สฤณี อาชวานันทกุล
ถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคุณภาพของระบบการศึกษาคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ชาติจะเดินได้ต้องอาศัย “พลเมือง” ที่ตื่นตัว อีกทั้งเศรษฐกิจสมัยใหม่ยังแข่งขันกันที่เทคโนโลยีและความรู้ ต้องวิ่งตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งนับวันมีแต่จะผันผวนปรวนแปรยิ่งขึ้นในยุคทรัพยากรหายากแต่ข้อมูลเหลือเฟือ กลับกันกับสมัยคุณปู่ซึ่งมีทรัพยากรเหลือเฟือแต่ข้อมูลหายาก
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกี่ยวกับการศึกษาไม่ต่างจากปัญหาทุกเรื่อง ตรงที่การเลือก “วิธีการ” ที่ถูกต้อง (หรือแย่น้อยที่สุด) สำคัญไม่แพ้การระบุ “สภาพปัญหา” ให้ชัดเจน ปัญหาคือผู้มีอำนาจมักจะสอดแทรกทัศนคติหรืออคติของตัวเองเข้าไป ซึ่งก็มักจะเป็นอคติที่คับแคบล้าหลัง ใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยม มากกว่าจะคิดวิธีการอื่นที่ได้ผลดีกว่า

ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ถึงเดือน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ประกาศรื้อหลักสูตรการศึกษาใหม่ นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยได้ประกาศให้วิชา “หน้าที่พลเมือง” เป็นวิชาบังคับ ต้องเรียน 40 ชั่วโมงต่อปีสำหรับเด็กระดับประถมถึงมัธยมต้น และ 80 ชั่วโมงต่อปีสำหรับเด็กมัธยมปลาย
ข่าวนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทสนทนากับ สก็อต วอร์เรน (Scott Warren) ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur) รุ่นใหม่ไฟแรง เมื่อครั้งไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกา ปี 2556

ผู้เขียนได้คุยกับเขาเพียงหนึ่งชั่วโมงในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงซานฟรานซิสโก แต่ก็เป็นหนึ่งชั่วโมงที่น่าประทับใจไม่รู้ลืม
สก็อตคือผู้ก่อตั้ง Generation Citizen โครงการสร้างวิชา “หน้าที่พลเมือง” ชนิดใหม่ถอดด้ามและ “ทำจริง” สำหรับเด็กเกรดแปดในอเมริกา (เทียบเท่ากับมัธยมสองบ้านเรา) เขาได้รางวัลมากมายรวมทั้ง “Top 30 Social Entrepreneurs Under 30” ของนิตยสาร Forbes ประจำปี 2012
สก็อตเล่าว่าปัญหาที่เขาสังเกตคือ วิชา “หน้าที่พลเมือง” ถูกปล่อยละเลยหรือไม่ก็ถูกตัดทิ้งไปเลยมากขึ้นเรื่อยๆ ในโรงเรียนรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตรายได้น้อย เด็กนักเรียนเองส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบเรียนวิชานี้เพราะครูสอนแบบน่าเบื่อจำเจ เอะอะก็ให้ท่องตำราลูกเดียว เนื้อหาในตำราก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับชีวิตของพวกเขาเลย
เขาบอกว่าปัญหานี้ทำให้เด็กอเมริกันโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เบื่อการเมือง ไม่อยากไปใช้สิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานอย่างเช่นไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ส่งผลให้อเมริกาเป็นประเทศที่คนจำนวนมากไม่ออกไปใช้สิทธิ (จากสถิติปี 2012 มีคนอเมริกันเพียงร้อยละ 54.9 ของผู้มีสิทธิเท่านั้นที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี คนที่นอนหลับทับสิทธิมีจำนวนมากถึง 96 ล้านคน)
เมื่อคนที่ควรจะสนใจการเมืองกลับไม่สนใจ นักการเมืองก็ยิ่งเถลิงอำนาจหรือทำงานสบาย เอาเวลาไปเอาอกเอาใจกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ทำให้คนยิ่งไม่พอใจหรือเบื่อหน่าย ถอยห่างจากการเมืองมากกว่าเดิม
Generation Citizen พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการออกแบบวิชา “หน้าที่พลเมือง” ใหม่เอี่ยม เรียกชื่อวิชาเสียใหม่ว่า “การเคลื่อนไหวของพลเมือง” (Action Civics) ไปเสนอวิชานี้ให้โรงเรียนต่างๆ ใช้ในคาบ “หน้าที่พลเมือง” แทนวิชาเดิม การทำงานขององค์กรได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิหลายแห่ง
กลไกสำคัญในวิชา “การเคลื่อนไหวของพลเมือง” คือ ก่อนอื่นโครงการจะรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเป็น “โค้ชประชาธิปไตย” (Democracy Coach) ให้กับนักเรียนระดับมัธยมทั้งห้อง
เนื้อหาของวิชาจะเน้นการลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าทฤษฎี ให้เด็กๆ ได้ใช้สิทธิพลเมืองของตัวเอง โดยให้เด็กๆ ระดมสมองว่ามีปัญหาอะไรในชุมชนของตัวเองที่อยากแก้ไข โค้ชและโครงการจะช่วยติดต่อประสานงานกับผู้มีอำนาจในชุมชน ให้เด็กๆ ได้เข้าไปเสนอแนวทางแก้ปัญหาและติดตามผล ซึ่งปัญหาที่ว่านี้ก็มีหลากหลายและล้วนแต่เป็นประเด็นจริงๆ ที่ส่งผลต่อนักเรียน ตั้งแต่สวนสาธารณะไม่ปลอดภัย รถเมล์ไม่ตรงต่อเวลา เพื่อนร่วมโรงเรียนขาดอาหาร คนในชุมชนไม่ไว้ใจตำรวจ โรงอาหารทิ้งขยะมากเกิน ฯลฯ
สก็อตบอกว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกถึง “พลัง” ของตัวเองในฐานะพลเมืองได้ดีเท่ากับการใช้สิทธิของตัวเองในฐานะพลเมือง ร่วมกันระดมสมองแก้ปัญหาในชุมชน และเรียกร้องให้ผู้แทนตอบสนองความต้องการของพวกเขา
ถ้าเด็กเห็นพลังของตัวเอง พวกเขาก็น่าจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งขันกับการใช้สิทธิพลเมือง

