ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ครม. แทน “พล.อ. ประยุทธ์” สั่งเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อนุมัติท่องเที่ยววิถีไทยเป็นวาระแห่งชาติ รับทราบสต็อกยางเสียหาย 1 แสนตัน

“พล.อ. ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ครม. แทน “พล.อ. ประยุทธ์” สั่งเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อนุมัติท่องเที่ยววิถีไทยเป็นวาระแห่งชาติ รับทราบสต็อกยางเสียหาย 1 แสนตัน

12 พฤศจิกายน 2014


พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2014/09/04/images/news_img_602784_1.jpg
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2014/09/04/images/news_img_602784_1.jpg

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยได้สั่งการ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ออกไปโดยหวังให้เกิดผลทางเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม-ธันวาคม) พบว่าการกระจายเงินไปถึงมือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลชัดเจน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจ่ายและจ่ายอย่างรอบคอบรัดกุม และมีการติดตามประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มาตรการด้านเศรษฐกิจได้ผลมากยิ่งขึ้น

วาระสั่งการที่สอง ที่ พล.อ. ประวิตร กล่าว คือ กรณีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งทหารและตำรวจช่วยเหลืออยู่แล้ว ให้เร่งรัดฟื้นฟูหลังน้ำลดด้วย เพื่อให้มีผลต่อการเยียวยาทางสังคมและส่งผลต่อสภาพจิตใจประชาชน วาระที่สาม เกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม ขอให้กำลังใจทุกหน่วยงาน ดำเนินคดีเอาผิดกับผู้มีอิทธิพล การพนัน ยาบ้า การหลบหนีเข้าเมือง การค้ามนุษย์ ให้ทุกกระทรวงอย่าพัวพัน และให้ประชาชนแจ้งเบาะแสผ่านศูนย์ดำรงธรรม หรือสายด่วน 1111 และวาระสุดท้าย สั่งการให้ทุกหน่วยงานรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะทวีความรุนแรง ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องประสานงานกับมหาดไทยอย่างใกล้ชิด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุมร่วมระหว่าง ครม. และ คสช. ครั้งที่ 2 รับทราบถึงความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนแรก ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 ที่กำหนดให้แต่ละกระทรวงเร่งรัดทำสัญญาจ้างงานภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้วให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2557 เพื่อช่วยกระจายการสร้างงานและรายได้ทั่วประเทศ โดยในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้นำเงินเข้าบัญชีให้กับชาวนาแล้ว 1.42 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 1,730 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทั้ง 3.4 ล้านครอบครัวภายในเดือนพฤศจิกายน

ขณะที่ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 3.67 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.08 แสนล้านบาท หรือสูงกว่า 10% ถือว่าเป็นผลงานของ คสช. และรัฐบาลที่ได้เตรียมพร้อมให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายในส่วนที่เบิกจ่ายได้ง่ายก่อน เช่น การซ่อมแซมและการบำรุงตึกอาคารส่วนราชการ การประชุมสัมมนาในประเทศ

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี มีการอนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ตามที่ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่สำคัญดังนี้

อนุมัติท่องเที่ยววิถีไทยเป็นวาระแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอให้ปี 2558 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทยและเป็นวาระแห่งชาติ และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 และคณะกรรมการดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ 4 คณะ เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558

สื่บเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งมี พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาเป็นประธาน ได้เห็นชอบไว้แล้ว กำหนดเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2558 และสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2558

โครงการนี้มีวัตถุปะสงค์เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยในมุมมองใหม่ เน้นคุณค่าที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการมาเที่ยวเมืองไทยผ่านวิถีไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับความเป็นคนไทย ตลอดจนให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการนำรายได้เข้าประเทศ ก่อให้เกิดเงินตราหมุนเวียนและสามารถก้าวสู่การแข่งขันหลังเปิดประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2558 ให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และภูมิใจในความเป็นไทย

ทั้งนี้ การนำเสนอปีท่องเที่ยววิถีไทยมีแนวคิดเพี่อพลิกมิติการนำเสนอประเทศไทย จากการนำเสนอสินค้าและบริการ (product approach) เป็นการนำเสนอคุณค่า (value) ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยกำหนดคุณค่าของปีท่องเที่ยววิถีไทยที่ต้องการนำเสนอ คือ amazing happiness หรือ “ความสุขในวิถีแบบไทย” เป็นความสุขอันเกิดจากการผสมผสานของความต่างที่ลงตัวและกำหนดสินค้าที่สอดคล้องกับคุณค่า และเพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการเผยแพร่พัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับคุณค่าที่นำเสนอต่อนักท่องเที่ยว

กระทรวงท่องเที่ยวฯ รายงานว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายประกอบด้วย นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 37 ตลาดหลัก ทั้งกลุ่ม first visit (มาเป็นครั้งแรก) กลุ่ม revisit (เคยมาแล้วและกลับมาอีก) กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง (luxury) จากตลาดเอเชียและโอเชียเนีย ตลาดยุโรป ตลาดอเมริกา ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดแอฟริกา รวมทั้งตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มความสนใจพิเศษ ได้แก่ กลุ่ม wedding & honeymoon กลุ่ม golf กลุ่ม ecotourism กลุ่ม health & wellness และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มครอบครัว กลุ่มบริษัทและโรงงาน และกลุ่มคนไทยที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มท่องเที่ยวอนุรักษ์และผจญภัย

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า แผนท่องเที่ยววิถีไทย จะให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทยตลอดทั้งปี เน้นวิถีชีวิตของคนไทยเป็นจุดขาย ซึ่งชาวต่างชาติให้การตอบรับดี อีกทั้งจะเป็นการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้คนในชุมชนช่วยดูแลวัฒนธรรมท้องถิ่นตัวเอง อีกทั้งจะเป็นการตอบโจทย์ให้กับนักท่องเที่ยวที่เคยมาประเทศไทยแล้วได้ท่องเที่ยวสถานที่ใหม่ ให้อยู่ในประเทศไทยนานขึ้นจากเดิม 7-8 วัน เป็น 9-10 วัน ก็จะทำให้ได้ค่าใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น

“ขณะนี้ได้ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ไปแล้ว งบประมาณ 60 ล้านบาท และได้กำหนดแหล่งท่องเที่ยว 12 จังหวัดต้องห้ามพลาด ที่ได้มีการเริ่มกิจกรรมแล้ว เช่น ลำปาง น่าน เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ เลย ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ราชบุรี สมุทรสงคราม ตราด และจันทบุรี บวกกับ 10 เมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น หาดใหญ่ พัทยา ภูเก็ต โดยกำหนดให้สร้างมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยว และขณะนี้ในต่างจังหวัดถือว่าการท่องเที่ยวดีมาก เพราะมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและมีสายการบินเปิดมากขึ้น ดังนั้น ต้องพิจารณาว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร” นางกอบกาญจน์กล่าว

สำหรับการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่นั้น นางกอบกาญจน์ระบุว่า ไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวก็เริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือนธันวาคม 2557 ยอดการจองที่พักก็มีปริมาณมากขึ้นร้อยละ 6 ด้วย และคาดว่าตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 25-25.5 ล้านคน แต่ลดจากปี 2556 ระมาณ 1 ล้านคน เนื่องจากช่วงต้นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง

ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวช่วงปีใหม่นั้นน่าจะดีขึ้น และเราจะมีการเพิ่มกิจกรรมในวันปีใหม่ให้มากขึ้นเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว และอยากเชิญชวนให้ประชาชนอยู่ท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่าเดินทางไปต่างประเทศ เพราะกิจกรรมของประเทศไทยมีหลากหลายแบบ ทั้งแบบสนุกสนานและแนวธรรมะ

รับทราบความเสียหายสต็อกยาง 1 แสนตัน

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งมีการรับซื้อยางเก็บในสต็อกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึง มีนาคม 2556 โดยมีเป้าหมายให้ราคายาง 120 บาท/กิโลกรัม มียางในสต็อกรวม 193,272.63 ตัน เป็นยางแผ่นรมควันอัดก้อนรวม 164,253.63 ตัน ยางแท่ง 29,019 ตัน ซึ่ง ครม. รับทราบว่ามีปริมาณยางเสียหายในสต็อก โดยมาจากสภาพยางที่เก่าจากการเก็บรักษา หรือเสียหายจากการซื้อมาโดยไม่รอบคอบ

สำหรับผลการตรวจสอบสต็อก ยางมีทั้งยางแผ่นรมควันชั้น 1–5 (อัดก้อน) และยางแท่ง โดยส่วนของยางแผ่นนั้นพบว่า มียางคุณภาพดี ร้อยละ 33.95 คิดเป็น 55,764.23 ตัน มียางเสียรูปทรงซึ่งแม้มีรูปที่บิดเบี้ยวไปจากรูปทรงปกติก็สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางได้โดยไม่มีปัญหาการผลิต ร้อยละ 3.23 คิดเป็น 5,305.40 ตัน และยางที่จัดชั้นไม่ได้ คือยางที่เอาไปใช้ได้แต่คุณภาพต่ำ ร้อยละ 62.82 คิดเป็น 103,184 ตัน ส่วนยางแท่งนั้นมียางคุณภาพดี ร้อยละ 98.06 คิดเป็น 28,457 ตัน ยางเสียหายยอมรับได้ ร้อยละ 1.73 คิดเป็น 503 ตัน และยางเสียหายยอมรับไม่ได้ ร้อยละ 0.20 คิดเป็น 59 ตัน

“วิธีการบริหารจัดการโครงสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางด้วยการซื้อยางเข้ามาในสต็อกและขายออกเมื่อราคาสูงเพื่อชี้นำราคายางในตลาดจาก 40 เป็น 60 บาท เป็นเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มชาวสวนยางที่เคยเรียกร้องให้อุดหนุนไร่ละ 2,500 บาท ก็จะรับได้ที่รัฐบาลจะอุดหนุนเป็นไร่ละ 1,000 บาท” รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับการระบายสต็อกยางของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางนั้นจะยึดหลักการขายยางที่ค้างในสต็อกรัฐบาลก่อน แล้วจึงจะดำเนินการซื้อยางจากโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการระบายยาง โดยเน้นให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการในประเทศก่อน เพราะเป็นช่องทางที่ดีที่สุด แต่ที่ผ่านมาทีมรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประวิตร) ได้เดินทางไปต่างประเทศ และมีการเจรจาการค้าขายยางไปด้วย จึงมีการพูดถึงผู้รับซื้อในต่างประเทศด้วย

บริษัท IRPC คืนเงินค่าทำแผนฟื้นฟูให้คลัง 236.1 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรี รับทราบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เรื่องการระงับชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้บริษัท IRCP จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการบริษัท IRPC จำกัด (มหาชน) มีมติไม่ต้องการบังคับชำระหนี้จากกระทรวงการคลัง 236.1 ล้านบาท ตามคำพิพากษาของศาลก่อนหน้านี้ สืบเนื่องจากคำขอให้ผ่อนปรนลดภาระค่าใช้จ่ายของกระทรวง เพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันบริษัทสามารถฟื้นฟูกิจการได้เป็นผลสำเร็จ ผู้ถือหุ้นมีส่วนแบ่งกำไร เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ พนักงานไม่ตกงาน และกิจการก้าวหน้าตามลำดับ

ทั้งนี้ เดิมศาลได้พิพากษาว่าค่าจ้าง บริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ซึ่งถูกว่าจ้างผ่านกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟู ให้เข้ามาฟื้นฟูกิจการของบริษัท IRPC จำกัด (มหาชน) จำนวน 224.7 ล้านบาท มีราคาสูงเกินไปและกระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินคืนให้แก่บริษัท IRCP จำกัด พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 236.1 ล้านบาท

ปล่อยกู้ 1,581 ล้าน ให้ สปป.ลาวสร้างถนน

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) ระยะทางรวม 114 กิโลเมตร ตามผลการศึกษา สำรวจ และออกแบบรายละเอียด ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าวมีวงเงินลงทุนรวม 1,977 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 1,581 ล้านบาท หรือ 80% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด และเงินให้เปล่า 395.40 ล้านบาท หรือ 20% ของวงเงินทั้งหมด อายุสัญญาเงินกู้ 30 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และปลอดหนี้ใน 10 ปีแรก โดยมีเงื่อนไขว่าโครงการดังกล่าวจะต้องใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าสัญญา

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานให้ ครม. รับทราบว่า โครงการฯ ก่อสร้างถนนในเส้นทางดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ผ่านจุดผ่านแดนห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อเดินทางไปสู่แขวงหลวงพระบาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและจะเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์การเป็นเมืองคู่แฝดระหว่างจังหวัดน่านและแขวงหลวงพระบางได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการให้ความช่วยเหลือสำหรับโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศทั้งในแง่การลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค เชื้อเพลิงหรือสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งจะทำให้ประชาชน สปป.ลาว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โครงการฯ นี้สามารถเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนใน สปป.ลาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมโยงถนนหมายเลข 13 และหมายเลข 4 และจะทำให้การเดินทางจากประเทศไทยไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ผ่านถนนหมายเลข 4 และ 6 ใน สปป.ลาว ซึ่งจะมีความสะดวกและใช้ระยะเวลาเดินทางสั้นลง

แบงก์ชาติรายงาน กนง. คงดอกเบี้ย 2 %

คณะรัฐมนตรี รับทราบการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ครึ่งปีแรก 2557 ว่า กนง. ได้มีมติลดและคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% จนถึงปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจซึ่งหดตัว 0.1% ในครึ่งปีแรกจากปัญหาการเมือง

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ยังอยู่ในกรอบ 0.5-3.0% ต่อปี ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. ตกลงร่วมกันก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นกรอบเดิมของปี 2556 โดยครึ่งปีแรกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.45% ขณะที่ไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี 2557 อยู่ที่ระดับ 1.19% และ 1.71% ตามลำดับ เร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2556 ที่ระดับ 0.74% และ 0.82% ตามลำดับ โดยเป็นผลจากราคาต้นทุนก๊าซหุงต้มและอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 2.23% เร่งตัวจากช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาพลังงาน

ขณะที่ภาพรวมค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงครึ่งปีแรกอ่อนค่าลง แต่ยังมีเสถียรภาพ ส่วนระยะต่อไปอาจจะผันผวนได้จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การส่งออก ประสิทธิภาพของการปฏิรูปด้านต่างๆ นโยบายการเงินของเศรษฐกิจหลัก การฟื้นตัวของจีน ข้อพิพาทในภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ โชว์จดทะเบียนบ้าน 4.2 หมื่นยูนิต

กระทรวงการคลังยังได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย รอบครึ่งแรกของปี 2557 พบว่ามีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน หรืออุปทานของที่อยู่อาศัย ทุกประเภท 42,600 หน่วย แบ่งเป็น ห้องชุด 21,000 หน่วย, บ้านเดี่ยว 12,100 หน่วย, ทาวน์เฮ้าส์ 5,600 หน่วย, อื่นๆ 3,900 หน่วย

ขณะที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ หรืออุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย รวม 63,700 หน่วย แบ่งเป็นห้องชุด 27,300 หน่วย, บ้านเดี่ยว 10,800 หน่วย, ทาวน์เฮ้าส์ 18,900 หน่วย, อื่นๆ 6,700 หน่วย นอกจากนี้ ยังพบว่าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยปรับตัวจากไตรมาสแรก ปี 2557 ที่ 43.7 เป็น 56.0 ในไตรมาสสอง ปี 2557

ทบทวนเปิดตลาดการค้าบริการอาเซียน

คณะรัฐมนตรี รับทราบการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ เสนอผลการประชุมทบทวนผลการเปิดตลาดการค้าบริการ ตามข้อผูกพันชุดที่ 1-9 ของไทย ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน ว่าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากข้อผูกพัน โดยเฉพาะข้อที่ 8 และ 9 ประเทศไทยได้เลือกเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อยที่ไทยมีความพร้อมภายใต้สาขาบริการหลัก เช่น การขายปลีก การขายส่ง โรงแรมหกดาวขึ้นไป การบริการสังคม สถานรับเลี้ยงเด็กพิการแบบไม่ค้างคืน หรือในสาขาที่ไทยเคยอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ ตามช่องทางต่างๆ เช่น ความตกลงการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ การขอใบอนุญาตตามกระบวนการปกติ และการได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ

ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 36 ว่า ในการหารือกับจีน ได้เน้นย้ำความสำคัญของบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ด้านไทยได้ขอให้จีนเร่งส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาตรวจประเมินระบบส่งออกรังนกของไทย เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังจีนได้โดยเร็ว ส่วนการหารือกับเมียนมาร์ มีความต้องการตั้งเขตปลอดโรคสัตว์บริเวณชายแดนและให้ไทยช่วยเหลือด้านวิชาการ ส่วนไทยได้ขอให้เมียนมาร์พิจารณาเรื่องการให้สัมปทานประมง ขณะที่การหารือกับบรูไนได้มีการบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการเกษตร ร่วมทั้งประเทศไทยได้ขอบคุณบรูไนที่นำเข้าข้าวจากไทยเป็นจำนวนมากทุกปี นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าในการดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียน+3 ด้านอาหาร โดยเฉพาะการดำเนินการขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉิน