ThaiPublica > คอลัมน์ > “4 ปัญหาร่วม” ในการพัฒนาการศึกษากับสาธารณสุข

“4 ปัญหาร่วม” ในการพัฒนาการศึกษากับสาธารณสุข

6 ธันวาคม 2014


ที่มาภาพ : https://farm8.staticflickr.com/7052/6803420982_1ae7049a12_z_d.jpg
ที่มาภาพ : https://farm8.staticflickr.com/7052/6803420982_1ae7049a12_z_d.jpg

การศึกษากับสาธารณสุขนั้นเป็นสองเซ็กเตอร์ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการบริหารประเทศ จะเห็นได้ว่าเมื่อประเทศต่างๆ เจริญขึ้น มีเงินเหลือมากขึ้นจากการเลี้ยงปากท้องของประชากร มันก็เป็นเรื่องปกติที่ประเทศเหล่านี้จะเริ่มหันมาลงทุนสร้างระบบเพื่อการบริการที่ดีขึ้นในสองเซ็กเตอร์นี้ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือทำไมวิธีบริหารสองเซ็กเตอร์นี้ในแต่ละประเทศนั้นถึงได้แตกต่างกันเหลือเกิน

ยิ่งไปกว่านั้นทำไมบางประเทศแม้จะร่ำรวยมหาศาล มีแรงงานและเทคโนโลยีระดับโลกแต่กลับยังมีปัญหามากมายในการบริหารสองเซ็กเตอร์นี้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐฯอเมริกานั้นเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกและมีค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพและสาธารณสุขสูงถึง 17.7% ของ GDP ในปี 2011 (แค่เซ็กเตอร์เดียวใหญ่กว่า GDP ไทยทั้งประเทศประมาณ 7.6 เท่า!) แต่กลับมีประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขอยู่ ที่โหล่จาก 11 ประเทศร่ำรวย แถมยังมีปัญหามากมายเรื่องคุณภาพและความเป็นธรรมในระบบการศึกษา

บทความนี้ชี้ให้เห็นถึง “4 ปัญหาร่วม” ที่ทำให้การพัฒนาสองเซ็กเตอร์สำคัญนี้เป็นงานที่ท้าทายแม้ว่าประเทศจะร่ำรวยแล้วก็ตาม สำหรับประเทศไทยที่กำลังเกิดการตื่นตัวในการพัฒนาการศึกษาและกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในไม่ช้า ผู้เขียนคิดว่าการตระหนักถึง 4 ปัญหานี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เราไม่ก้าวผิดทางไปเดินตามประเทศที่แม้จะเจริญแล้วแต่ก็ยังงมหาหนทางที่ดีที่สุดในสองเซ็กเตอร์นี้ไม่เจอจนถึงวันนี้

1. สำคัญแต่ไม่แน่นอน

ที่มาภาพ : https://farm5.staticflickr.com/4002/4182291013_fc4106bde3_z_d.jpg
ที่มาภาพ : https://farm5.staticflickr.com/4002/4182291013_fc4106bde3_z_d.jpg

ปัญหาทั้งหลายในสองเซ็กเตอร์นี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการวัดคุณภาพโรงพยาบาลและโรงเรียน ปัญหาราคารักษาโรคและค่าเล่าเรียนแพง หรือปัญหาครู/พยาบาล/หมอขาดแคลน นั้นล้วนมีที่มาจากความไม่แน่นอนทั้งสิ้น

ทั้งการศึกษาและสาธารณสุขนั้นเต็มไปด้วยความกำกวมและความไม่แน่นอนในเกือบจะทุกๆ วินาทีที่สองระบบนี้เคลื่อนไหว ยกตัวอย่างจากชีวิตจริง เช่น เวลาพ่อแม่ตัดสินใจจะส่งลูกไปเข้าโรงเรียน พวกเขาจะต้องคิดว่าโรงเรียนไหนดี โรงเรียนไหนคุ้มเงิน โรงเรียนไหนแพงแต่ไม่ดี ลูกคนโน้นคนนี้เขาจบออกมาแล้วเป็นยังไง ranking เขาบอกว่าอะไร เมื่อเลือกโรงเรียนในฝันได้แล้วก็ยังต้องมาคิดดูอีกว่าลูกเราจะเข้าได้ไหม จะต้องส่งลูกไปกวดวิชาอีกไหม (ย้อนกลับไปคิดอีกว่าโรงเรียนกวดวิชาที่ไหนดี)

และสมมุติว่าเข้าได้แล้วก็ตามถึงกระนั้นก็ยังไม่แน่อยู่ดีว่าแม้ลูกจะเข้าไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ได้แล้วลูกเราจะจบออกมาเก่งจริงๆ เหมือนลูกคนอื่นๆ หรือจะกลายไปเป็นเด็กรั้งท้ายในโรงเรียนท็อป เพราะบางทีโรงเรียนมีชื่อเสียงและ ranking ดีเพราะว่า “เลือกเด็ก” มาแล้ว ยังไงยังไงพวกเขาจบออกไปก็จะหางานได้ดีในระดับนึงแม้การเรียนการสอนในโรงเรียนที่ “ดี” นั้นจะไม่ได้แตกต่างไปจากโรงเรียนข้างๆ มากมายนัก

หากเราเลือกโรงเรียนที่ไม่เหมาะกับลูก แม้โรงเรียนจะมีชื่อเสียงดี อาจจะทำให้ลูกไม่มีความสุข เครียด และไม่สามารถไปถึงระดับความสำเร็จที่จริงๆ แล้วมีความสามารถพอได้ แล้วโรงเรียนแบบไหนล่ะคือสิ่งที่ลูกเราต้องการ ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัวกับความไม่แน่นอนที่แฝงอยู่ในการศึกษา

ในเรื่องของสุขภาพก็คล้ายกันในมิตินี้ คนทั่วไปไม่มีทางรู้ได้ 100% โดยไม่ไปหาหมอว่าขณะนี้ร่างกายตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคอะไรบ้างและจะมีหนทางอะไรเพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น เราอาจจะเดาได้บางครั้งว่ากำลังเป็นโรคหวัดธรรมดาเพราะว่าเคยเป็นมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตามมันก็ยังมีโอกาสที่ว่าอาการที่แสดงออกมาคล้ายหวัดนั้นมันเป็นอาการของโรคที่ร้ายแรงกว่าก็เป็นได้

หรือแย่ยิ่งกว่าคือไม่มีอาการอะไรให้เอะใจเลยจนกระทั่งวันนึงล้มป่วยลง แม้จะตัดสินใจได้แล้วว่าจะต้องไปหาหมอก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอีกที่หมออาจจะวินิจฉัยไม่พบหรือวินิจฉัยผิดโรค (โอกาสอาจจะต่ำหากไปหาหมอที่เก่ง) หรือแม้จะวินิจฉัยถูกโรคแล้วก็ยังมีโอกาสที่อาจจะรักษาได้ไม่สำเร็จได้ในกรณีที่โรคร้ายแรงหรือการรักษา/ผ่าตัดนั้นยากเป็นพิเศษ และแม้ว่าจะรักษาได้สำเร็จก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะมีชีวิตรอดหลังผ่าตัดเป็นเวลาเท่ากับที่หมอได้บอกไว้ตอนแรกหรือไม่

ยังดีที่หลายฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าความไม่แน่นอนนั้นเป็นปัญหาใหญ่ ต่างก็ได้คิดค้นวิธีวัดผลต่างๆ นานานอกเหนือจากการเล่าแบบปากต่อปากเพื่อที่จะให้ลูกค้า (ซึ่งก็คือพ่อแม่นักเรียนและผู้ป่วย/หรือกลุ่มบริษัทประกันสุขภาพ) มีข้อมูลในการเลือกใช้บริการมากขึ้น วิธีเหล่านี้ในการศึกษานั้นทุกคนก็คงคุ้นเคยกัน เช่น ranking คะแนนสอบโดยเฉลี่ย จบแล้วไปต่อไหนบ้าง จบแล้วมีรายได้ประมาณเท่าไหร่ มีนักเรียนกี่คนต่อครู ครูมีวุฒิการศึกษาอะไรบ้าง ส่วนในโลกของสาธารณสุขก็คล้ายกัน วิธีการประเมินผลต่างๆ ก็มีเช่น อัตรารอดชีวิต อัตรารับผู้ป่วยภายในซ้ำ อัตราความสำเร็จในการผ่าตัด พยาบาลดูแลคนไข้ทีกี่คน ประวัติการศึกษาและการฝึกฝนของแพทย์ เป็นต้น

ถึงกระนั้นก็ตามการไปหาหมอหรือการจ่ายค่าเล่าเรียนมันก็ยังไม่เหมือนกับการซื้อไอโฟน 6 มาแล้วมั่นใจว่าได้ไอโฟน 6 ที่เป็นมือถือตัวเป็นๆ แน่นอนอยู่ดี…

ความไม่แน่นอนนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดการเข้าแทรกแซงในตลาดโดยรัฐบาลเพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพของ “ผู้ผลิต” ในสองเซ็กเตอร์นี้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานขึ้นมาได้ในระดับนึงที่ผู้บริโภคสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ แนวคิดนี้เข้าใจได้ง่ายเนื่องจากรัฐบาลที่ไหนก็ไม่ควรเปิดโอกาสให้ใครที่ไหนก็ได้สามารถสวมหน้ากากเป็นหมอผ่าตัดหรือเป็นครูได้ง่ายๆ เราคงไม่ต้องการให้บ้านเมืองของเรานั้นเต็มไปด้วยหมอจอมปลอมที่เอาแต่เลี้ยงไข้หรือมีครูที่บ่มสอนพฤติกรรมแย่ๆ ให้กับอนาคตของชาติ

แต่การที่รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสร้างมาตรฐานเพื่อลิมิตการแข่งขันในตลาดสองตลาดนี้ก็ทำให้เกิดอีกหลายปัญหาที่สามารถทำให้การให้บริการในสองเซ็กเตอร์นี้ผิดเพี้ยนไปจากที่สังคมฝันใว้

2. ปัญหาของอำนาจตลาด

ที่มาภาพ : https://farm5.staticflickr.com/4138/4762812763_5d3a474243_z_d.jpg
ที่มาภาพ : https://farm5.staticflickr.com/4138/4762812763_5d3a474243_z_d.jpg

การที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการตั้งกฎเกณฑ์ทั้งหลาย เช่น ใบอนุญาตในการประกอบอาชีพเพื่อ “ความปลอดภัยและอนาคตที่ดีกว่าของประชาชน” จึงทำให้ในตลาดการศึกษาและสุขภาพมี “ผู้ผลิต” จำนวนน้อยลงในบางท้องที่ และบวกกับการที่ปกติก็มีการกีดกันทางการค้าสูงอยู่แล้วในการตั้งโรงพยาบาล บริษัทยาหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ จึงทำให้ระดับการแข่งขันที่แท้จริงนั้นอาจจะน้อยลงกว่าในระดับที่สมควรก็เป็นได้

ผู้อ่านอาจจะถามกลับมาว่า “มีการแข่งขันน้อยลงแล้วยังไง ก็ยังดีกว่ามีหมอและครูที่ไร้คุณภาพเกลื่อนเมืองไม่ใช่หรือ”
คำตอบที่ถูกต้องคงจะเป็น “ไม่แน่ เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเหล่าผู้ผลิตจำนวนน้อยๆ นั้นประพฤติตนอย่างไรกับลูกค้า”
ต้องดูในโลกจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแข่งขันน้อยในสองตลาดนี้โดยรวมแล้วมันออกมาเป็นบวกหรือลบต่อสังคม

หากผู้ผลิตรายใหญ่ใจบุญไม่หวังกำไร ลูกค้าอาจจะได้ผลประโยชน์มากกว่ากรณีที่มีผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีเทคโนโลยีดีเท่ากับผู้ผลิตรายใหญ่ในการให้บริการ แต่หากลองสมมุติดูว่าในเมืองเรามีโรงพยาบาลแค่โรงเดียวและเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่การแสวงหากำไรเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง มันไม่มีอะไรมาค้ำเหนี่ยวให้โรงพยาบาลยักษ์ใหญ่นี้ในการผลิตบริการทางสุขภาพในจำนวนที่มากพอที่สังคมต้องการและด้วยราคาที่ถูกพอ เรื่องอะไรจะต้องเหนื่อยรักษาคนเพิ่ม สู้ผลิต “สุขภาพ” ในจำนวนพอประมาณแต่ชาร์จราคาให้มันสูงขึ้นไม่ดีกว่าหรือ คู่แข่งก็ไม่ค่อยจะมีอยู่ ผลลัพธ์ก็คือโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่อาจจะประพฤติตัวในรูปแบบแสวงกำไรเข้าตัวเองจนทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ได้รับบริการและผู้ที่ได้รับก็ต้องจ่ายเงินในปริมาณที่มากกว่าปกติอีกด้วย

ผู้อ่านสามารถนำตัวอย่างนี้มาพลิกแพลงใช้กับธุรกิจอื่นๆ ในสองเซ็กเตอร์นี้ได้อย่างง่ายดาย เช่น โรงเรียนเอกชน บ้านพักคนชรา และบริษัทยาขนาดใหญ่ ฯลฯ นี่จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมหลายประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีมักจะเน้นให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทประกันสุขภาพเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแทน

อำนาจตลาดที่มากับการจำกัดจำนวนผู้ผลิตนั้นอาจเป็นต้นตอของอีกหนึ่งปัญหาในสองเซ็กเตอร์นี้ นั่นก็คือภาวะขาดแคลนแรงงาน

หากเราย้อนกลับไปในตัวอย่างเมื่อครู่ ในเมื่อเมืองเรามีโรงพยาบาลแค่แห่งเดียวในเมือง เรื่องอะไรที่โรงพยาบาลแห่งนี้จะต้องจ้างพยาบาลด้วยเงินเดือนสูงๆ ทำไมไม่กดเงินเดือนเอา ในทางกลับกันหากเรามีโรงพยาบาลหลายแห่ง อำนาจต่อรองเงินเดือนของโรงพยาบาลก็จะน้อยลงไปเป็นลำดับ แต่เมื่อโรงพยาบาลรายใหญ่กดเงินเดือนปุ๊ปก็เลยอาจเกิด “ภาวะขาดแคลนพยาบาล” ขึ้นมาได้เพราะว่าจะมี “ผู้ที่สามารถประกอบอาชีพเป็นพยาบาล” บางส่วนในตลาดคิดว่าเงินเดือนต่ำไปสำหรับค่าเวลาของตน อาจจะหันไปประกอบอาชีพอื่นหรือยังไงก็แล้วแต่ราย ในกรอบความคิดนี้ เราจะเข้าใจได้ว่าทำไมโรงพยาบาลยักใหญ่ในเมืองถึงมักชอบบ่นว่าแรงงานไม่พอทั้งๆ ที่ตัวเองทำตัวเอง สร้างภาวะนี้ขึ้นมาเอง งานวิจัยล่าสุด พบว่ามีผลลัพธ์นี้เกิดขึ้นได้จริงในระยะสั้นแต่โดยรวมยังถือว่ายังมีงานวิจัยไม่มากพอที่จะสามารถฟันธงได้

ที่น่าสนใจกว่าคือขณะนี้ยังไม่ค่อยมีใครศึกษาว่าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในภาคการศึกษาด้วยหรือไม่ เพราะมันอาจเป็นต้นตอของเงินเดือนครูที่ต่ำเกินไปในหลายๆ ประเทศกำลังพัฒนา อาจเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่าทำไมครูที่สังคมอุตส่าห์ผลิตออกมาจึงเลยไหลออกไปทำอย่างอื่นหมด (เช่น สอนพิเศษ) จุดนี้เป็นข้อสมมติฐานที่น่าคิดอย่างยิ่ง

เรื่องของอำนาจตลาดนี้เป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงเป็นอย่างมากในประเทศสหรัฐฯอเมริกาเนื่องจากเป็นที่สงสัยว่ามันเป็นต้นตอของการที่ราคาการค่ารักษาโรค ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ราคายา ค่าเลี้ยงดูคนชรา ราคาอะไรก็แล้วแต่ในสองเซ็กเตอร์นี้ได้พุ่งกระฉูดมาหลายปีแต่คุณภาพบริการไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนแต่อย่างใด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ล่าสุดนี้ยารักษาโรคบางประเภทที่ไม่ค่อยมีคู่แข่งเช่น Captopril หรือ Doxycycline hyclate นั้นราคาขึ้นไปอยู่ในหลักพันเปอร์เซ็นต์แล้ว

3. เมื่อลูกค้า “ล้นมือ”

ที่มาภาพ : https://farm1.staticflickr.com/36/78217197_87c1689d58_z_d.jpg?zz=1
ที่มาภาพ : https://farm1.staticflickr.com/36/78217197_87c1689d58_z_d.jpg?zz=1

“ถ้ามีเตียง 10 เตียง แต่มีคนไข้ 20 คน จะเลือกคนไข้รายไหนดี?”

ในหลายๆ ประเทศ บริษัทเอกชนในสองเซ็กเตอร์สามารถเลือกลูกค้าได้เมื่อพบกับ “ภาวะลูกค้าล้นมือ” เช่น มีคนป่วยมากมาย แต่มีเตียงคนไข้ไม่พอ มีหมอและพยาบาลไม่พอ ในการศึกษาก็คล้ายกัน มีเด็กอายุในกลุ่มนักเรียนมากมาย แต่มีครูไม่พอ มีที่และทรัพยากรให้ไม่พอ

ตัวอย่างชัดๆ คือในกรณีของบ้านพักคนชราหรือในศูนย์ long-term care สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังในสหรัฐฯ ที่เวลาลูกค้าล้นมือเมื่อไหร่ธุรกิจเหล่านี้มักจะเลือกลูกค้าที่ควักจ่ายเงินเองและไม่ได้มีประกันรัฐบาลจ่ายให้ เนื่องจากว่าส่วนมากลูกค้าที่จ่ายเงินเองนั้นทำรายได้ให้กับธุรกิจพวกนี้ได้มากกว่าลูกค้าที่มีประกันสุขภาพของรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าประกันสุขภาพรัฐบาลจะพยายามการันตีว่าจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยแต่ละประเภทอย่างเต็มที่ งานวิจัยหลายงานกลับพบว่าธุรกิจเหล่านี้มักเลือกผู้ป่วยที่ก่อให้เกิดกำไรมากที่สุด ผู้ป่วยที่รักษายากและมีต้นทุนสูงก็จะไม่สามารถเข้ารักษาได้เวลาลูกค้าล้นมือ มันน่าเศร้ามากแต่หากธุรกิจเหล่านี้มีสิทธิ์เลือกลูกค้าเขาก็ทำได้ ไม่ได้ผิดกฎหมายในสหรัฐฯแต่อย่างใด

ประเด็นนี้ก็เป็นอีกข้อสงสัยในภาคการศีกษาว่า “การเลือกเด็ก” มันดีและแฟร์แค่ไหนต่อสังคม หากโรงเรียนเลือกเอาแต่เด็กที่สอบได้ดีหรือพ่อแม่ที่มีฐานะดี มันยากมากที่จะแยกแยะว่าเวลาเด็กเหล่านี้จบออกไปแล้วมีอนาคตดีมันเป็นเพราะคุณภาพของโรงเรียนหรือเป็นเพราะคุณภาพดั้งเดิมในตัวเด็กและฐานะทางบ้าน ในทางกลับกันมีโรงเรียนบางโรงเรียนที่ไม่เกี่ยงเลยแม้แต่น้อยว่าเด็กบางคนจะป่วยเป็นโรคหรือมีความต้องการพิเศษ โรงเรียนเหล่านี้ก็จะลงทุนหาผู้เชี่ยวชาญการสอนให้กับนักเรียนเหล่านี้ ปัญหาคือในโลกจริงมีโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนรัฐบาลอย่างประเภทที่สองนี้กี่แห่งกันเชียว

4. สิทธิของมวลชนหรือแค่ผลิตภัณฑ์?

ที่มาภาพ :  https://farm6.staticflickr.com/5504/10948312773_42342970d5_z_d.jpg
ที่มาภาพ : https://farm6.staticflickr.com/5504/10948312773_42342970d5_z_d.jpg

ปัญหาสุดท้ายคือปัญหาที่บางสังคมยังตกลงกันไม่ได้ว่าควรจะคิดว่าสินค้าและบริการทางด้านการศึกษาและสุขภาพนั้นเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนหรือเป็นแค่สิ่งที่ค้าขายกันได้ตามท้องตลาด

บางประเทศเช่น ประเทศอังกฤษและประเทศแคนาดา เขาไม่คิดว่าข้อนี้เป็นปัญหาด้วยซ้ำไป เขาคิดว่ามันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรจะมีประกันสุขภาพเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีฐานะยังไง แต่ก็ยังมีหลายประเทศเช่นประเทศอเมริกาที่คิดว่ามันเป็นการสิ้นเปลืองมากที่จะให้บริการทางสุขภาพแบบเท่าเทียมกันทุกคน ฝ่ายนี้มักกังวลว่าจะมีคนบางประเภทที่ใช้บริการสุขภาพเกินความจำเป็น พวกเขาคิดว่ามันไม่แฟร์ที่จะปล้นเงินจากคนที่ขยันหาเงินขยันหมั่นบำรุงดูแลสุขภาพเอาไปให้กับคนป่วยที่ฐานะไม่ดี (และอาจจะไม่ดูแลสุขภาพด้วย) น่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนในเซ็กเตอร์อื่นมากกว่า

จึงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่าจะปฏิรูปอย่างไรดี สุดท้ายแล้วน่าตลกสิ้นดีที่ประเทศที่รวยที่สุดในโลกตอนนี้กลับไม่มีทั้งความเป็นธรรมและไม่มีทั้งความมีประสิทธิภาพในการให้บริการทางสาธารณสุข

น่าเศร้าที่ความเป็นธรรมในฝันที่เราหลายคนแสวงหามันยากเหลือเกินที่จะทำได้ ขนาดนโยบายการศึกษาที่ให้โอกาสการศึกษากับเด็กทุกคนยังไม่แฟร์เลยสักนิดเดียว คุณภาพของโรงเรียนต่างกันมากในแต่ละแห่ง ในสหรัฐฯ อเมริกานี่เหมือนจะแฟร์แต่ที่จริงเป็นเพียงหน้ากาก ค่าเล่าเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่นั่น “ฟรี” จริง แต่ราคาบ้านในแต่ละเขตนั้นต่างกันลิบลับ (ในสหรัฐฯ นั้น ถ้าเด็กๆ จะไปเข้าโรงเรียนรัฐบาล จะต้องไปตามเขตที่บ้านตัวเองตั้งอยู่และไม่สามารถไปโรงเรียนรัฐบาลข้ามเขตได้) แน่นอนราคาบ้านในเขตที่มีโรงเรียนระดับเทพตั้งอยู่ก็จะสูงกว่าราคาบ้านในเขตที่มีโรงเรียนระดับต่ำกว่า เด็กๆ ที่ได้ไปโรงเรียนดีๆ ก็คือเด็กๆ ที่พ่อแม่มีเงินพอจะซื้อบ้านในย่านแพงได้ แล้วอย่างนี้หรือคือความเป็นธรรมที่เราต้องการ

สุดท้ายแล้วสังคมคงต้องมาตกลงร่วมกันว่าเราทนกับความไม่เป็นธรรมได้แค่ไหน

บางสังคมทนได้กับการที่บางคนมีรถหรูขับและบางคนจำเป็นต้องนั่งรถเมล์ทุกวัน แต่จะยังทนได้หรือไม่เวลาสังคมเดียวกันนี้มีผู้ป่วยบางคนที่จำเป็นต้องเสียชีวิตเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาโรคหรือไม่ได้มีโรงพยาบาลดีๆ อยู่แถวบ้าน ในขณะเดียวกันที่ในสังคมเดียวกันนี้ก็มีบางคนที่ฐานะดีพอที่จะสามารถเข้าถึงและใช้บริการสาธารณสุขได้อย่างง่ายดายและไม่มีอะไรขัดข้อง

ตั้งแต่แรกเกิดคนเราไม่มีอะไรเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วในเชิงวิทยาศาสตร์ บางคนร่างกายสูงใหญ่กว่าโดยธรรมชาติ บางคนมีพรสวรรค์มากกว่าในบางเรื่อง บางคนมีโรคติดตัวมาตามพันธุกรรม โดยเฉลี่ยแล้วชีวิตนี้ลิขิตได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น มันอยู่ที่แนวคิดของสังคมว่าเมื่อคนเราล้มป่วยลงหรือเมื่อคนเราถึงวัยต้องไปโรงเรียนแล้ว หนึ่งชีวิตจะมีค่าเท่ากับอีกหนึ่งชีวิตที่แตกต่างหรือไม่

ประเทศสหรัฐฯอเมริกาเป็นสังคมประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่ยังไม่เคยตกลงกันในจุดนี้ได้อย่างแท้จริง กว่าจะรู้ตัวก็ได้ทำการขุดหลุม “Too Big to Reform” ขึ้นเรียบร้อยแล้วเพิ่มขึ้นอีกสองหลุม เป็นอุทาหรณ์สอนประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราว่าอย่าพยายามเดินตามทุกย่างก้าวของคนอื่น ยืมมาเฉพาะที่เขาทำได้ดีและอย่าลืมเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดของเขา

เมื่อสังคมตัดสินใจในเรื่องของความเป็นธรรมนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการพัฒนาระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษาจะมีความขัดข้องน้อยลงไปมากและจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 26 กันยายน 2557