โครงการ Generation Citizen มีอายุเพียง 6 ปี (ก่อตั้งปี 2008) แต่โตเร็วมาก วันนี้โครงการทำงานกับเด็กนักเรียนกว่า 9,500 คนในห้องเรียน 380 ห้อง ในเมืองโพรวิเดนซ์, นิวยอร์ก, บอสตัน และซานฟรานซิสโก ฝึกนักศึกษาให้เป็นโค้ชประชาธิปไตยไปแล้ว 500 คน
เป้าหมายสูงสุดของสก็อต คือ การทำให้วิชา “การเคลื่อนไหวของพลเมือง” เข้าไปอยู่ในหลักสูตรพื้นฐานของโรงเรียนทุกโรงในอเมริกาให้ได้
สก็อตอธิบายว่า เขาเน้นทำงานกับโรงเรียนรัฐในเขตยากจนเป็นหลักเพราะเป็นที่ที่เกิด “วงจรอุบาทว์” กล่าวคือ โรงเรียนในเขตยากจนปกติจะให้การศึกษาที่ด้อยคุณภาพกว่าโรงเรียนในเขตรวย วิชาหน้าที่พลเมืองยิ่งแล้วใหญ่ พอเด็กเบื่อ โตไปก็ไม่ไปเลือกตั้ง กลายเป็นว่าคนที่ออกไปใช้สิทธิคือคนที่มีฐานะค่อนข้างดี ยิ่งเป็นแบบนี้คนด้อยโอกาสยิ่งไม่มีปากเสียงในระบบการเมือง ปัญหาของพวกเขายิ่งไม่ได้รับการแก้ไข
ถามว่าความท้าทายของเขาคืออะไร สก็อตตอบว่าการระดมทุนมาสนับสนุนโครงการยังเป็นเรื่องยาก คนส่วนใหญ่อยากบริจาคเงินให้ปรับปรุงวิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่เวลาบอกว่าวิชาหน้าที่พลเมืองก็สำคัญ คนส่วนใหญ่จะยังมองไม่เห็นว่าสำคัญอย่างไร

ผู้เขียนถามว่าทีมของเขากับโค้ชไม่รู้สึกเซ็งกับการเมืองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มุ่งทำลายคู่แข่งมากกว่าสร้างผลงานในอเมริกาวันนี้หรือ เขาเอาแรงบันดาลใจในการทำงานมาจากไหน
สก็อตตอบว่า เรื่องที่นักการเมืองอเมริกันทะเลาะกันนั้นเป็นเรื่องระดับชาติ แต่ถ้ามองประเด็นปัญหาระดับท้องถิ่นจริงๆ ทุกคนเอาเข้าจริงก็อยากจะร่วมกันแก้ปัญหาของชุมชนทั้งนั้น รวมทั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นเองด้วย
แล้วใครล่ะจะอยากปฏิเสธเด็กตาดำๆ ได้ลงคอ
หันกลับมาดูประเทศไทย การออกไปเลือกตั้งยังถูกกฎหมายกำหนดให้เป็น “หน้าที่” ไม่ใช่ “สิทธิ” ผู้มีอำนาจรัฐยังใช้วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมเป็นหลัก บังคับให้ท่องจำนามธรรมอย่าง “ค่านิยม 12 ประการ” (ซึ่งหลายข้อก็ซ้ำซ้อนซ้ำซาก) และใช้เงินประหลาดๆ อย่างเช่นการจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ของค่านิยมชุดนี้ โดยที่ไม่ชัดเจนว่าผลลัพธ์คืออะไร (ใครจะอยากโหลดสติ๊กเกอร์ไปใช้? คนที่ใช้สติ๊กเกอร์แปลว่ากำลังทำตามค่านิยมเหล่านี้อยู่หรือไม่? รัฐจะรู้ได้อย่างไร?)
ผู้เขียนคิดว่าวิชา “การเคลื่อนไหวของพลเมือง” ของ Generation Citizen ก็น่าจะให้บทเรียนหลายบทกับเราได้เป็นอย่างดี.