นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นักวิชาการทั้งหลายต่างถูกทำให้อยู่นิ่ง ผิดจริตจะก้านของบุคคลหัวก้าวหน้า ช่วงแรกหลายท่านถูกเชิญไปปรับทัศนคติ ช่วงหลังต่างคนต่างหลบเร้นกายหายหน้าไปจากสื่อสาธารณะ
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านการเมืองสมัยใหม่ ทำให้เขาเลือกยืนตรงข้างกับระบบระบอบที่ผิดไปจากประชาธิปไตย
ในฐานะที่เขาเป็นอีกหนึ่งในนักวิชาการ “หัวก้าวหน้า” ที่เคยได้รับคำเชิญไปนั่ง “จิบน้ำชา” อย่างเงียบๆ ในค่าย “AF” และต้องเพลาบทบาทในด้านต่างๆ ของตนเองลง วันนี้เขาจะมีความเห็นต่อการเมืองไทย และรัฐบาล “มีใครไม่เห็นชอบบ้างไหมครับ” ที่เขาเคยตั้งฉายาให้ไว้อย่างไร
ไทยพับลิก้า: ในทศวรรษที่ผ่านมา มีการแสดงความเห็นต่าง การออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของประชาชน อาจารย์มองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ในประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
การที่คนไม่พอใจรัฐบาลผมว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความไม่พอใจนั้นมีหลายระดับ ทั้งในระดับปกติ และในระดับมากจนกลายเป็นการรวมตัวกันบนท้องถนน รูปแบบนี้ก็จะมีให้เห็นเป็นระยะ ที่เรียกร้องผลประโยชน์ เมื่อได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้นแล้วก็จะหยุดไป เช่น การผลักดันกฎหมาย การร้องทุกข์ต่างๆ กับกรณีของการชุมนุมเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คือต้องการให้รัฐบาลออกไป
แต่ในช่วงหลังๆ มีการเคลื่อนไหวอีกแบบหนึ่งก็คือ “การเคลื่อนไหวให้รัฐบาลลาออก” แต่รัฐบาลไม่ออก จึงกลายเป็นว่า การชุมนุมนั้นเพื่อทำให้เกิดบรรยากาศที่จะมีการแทรกแซงทางการเมือง เช่น ชุมนุมจนรัฐบาลปกครองไม่ได้ แล้วก็มีการทำรัฐประหาร พูดง่ายๆ คือ “ออกมาเพื่อเขียนบัตรเชิญให้เกิดรัฐประหาร” ตรงนี้ก็จะมีเงื่อนไขหลายแบบ
และการชุมนุมประท้วงในปัจจุบันมีในลักษณะที่ซับซ้อนขึ้น เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกันระหว่างการชุมนุมที่มีบนถนน ที่เรียกว่า “การชุมนุมแบบออฟไลน์” กับการ “ชุมนุมแบบออนไลน์” มีทั้งถ่ายทอดสดก็มี มีทั้งในเว็บก็มี มันมีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็นรูปแบบของปรากฏการณ์
หากนับในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 การชุมนุมประท้วงมีตั้งแต่เรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลลาออก หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมที่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง เช่น ชุมนุมแล้วเกิดความรุนแรงในการล้อมปราบประชาชนในเดือนตุลาคม ปี 2519 ก็มี หรือว่าการชุมนุมในช่วงพฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นการกดดันให้รัฐบาลลาออก แล้วก็การชุมนุมของเสื้อเหลือง (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม.) ในรอบแรก การชุมนุมของเสื้อแดง (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.)ที่นำไปสู่การล้อมปราบ รวมไปถึงการชุมนุมของนกหวีด (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.)
ไทยพับลิก้า: แล้วในช่วงเวลาที่การแสดงความเห็นถูกจำกัด อาจารย์มองว่าความเข้มแข็งของการรวมกลุ่มในสังคมออนไลน์มันมีมากแค่ไหน
ตอบยากนะครับ แต่ข้อดีก็คือทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิดสูง และทำให้ทั้งสองฝ่ายได้โต้เถียงกัน เพราะว่ายังไงก็ไม่เสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งหากการชุมนุมออนไลน์รวมตัวกันจนกลายเป็นการชุมนุมบนท้องถนนแล้ว คงต้องเกิดการปะทะกับฝ่ายที่มีอำนาจ นำไปสู่ความสูญเสียได้เช่นกัน
สิ่งนี้เป็นพัฒนาการของสื่อ ชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันสื่อมีความซับซ้อนขึ้น ประชาชนสามารถเป็นสื่อเองได้ เพียงกดไลค์ กดแชร์ ในขณะที่สมัยก่อนสื่อเป็นลักษณะของกลุ่มของตัวเอง มีหน้าที่รายงานหรือไม่รายงาน
ดังนั้น ถ้าควบคุมสื่อได้ในระดับหนึ่ง คุณก็จะดูแลสถานการณ์ไปได้ประมาณหนึ่ง ที่สุดแล้วเมื่อคุณคุมสถานการณ์ไม่อยู่สื่อก็รายงานอยู่ดี เพราะปัจจุบันความไวของข้อมูลสูงขึ้น ใครๆ ก็เป็นสื่อได้
ไทยพับลิก้า: ความไวของข้อมูลสูงขึ้น ย่อมต้องมีประเด็นของข่าวลือมาเกี่ยวข้อง อาจารย์เคยเขียนงานเกี่ยวกับข่าวลือในจีนไว้ หากนำมาเทียบกับกรณีประเทศไทย มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
เวลาพูดถึง “ข่าวลือ” ไม่ได้แปลว่า “ไม่จริง” ข่าวลือก็คือข่าวที่ไม่ได้ถูกยืนยัน แต่การที่ข่าวไม่ได้ถูกยืนยันไม่ได้แปลว่าไม่จริง ความสำคัญคือข่าวลือสะท้อนให้เห็นความสงสัยและคลางแคลงใจ ว่าข่าวนั้นมีอีกชุดหนึ่ง แล้วคำตอบชุดนี้อยู่ที่ไหน
และข่าวลือคือข่าวซึ่งไม่ได้รับการยืนยัน แต่บางทีก็อาจจะเป็นข่าวจริงก็ได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ผมเขียนลงไปในนั้นก็คือว่า การแก้ข่าวลือก็ไม่ได้แปลว่าจะแก้ได้หมด สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลตอบโต้ข่าวลืออย่างเป็นระบบหรือเปล่า ต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือตอบไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าตอบไม่ได้เพราะเงื่อนไขอะไร หากพยายามโกหก ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าข่าวลือมีมูล หรือไม่พูด คนก็ยิ่งกดดัน
ในบทความนั้นผมไม่ได้พูดถึงในเรื่องเมืองไทย ผมพูดถึงเมืองจีน ยกตัวอย่างให้เห็นว่าหากไปแก้ข่าวลือโดยการปฏิเสธ ก็จะทำให้ตัวคุณยิ่งเสื่อมถอยลง แต่หากตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาแล้วก็มีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือตอบคำถาม ก็จะทำให้คุณได้รับการยอมรับและอยู่ต่อไปได้ การขอความร่วมมือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณไม่พูดแล้วเบี่ยงประเด็นเป็นอย่างอื่น สักพักพอความน่าเชื่อถือของคุณลดลงเรื่อยๆ ต่อให้คุณพูดความจริงคนก็จะไม่ฟัง ก็จะยาก
ไทยพับลิก้า: ข่าวลือมีผลกระทบต่อการออกมาชุมนุมหรือการลุกฮือของประชาชนของคนต่างกันอย่างไร ระหว่างในโลกออนไลน์ และในโลกความจริง
ความสำคัญของข่าวลืออยู่ที่ “ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว” ถ้าหากว่ามีข่าวลือออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่าเกิด “วิกฤติ” กับความน่าเชื่อถือของตัวคุณ (รัฐบาล) แล้ว ไม่ใช่เพราะคนไม่เคารพคุณ เพียงแต่ว่าคุณให้ความจริงกับเขาไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้คนที่มีข่าวมีอำนาจ
เมื่อทุกคนกลายเป็นสื่อเองก็จะเกิดประเพณีใหม่ๆ ขึ้นในเว็บไซต์ หากใช้คำกึ่งหยาบหน่อยเขาเรียก “ดักควาย” เป็นการแกล้งปล่อยข้อมูล “กึ่งจริงกึ่งเท็จ” โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวสะท้อนจุดยืนของคุณ (ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต) ก็เป็นอีกตัวชี้วัดที่สำคัญ
สมัยก่อนการทำลักษณะนี้จะเล่นกันในเว็บใต้ดิน เช่น การสร้างหัวข้อให้ดูหวาดเสียวเพื่อหลอกให้คนคลิกเข้าไป แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใส่ข้อมูลผิดๆ ถูกๆ เข้าไป หากเผอิญไม่ชอบนักการเมืองคนนี้ เมื่อมีข่าวจึงรีบส่งต่อ ก็ถือเป็นการโชว์โง่ เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่คุณต้องเรียนรู้ไปตามเวลา ดังนั้น ต้องมีสติก่อนจะแชร์ ซึ่งต้องมีการผูกเงื่อนไขทางกฎหมายต่อไปอีก
ไทยพับลิก้า: อาจารย์คิดว่าตัวเองยืนอยู่จุดไหนในกระบวนการดังกล่าว คิดว่าเป็นอีกหนึ่งสื่อทางเลือก หรือว่าเป็นอีกหนึ่งของพัฒนาการการลุกฮือของประชาชนหรือไม่
ผมไม่ได้คิดว่าตัวผมทำอะไรได้ขนาดนั้น ถามว่าคนมีเสรีภาพแค่ไหนในสังคมวันนี้ ก็ต้องย้อนกลับไป วิธีคิดอย่าง พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยกล่าวว่ามี “กฎอัยการศึก” แล้วเดือดร้อนอะไร คุณ (ประชาชน) ยังคงออกไป “จ่ายกับข้าว” ได้
ใช่ครับ แต่ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อจ่ายกับข้าวอย่างเดียว คำถามในทางกลับกันก็คือหากไม่มีกฎอัยการศึกแล้วคุณสรรเสริญเดือดร้อนอะไร ถามว่าสังคมมนุษย์มันมีอะไรมากกว่าการทำกับข้าวไหม อันนี้ก็ต้องตอบตัวเอง
แต่ปัจจุบันหากถามว่า “รัฐประหาร” มันเลวร้ายขนาดที่อยู่กันไม่ได้เชียวหรือ ไม่จริงหรอก ผู้คนก็ต้องพยายามอยู่กันจนได้ ตราบใดที่คุณ (ประชาชน) ไม่ไปวิจารณ์เรื่องการทำรัฐประหาร ระบอบรัฐประหารก็ปล่อยคุณได้ หากไปวิจารณ์ว่าการทำรัฐประหารผิด เขา (รัฐบาล) รับไม่ได้เพราะว่าเขาเป็นคนทำ คุณก็วิจารณ์อย่างอื่นสิ วิจารณ์เรื่องนโยบาย การทำงานของแต่ละกระทรวง เขาก็รับได้ เพราะว่าจะทำให้เขาได้ปรับปรุงตัวเอง
ผมมีหน้าที่สอนหนังสือทางรัฐศาสตร์ ผมไม่ได้มีหน้าที่ทำกับข้าว ผมก็ต้องคิดว่าเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผมก็คิดว่าถ้ามีความผิดในการดำเนินการทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาของทุกฝ่าย มันก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่คนเขาอยากรู้ ถ้าคุณ (รัฐบาล) จะคืนความสุขคุณก็ต้องทำให้ความยุติธรรมบังเกิด ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ ไม่ใช่ว่าคุณทำให้ทุกฝ่ายเขาถูกกดแล้วคุณก็บอกว่าจงอยู่ไปอย่างนี้
ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ (ทำกับข้าว) เช่นกัน หากคุณอยากเป็นรัฐบาลคงไม่มาเป็นทหาร แต่เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณจำเป็นต้องเข้ามาปกครองบ้านเมือง ก็รู้ใช่ไหมหากไม่รีบทำให้คนตกลงกันได้แล้วออกไป คิดว่าจะทำให้เกิดระบอบดีที่สุดแล้วให้ทุกคนยอมรับนั้นมันก็มีราคาที่ต้องจ่าย ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ
ไทยพับลิก้า: โจทย์ที่รัฐบาลต้องตีให้แตกในวันนี้คืออะไร
ผมไม่คิดว่าโจทย์ใหญ่วันนี้คือการลุกฮือ โจทย์ใหญ่คือว่า คุณ (รัฐบาล) รู้ว่าสังคมไม่ปกติ แล้วคุณจะทำให้มันปกติได้อย่างไร ปัญหานั้นไม่ได้เกิดจากบุคคลที่เห็นต่าง แต่ปัญหามีอยู่แล้วในระดับโลก เป็นธรรมดาที่รัฐบาลใดแก้ไม่ได้ ก็จะถูกบีบให้ออก ดังนั้น การที่คุณมีปืน คนเขาก็ไม่อยากให้คุณอยู่ เป็นวัฏจักรปกติของการบริหาร ก็ลำบากหน่อยช่วงนี้
โจทย์ทางรัฐศาสตร์ในอดีตมีเพียงว่าเมื่อไรคนจะลุกฮือ แต่โจทย์ในวันนี้คือ เมื่อคุณได้อำนาจรัฐมาแล้วคุณจะบริหารอย่างไร คุณจะทำให้ประชาธิปไตยมันเป็นกฎเกณฑ์เดียวที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ได้คุยกัน โดยสัดส่วนในการคุยกันของแต่ละฝ่ายต้องพอๆ กัน และต้องทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกถึงความเป็นธรรม ตอนนี้ยังไม่เห็นจุดนี้ เห็นแต่การขอความร่วมมือ การปรับทัศนคติ นโยบายคืนความสุข
ตั้งต้นเมื่อครั้งรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่คุณเรียกคนทุกฝ่ายมาคุยกัน พอคุยกันไม่ได้คุณก็ทุบโต๊ะ แล้วบอกว่าผมจะจับทุกคนปรับทัศนคติ แต่คำถามคือ คุณปรับทัศนคติพอที่จะรู้ไหมว่าเรื่องบางเรื่องมันยังคุยกันไม่ได้ แล้วจะกลับสู่ระบอบปกติที่คนอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
โจทย์ใหญ่ของสังคมมีเพียง 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียง ถัดมาคือ จะทำอย่างไรให้คนตระหนักว่า เสียงข้างมากนั้นมีสิทธิ์ตัดสินใจ แต่ต้องไม่ละเมิดเสียงข้างน้อย คือไม่ได้หมายความว่า มีประชาธิปไตยแล้วทุจริตได้ หรือไม่มีประชาธิปไตยไม่ทุจริต แต่คนที่แตกต่างกัน 2 ฝ่ายจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
ภาษาอังกฤษคือ democratization/democratic consolidation คือกระบวนการที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตย ให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง อธิบายได้ว่า จะให้ทหารถอย ทหารก็ต้องมั่นใจว่าถ้าถอยแล้วสังคมต้องอยู่กันได้ ถ้าตีกันอีกทหารก็รู้สึกว่าเขาต้องเข้ามาดูแล เพราะเขาก็มีชีวิตอยู่เพื่อจะปกป้องพวกคุณ (ประชาชน) แต่เขาก็รู้สึกว่าเขาบริหารฝ่ายเดียวไม่ได้ ถ้าขอความร่วมมืออย่างเดียวก็ไม่ได้ ซึ่งปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ความร่วมมือ อาจเป็นเพราะไม่มีความรู้ในการแก้อย่างเพียงพอก็เป็นได้
ไทยพับลิก้า: กับการต่อต้าน และการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในตอนนี้
สิ่งที่ต้องทำให้ได้ในวันนี้ก็คือ บอกมาว่ารัฐธรรมนูญจะเสร็จเมื่อไร บอกมาว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร ทำช่วงนี้ให้สั้นที่สุด เมื่อคนรู้สึกว่าจะมีทางออกแล้ว คนก็จะมุ่งหน้าไปทำอย่างอื่น
เขาจะมาชู 3 นิ้วทำไม หาก 1 มกราคม 2559 จะมีการเลือกตั้ง หรือคุณ (รัฐบาล) ให้กำหนดว่า อีก 6 เดือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะเสร็จ มาร่วมดูสิว่าจะให้ความเห็นอย่างไร คุณยังไม่มีอะไรออกมาสักอย่างเลยที่เป็นเงื่อนเวลา
แม้จะการวางแผนมีเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ก็ต้องทำให้คนรู้ว่ามีวันสิ้นสุดในการ “ใช้อำนาจแบบข้อยกเว้น” แล้วคุณจะได้กำหนดตัวเองด้วย รัฐธรรมนูญนั้นสามารถใช้เวลาได้ทั้งสั้นทั้งยาว เพราะสมัยก่อนที่เป็นเผด็จการมีการร่างรัฐธรรมนูญนาน 5-6 ปี ในขณะที่บางเผด็จการการปีเดียวก็ร่างเสร็จแล้ว
แล้วคุณจะไปโวยวายทำไมว่าคนอื่นมาจ้างคนพวกนี้มามีปัญหากับคุณ เขามีปัญหากับคุณจริงๆ คุณลองไปยืนอยู่ในตำแหน่งของคนเหล่านั้นบ้างสิ คุณเรียกร้องให้คนอื่นเห็นใจคุณแล้วคุณเห็นใจคนอื่นหรือเปล่า ก็เท่านี้เอง เขาไม่ได้มาขอให้คุณออกไปวันนี้เฉยๆ หรือคุณบอกว่าคุณยังออกไม่ได้ คุณก็บอกเขาสิว่าจะออกไปเมื่อไร มีเวลาไหมคนอื่นเขาจะได้เตรียมตัวถูก
ไทยพับลิก้า: อาจารย์มีความคาดหวังต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อย่างไร
ไม่นะ รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เกิดจากการปรับตัวเองภายในระบบเหมือนฉบับ 2540 แต่เกิดจากการปฏิวัติรัฐประหารยากที่จะไปคาดหวังอะไร เพราะกระบวนการต่างๆ นั้นถูกกำกับโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาโดยตลอด
แต่ถ้าพูดให้กว้างกว่านั้น มี 4 วิธีคิด นี่คิดแบบเนติบริกรเลยนะ
วิธีคิดที่ 1 รัฐธรรมนูญนี้จะกีดกันกลุ่มอำนาจที่เคยอยู่เดิมอย่างไร จะจัดการทักษิณหรือเสื้อแดงแค่ไหน
วิธีคิดที่ 2 รัฐธรรมนูญนี้เป็นไปได้ไหมที่จะยกอำนาจทุกอย่างให้กับพรรคฝ่ายค้านเดิม คือทำมาทั้งหมดเพื่อให้ประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า พูดง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญนี้จะจัดการทักษิณมากน้อยแค่ไหน ประการที่สอง รัฐธรรมนูญนี้จะให้อำนาจประชาธิปัตย์แค่ไหน
และวิธีคิดที่ 3 ที่น่าสนใจก็คือว่า รัฐธรรมนูญนี้อาจเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างบรรยากาศบางอย่างให้เอื้อกับโครงสร้างอำนาจใหม่ เช่น พรรคทหาร หรือการรวมตัวกันของกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ซึ่งอาจจะสืบเนื่องมาจากคณะรัฐประหารมากน้อยแค่ไหน นี่ก็จะเป็นโจทย์ประมาณนี้
แต่วิธีคิดที่ 4 ก็คือดีเลิศไปเลย คือรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญของการปฏิรูปไม่มีการสืบทอดอำนาจไม่มีอะไรเลย เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่ประการนี้ผมยังมองไม่เห็น และคำถามคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่ได้หรือเปล่า เพราะโครงสร้างอำนาจ 1 2 3 ยังอยู่
ไทยพับลิก้า: แต่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการปฏิรูปโดยเฉพาะ โดยเอาความเห็นของคนส่วนใหญ่มารวบรวมและคัดกรอง
แต่การกรองเสียงประชาชนก็อยู่ที่คำถาม 3 ข้อนี้ ทักษิณได้อะไร ประชาธิปัตย์ได้อะไร และ คสช. ได้อะไร อันนี้คือกรณีที่ภาษาอังกฤษเรียก practical ที่สุด ชนชั้นนำจะเอาอย่างไรกัน กับคำพูดที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า rhetoric หรือ rhetorical พูดแล้วดูดี ว่าเป็นการ “ปฏิรูป” เป็นเรื่องของลูกของหลาน เรื่องของลูกของหลานก็มาจาก 3 ปัจจัยข้างต้น เพราะประชาชนพวกนี้คือคนที่เคยเลือกทักษิณ เคยเลือกประชาธิปัตย์ เคยได้รับความสุข จะทำอย่างไร เป็น reality check เพราะสุดท้ายการเมืองก็เป็นเรื่องการประนีประนอมของทุกฝ่าย
ไทยพับลิก้า: ในสายตาอาจารย์ มองความเป็นไปของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างไร หากมีการเลือกตั้งจริงๆ
ผมคิดว่าคนที่พยายามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามที่จะทำลายระบบพรรคการเมือง “แบบเก่า” คือ ทำอย่างไรทักษิณก็ชนะ ทำอย่างไรประชาธิปัตย์ก็ได้คะแนนเสียงประมาณ 10 ล้านกว่าๆ หากไม่หาระบบอะไรมาทำลาย สิ่งที่เรียกว่า “ทางตัน” ของความเห็นแบบนี้คุณก็จะเกิดปัญหาแบบเดิม คนกลุ่มหนึ่งที่เลือกมาก็ชนะ อีกกลุ่มก็ต้องออกมาบนถนนเพื่อจัดการคนอีกกลุ่มหนึ่ง
แต่จะกระจายคะแนนเสียงเหล่านี้ออกมาอย่างไร เมื่อกระจายเสร็จแล้ว ก็หนีไม่พ้น 3 เรื่องที่กล่าวไป และยังคงต้องโยงกับ reality check แบบนี้ต่อไป
ยังไม่นับเรื่องใหญ่อีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาเรื่องเสียงข้างมากกับความเท่าเทียม และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ไม่เป็นไรสังคมก็จะต้องเรียนรู้และแก้ปัญหาเหล่านี้ ยอมรับว่านี่คือปัญหา แล้วเราก็ร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่บอกเพียงว่า “มีคนกลุ่มหนึ่งที่เลว” แล้วฉันกำจัดความเลวนี้ออกไปแล้ว “ฉันดี” มันไม่ใช่
ไทยพับลิก้า: หากรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง 2 โครงสร้างแรกที่อาจารย์พูดถึง แต่มีการเพิ่มเฉพาะส่วนโครงสร้างที่ 3
ก็จะเป็นอะไรที่เรื้อรังต่อไปเรื่อยๆ รอเวลาปะทุไปเรื่อยๆ แต่จากนี้ประเด็นจะไม่ใช่การลุกฮือ คือการที่สังคมไม่มีการลุกฮือนั้นไม่ได้แปลว่าคุณมีความน่าเชื่อถือนะ แต่บางอย่างที่อ่อนแอเสียจนไม่ลุกฮือขึ้นมาเลยมันก็จะเน่าไปเรื่อยๆ คนก็จะขาดศรัทธากับระบบ
จริงๆ การที่คนลุกฮือขึ้นมา ในบางครั้งก็สะท้อนให้เห็นว่าคนยังเชื่อว่า “ฉันมีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนแปลง” แต่ถ้าทุกคนไม่เอาธุระอะไรเลย ปล่อยไปแบบนี้สถานการณ์อาจจะแย่กว่าก็ได้ แต่เราก็ไม่รู้ เพราะคนเราไม่รู้กันทุกเรื่อง ผมก็มีหน้าที่เพียงให้ความเห็นในแบบที่ผมเชื่อ ก็ไม่ต้องเชื่อผมทั้งหมด ก็ฟังกันหลายๆ ฝ่าย
ไทยพับลิก้า: ในยุคของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลพรรคเดียว มีเสียง 337 เสียงในฝ่ายนิติบัญญัติ ถูกเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีฝ่ายเดียวในแม่น้ำ 5 สาย อธิบายความเหมือนความต่างในจุดนี้ว่าอย่างไร
มีทั้งส่วนเหมือนส่วนต่าง สะท้อนให้เห็นว่าลักษณะของ “อำนาจนิยม” มีได้ทุกแบบ ประชาธิปไตยที่ไม่ฟังฝ่ายอื่นก็เป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่ง ประเภทที่ใช้ปืนอย่างเดียวก็เป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่ง
คำถามสำคัญคือ จะออกแบบระบบให้แต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมแล้วฟังกันได้อย่างไร หรือผลัดกัน หมุนเวียนเปลี่ยนกันได้ไหม ภาษาทางรัฐศาสตร์เรียก power sharing ก็คือแบ่งปันอำนาจกันอย่างไร แล้วก็มีเส้นที่รู้สึกว่า “ทำไม่ได้” มันมากเกินไป แม้จะถูกกฎหมาย เขาก็จะต้องหาวิธีอื่นมาทำให้คุณสั่นคลอนได้เหมือนกัน ไม่มีฝ่ายไหนได้ทั้งหมด
ประชาธิปไตยเองก็มีช่องโหว่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่จะปรับปรุงแบบไหน ปรับปรุงแบบยกเลิกแล้วเขียนกันใหม่ หรือพยายามปรับภายในระบบ
ไทยพับลิก้า: เรื่องของรัฐธรรมนูญ หากเป็นไปตามแนวทางที่อาจารย์กล่าวมาทั้งหมด แล้วแต่ละฝ่ายจะอยู่ตรงจุดไหน
ผมก็ยังไม่รู้ แต่ผมคิดว่ามันคงหนีไม่พ้น 3-4 เรื่องนี้ ว่าจะประสานกันอย่างไร ประชาธิปัตย์ก็ตั้งมานานแล้ว จะให้เขามีที่ทางอย่างไร แต่จะให้เขาชนะเลยหรือ ถ้าทำได้ขนาดนั้นแล้วไปทำรัฐประหารทำไมตั้งแต่แรก แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ประชาธิปัตย์ทั้งหมดหรอก
ประชาธิปัตย์เองอาจต้องมีการปรับในที่สุดว่า ฉันอาจจะต้องมีท่าทีใหม่กับทักษิณนะ ถ้าฉันต้องการชัยชนะ ฉันอาจจะต้องยอมรับให้ทักษิณกลับมาแล้วก็ดำเนินคดีปกติ หรือเพลาๆ การสร้างความเกลียดชังให้กับทักษิณหน่อย
หรือว่าฝ่ายทักษิณเองก็ต้องยอมรับว่า เรื่องคดีความโกงทั้งหลายก็พร้อมจะสู้คดีเลยไม่ต้องหนี หรือว่าพร้อมจะสู้ในระบบ แล้วก็ทุกฝ่ายคงจะต้องอยู่ด้วยกัน แต่จะทำอย่างไร หรือว่าตอนนี้ทุกฝ่ายจะเอาชนะกันให้ถึงที่สุดแล้วสุดท้ายก็รอการนิรโทษกรรมหรือ เชื่อกันอย่างนั้นหรือ
ไทยพับลิก้า: ทำอย่างไรเพื่อป้องกันการลุกฮือของประชาชนอีกครั้ง
คือผมไม่อยากให้มันเกิดการลุกฮือ สังคมไม่ควรจะต้องไปถึงขั้นนั้นเพราะว่ามันมีราคาที่ต้องจ่ายมาก เราควรจะมองว่าในวันนี้สังคมจะกลับเข้าสู่ระบบปกติโดยเร็วที่สุดได้อย่างไรโดยไม่นำไปสู่การลุกฮือ สิ่งนี้สำคัญ ซึ่งจะทำได้ก็โดยการคืนความจริงและความยุติธรรมให้กับประชาชน มากไปกว่าความสุขที่ผิวหน้าเฉยๆ
ต้องมีความชัดเจนเรื่องการดำเนินคดีต่างๆ ของทุกฝ่าย ว่าการดำเนินคดีเสื้อแดงไปถึงไหนแล้ว ทั้งคดีของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ให้เห็นเลย 1 ปีข้างหน้าจะดำเนินคดีเสร็จ รัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จ วันเลือกตั้งแน่นอนภายในปีหน้า แต่ทั้งหมดทั้งปวงจะเกิดได้เมื่อทุกฝ่ายคิดว่าตัวเองสามารถที่จะแบ่งปันอำนาจที่จะอยู่ด้วยกันได้ ทุกคนยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และฟังอีกฝ่ายมากขึ้น
และต้องหยุดการพูดในวิธีคิดที่ว่าต้องลืมทุกอย่างแบบง่ายๆ ไม่ต้องนึกถึงบทเรียนในอดีต หรือว่ามองบทเรียนในอดีตเป็นเพียงความหวาดกลัว อย่าให้ไปถึงจุดนั้น ปัญหาใดแก้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับ คนจะได้เห็นว่าเป็นประเด็นท้าทายที่จะร่วมกันแก้ ไม่ใช่ซ่อนเอาไว้ แล้วมองว่าทุกฝ่ายที่ไม่ยอมทำตามเป็นเพียงศัตรู หรือได้รับเงิน ผมว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ
ไทยพับลิก้า: การที่อาจารย์กล่าวอย่างนี้แสดงว่าจุดยืนของรัฐบาลยังไม่แน่ชัด
ครับ คือทำอยู่ ทำไหม “ทำ” แต่ถ้าคุณ (รัฐบาล) ไม่ขีดเส้นให้ตัวเองก็ลำบากนะครับ เพราะว่าทุกอย่างมีเส้นของมัน เหมือนคุณทำงานแล้วไม่เกษียณอายุ ถ้าคุณยังกำกวมไปเรื่อยๆ เวลาคุณพังคุณพังยาว