ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > วิกฤติการออมของชาติ ส่งสัญญาณ “ช่องว่างการออมและการลงทุน” 5 ปี เงินออมครัวเรือนหาย 2 แสนล้าน – ลงทุนเพิ่ม 8.3 แสนล้านบาท

วิกฤติการออมของชาติ ส่งสัญญาณ “ช่องว่างการออมและการลงทุน” 5 ปี เงินออมครัวเรือนหาย 2 แสนล้าน – ลงทุนเพิ่ม 8.3 แสนล้านบาท

12 มีนาคม 2015


ความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา คือจากประมาณ 60% ของจีดีพี เป็นเกือบ 90% ของจีดีพี สร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนจะ “เบียดเบียนการบริโภค” ซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักตัวหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ จนทำให้หลายฝ่ายพยายามหาต้นตอของหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงออกแบบแนวทางการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันคีนันแห่งเอเชีย หรือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

อีกด้านหนึ่ง นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนจะกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปแล้ว เนื่องจากสร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนมากขึ้น จนเบียดเบียนการบริโภคแล้ว หนี้ครัวเรือนยัง “เบียดเบียนการออม” ของประเทศ เนื่องจากครัวเรือนต้องกันเงินส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ หรือในกรณีที่รายได้ซึ่งรวมเงินกู้แล้วไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ครัวเรือนจะต้องก่อหนี้เพิ่มจนไม่สามารถออมเงินได้ สุดท้ายย่อมส่งผลให้ประเทศไม่สามารถลงทุนเพิ่มโดยอาศัยแหล่งเงินทุนในประเทศได้อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มมีผู้สูงอายุมากขึ้น นโยบายการส่งเสริมเพื่อวางแผนการออมจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรองรับชีวิตบั้นปลายที่อายุยืนยาวมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลรายได้ประชาชาติของประเทศไทย พ.ศ. 2556 แบบปริมาณลูกโซ่ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าการออมของประเทศ “เริ่ม” ไม่เพียงพอต่อการลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจาก 6 ปีก่อนหน้าที่การออมมีมากกว่าการลงทุนมาโดยตลอด (เกินดุล) ทำให้มี “ช่องว่างการออมและการลงทุน” ในปี 2556 ขาดดุล 63,667 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนหน้านี้ขาดดุล 45,070 ล้านบาท ส่งผลให้ 2 ปีที่ผ่านมาขาดดุลสะสม 108,737 ล้านบาท และถ้าย้อนหลัง 5 ปีของการออมและการลงทุนในประเทศไทย ตั้งแต่ 2551-2556 พบว่าการออมเบื้องต้นเพิ่มขึ้น 6.7 แสนล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับจีดีพีกลับลดลง 2.1% จาก 29.1% ของจีดีพี เป็น 27% นอกจากนี้ เฉพาะการออมของครัวเรือนกลับลดลงถึง 2 แสนล้านบาท ขณะที่การลงทุนรวมช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 8.3 แสนล้านบาท (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สัดส่วนการออม-การลงทุน

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน การออมเบื้องต้นในประเทศในปี 2556 มีมูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท คิดเป็น 27% ของจีดีพี เติบโต 1.2% แต่ชะลอตัวจากปีที่แล้วที่เติบโต 4.1% ขณะที่การออมสุทธิมีมูลค่า 1.54 ล้านล้านบาท หดตัว -11.2% ต่อเนื่องจากที่หดตัว -6.2% ในปีที่แล้ว ขณะที่การลงทุนในปี 2556 มีมูลค่า 3.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 3.49 ล้านล้านบาท และมีการเติบโตสูงถึง 15.1%

เมื่อแยกประเภทของการออม พบว่า การออมสุทธิของครัวเรือนมีมูลค่า 594,439 ล้านบาท หดตัว -6.1% เทียบกับปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.3% เนื่องมาจาก “ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค” เติบโตมากกว่า “รายได้พึงจับจ่ายใช้สอย” โดยมีรายได้พึงจับจ่ายใช้สอย 7.18 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 6.72 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 3.1% จากปีก่อนหน้า ส่วนเงินออมเฉลี่ยต่อคนต่อปี 2556 มีมูลค่า 8,905 บาท ลดลง -6.5% จากที่ขยายตัว 2.8% ในปีที่แล้ว

ขณะที่การออมของเอกชนและสหกรณ์ มีมูลค่ารวม 838,620 ล้านบาท หดตัว -6.5% ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้วที่หดตัว -10.7% ด้านการออมของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจปี 2556 มีมูลค่า 102,301 ล้านบาท หดตัว -48.8% ลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับที่หดตัว -11.9% ในปีที่แล้ว เป็นการลดลงทั้งการออมของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยการออมของรัฐบาลมีมูลค่า -21,917 ล้านบาท หดตัว -144.5% ส่วนการออมของรัฐวิสาหกิจมีมูลค่า 124,218 ล้านบาท ลดลง -17.4%

ในระดับภาพย่อย จากข้อมูลของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ระบุว่าในจำนวนผู้ฝากเงินหรือออมเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ ยอดรวม 10.8 ล้านล้านบาท มีจำนวนบัญชีผู้ฝากที่มียอดเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท จำนวน 98.32% ของจำนวนบัญชีผู้ฝากทั้งหมดและคิดเป็นมูลค่าเพียง 2 ล้านล้านบาทเท่านั้น ขณะที่เงินฝากอีก 8.8 ล้านล้านบาท กลับอยู่ในมือของผู้ฝากเพียง 1.68% ของจำนวนบัญชีผู้ฝากทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้ฝากที่มียอดเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาท สะท้อนความเปราะบางของระบบออมเงินของประเทศที่ผู้ฝากกว่า 99% มีจำนวนเงินฝากหรือเงินออมต่ำกว่า 1 ล้านบาท(ดูรายละเอียดบัญชีเงินฝากของระบบ)

นอกจากการออมที่ลดลงจนไม่เพียงพอต่อการลงทุนแล้ว ในอนาคตยังมีความเสี่ยงจากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจำเป็นต้องใช้งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมจำนวนมหาศาล เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อาจจะไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมไปถึงต้องการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อชดเชย “คน” ที่หายไปจากระบบ ทำให้การออมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ในประเด็นนี้ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 เคยให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าว่า “ศักยภาพการเจริญเติบโต (ของเศรษฐกิจ) คือจำนวนคนคูณด้วย productivity (ผลิตภาพ) ทีนี้ จำนวนคนไทยจะลดลงไปเรื่อยๆ ค่า productivity ไม่ขึ้น growth potential (ศักยภาพในการเติบโต) ก็จะลดลง นี่คือเรื่องของคนทำงาน

ดังนั้น ถ้าเราจะเอา productivity เป็นหลัก มันก็ต้องมีการลงทุน แต่ถ้าลงทุนแล้วไม่มีการออมมารองรับ มันก็เจ๊งแบบกรีซ เป็นต้น มันเป็นยวงที่ใหญ่มากเลย หรือทัศนคติของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องการให้การบริโภคนำ เมื่อการบริโภคมาก การออมก็น้อย

ถ้าคุณใช้วิธีบริโภคนำนี้ไปเรื่อยๆ การออมทรัพย์ไม่เกิด แล้ววันหนึ่งตัวที่จะไปขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยการลงทุนมันทำไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเงินออมมาสนับสนุน ถ้าคุณจะหันไปหาการบริโภค ก็อาจจะทำไม่ได้ด้วย และไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งไปทำลายการออมมากขึ้น มันก็เลยติดกึกกักๆ อยู่ตรงนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในประชากรนี่แหละ มันจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก นี่คือการเจริญเติบโต”

ทั้งนี้ รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา ได้มีมติอนุมัติและเห็นชอบร่างกฎหมายและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 เพื่อส่งเสริมการออมของประชาชนและรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงรายละเอียดต่างๆ

เบื้องต้น สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง และร่างประกาศพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ กำหนดให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รับโอนผู้ประกันตนและเงินของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีบํานาญชราภาพทั้งหมดที่แสดงความจำนงเป็นสมาชิกของ กอช. โดยให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิเป็นสมาชิกต่อไปได้อีก 10 ปี นับแต่วันที่เป็นสมาชิก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ที่ให้ผู้ที่มีอายุมากที่สมัครในช่วงปีแรก ได้มีระยะเวลาในการออมมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับเงินสะสมที่โอนมาดังกล่าว เนื่องจากได้รับเงินสมทบจากกองทุนประกันสังคมแล้ว

สำนักงานประกันสังคมจะโอนผู้ประกันตนและเงินของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพ ทั้งหมดที่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กอช. มาที่ กอช. ซึ่งรวมถึงผู้ประกันตนที่อายุเกิน 60 ปีด้วย ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กอช. จะได้รับเงินที่ผู้ประกันตนส่งเข้ากองทุนเงินสมทบจากรัฐและดอกผลคืนทั้งจำนวน

นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้กองทุนจ่ายเงินชดเชยจากบัญชีเงินกองกลางให้แก่สมาชิก ในกรณีที่สมาชิกได้รับผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบ ตั้งแต่วันที่เริ่มเป็นสมาชิกจนถึงวันที่สิ้นสมาชิกน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน โดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ 5 แห่ง เพื่อให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนเท่ากับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว