ThaiPublica > คอลัมน์ > ฆาตกรชื่อเก้าอี้

ฆาตกรชื่อเก้าอี้

11 ธันวาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ผู้คนมักเข้าใจว่าปืนและมีดคือเพชฌฆาตทันควัน ส่วนความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดชนิดเลว (LDL) สูงคือเพชฌฆาตผ่อนส่ง แท้จริงแล้วเก้าอี้นี่แหละคือฆาตกรอีกตัวหนึ่งที่มาแบบเงียบๆ และเป็นพ่อของเพชฌฆาตผ่อนส่งข้างต้น

นิตยสาร Scientific American ฉบับพฤศจิกายน 2014 รายงานว่า งานศึกษาวิจัย 18 ชิ้น ใน 16 ปีที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งหมด 800,000 คน สรุปตรงกันว่าเก้าอี้คือฆาตกร ตัวอย่างเช่น การศึกษาในปี 2010 ซึ่งรายงานไว้ในวารสาร Circulation สำรวจผู้ใหญ่ 8,800 คน เป็นระยะเวลา 7 ปี สรุปว่าคนที่นั่งดูทีวีมากกว่าวันละ 4 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับคนที่นั่งดูทีวีน้อยกว่าวันละ 2 ชั่วโมงแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46

งานศึกษาอื่นๆ พบว่า การนั่งมากกว่าครึ่งวันในแต่ละวันทำให้ความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว และโดยทั่วไปในภาพรวมเมื่อคำนึงถึงสาเหตุของโรคต่างๆ รวมกันแล้วก็พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มคนที่นั่งกับกลุ่มคนที่กระฉับกระเฉงเดินไปมาแล้ว คนกลุ่มแรกนี้มีโอกาสตายสูงกว่าถึงร้อยละ 50

ทำไมแค่การนั่งธรรมดาทำให้มีโอกาสตายสูงขึ้น คำตอบง่ายๆ ก็คือ การนั่งเป็นระยะเวลานานๆ ไม่สอดคล้องกับการที่ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมา ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เคลื่อนไหว เดินไปมา มีความกระฉับกระเฉง การนั่งนานๆ อย่างไม่เคลื่อนไหวทำให้ระบบการทำงานเผาผลาญพลังงานของร่างกายซึ่งทำให้อาหารที่บริโภคเข้าไปถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานทำงานช้าลง เกิดการสะสมของไขมัน ความอ้วน (obesity) ตามมาจนนำไปสู่โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขข้ออักเสบ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับการมีน้ำหนักเกินปกติ

การนั่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับคนไม่อ้วนเช่นกัน เช่น การนั่งหลังจากรับประทานอาหาร นำไปสู่การพุ่งสูงขึ้นของน้ำตาลในเลือด การเดินหลังอาหารสามารถลดยอดที่พุ่งสูงขึ้นได้ครึ่งหนึ่ง

มนุษย์มีความเข้าใจผิดว่าปัญหาสุขภาพเกี่ยวพันกับการกินมากเกินไปโดยมองข้ามการนั่งแบบเจ่าจุกไป ถ้าจะมองให้ไกลออกไปก็จะพบว่านิสัยอันเกิดจากความเคยชินในเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายคือปัจจัยสำคัญของบรรดาปัญหาสุขภาพ ซึ่งนิสัยชอบเดินเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่านั่งโดยไม่ทำอะไรบนเก้าอี้นั้นแก้ไขง่ายกว่าการกินมากเกินไปด้วยซ้ำ

ที่มาภาพ : http://www.homedesignideasx.com/
ที่มาภาพ : http://www.homedesignideasx.com/

ในประเทศญี่ปุ่นมีการรณรงค์ “10,000 ก้าวเพื่อสุขภาพ” และลามไปสู่หลายประเทศในปัจจุบัน เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมนี้เป็นที่นิยม ซึ่ง 10,000 ก้าวนี้ก็เท่ากับการเดินไม่ต่ำกว่า 6 กิโลเมตรต่อวัน สำหรับคนไทยที่ไม่ได้เดินขึ้นรถไฟไกลๆ เหมือนคนญี่ปุ่นอาจทำได้ยากหากไม่มีความมุ่งมั่น อย่างไรก็ดี หลักฐานเรื่องปัญหาสุขภาพข้างต้นก็น่าจะเพียงพอต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ชอบนั่งมาเป็นยืนและเดินแทนแล้ว

นโปเลียน โบนาปาร์ต มีชื่อเสียงในเรื่องการยืนทำงาน กล่าวคือ โต๊ะที่ทำงานมีความสูงอย่างเหมาะต่อการยืนทำงาน การไม่มีเก้าอี้ให้นั่งทำให้คนที่เข้าพบใช้เวลาสั้นจนเป็นการใช้เวลาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปัจจุบันบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นบางแห่งใช้การยืนประชุมแทนการนั่งเป็นชั่วโมงๆ ดังที่เคย และพบว่าสามารถหาข้อตกลงได้ในเวลาที่สั้นกว่า และสอดคล้องกับหลักสุขภาพตามที่ได้พบมาจากงานวิจัยอีกด้วย

มีการทดลองสร้างโต๊ะทำงานสูงคร่อมสายพานเดินที่มีความเร็ว 1-2 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้คนทำงานต้องยืนและเดินช้าๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้ทดลองพบว่าทำให้สมองตื่นตัว มีความเครียดน้อยลง น้ำหนักลดลง ความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดลดลง ข้อสรุปนี้ปรากฏในวารสาร Health Services Management Researchในปี 2011

ถ้าจะไปไกลถึงบรรพบุรุษของเรา ก็พบว่าการเดินทำให้เรามีวันนี้กัน นักชีววิทยา 2 คน คือ D.E. Lieberman และ D.M. Bramble เขียนบทความลงวารสาร Nature ในปี 2004 ชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราที่สืบทอดลูกหลานมาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะความอึดทนทานในการเดินและวิ่งไล่ตามเหยื่อที่เป็นสัตว์อย่างไม่ลดละ จนในที่สุดสัตว์ก็ทนไม่ไหวต้องล้มลงและเป็นอาหารในที่สุด
การเดินทนทานทำให้เกิดอาหารและมีพลังที่จะผลิตลูกหลาน ยีนจากผู้แข็งแรงจากการเดินเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงมาจนถึงพวกเรา (มนุษย์ทุกคนมีประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่ยาวเท่ากันคือประมาณ 7,500 ชั่วคน หรือประมาณ 150,000 ปี ของช่วงเวลาที่มีหน้าตาและรูปร่างเหมือนมนุษย์ในทุกวันนี้ คนที่คุยว่าตนเองมาจากครอบครัวที่เก่าแก่กำลังลืมความจริงข้อนี้)

เมื่อนิสัยการเดินทนทานฝังอยู่ในยีนของพวกเรา จึงควรสนองตอบสืบทอดคุณลักษณะนี้ต่อไปเพื่อความแข็งแรงของมนุษยชาติและของตัวเราเอง

การนั่งก้มหน้าตลอดเวลาดูสิ่งประดิษฐ์อัศจรรย์ในปัจจุบันซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ขัดแย้งกับความเป็น “สัตว์สังคม” ของมนุษย์ที่ทำให้เราอยู่รอดกันมาโดยอยู่เป็นหมู่เหล่า มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มิฉะนั้นคงถูกสัตว์ร้ายฆ่าตายหมดแล้ว

หลักฐานงานศึกษาวิจัยมีท่วมท้นว่าการนั่งเจ่าจุกบนเก้าอี้ การมีชีวิตที่รักการกิน นั่ง และนอน อย่างขาดความกระฉับกระเฉง ไม่ชอบการออกกำลังกาย และไม่ชอบการเดิน คือการทำลายสุขภาพอย่างสำคัญ

เดินให้มาก นั่งให้น้อย ไม่กินอาหารเกินพอดี มีชีวิตที่คึกคักกระฉับกระเฉง และมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อชีวิต ดูจะเป็นทางออกของการมีสุขภาพที่ดี ถึงแม้จะทำให้คนที่อยากให้เราจากไปรำคาญมากขึ้นก็ตามที

จงมองเก้าอี้ด้วยความระแวงเพราะมันคือฆาตกรตัวจริง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 9 ธ.ค. 2557