ThaiPublica > เกาะกระแส > “กุลิศ สมบัติศิริ” งัดแผนกรมศุลฯ เร่งแก้ประมง IUU ก่อนอียูตรวจซ้ำ ม.ค. 59 – อุตสาหกรรมทูน่าจุดเสี่ยง”ใบแดง”

“กุลิศ สมบัติศิริ” งัดแผนกรมศุลฯ เร่งแก้ประมง IUU ก่อนอียูตรวจซ้ำ ม.ค. 59 – อุตสาหกรรมทูน่าจุดเสี่ยง”ใบแดง”

31 ตุลาคม 2015


ตุลาคม 2558 ครบ 6 เดือนที่ไทยต้องแก้ไขปัญหาทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU – ไอยูยู) ตามที่สหภาพยุโรป (อียู) กำหนดไว้ โดยระหว่างวันที่ 13–23 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ตัวแทนคณะกรรมการจากอียูได้เข้าทำการประเมินผลงานไทยอีกครั้ง หลังการตรวจสอบไทยยังคงมีข้อบกพร่องให้ต้องแก้ไขเพิ่มเติม โดยอียูได้ให้เวลาไทยอีก 2 เดือนในการแก้ไขปัญหาก่อนกลับมาประเมินผลงานอีกครั้งในเดือนมกราคม 2559

ทั้งนี้ ข้อท้วงติงแรกที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือ เรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับในระบบอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 กรมศุลกรได้แถลงมาตรการการพัฒนาระบบติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง และระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยเร่งจัดทำแผน และมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ อธิบดีกรมศุลกากร
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ อธิบดีกรมศุลกากร

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงผลการดำเนินการในส่วนงานของกรมศุลกากรในการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญโดยกำหนดมาตรการที่จะต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทันที (ภายในเดือนธันวาคม 2558) โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร คือ มาตรการการพัฒนาระบบติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (ความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากรและกรมประมง) รวมถึงมาตรการตรวจสอบโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (ความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมประมง)

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมศุลกากรจึงได้วางแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

  • แต่งตั้งคณะทำงาน ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม พิธีการศุลกากรเฉพาะเรื่องการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม ตามคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 984/2558 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558
  • กำหนดประชุมร่วมระหว่างกรมศุลกากรและกรมประมง เพื่อจัดทำร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ตามมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Tracability) ในวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2558 รายละเอียดของ MOU ดังกล่าวจะกำหนดมาตรการตรวจสอบเรือ การควบคุมการขนถ่าย การตรวจปล่อยสินค้า การตรวจสอบการผลิตแปรรูป และการส่งออก โดยความร่วมมือของทั้งสองกรมในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การทำงานร่วมกัน การเก็บข้อมูลสถิติ และการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมทั้งจัดทำคู่มือระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้ กรมศุลกากรได้ยกร่าง MOU ในส่วนของกรมศุลกากรเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะร่วมพิจารณาร่าง MOU กับกรมประมงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
  • กำหนดให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทั่วประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าปลาให้ร่วมเป็นคณะทำงานในการตรวจสอบแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
  • จัดส่งเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการศุลกากรขนาดต่างๆ เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการตรวจสอบการทำการประมงผิดกฎหมายทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน โดยให้ขึ้นตรงตามแผนปฏิบัติ ของ ศรชล. เขต 1-3 อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรจะมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยจะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ

ปัญหาการเก็บข้อมูล – ประมงนอกน่านน้ำ – อุตสาหกรรมปลากระป๋อง จุดเสี่ยงประเทศไทย

ก่อนหน้านี้นายมาโนช รุ่งราตรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าถึงสิ่งที่น่ากังวลในการแก้ปัญหาประมงไอยูยูของไทย ได้แก่ ปัญหาการด้านการเก็บข้อมูลที่ยังคงมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของประมงนอกน่านน้ำ และอุตสาหกรรมปลากระป๋อง

นายมาโนชกล่าวว่า สำหรับการทำประมงนอกน่านน้ำก็เป็นอีกกรณีที่มีปัญหา เนื่องจากกรณีที่เป็นข่าวอยู่เรื่อยมาคือเรือประมงไทยถูกจมโดยประเทศเจ้าของน่านน้ำ เนื่องจากทำประมงผิดกฎหมายของประเทศเขา รวมทั้งกรณีของโรงงานปลาทูน่ากระป๋องที่มีการส่งออกไปขายยังอียู แต่ไม่มีใบรับรองว่ามาจากการทำประมงที่ถูกต้อง ไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

iuu iuu

กรณีเหล่านี้โยงใยไปถึงอุตสาหกรรมปลาป่นและอุตสาหกรรมอาหาสัตว์ เนื่องจากวัตถุดิบที่ทำปลาป่นมักมาจาก“ปลาเป็ด” ซึ่งเป็นลูกปลาเล็กๆ ที่ขายไม่ได้ราคา ลูกปลาเหล่านี้ล้วนเกิดจากการทำประมงไอยูยูทั้งสิ้น เพราะหากทำอย่างถูกต้องจะไม่มีปลาเล็กๆ ติดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

สำหรับการคำนวณทรัพยากรสัตว์น้ำโดยใช้ค่าผลการจับสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน หรือ MSY (Maximum Sustainable Yield) ที่จะเป็นตัวบ่งชี้สถานะทรัพยากรทางทะเลและความสามารถในการทำประมงยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากทฤษฎีนี้มาจากต่างชาติ ขณะที่แหล่งน้ำทางตะวันตกเป็นเขตอบอุ่นและเขตหนาว ส่วนไทยเป็นเขตร้อน ทำให้ชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำแตกต่างกัน

“ชนิดสัตว์น้ำของฝรั่งเขามีน้อย แต่มีปริมาณมาก เวลาที่จะคิดคำนวณก็จะคิดเป็นแต่ละชนิดของสัตว์น้ำ ซึ่งสามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ชนิดต่อปริมาณได้ง่าย แต่ประเทศไทยมีสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด และปริมาณของแต่ละชนิดไม่มาก กระจัดกระจายกันไป เช่น ปลาที่อยู่หน้าดินที่อวนลากจับอาจมีประมาณ 50 ชนิด จะมาแยกทีละชนิดๆ มันยาก จึงรวมทั้ง 50 ชนิด คิดเป็นชนิดเดียว อยู่ในส่วนของอวนลาก เมื่อคิดแบบนี้ก็มีคนทักท้วงว่าใช้ทฤษฎีของเขาไม่เหมาะกับไทยและไม่ถูกตามหลักวิชาการ เพราะปลาแต่ละชนิดมีค่าการเจริญเติบโตที่เฉพาะตัว จะเอามารวมกันได้อย่างไร” นายมาโนช กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเลกล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งนี้ก็เป็นตัวที่เตือนเราได้ระดับหนึ่งว่าสถานการณ์สัตว์น้ำตอนนี้เป็นอย่างไร คิดตามหลักวิชาการอาจไม่ถูกต้องสักเท่าไร แต่ก็สามารถบอกให้รู้ได้ว่ามากหรือน้อยอย่างไร ต้องจัดการกันอย่างไรแล้ว ซึ่งจะให้ดีที่สุดก็ต้องให้นักวิชาการเขามาวิเคราะห์กันใหม่ หากเห็นว่าวิธีการที่กรมประมงทำการแยกไม่ถูกต้อง ก็ต้องให้นักวิชาการที่มีความรู้มาพิจารณาร่วมกันว่าควรจะปรับปรุงวิธีการแก้ไขอย่างไร

การเก็บข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำของกรมประมง

นายมาโนช กล่าวถึงวิธีการเก็บข้อมูลสถานะทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทยว่า มี 2 วิธีด้วยกันที่กรมประมงใช้ คือ

  • เก็บข้อมูลจากเรือสำรวจของกรมประมง ซึ่งเป็นเรือสำรวจเกี่ยวกับการทำประมงอวนลาก โดยจะดำเนินการสำรวจทั่วอ่าวไทยและฝั่งอันดามันทุกปี ทำการสำรวจประมาณ 4 ครั้ง/ปี ผลที่ได้จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงเรื่องความชุกชุมของสัตว์น้ำว่ามีมากน้อยแค่ไหน
  • และการเก็บข้อมูลจากเรือประมง ทั้งเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรือที่ใช้เครื่องมือใหญ่ๆ จำพวกเรืออวนลาก เรืออวนล้อม เรือที่ใช้เรือปั่นไฟ พวกไดหมึก หรือเป็นพวกเรือใช้อวนขนาดใหญ่ พวกอวนลอย และเรือประมงพื้นบ้าน โดยทำการสำรวจ เก็บข้อมูลตามท่าเทียบเรือของชาวประมง และจะนำข้อมูลจากทั้ง 2 ส่วนมาวิเคราะห์ด้วยกันว่าสถานะของสัตว์น้ำในแต่ละปีนั้นมีสถานะอย่างไร

โดยทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำมาคำนวณหาค่า MSY เป็นค่าประมาณผลผลิตของสัตว์น้ำ ต้องคิดคำนวณจากข้อมูลผลการจับสัตว์น้ำกับจำนวนเรือ ผลจะออกมาว่าแต่ละปีมีเรืออยู่เท่าไร ใช้เครื่องมืออะไร จับสัตว์น้ำได้เท่าไร อะไรบ้าง ค่าผลผลิตจากการถูกจับในการทำประมงมีอยู่เท่าไร และค่าผลจับต่อหนึ่งหน่วยเวลา (Catch per Unit of Effort: CPUE) ซึ่งเป็นค่าวัดความชุกชุมของสัตว์น้ำ อาทิ เครื่องมืออวนลากตั้งแต่ปี 2503 จับสัตว์น้ำได้ 200 กิโลกรัม/ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีการคำนวณการแพร่กระจายและความชุกชุมของสัตว์เศรษฐกิจวัยอ่อน คือการหาจำนวนลูกปลาเล็กๆ เพื่อวัดความชุกชุม ดูการแพร่กระจาย โดยศึกษาเฉพาะลูกปลาเล็กๆ ว่าในแต่ละพื้นที่จะมีการลากขึงอวนไป เสร็จแล้วเอามาดูว่ามีลูกปลาอะไรบ้าง จะคิดกลับไปเป็นปริมาตรน้ำว่ากี่ลูกบาศก์เมตรมีลูกปลากี่ตัว เพื่อจะดูว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งวางไข่ของปลาหรือไม่ หากพบลูกปลามากแสดงว่าตรงนั้นเป็นแหล่งวางไข่ ก็จะทำการปิดพื้นที่ในช่วงเวลาที่พบลูกปลาขนาดเล็กเยอะๆ เป็นการศึกษาเรื่องพื้นที่ สำรวจพร้อมๆ เรือสำรวจของกรมประมงปกติทุกปี ปีละ 4 ครั้ง