ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เบื้องลึก! ปมขัดแย้ง “ศุลกากร” ประเมินภาษี “แอมเวย์” 4.6 พันล้านบาท

เบื้องลึก! ปมขัดแย้ง “ศุลกากร” ประเมินภาษี “แอมเวย์” 4.6 พันล้านบาท

22 ตุลาคม 2013


ต่อสู้กันมานานกว่า 10 ปี คดีแอมเวย์ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝั่ง กล่าวคือ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) มองว่า กรณีการจ่ายเงินโบนัสของบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็น“ค่าใช้จ่ายทางการตลาด” ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ฝ่ายสำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) ยืนยันว่าการจ่ายเงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของ “ราคาสินค้านำเข้า” ต้องเสียภาษี งัดกันมา 10 ปี กรมศุลกากรไม่สามารถสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลได้ ทำให้หลายคดีทยอยขาดอายุความทางกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมมีหลักคิดอย่างไร ทำไมถึงหาญกล้ามาตั้งข้อกล่าวหายักษ์ใหญ่ขายตรงระดับโลก สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยนำยอดเงินโบนัสที่บริษัท กันเอาไว้ เพื่อเตรียมจ่ายให้ “นักธุรกิจแอมเวย์” (IBO ) มาคำนวณภาษีนำเข้า ขณะที่แอมเวย์ไม่สามารถหาเหตุผลมาลบล้างข้อกล่าวหาดังกล่าวได้ กรมศุลกากรจึงต้องทำหนังสือไปสอบถาม องค์การศุลกากรโลก (WCO) ว่า “กรณีการจ่ายเงินโบนัสของแอมเวย์ ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาด หรือ ราคาสินค้านำเข้า?” เรื่องนี้ไม่ธรรมดามีประเด็นทางเทคนิคของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนจะไปถึงบทสรุปที่ว่าแอมเวย์แจ้งราคานำเข้าต่ำกว่า ต้องทำความเข้าใจพื้นฐาน-ความเป็นมาของเรื่องนี้ก่อน

หลังจากที่สสป.รับแจ้งความจากสายสืบ วันที่ 6 สิงหาคม 2547 สสป. นำกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมหมายศาลเข้าตรวจค้นและยึดเอกสารของบริษัทแอมเวย์ไทยมาตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
1. บริษัทแอมเวย์ไทย จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไทย แต่สัญชาติอเมริกา เพราะมีนิติบุคคลตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 100% ประกอบด้วยแอมเวย์ไทยแลนด์ พาร์ทเนอร์ชิป (U.S.A.) ถือหุ้น 99.97% และมีนิติบุคคลสหรัฐอเมริกาอีก 6 บริษัท ถือหุ้นรวมกัน 0.03%
2. กลุ่มอัลติคอร์ อิงค์(U.S.A.) เป็นผู้ขายสินค้า Amway Brand ให้กับแอมเวย์ไทย (ผู้นำเข้า) เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว(ตามสัญญาจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก่แอมเวย์ไทย)
3. กลุ่มอัลติคอร์ อิงค์ ประกอบไปด้วย แอมเวย์ คอร์ปอเรชั่น,ควิกสตาร์ อิงค์ แอกเซท บิซิเนสกร๊ป แอล แอลซี,และฟิกซิส อินโนเวชั่น อิงค์ โดยกลุ่มอัลติคอร์ อิงค์ จะควบคุมการขายตรงในระบบ MLM ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์,อิเล็กทรอนิกส์,การผลิต,การจัดส่งสินค้า และการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ในฐานะบริษัทแม่ของแอมเวย์ไทย และเครือข่ายทั่วโลก
4. การดำเนินกิจการของแอมเวย์ไทย อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอัลติคอร์อิงค์ (U.S.A.)โดยมีการทำสัญญาผูกมัดไว้หลายฉบับ อาทิ การจัดส่งสินค้า การจัดจำหน่าย การบริหารจัดการทางการเงิน และการจัดสรรเงินโบนัสให้ IBO
5. เมื่อมีการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคจะบันทึกข้อมูลการขายเข้าสู่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทแอมเวย์ในรัฐมิชิแกน U.S.A. โปรแกรมจะคำนวณมูลค่าธุรกิจ (BV) และมูลค่าแต้ม(PV) ตามมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และประมวลผลเป็นเงินโบนัสจ่ายให้ IBO แต่ละระดับ
-IBO ระดับสูงได้รับเงินโบนัสรายเดือนในอัตรา 3-21% ของมูลค่าแต้ม (PV) ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่
-IBO ในสายซื้อ-ขายระหว่างเดือนตามลำดับชั้น และมีการจ่ายเงินโบนัสพิเศษให้ IBO ระดับทับทิม 2% ระดับผู้นำ 4% และ IBO ระดับไข่มุก 1%
-IBO ระหว่างประเทศ ระดับเพชรจนถึงระดับมงกุฎ ได้รับผลตอนแทน 400,000-2,000,000 บาท
-โบนัสสำหรับผู้สถาปนา และโบนัสพิเศษระดับเพชร มรกต และเพชรบริหาร 0.25% ของมูลค่าธุรกิจ (BV) ที่จำหน่ายทั่วโลก
รวมเงินโบนัสทุกประเภท แอมเวย์ไทย ต้องกันเงินเอาไว้จ่ายให้ IBO ในประเทศและ IBO ต่างประเทศประมาณ 30% ของยอดขายสุทธิ ตามแผนการขายและการตลาดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หรือทำก่อนการนำเข้าสินค้า
6. สัญญาจัดจำหน่ายอย่างเฉพาะเจาะจง และการใช้สิทธิ์ช่วงเครื่องหมายการค้า กำหนดให้ยอดขายสุทธิประกอบด้วย “ปริมาณคูณด้วยค่าใช้จ่าย IBO หัก 25% ของค่าใช้จ่าย IBO รวม” สำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
7. สัญญาสนับสนุนด้านการจัดการ และส่งเสริมการตลาดระบุว่า “การจ่ายเงินโบนัสรายเดือนและรายปี ถือเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทแม่ ซึ่งแอมเวย์ไทยชำระเงินให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับอินวอยซ์”
ส่วนการจ่ายเงินให้ IBO ในประเทศ แอมเวย์ไทยเป็นผู้จ่ายเงินแทนบริษัทแม่ โดยบริษัทแม่ไม่ต้องโอนเงินกลับเข้ามาในไทย
8. จากการเข้าตรวจค้นบริษัทแอมเวย์ เจ้าหน้าที่ศุลกากร พบว่างบการเงินของแอมเวย์ในช่วงปี 2541-2548 มี 2 บัญชี กล่าวคือ บัญชีที่ 1 เป็นหลักฐานรายงานการเงินของแอมเวย์ไทย ส่งให้บริษัทแม่ (กลุ่มอัตติคอร์อิงค์ U.S.A.) พบ ยอดเงินโบนัสไปปรากฏในรายการยอดขายสุทธิ ผู้จับกุมจึงตั้งข้อสังเกตว่า ยอดเงินโบนัส เป็นต้นทุนสินค้าแฝงอยู่ในยอดขายสุทธิของบริษัทแม่
บัญชีที่ 2 เป็นบัญชีที่ใช้ยื่นชำระภาษีกับกรมสรรพากร โดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีลงนามรับรอง ปรากฎว่าบัญชีดังกล่าวไม่ได้นำยอดเงินโบนัสมาลงบัญชี ขณะที่รายการยอดขายสุทธิ ก็ไม่ได้รวมค่าโบนัสดังกล่าวเอาไว้

ประเมินภาษีแอมเวย์

จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมด สำนักสืบสวนและปราบปราม(สสป.) จึงมีความเห็นว่า กรณีบริษัทแม่ทำสัญญาตกลงกับแอมเวย์ไทยให้กันเงินโบนัสเอาไว้ ก่อนการจำหน่ายสินค้าให้ IBO โดยระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทแม่ที่นำไปจ่ายให้กับ IBO สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งจ่ายให้ IBO ในประเทศไทย ตามแผนการสนับสนุนและเพิ่มพูนการขาย

ดังนั้น เงินโบนัสที่แอมเวย์ไทยกันไว้จ่ายให้ IBO ภายหลังการนำเข้า จึงถือเป็นรายได้หรือรายรับของบริษัทแม่ และเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้านำเข้า ตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 132 (พ.ศ.2543) ข้อ 9 (2)ต้องเสียภาษีนำเข้า

กรมศุลกากรจึงประเมินภาษีส่วนที่ขาดกับแอมเวย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ปี 2539-2542 (ก่อนนำราคาแกตต์มาบังคับใช้) ตามพ.ร.บ.ศุลกากร 2469 มาตรา 2 กำหนด “ให้ใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” สำหรับคำนวณภาษี แอมเวย์ไม่ได้รวมโบนัสไว้ในราคาสินค้านำเข้า ทำให้รัฐขาดรายได้ 1,314 ล้านบาท และช่วงที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี 2543-2548 กฎหมายศุลกากรให้ใช้ราคาแกตต์ สำหรับคำนวณภาษี แอมเวย์ไม่ได้รวมโบนัสไว้ในราคาสินค้านำเข้า ทำให้รัฐขาดรายได้ 3,337 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นบริษัทแอมเวย์ถูกกรมศุลกากรประเมินภาษี คิดเป็นวงเงิน 4,651 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีความเห็นขัดแย้งกัน ทำให้ไม่สามารถสรุปสำนวนคดีส่งฟ้องศาลได้ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของแอมเวย์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2539-2545 ขาดอายุความตามกฎหมาย กรมศุลกากรดำเนินคดีกับแอมเวย์ได้ เฉพาะการนำเข้าสินค้าที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2546-2548 เท่านั้น หากแอมเวย์แพ้คดีในชั้นศาล กรมศุลกากรถึงสามารถดำเนินคดีต่อได้จนถึงปัจจุบัน