ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (9): อธิบดีกรมศุลฯส่งหนังสือถึง WCO ดึงคดีแอมเวย์ที่ถูกแขวนมาชี้ขาดรอบ 2 อ้าง DSI ใช้ประกอบสำนวนคดี

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (9): อธิบดีกรมศุลฯส่งหนังสือถึง WCO ดึงคดีแอมเวย์ที่ถูกแขวนมาชี้ขาดรอบ 2 อ้าง DSI ใช้ประกอบสำนวนคดี

4 มิถุนายน 2014


หลังจากที่นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร ยุติปัญหาความขัดแย้งภายในกรมศุลฯ ที่ยืดเยื้อมานาน 8-9 ปี โดยส่งคดีแอมเวย์ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกรมศุลกากรตัดสินใจว่าจะเดินหน้าดำเนินคดีบริษัทแอมเวย์หรือยุติคดี วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกรมศุลกากรมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้สำนักกฎหมายสรุปสำนวนคดีพร้อมแนบบัญชีพยานหลักฐานส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดีบริษัท แอมเวย์

ช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 DSI รับทำคดีแอมเวย์เป็นคดีพิเศษ กรณีพิพาทระหว่างกรมศุลฯ-แอมเวย์ซึ่งเงียบหายไปหลายเดือนจึงกลับมาคึกคับอีกครั้ง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษทยอยเรียกข้าราชการกรมศุลฯ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มาสอบปากคำอย่างไม่เป็นทางการ พร้อมกับขอให้กรมศุลกากรทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ WCO ชี้ขาดว่าเงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ตัวแทนจำหน่ายอิสระ (IBO) ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้าที่ต้องนำมาเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งผลการวินิจฉัยของ WCO ครั้งนี้จะเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญที่ DSI ต้องใช้ประกอบสำนวนคดีส่งฟ้องศาล

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากศุลกากรสรุปสำนวนคดีแอมเวย์ส่งให้ DSI ดำเนินคดีบริษัทแอมเวย์ช่วงปลายปี 2556 ทาง DSI ได้เชิญข้าราชการกรมศุลกากรไปสอบปากคำอย่างไม่เป็นทางการ ทาง DSI ต้องการหลักฐานจากหน่วยงานภายนอกกรมศุลกากรมาประกอบสำนวนคดี อย่างเช่น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาฯ ซึ่งในช่วงปี 2552 กรมศุลกากรเคยนำประเด็นข้อพิพาทระหว่างกรมศุลฯ-แอมเวย์สอบถาม WCO ว่าเงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ตัวแทนจำหน่ายอิสระ (IBO) ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้านำเข้าหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาฯ ประชุมกัน 4 ครั้ง จึงมีมติให้เก็บเรื่องนี้ไว้ในตาราง conspectus ภาค 3 ตามข้อเสนอของฝ่ายไทย หรือแขวนเรื่องเอาไว้ (แขวนเรื่อง หมายถึง พักเรื่องเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจน ถึงจะนำกลับมาให้ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาฯพิจารณาใหม่)

“ตามระเบียบของ WCO ประเทศสมาชิกที่เป็นเจ้าของเรื่องสามารถนำประเด็นข้อหารือที่ถูกแขวนใน conspectus ภาค 3 กลับลงมาพิจารณาใหม่ได้ แต่กรมศุลกากรต้องมีพยานหลักฐานใหม่ หรือมีประเด็นใหม่ๆ เขียนไปถามคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาของ WCO ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาผมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ รวบรวมพยานหลักฐานใหม่ๆ สรุปเป็นประเด็นและทำหนังสือไปสอบถาม WCO เพื่อที่จะนำเรื่องที่ถูกแขวนเอาไว้ก่อนหน้านี้กลับลงมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอผลการวินิจฉัยของ WCO ซึ่งผลการตัดสินของ WCO เป็นหลักฐานสำคัญที่ DSI จะนำไปประกอบสำนวนคดีส่งให้ศาลพิจารณาต่อไป” นายราฆพกล่าว

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร
นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย สำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) หรือผู้จับกุม มองว่า “เงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ IBO เป็นส่วนหนึ่งราคาศุลกากร ต้องนำมาเสียภาษีนำเข้าด้วย” ขณะที่สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) มองว่า “เงินโบนัสเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาดภายในประเทศ ไม่ต้องนำมาเสียภาษี” งัดกันมาหลายปี ไม่สามารถสรุปคดีส่งฟ้องศาลได้ จนคดีทยอยขาดอายุความทางกฎหมาย

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 กรมศุลกากรร่วมกับบริษัทแอมเวย์ สรุปประเด็นข้อพิพาททั้งหมดเขียนไปถาม WCO 3 ประเด็น คือ 1. การจ่ายเงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของราคาหรือไม่ 2. เงินโบนัสถือเป็นรายได้ที่ผู้ขายได้รับจากการขายตามมาตรา 8 (1) (ง) หรือไม่ และ 3. เงินโบนัสถือเป็นเงื่อนไขของการขาย ตามภาคผนวก 3 วรรค 7 ของ GATT หรือไม่

คณะกรรมการเทคนิคด้านราคาฯ พิจารณาเรื่องนี้ 4 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาฯ ครั้งที่ 36 มีความเห็นแตกเป็น 3 ฝ่าย คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล สหภาพยุโรป และหอการค้านานาชาติ มีความเห็นว่า เงินโบนัสไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้านำเข้า กลุ่มที่ 2 ได้แก่ อุรุกวัย ฟิลิปปินส์ มาลาวี มีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความซับซ้อน และเห็นควรต้องสอบถามประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม และกลุ่มที่ 3 ประเทศไทย ยืนยันว่าเงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้านำเข้า สุดท้ายที่ประชุมจึงมีมติให้แขวนเรื่องนี้ไว้ในภาคผนวกที่ 3 ตามความเห็นของฝ่ายไทย

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมศุลกากรเคยทำหนังสือไปสอบถาม WCO ช่วงปลายปี 2553 แต่คำถามทั้ง 3 ประเด็นอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ถึงแม้กรมศุลกากรจะเคยส่งข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทผู้ซื้อและผู้ขาย สัญญาและเงื่อนไขการขายสินค้าของแอมเวย์ไปให้ WCO แต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในประเด็นคำถามที่ WCO ต้องวินิจฉัย ดังนั้น การนำเรื่องที่ถูกแขวนกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการด้านเทคนิคราคาฯ พิจารณาใหม่รอบนี้ กรมศุลกากรจึงรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในประเด็นคำถามคราวที่แล้วมาตั้งคำถามประเด็นใหม่ๆ เพื่อสอบถาม WCO คาดว่าเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2557