองทุนทดแทน จึงทำให้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้วคนงานยังไม่รู้จักและเข้าไม่ถึงกองทุนทดแทน”นางสมบุญกล่าว

info-แร่ใยหินแยกส่วน4-1

ปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินในคนงาน

การตรวจโรคเหตุแร่ใยหินในสถานประกอบการนั้น คือตรวจตามกฎหมายกำหนด ไม่ใช่เพื่อสุขภาพของคนงาน ดังนั้น หากสหภาพแรงงานไหนมีความรู้เท่าทันและเชื่อมโยงเครือข่ายกับเราได้ก็จะเรียกร้องกับผู้ประกอบการ ซึ่งบางโรงงานก็ตอบรับ บางโรงงานก็ปฏิเสธ แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะกลัวและพยายามบังคับให้ลูกจ้างไปตรวจกับโรงพยาบาลที่ประสานงานกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผลออกมาว่าไม่ได้ป่วยจากการทำงาน

บางกรณีผลการวินิจฉัยโรคของแพทย์ก็ไม่ได้ระบุว่าป่วยจากการทำงาน เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น 1. แพทย์วินิจฉัยตามอาการทั่วไป ไม่มีการวินิจฉัยเจาะลึกแบบละเอียด เนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญหรือไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางของโรค 2. การลงบันทึกประวัติผู้ป่วยของแพทย์จะลงบันทึกว่าเจ็บป่วยทั่วๆ ไป โดยไม่ระบุสาเหตุของโรค

เมื่อสังคมรับรู้ว่าแพทย์ต้องวินิจฉัยโรค แต่เมื่อแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยหรือระบุสาเหตุของโรคแล้วผู้ป่วยจะทำอะไรได้ แต่ทั้งนี้ลูกจ้างสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ โดยเขียนเล่าประวัติการทำงานของตนเองและหลักฐานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมจากการทำงานเพื่อไปฟ้องร้องต่อศาล แต่ก็ติดปัญหาคือคนงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้ เช่น ใบรับรองแพทย์ ส่วนใหญ่ก็ยื่นให้นายจ้างทั้งหมด ไม่ได้เก็บไว้กับตัว

การทำงานของสภาเครือข่ายฯ เพื่อแรงงานที่ป่วยจากแร่ใยหิน

ปัจจุบันสภาเครือข่ายฯ มีคนงานที่ทำงานเกี่ยวกับแร่ใยหินหลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานก่อสร้างมากกว่าแรงงานในสถานประกอบการแร่ใยหินโดยตรง ซึ่งในตอนแรกคนงานขาดความรู้เรื่องแร่ใยหิน แต่หลังจากทางสภาเครือข่ายฯ มาทำงานช่วยเหลือเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนงานและจัดอบรม ก็ทำให้คนงานตระหนักรู้มากขึ้นและมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนยังต้องรอผู้นำอยู่

นางสมบุญกล่าวว่า ด้านผู้ประกอบการนั้น สิ่งที่คำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือต้นทุนต่ำและผลกำไรสูง ในขณะที่สหภาพแรงงานคำนึงถึงสุขภาพของคนงานเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงคิดว่าไม่น่าเกลียดหากจะกล่าวว่านายจ้างมีจำนวนน้อยมากที่จะจริงใจต่อพนักงาน เนื่องจากมองว่าพนักงานเป็นส่วนประกอบของการผลิต เป็นเครื่องจักรในการผลิต แต่ผู้ประกอบการที่ดีก็มีอยู่บ้างแต่หาได้น้อย

“คนจนมีอุปสรรคในการเคลื่อนไหว เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ การลงทุนลงแรงไปติดตามหน่วยงานราชการก็ต้องขาดงาน ซึ่งเรามีแต่เสีย แต่ที่ต้องก้าวเดินต่อไปเพราะคิดว่ามีโอกาสที่จะรู้และจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำก็คงไม่มีใครมาทำ คนจนต้องต่อสู้ เรียกร้อง ผลักดัน จะรอให้ผู้บริหารประเทศมองเห็นเองหรือรอนายทุนใจดีเข้ามาช่วยเหลือไม่มีจริงในสังคมไทย ดังนั้นเราจึงต้องเรียกร้อง ซึ่งกระแสสังคมไทยน่าจะเข้าใจได้ว่าการเรียกร้องของเราไม่ใช่เพราะอคติที่มีต่อนายทุน แต่ในเมื่อนานาประเทศยกเลิกกันมากแล้ว ประเทศสูญเสียมามากแล้ว ก็น่าจะคืนความสุขให้ประชาชนบ้างในส่วนของเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน” นางสมบุญกล่าว

แร่ใยหินไม่ได้กระทบแค่คนงานแต่ส่งผลกระทบทางสุขภาพถึงครอบครัวของเขา ทั้งนี้ ประเทศไทยมักอ้างว่าเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมถึงให้คนจนที่ไม่มีทางสู้ต้องมาดิ้นรนเพื่อการคุ้มครองตัวเอง ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่ารัฐต้องคุ้มครองประชาชน ซึ่งก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ต้องลุกขึ้นต่อสู่เพื่อตัวเอง ให้มีปัจจัย 4 และความปลอดภัยในการมีชีวิตอยู่ เช่น กรณีแม่เมาะ กรณีคลิตี้ ฯลฯ ซึ่งสังคมวันนี้โหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม แม้ว่ามีเครื่องมือหลายๆ อย่างที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้

นอกจากนี้ รัฐบาลหรือกระทรวงแรงงานจะผูกติดกับสภาแรงงาน สภาแรงงานก็มีคณะกรรมการคนเดิมๆ วนเวียนซ้ำหน้ากันมากว่า 40 ปี ทำให้มีคนที่ทำงานอย่างจริงจังและรู้ปัญหาอย่างแท้จริงนั่งอยู่ในสภาแรงงานน้อย ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “วิธีการที่ป้องกันอำนาจของตัวเอง”

นางสมบุญกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสภาเครือข่ายฯ บริหารจัดการด้านความปลอดภัยโดยทำหลักสูตรฝึกอบรมคนงานใน 8 พื้นที่ตั้งแต่ปี 2551 เช่น อยุธยา รังสิต สระบุรี อ้อมน้อย ระยอง ฉะเชิงเทรา ฯลฯ จนกระทั่งวันนี้มีผู้นำที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วสามารถเข้าไปต่อรองและเคลื่อนไหวในคณะกรรมการความปลอดภัยระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้

ขาดองค์กรสนับสนุน อุปสรรคสำคัญของสภาเครือข่ายฯ

นางสมบุญกล่าวว่า ตนเองเคยถูกข่มขู่ หรือมีคนปลอมตัวเป็นนักข่าวโทรมาขอสัมภาษณ์ แต่เมื่อพูดอะไรไม่ดีออกไปก็โดนฟ้องหมิ่นประมาทและถูกขังที่สถานีตำรวจเป็นวันๆ จนกว่าจะหาเงินมาประกันตัวได้ บางครั้งก็มีคนขับรถตามประกบบ้าง โทรมาขู่โดยตรง หรือแฟกซ์เอกสารมาบอกให้ถอนฟ้องบ้าง หรือเมื่อทางสภาเครือข่ายฯ ทำแผ่นพับข้อมูลด้านสุขภาพก็มาถูกสั่งห้ามติดประกาศและแจกคนงาน เพื่อปิดหูปิดตาคนงาน แบบนี้ก็มี

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่สำคัญคือไม่ค่อยมีใครสนับสนุนการทำงานของสภาเครือข่ายฯ ซึ่งอาจเป็นเพราะความกลัว อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วสภาเครือข่ายฯ อยากทำงานเชิงป้องกัน เพราะปัญหาสามารถป้องกันได้ หากเจอปัญหาและรับฟังปัญหาแต่เนิ่นๆ แต่ถ้าไม่เปิดทัศนคติและไม่รับฟังปัญหาแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายลง จึงเสนอให้มีการจัดฝึกอบรมและประสานเครือข่ายฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไขนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของคนงาน ซึ่งเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง