ThaiPublica > คอลัมน์ > ลี กวน ยิว กับปาฐกถาสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเมืองโปร่งใส (ตอนที่ 2)

ลี กวน ยิว กับปาฐกถาสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเมืองโปร่งใส (ตอนที่ 2)

18 เมษายน 2015


Hesse004

ต่อจากตอนที่แล้ว

การดำเนินการอย่างเข้มแข็งในช่วงแรกๆ ของรัฐบาลลี กวน ยิว และ CPIB ดูแล้วเป็น “ยาขม” สำหรับข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อนานวันเข้า ความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายส่งผลดีในระยะยาว เพราะทุกครั้งที่มีการจัดอันดับประเทศที่มีความโปร่งใส ปราศจากทุจริตคอร์รัปชัน สิงคโปร์จะติดอันดับต้นๆ อยู่เสมอ

ลี กวน ยิว ตำนานผู้สร้างสิงคโปร์ยุคใหม่ให้กลายเป็นเมืองโปร่งใส ที่มาภาพ :https://cnngps.files.wordpress.com/2011/10/lee-kuan-yew.jpg
ลี กวน ยิว ตำนานผู้สร้างสิงคโปร์ยุคใหม่ให้กลายเป็นเมืองโปร่งใส
ที่มาภาพ :https://cnngps.files.wordpress.com/2011/10/lee-kuan-yew.jpg

หากนับเฉพาะในเอเชียแล้ว สิงคโปร์ คือ “เต้ย” ที่ผูกขาดเรื่องความโปร่งใส จนยากที่จะหาชาติใดมาต่อกรได้

ลี กวน ยิว เชื่อว่า การรักษากฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งต่างหากที่ทำให้สามารถลดปัญหาคอร์รัปชันลงได้จริง มิใช่เพียงแค่ “ลูบหน้า ปะจมูก” หรือ ตีฝีปาก แอบอ้างคุณธรรม คุณงามความดี ไปวันๆ

…เพราะปัญหาคอร์รัปชันมิได้แก้ด้วยการ “โต้วาที” หากแก้ด้วยการใช้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง

ตลอดระยะเวลา 31 ปี ที่ ลี กวน ยิว ครองอำนาจ มีบททดสอบความเข้มแข็ง “จิตใจ” หลายเรื่องในการใช้อำนาจจัดการปัญหาคอร์รัปชัน (ดูรายละเอียดในกล่องข้อมูล) แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่เขาตัดสินใจนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่าเขาเลือกที่จะยึดหลักกฎหมายมากกว่าที่จะช่วยเหลือพวกพ้องเพื่อนฝูง

อย่างไรก็ดี หากนำชุดความคิดที่ว่า “การครองอำนาจผูกขาดที่ยาวนาน (Monopoly) คือ ต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่การคอร์รัปชันแล้ว” กรณีการบริหารประเทศของ ลี กวน ยิว และ PAP ก็เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันว่า หน้าฉากที่ว่าโปร่งใสนั้น หลังฉากจะโปร่งใสจริงหรือไม่

…เพราะคนตระกูลลี ล้วนแล้วแต่ครองทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) บุตรชายคนโต ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน นางโฮ ชิง (Ho Ching) สุภาพสตรีหมายเลข 1 ภรรยาของลี เซียน ลุง ที่ดำรงตำแหน่งประธาน CEO ของกลุ่มเทมาเส็ก หรือจะเป็นนายลี เซียน หยาง (Lee Hsien Yang) บุตรชายคนที่สามของ ลี กวน ยิว ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธาน CEO ของ Singtel บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์

คดีทุจริตคอร์รัปชันสำคัญที่สร้างความลำบากใจให้กับ ลี กวน ยิว

ในช่วงที่ ลี กวน ยิว ครองอำนาจนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าพรรค PAP เขาเผชิญบททดสอบที่ท้าทายในการเลือกระหว่าง “มิตรภาพ” กับ ความเด็ดขาดที่ต้องยืนอยู่บนความถูกต้องในการยึดหลักกฎหมาย มีคดีทุจริตอยู่ 4 เรื่องที่สร้างความลำบากใจให้กับ ลี กวน ยิว เป็นอย่างมาก ได้แก่

ปี 1966 ลี กวน ยิว สั่งปลดนาย ตัน เกีย กัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ นายตันเป็นเพื่อนสนิทของนายลี แต่ภายหลัง นายตันมีส่วนพัวพันกับการรับสินบนจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง ทำให้นายลีต้องตัดสินใจเลือกความถูกต้องไม่ใช่เลือกเพื่อน

ปี 1975 ลี กวน ยิว สั่งให้ CPIB สอบสวน นายวี ตุ๋น บุ๋น รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อนสนิทของเขาอีกคนที่พัวพันกับรับสินบน

ปี 1979 ลี กวน ยิว สั่งให้ CPIB สอบสวนนาย เฝย ยิว ก๊ก ส.ส. ลูกพรรค PAP ที่มีส่วนพัวพันกับการรับสินบนโครงการรัฐ ต่อมา นาย เฝยหนีออกมากบดานที่เมืองไทยและถูกจับได้ในที่สุด

ปี 1996 ลี กวน ยิว สั่งให้ CPIB สอบสวน กรณีนายเต้ เชียว วัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ข้อหารับสินบน นายเต้ พยายามที่จะร้องขอเพื่อพบนายลี แต่นายลีไม่ยอม เขาสั่งให้ CPIB สอบสวนก่อน ท้ายที่สุด นายเต้ กินยาฆ่าตัวตาย และเขียนจดหมายสำนึกผิดขอโทษนายลี

จะว่าไปแล้ว คงไม่ผิดอะไร หากคนในตระกูลเดียวกันจะเป็นคนเก่งที่มีความสามารถและทำงานได้มีประสทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อวงศ์วานว่านเครือต่างมีอำนาจทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนรวมไปถึงการเล่นพรรคเล่นพวก (Nepotism) จึงกลายเรื่องน่ากังวลใจ1

หลายคนคงตั้งคำถามต่อไปว่า การจัดการปัญหาระบอุปถัมภ์หรือเล่นพรรคเล่นพวกในกลุ่มคนตระกูลตนเองนั้นจัดเป็นรูปแบบคอร์รัปชันด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าว คงต้องมีการศึกษาเรื่องนี้กันต่อไป

ท้ายที่สุด ปาฐกถาของ ลี กวน ยิว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีประโยคโดนใจประโยคหนึ่งที่ว่า
No Political system in any country is immune from corruption.

แน่นอนที่สุดว่า คงไม่มีระบบการเมืองประเทศไหนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันจากปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไม่ว่าเราจะออกแบบกลไก สร้างกฎหมายให้ดีอย่างไร หากการบังคับใช้กฎหมายยังอ่อนปวกเปียก หรือเลือกปฏิบัติกันแล้ว การแก้ปัญหาด้วยการสร้างความโปร่งใสก็คงเป็นเพียง “ฝันกลางวัน” ที่รอคนมาสะกิดให้ตื่นขึ้นมาเจอโลกความจริง

หมายเหตุ: 1 ผู้สนใจชุดข้อมูลอีกด้านหนึ่งโปรดดูบทความเรื่อง The Passing of Lee Kuan Yew and the future of Singapore’s democracy โดย Antony Kwong ใน http://utpol101.tumblr.com/