ThaiPublica > คอลัมน์ > ประวัติศาสตร์จะบันทึกเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้ว่าอย่างไร (23 พค. 2557)

ประวัติศาสตร์จะบันทึกเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้ว่าอย่างไร (23 พค. 2557)

24 พฤษภาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ลองนั่งนึกดูว่า อีกห้าสิบปีหรือร้อยปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่าการปฏิวัติรัฐประหาร 2557 นี้เป็นอย่างไร

ผมคิดว่ามันมีทางเป็นไปได้อยู่สามทาง

– ทางที่หนึ่ง ถูกจารึกไว้ว่าเป็นการรัฐประหารชั้นเลิศ สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศจากหลังตีนเป็นหน้ามือได้เลยทีเดียว สามารถฉุดรั้งประเทศออกจากความขัดแย้งที่ไม่มีทางออก ฉุดออกมาจากหายนะที่ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วให้หลีกเลี่ยง ฉุดออกมาจากเงื้อมมือของกลุ่มคนโฉดชั่ว แถมยิ่งกว่านั้นยังสามารถปฏิรูปให้ยั่งยืนถาวร เจริญก้าวหน้าปราศจากคอร์รัปชัน ลดความเหลื่อมล้ำ สังคมสันติสุขร่มเย็น ประวัติศาสตร์แซ่ซ้องยกย่องเทิดทูนไปทั่ว กลายเป็นตัวอย่างไปทั้งสากล จนกระทั่งพวกชาติอารยะทั้งหลายไม่กล้าประณามใครประเทศไหนที่ทำรัฐประหารตั้งแต่วันแรกเหมือนที่เรากำลังโดน จนสามารถเปลี่ยนบรรทัดฐานสากลได้ ว่าต่อไปเวลามีใครปฏิวัติที่ไหน นานาชาติก็ได้แต่ร้องว่า “หวังว่าจะเป็นอย่างไทยแลนด์”

– ทางที่สอง ถูกจดจำแค่เพียงว่า เป็นการรัฐประหารครั้งหนึ่งในสิบสามครั้ง เหมือนๆ กับทุกๆ ครั้ง คือ แค่ไปหยุดยั้งกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย รีเซตให้ทุกอย่างกลับไปนับหนึ่งใหม่ ต้องเริ่มต้นกันใหม่ เริ่มกระบวนการขัดแย้งรอบใหม่ ตัวละครหน้าเดิมๆ บุคคลิกเดิมๆ มีเสริมเพิ่มบ้าง เพียงแค่รอเวลาให้ความขัดแย้งสุกงอม แล้วก็คอยคนมากดปุ่มรีเซตอีกที

– ทางที่สาม ถูกประณามว่า เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหายนะยาวนานของชนชาติไทย เป็นการนำพาประเทศเข้าสู่การเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว” (Failed State) ที่อย่างเลวที่สุดก็ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนาน หรืออย่างเลวน้อยลงมาก็ทำให้เกิดความเจริญถดถอย ชะงักงันยาวนาน เกิดภาวะที่เรียกได้เลยว่า “สูญหายไปหลายชั่วอายุคน”

แล้ว “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” รวมทั้งท่านหัวหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่ะ จะถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ว่าอย่างไร

ถ้าเกิดเป็นทางที่หนึ่ง ท่านก็คงจะถูกจารึกไว้ให้เป็นวีรบุรุษคนสำคัญของชาติ คงจะถึงกับเป็นวีรบุรุษคนสามัญที่สำคัญที่สุดที่ชาติเราเคยมีเลยทีเดียว ถ้ามีการให้รางวัลย้อนหลังได้ ท่านก็คงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และถูกนับรวมเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลกที่สามารถใช้กำลังทหารยึดอำนาจพัฒนาชาติได้ดีเยี่ยม อยู่ในกลุ่มเดียวกับ…เหมือนๆ กับ…(แหะๆ ขอโทษนะครับ ผมนึกชื่อใครไม่ออกเลย ใครรู้ช่วยเติมให้ทีนะครับ)

ถ้าเกิดเป็นทางที่สอง เราก็คงจดจำ คสช. กับท่านหัวหน้าไว้ได้เหมือนๆ กับที่เราจำบิ๊กบัง, บิ๊กจ๊อด, พล.ร.อ. สงัด, จอมพลถนอม, จอมพลสฤษดิ์, จอมพล ป., พล.ท. ผิน, พระยาพหลฯ และใครอีกหว่า ที่เคยเป็นผู้นำรัฐประหาร (ไม่นับรวมที่ไม่สำเร็จที่เราเรียกว่า “กบฏ”) ประเทศเราเคยมีปฏิวัติรัฐประหารมา 13 ครั้ง ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่นับได้ว่าเป็นแบบที่หนึ่ง ถึงแม้การปฏิวัติ 2475 และการปฏิวัติโดยประชาชน 2516 นับเป็นสองครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านบวกมากที่สุด แต่ในระยะต่อมาก็ไม่สามารถรักษา “ความยั่งยืน” ของการเปลี่ยนแปลงด้านดีไว้ได้ (ถ้าใครจำชื่อคณะปฏิวัติในอดีต และชื่อ-นามสกุลของหัวหน้าทุกคนได้ ผมขอคารวะนะครับ)

แต่ถ้าเกิดอย่างทางที่สาม (ที่โชคดีที่เมืองไทยพอนับได้ว่าไม่เคยเกิด) ท่านหัวหน้าก็คงได้รับการจดจำ ไว้เหมือนกับท่าน คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ท่านนายพลเนวิน ผู้ทำให้พม่าหยุดอยู่กับที่ได้นานสี่สิบปี ท่านมาร์กอซแห่งฟิลิปปินส์ ท่านนายพลฟรังโกแห่งสเปน ท่านนายพลติโตแห่งยูโกสลาเวีย ท่านฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา ซึ่งจอมเผด็จการทุกท่านนั้น ตอนมีชีวิตอยู่ ถึงจะยิ่งใหญ่มีคนสอพลอปานใด แต่ในที่สุด ประวัติศาสตร์ก็บันทึกไว้ว่านำพาชาติสู่ความหายนะยาวนาน ลูกหลานต้องสูญเสียอนาคตที่ควรมีไปหลายสิบปีทีเดียว จัดว่าเป็น “ทรราช” ได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว

ถึงผมจะคัดค้าน ต่อต้าน ไม่เคยคิดว่าการปฏิวัติรัฐประหารจะเป็นทางออกระยะยาวให้กับชาติได้อย่างไร แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ได้แต่หวังว่ามันจะจบลงโดยมีผลเป็นอย่างที่หนึ่ง หรืออย่างเลวก็ขอให้เป็นอย่างที่สอง อย่าให้ได้เลวร้ายไปจนถึงเป็นอย่างที่สามเลย ซึ่งอย่าประมาทไปนะครับ ในสมัยปัจจุบัน ในเงื่อนไขที่แตกต่างจากอดีต ถึงแม้เราไม่เคยเจออย่างที่สาม ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงนี้ต่ำ (ลองนึกถึงหน้าบิ๊กจ๊อดกับบิ๊กบังดูสิครับ ท่านจะนึกออกว่าทำไมเราถึงไม่นองเลือด)

แล้วผมมีอะไรจะแนะนำท่าน “คสช.” บ้างล่ะครับ ถึงจะหลีกเลี่ยงทางที่สามได้

คำแนะนำ หรือจะเรียกว่า “คำอ้อนวอนขอร้อง” ก็ได้นะครับ ของผมก็คือ

“ทำให้น้อยแล้วถอยให้เร็ว” ซึ่งหมายความว่า

ขอให้ทำแต่เพียงสิ่งที่จำเป็น (ซึ่งท่านก็ประกาศว่าเป็นเจตนารมณ์อยู่แล้ว) แล้วก็คืนอำนาจให้กับคนที่ได้รับเลือกตั้งทำต่อไป ใช้เวลาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข้อเสนอของผมก็คือ ไหนๆ ท่านก็ยึดอำนาจถือรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว (ทำให้มีความคล่องตัวไม่ต้องมีกฎรุ่มร่ามรัดตัวจนกระดิกไม่ออก) ก็ให้ท่านวางกรอบการปฏิรูปเสียเลย ตั้งคณะกรรมการที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับมากำหนดหัวข้อที่จะปฏิรูป มากำหนดวิธีการปฏิรูป ว่าจะมีกี่ด้าน ตั้งคณะอนุกรรมการวางแผนปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง ด้านการศึกษา ด้านการปราบคอร์รัปชัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ แค่เพียงสามสี่เดือนก็น่าจะเสร็จ (ตั้งแค่กรอบ แค่วางหัวข้อ วิธีการ และคนที่จะมาศึกษาวางแผนนะครับ ไม่ใช่ปฏิรูปให้เสร็จ ที่ต้องใช้เวลานับสิบปี)

ควบคู่กันไป ท่านก็เตรียมการเลือกตั้ง ไม่เกินห้าเดือนเราน่าจะเลือกตั้งได้ ในระหว่างนี้ ท่านจะรักษาการเอง หรือจะให้ข้าราชการประจำเขาทำงานให้ก็ได้ ใช้อำนาจเต็ม ทำงบประมาณชั่วคราว เอามาใช้ก่อน อย่าให้เกิดสุญญากาศ หนี้ชาวนาใช้เขาไป เงินลงทุนที่จำเป็นก็เดินหน้าได้

ในขณะเดียวกัน ท่านก็ใช้อำนาจแก้รัฐธรรมนูญเท่าที่จำเป็น (โดยใช้ฉบับ 2540 หรือ 2550 เป็นหลักก็ได้) เช่น เรื่องที่จะต้องดำเนินการวางแผนตามกรอบปฏิรูป หรือท่านจะแก้บางเรื่องที่มีเหตุผลชัดบ้างก็ได้ อย่างการห้ามใช้ประชานิยมเกินขอบเขต อย่างกลไกการต้านโกงฯลฯ และท่านอาจใส่บทเฉพาะกาล เช่นว่า เมื่อแผนปฏิรูปเสร็จ (กำหนดให้ไม่เกิน 1 ปี) ต้องมีการขอประชามติแผน ไม่ว่าผ่านหรือไม่ ให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ (ถ้าแผนผ่าน ใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องทำตามแผน ถ้าไม่ผ่านก็แปลว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการปฏิรูป ดื้อรั้นไปย่อมไม่ดีแน่)

นี่เป็นข้อเสนออ้อนวอน ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ในรายละเอียดอาจมีปรับได้บ้าง แต่แนวหลักก็คือ “ทำให้น้อยแล้วถอยให้เร็ว” นี่แหละครับ

ที่ผมกลัวที่สุดก็คือ ท่านเกิดอยากบริหาร อยากทำการปฏิรูปเองให้เสร็จ หรือเกิดเชื่อว่า คณะบุคคลที่ท่านเลือก ท่านเห็นว่าเก่ง ว่าดี ว่าเป็นกลางเท่านั้น ที่จะบริหาร และปฏิรูปให้แล้วเสร็จได้ ก่อนที่จะคืนอำนาจประชาธิปไตยให้ประชาชน ซึ่งผมกล้าบอกได้เลยว่าอย่างนั้นสุ่มเสี่ยง ใช้เวลานาน และจะเกิดความขัดแย้งใหญ่หลวงตลอดทาง โอกาสเกิดสงครามกลางเมือง หรือสงครามกองโจรจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยสูงมาก

อันว่า “การปฏิรูป” (Reform) ชื่อมันก็บอกว่ามันต้องเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ต้องมีกลไก ผู้มีส่วนได้เสียต้องมีส่วนร่วม มันไม่ใช่เรื่องที่คณะกรรมการใดๆ จะกำหนดเอาได้แต่ถ่ายเดียว ว่าไปแล้ว มันเป็นกระบวนการต่อเนื่อง (continuous process) ที่ต้องดำเนินตลอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยซ้ำ การที่ท่าน “ปฏิวัติ” เพื่อ “ปฏิรูป” มันก็ขัดๆ กันเองในตัวอยู่แล้ว ก็ได้แต่หวังว่าท่านจะเข้าใจแล้วรีบถอยแต่เร็ววัน

ผมเป็น “นักประสิทธิผลนิยม” (Pracmaticism) ถึงจะไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหาร แต่เมื่อทำไปแล้ว เป็นไปแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าจะใช้วิกฤติที่ก่อขึ้นนี้ให้เป็นโอกาสได้นะครับ ได้แต่หวังว่า อีกห้าสิบปี (ที่ผมก็ไม่อยู่แล้ว) ลูกหลานเขาจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับเหตุการณ์นี้

เชื่อผมเถอะครับ ถ้าอยากทำมากทำนาน ท่านมีโอกาสสูงที่จะได้จัดอยู่ในกลุ่มของ “ทรราช” ในประวัติศาสตร์ (เป็นแบบที่สาม) ถ้ายิ่งทำน้อยทำเร็ว ท่านถึงจะมีโอกาสที่จะได้เป็นวีรบุรุษ

“ทำให้น้อยแล้วถอยให้เร็ว” นะครับ ได้โปรด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 24 พฤษภาคม 2557